SHARE

คัดลอกแล้ว

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ‘เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์ทำหนังไปแล้ว 7 เรื่อง นอกจากตัวหนังจะประสบความสำเร็จ จนทำให้เต๋อกลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับแถวหน้าของเมืองไทยแล้ว วิธีเฉพาะในการ ‘ขายหนัง’ ของเขาที่มักจะไวรัลเสมอๆ ก็เป็นอีกหนึ่งภาพจำของผู้กำกับวัย 38 ปีคนนี้

พาให้สงสัยถึงจุดสมดุลระหว่าง ‘หนัง’ กับ ‘ทุน’ ในหัวของผู้กำกับที่ใครๆ บอกว่าไม่ได้ทำหนังแมสคนนี้ว่าอยู่ตรงไหน รวมถึงอยากจะรู้ขอบเขตของเส้นแบ่งใน ‘ชีวิต’ กับ ‘การทำงาน’ ของคนที่ต้องอยู่ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของคำวิจารณ์

ตอนที่เราพบกับ ‘เต๋อ’ เราเป็นสื่อเจ้าเกือบสุดท้ายของวันแล้วที่จะได้คุยกับเขา แต่ถ้านับรวมๆ ทั้งหมดในการโปรโมทภาพยนตร์เรื่องใหม่อย่าง FAST & FEEL LOVE เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ เต๋อต้องให้สัมภาษณ์สื่อหลายสิบเจ้า แต่ดูเหมือนว่าเขาจะยังคงไม่เหนื่อยกับการตอบคำถาม และยังยินดีเมื่อเราชวนคุยเรื่องสไตล์การขายหนังอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงสมดุลระหว่าง ‘หนังกับทุน’ และ ‘ชีวิตกับการทำงาน’ บนเส้นทางตลอด 10 ปี

สูตรการโปรโมทหนังของ ‘เต๋อ-นวพล’ คืออะไร

จริงๆ คนชอบเข้าใจว่าเรามี strategy หรืออะไรขนาดนั้น มันเป็นแค่เราแค่หยิบในสิ่งที่หนังเป็น แล้วสกัดออกมาให้มันเล่าง่ายขึ้นแค่นั้นเอง แต่ว่าเอาจริง ไอ้ความจะไวรัล ไม่ไวรัล มันไม่มีใครคาดได้ คล้ายๆ กับไม่มีใครรู้ว่าหนังร้อยล้านต้องทำยังไง หรือว่าทำคอนเทนต์ให้ประสบความสำเร็จมันต้องมีอะไรบ้าง เพราะว่าเวลามันเกิดขึ้น มันก็จะเกิดขึ้นอะไรแบบนี้ 

เพราะฉะนั้น เราก็ไม่สามารถจะบอกว่าอันนี้ได้แน่ๆ อันนี้ได้ชัวร์ๆ อะไรอย่างนี้ ทำแบบนี้เดี๋ยวเขาล้อโปสเตอร์เราแน่นอน มันไม่กล้าคิดไปขนาดนั้น ไม่กล้าคิดว่าสิ่งที่เราทำคนมันจะต้องเอ็นจอยแล้วก็พร้อมที่จะทำต่อ เพราะว่าเอาจริงๆ นี่มันก็ปีที่ 10 ของการทำหนัง แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกมั่นใจตัวเองว่าทุกคนจะเล่นไปกับเราตลอดชีวิต เพราะว่าทุกคนก็มีความสนใจอื่น มีคอนเทนต์อื่นๆ ให้ติดตาม 

คิดว่าทำไมหนังของเราถึงกลายเป็น ‘ไวรัล’ ตลอด

จริงๆ ตอบยาก แต่ถ้าให้คิด ผมว่ามันคงเป็นเรื่องท่าที หมายถึงเราไม่รู้ว่าเวลาคนอื่นมองเข้ามา เขาเห็นเราเป็นอะไร หรือเป็นผู้กำกับประมาณไหน แต่ผมเดาว่า มันคงเป็นเรื่องของคนที่สามารถสื่อสารกับเราได้ ถามไปเขาตอบกลับมา ผมว่ามันอาจจะแค่นั้นเอง คล้ายๆ เล่นกับเพื่อนแล้วเพื่อนเล่นกลับ 

แต่ว่าขณะเดียวกัน เวลามันมาเป็นเวฟแอนตี้ มันก็มาเป็นเวฟแอนตี้เหมือนกันนะ เคยคุยกันว่าผมนี่เป็นผู้กำกับที่ใครจะพูดอะไรด้วยก็ได้ (หัวเราะ) เวลาเกลียดก็เกลียดเลยใส่เต็ม เวลาชอบก็ชอบเลยใส่เต็ม เพราะบางทีกับผู้กำกับคนอื่น สมมติว่าเขาดูหนังแล้วไม่ได้อะไรมาก เขาก็จะข้ามๆ ไป แต่ของเรามันแบบ (หัวเราะ) อยู่ๆ มันมาจากไหนกันเนี่ย น้องเกลียดอะไรพี่ขนาดนั้น แต่ว่าเราเข้าใจธรรมชาติมัน เราเจอแบบนี้มาตลอดอยู่แล้ว เราเจอ love-hate มาตลอดตั้งแต่เรื่องที่ 1 มาจนปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้น

