SHARE

คัดลอกแล้ว

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ โลกธุรกิจไทยเกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น ทุนใหญ่ขยายตัวมากขึ้น จนหลายรายมีแนวโน้ม ว่าจะมีอำนาจเหนือตลาด และขาดการแข่งขันในอุตสาหกรรม

เรื่องนี้ทำเอาหลายฝ่ายกังวลว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ธุรกิจรายเล็กคงไม่มีใครรอด ผู้บริโภคไร้ทางเลือก สินค้าและตลาดก็จะไม่เกิดการพัฒนา

ปัญหาเหล่านี้ ถามว่าใครต้องเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการช่วยแก้ปัญหา?

รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว นั่นก็คือ ‘คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า’ หรือ กขค.

คำถามคือ กขค. จะต้องปรับตัวอย่างไร มีแนวทางอะไรในการกำกับดูแล ทั้งเพื่อทำให้ธุรกิจในไทยมีความเป็นธรรมมากขึ้น และรวมถึงลบข้อครหา ‘เสือกระดาษ’ ของตัวเองให้ได้

เรื่องนี้ TODAY Bizview จะอธิบายให้ฟัง

[ กขค. คือใคร? ]

ไทยเรามีเรื่องการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2560 ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

ในกฎหมายระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ ‘คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า’ หรือ กขค. ชื่อเดิมคือ สขค. นั่นเอง

หน้าที่หลักๆ ของ กขค. ก็คือ

-กำกับดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้าให้เป็นไปอย่างเสรี เป็นธรรม เป็นไปตามมาตรฐานสากล

-คิดค้นกลไกที่จะนำมาใช้กำกับดูแล

-พัฒนาความร่วมมือด้านการแข่งขันทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ

-รวมถึงรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.บ.นี้ รวบรวมพยานหลักฐาน แล้วเสนอคณะกรรมการพิจารณาต่อไป

โดยผลงานของ กขค. ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีดังนี้

-ปี 2561-2562 รับเรื่องร้องเรียนรวม 33 เรื่อง

-ปี 2563 รับเรื่องร้องเรียน 30 เรื่อง

-ปี 2564 รับเรื่องร้องเรียน 71 เรื่อง

แต่ถึงอย่างนั้น หลายครั้งก็เกิดกรณีควบรวมกิจการของทุนใหญ่ในไทยขึ้นโดยที่ใครก็คัดค้านไม่ได้ จนทำให้หลายคนสงสัยถึงอำนาจและการทำงานของ กขค. ว่าเป็นเพียง ‘เสือกระดาษ’ หรือเปล่า

จนทำให้ กขค. ต้องรีบหาแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันใหม่ ปรับโฉม ปรับภาพลักษณ์ตัวเอง กำหนดกรอบแนวทางที่ดูแลให้ชัดเจน รับกับเทรนด์ของธุรกิจที่กำลังเป็นไปด้วย

แล้วอนาคตการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของ กขค. จะไปในทิศทางไหน อาจจะต้องดูว่าเรากำลังเจอปัญหาอะไรอยู่

[ เศรษฐกิจไทยกระจุกอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ ]

กขค. บอกว่า หลักๆ แล้วประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายการเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น

เห็นได้จากอะไร

-ปี 2562 เศรษฐกิจไทยกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ 9,000 ราย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 49% ส่วนรายเล็กที่มีจำนวนมากถึง 3,000,000 ราย กลับมีสัดส่วนแค่ 43% เท่านั้น

-ปี 2563 เศรษฐกิจติดหดตัว ปี 2564 มีแนวโน้มทิศทางที่ดี แต่กลับทรุด สำนักเศรษฐกิจหลายที่ต่างมองเป็นเสียงเดียวกันว่า รูปแบบเศรษฐกิจไทยจะเป็นแบบตัว K

คือธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถปรับตัว ไปต่างประเทศได้ จะเติบโตได้มากกว่าบริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวได้ รวมถึงบริษัทเล็กๆ

-ปี 2564 เป็นปีที่ประเทศไทยมีการควบรวมธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัว มูลค่าการควบรวมพุ่งสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3.4 เท่าจากปีก่อน)

-เรื่องร้องเรียนจำนวน 71 เรื่องในปีที่แล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีอำนาจเหนือตลาดไป 40 เรื่อง

ข้อมูลเหล่านี้กำลังบอกว่าเศรษฐกิจไทยมีสภาพแบบกระจุกตัว และการกระจายตัวของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจระหว่างธุรกิจรายใหญ่กับรายเล็กแตกต่างกัน

และนี่เป็นลักษณะของการเติบโตที่ไม่เท่าเทียมกันนั่นเอง

[ อีคอมเมิร์ซเริ่มรุกคืบ ]

นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจแบบที่กล่าวไป อีกประเด็นที่ส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้า และน่าจับตา คือเรื่องการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560-2564 โตเฉลี่ย 9.79% โดยปี 2564 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท

แม้ตัวเลขจะเติบโต แต่ถ้ามองไปในตลาด เอาจริงๆ ผู้เล่นหรือผู้ให้บริการในตลาดมีอยู่ไม่กี่รายเท่านั้น

ที่น่าตกใจกว่าคือ ผู้เล่นรายใหญ่เหล่านี้ยิ่งนับวันก็ยิ่งรุกคืบธุรกิจเป็นแนวดิ่งมากขึ้น

คือขยายฐานธุรกิจให้เบ็ดเสร็จในตัวเอง ตั้งแต่เป็นผู้ให้บริการ ผู้ขาย ผู้โฆษณา ทำมีเดีย ทำระบบการจ่ายเงิน และการขนส่ง เบ็ดเสร็จในตัวเองคนเดียว

นั่นทำให้ผู้เล่นอื่นเข้าสู่ตลาดนี้ได้ลำบาก และที่สำคัญก็คือยังไม่มีหน่วยงานไหนลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างชัดเจนด้วย

[ โฟกัสการควบรวม-ธุรกิจแพลตฟอร์ม ]

จากประเด็นหลักๆ 2 ประเด็นที่ กขค. มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ในตอนนี้ ทำให้ในปี 2565 แนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่ กขค. จะมุ่งไป ก็จะเน้นไปที่

1.ธุรกิจแพลตฟอร์มทุกรูปแบบที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวของโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจฟู้ดเดลิเวรี่, ธุรกิจจองโรงแรมที่พัก แต่ที่เน้นมากหน่อยก็คือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

2.การควบรวมธุรกิจ (M&A) โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยี ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน

3.การส่งเสริมให้ SMEs แข่งขันได้มากขึ้น

[ แล้วภายใต้การโฟกัสนี้ กขค. จะทำอะไรบ้าง? ]

สิ่งที่ กขค. เริ่มทำไปแล้วคือ การแต่งตัวใหม่ ปรับโฉมตัวเองด้วยการเปลี่ยนโลโก้หน่วยงาน เปลี่ยนชื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกับต่างประเทศ คือ

-จากชื่อย่อว่า สขค. เปลี่ยนเป็น กขค.

-ชื่อภาษาอังกฤษ จาก Office of Trade Competition Commission (OTCC) เป็น Trade Competition Commission of Thailand (TCCT)

ส่วน Action หรือการทำงานที่ กขค. จะทำ เพื่อให้กำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้มากขึ้น ตรงเป้าหมายมากขึ้น มีดังนี้

-ปรับปรุงเครื่องมือในการกำกับการแข่งขัน ให้เอาไปใช้กำกับตลาดธุรกิจให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

-กำหนดพฤติกรรมที่ควรทำและห้ามทำของธุรกิจให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่

-ศึกษาและปรับปรุงเกณฑ์ผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ

-พัฒนาระบบสืบสวนสอบสวนพฤติกรรมทางการค้า

-พัฒนาเทคโนโลยีและสร้างฐานข้อมูล Big Data เพื่อเอาไปใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์

-ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ETDA เพื่อใช้ข้อมูลร่วมกัน

[ จะลบข้อครหา ‘เสือกระดาษ’ ได้จริงหรือ? ]

แม้กำหนดแนวทางและประกาศเรื่องที่โฟกัสมาอย่างชัดเจน และ กขค. จะมีอำนาจในการดูแลทุกธุรกิจ คือใครมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับธุรกิจไหนเข้ามา กขค. ก็รับพิจารณาหมด

แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างชัดเจน อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานอย่าง ตลท., กลต. กสทช.

กขค. จะปล่อยให้เป็นอำนาจของหน่วยงานนั้นๆ พิจารณาเรื่องการแข่งขันทางการค้าก่อน

อย่างเช่นกรณีการควบรวมกิจการระหว่าง ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ กขค. บอกว่าตัวเอง “ไม่มีสิทธิก้าวล่วง” เพราะมีกฎระเบียบของ กสทช. ดูแลอยู่ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการตัดสินเรื่องนี้

แต่ถ้า กสทช. ตัดสินว่าทำได้ ไม่ถือว่าผูกขาดตลาด แล้วมีคนร้องเรียนไปที่ กขค. นั่นถึงจะเป็นอำนาจของ กขค. อีกที

นอกจากนี้ เรื่องการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่จะทำให้การกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้าของ กขค. มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปได้ถึงเป้าหมายมากขึ้น ก็ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

กว่าจะเห็นความชัดเจนก็อาจจะเป็นปีนี้หรือปีหน้าเลยทีเดียว

เอาเป็นว่าท้ายที่สุดแล้วแนวทางของ กขค. ที่วางไว้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน แล้วจะลบข้อครหา ‘เสือกระดาษ’ ได้หรือเปล่า ก็คงเป็นสิ่งที่เราต้องติดตามต่อไป

แต่ถ้าทำได้ เศรษฐกิจไทย ผู้ประกอบการรายเล็ก ก็น่าจะมีความหวังขึ้นมาบ้างแน่นอน…

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า