แต่ถามว่าเศร้าไหม ก็ไม่เศร้า เพราะผมว่ามันทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของการทำงานครีเอทีฟมากกว่า แล้วก็มันไม่ค่อยมีข้อคาใจเท่าไหร่ หมายถึงเราได้ฉายให้คนวงกว้างจริงๆ ดู ความคิดเห็นก็มาจากคนดูเต็มจำนวน ไม่ได้ฉายวงเล็กในหมู่เพื่อน ดังนั้น love-hate มันมาก็มาจากจำนวนเต็ม เหมือนเราได้เห็นภาพรวมจริงๆ ว่า อ๋อ หนังเราสำหรับแผ่นดินนี้มันเป็นแบบนี้ว่ะ มันไม่ต้องคาใจอะไร 

แต่ในขณะเดียวกัน เราไม่ได้มองแค่ว่าหนังเราจะอยู่แค่วงประเทศนี้ อย่าง ‘ฮาวทูทิ้ง’ เป็นเคสที่ชัดมากว่าในอีกโซนหนึ่ง ในอีกประเทศหนึ่งมันรักหนังเรื่องนี้มากๆ มากจนผมตกใจว่า เฮ้ย ขนาดนี้เลยเหรอ แล้วผมก็รู้สึกว่าโอเค ถือว่าเราโชคดีที่ได้รับความคิดเห็นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆ แต่ก็นั่นแหละ เวลามันมาก็มันไม่ใช่ว่าผ่านเลยแล้วก็ไม่ได้เสียใจนะ บางทีก็โห แรงจัง แต่ก็โอเคๆ ดีกว่ามาแค่ด้านเดียว มาแต่ชมด้านเดียวก็ดูสวยงามไปเหมือนกัน

เต๋อเป็นคนชอบ ‘โซเชียลมีเดีย’ ไหม

เราใช้มันมาทั้งชีวิต ผมพูดแบบนี้ดีกว่า เพราะว่าตั้งแต่ตอนที่เราทำหนังเรื่องที่ 1 ตอนนั้น Facebook พึ่งมาได้ช่วงปีต้นๆ เลยตอนที่ผมทำ ‘36’ ผมจำได้ว่ามันไม่มีใครโปรโมทหนังบน Facebook เลยแม้แต่คนเดียว ถ้าไม่ได้เข้าใจผิด เราน่าจะทำคนแรกๆ แล้วที่ทำตอนนั้นก็ยังถูกด่าอยู่เลย แบบโหย ใครเขาทำหนังศิลปะกันแล้วมาทำโปรโมท commercial แบบนี้ แต่ผมไม่สนเพราะผมรู้สึกว่าก็อยากให้มีคนมาดู มันก็ไม่รู้ commercial หรือเปล่า แต่ว่าทำหนังแล้วไม่มีคนมาดูมันเศร้านะเว้ย เราก็แค่ทำโปรโมทมันในแบบที่หนังมันเป็นจริงๆ ก็แค่นั้นเอง

เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่าเราใช้สิ่งนี้มาตั้งแต่แรกๆ แล้วก็ใช้มาตลอด เพราะว่ามันมีหนังทุกปี มันก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ บางอันออกไปมันก็ไม่เวิร์กนะฮะ มันไม่ใช่ว่าปล่อยอะไรก็เวิร์กทุกอย่าง ที่มันดูเวิร์กเพราะว่ามันเป็นชิ้นที่พวกคุณเห็น มันมีตั้งหลายอันที่แบบกริบ ไม่มีใครชอบเลย แต่ลบไม่ได้ก็ช่างมันเถอะ ปล่อยไป ทำใหม่ ก็เป็นการเรียนรู้กันไป

ทำงานมาจนถึงตอนนี้ สบายใจกับการอยู่ตรงกลางระหว่างโลกของทุนและโลกของตัวเองไหม

เราสบายใจแล้วก็โอเค มันอาจจะเป็นเพราะว่าเรารู้ว่าการทำงานของเราคือหนัง มันสัมพันธ์กับทุนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเรายอมรับมัน แบบมันต้องใช้เงินแน่ๆ หนังเรื่องหนึ่ง 10 ล้านบาท มาบอกไม่เกี่ยวกับเงินนี่บ้าแล้ว เราแค่ทำความเข้าใจมันเร็วมั้งว่า โอเค มันต้องใช้ แต่ตัวเราเองจะไปอยู่จุดไหนถึงจะบาลานซ์กันได้ 

เราทำมานานมาก เราไม่ได้อยู่ดีๆ เพิ่งรู้ เรารู้ตัวตั้งแต่ช่วงแรกๆ แค่คุณต้องทำหนังเอง คุณก็ต้องเกี่ยวข้องกับทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุนนั้นคือทุนคุณเอง คุณก็ต้องคิดว่ามีเงินอยู่จำนวนเท่านี้ ถ่ายแบบไหนได้ เหมือนคุณต้องต่อรองกับตัวเองอยู่แล้วโดยอัตโนมัติและธรรมชาติ จะมางอแงกับตัวเองได้ไง มันไม่ได้ใช่ไหม พอเริ่มมาแบบนี้มันจะเข้าใจกระบวนการทุกอย่างว่า ทำหนังมันใช้อะไรบ้าง แบบไหนเราถึงจะยอม แบบไหนเราจะไม่ยอม 

บางอันนึกว่าจะทำได้อย่างสบาย แต่ อ้าว อันนี้เกินเส้นนะ ทรมานเหลือเกิน วันหลังจะไม่ทำแล้ว ถ้ารอบหน้าเราจะไม่ทำอย่างนี้อีกก็จะถอยกลับมา มันลองผิดลองถูกมาประมาณหนึ่งจนเข้าใจว่าตัวเองอยู่จุดไหน แล้วมันหาบาลานซ์กันได้ในการที่จะทำงานที่ตัวเองถนัดโดยใช้ทุนอย่างถูกต้อง 

เส้นไหนที่เต๋อจะไม่ข้ามไป

จริงๆ มันตกลงกันได้ตั้งแต่ช่วงแรกแล้ว เช่นถ้าทำโฆษณา แล้วผมมีไอเดียใหม่ส่งกลับไป ถ้าเกิดเขาแบบ โอ้ย มันไม่ค่อยตลกเลย ช่วยแก้ตอนจบหน่อย ผมก็จะรู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว แล้วก็จะไม่ทำ ผมจะรู้ว่ามันจะมีบางอย่างที่ไม่มีวันปรับได้หรอก เหมือนเขาบอกให้ช่วยเล่นตลกแบบฮา 5,000 คนให้หน่อย ถ้าเป็นแบบนี้ผมจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด อย่าทำดีกว่า เราขอเป็นแบบผู้ถนัดด้านมุกแบบหึๆ ไว้มีโปรดักต์ที่ต้องการมุกหึๆ ค่อยมาหาผมดีกว่า

อันนี้เราคิดเผื่อเขาด้วยนะ คิดแบบเอ่อ ลูกค้าครับ อย่ามาทำกับผมเลยครับ ไม่ใช่เกลียดกันนะ แต่ว่าผมไม่มีอุปกรณ์นั้น ถ้าเกิดทู่ซี้ทำไปเดี๋ยวก็ตีกันอยู่ดี หรือว่าก็จะไม่มีใครมีความสุขสักฝ่าย เพราะว่าเราก็ทำให้เขาไม่ได้ เขาก็ไม่ได้เห็นของที่เขาต้องการ มันคือความเข้าใจสองฝ่ายว่าลูกค้าโปรดักต์ต้องการอะไรอยู่ แล้วเราให้เขาได้ไหม ส่วนใหญ่มันก็จะเริ่มจากอะไรแบบนี้เลย คุยให้เคลียร์คัทตั้งแต่ตอนต้นว่าใครต้องการอะไร 

ทุกๆ งานเราจะรู้สึกว่าแบบไม่มีงานไหนที่ทำๆ ให้มันจบไป แล้วทุกงานคือสามารถเขียนเล่าเบื้องหลังได้อย่างสนิทใจ ทั้งที่เอาจริงๆ ผมไม่ต้องทำก็ได้นะ เพราะมันกลายเป็นว่าสมมติถ้าคิดในเชิงธุรกิ๊จธุรกิจ แปลว่าหลังจากที่ผมทำโฆษณาให้เขาเสร็จ ผมต้องเขียนโพสต์ถึงเขาอีก 5 อันโดยอัตโนมัติอะไรแบบนี้ อันนี้มันไม่ได้อยู่ในดีล แต่ผมทำเพราะผมรู้สึกว่านี่คืองานเราด้วย แล้วเรารักมัน แม้ว่ามันจะเป็นโฆษณาก็ตาม

จนถึงตอนนี้ตกผลึกหรือยังว่า ‘ปรัชญาของเต๋อ’ คืออะไร

คือ “เอาที่สบายใจ” (หัวเราะ) แต่ก่อนพอพูดคำแบบนี้จะรู้สึกว่าเราเอาแต่ใจตัวเองหรือเปล่า แต่ตอนนี้เราแค่รู้สึกว่าพอโลกมันเชื่อมต่อกันมากขึ้น มันสามารถทำแบบเอาที่สบายใจได้จริงๆ คือเราสามารถหาคนที่คิดเหมือนกัน หรือว่ามีปรัชญาในการทำงานที่คล้ายกัน แล้วทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อไปได้ โดยที่ ‘สิ่งที่เชื่อ’ มันไม่ต้องตรงสแตนดาร์ดส่วนกลางก็ได้ แล้วเราจะชอบใช้วิธีนี้กับเกือบทุกๆ อย่าง 

จริงๆ ส่วนตัวเราชินเพราะว่างานที่เราทำแม่งชอบอยู่รอบนอกอยู่แล้วตลอดเวลา แต่สมัยก่อนมันเหนื่อยเพราะว่าคุณจะถูกตัดสินโดยส่วนกลางทั้งหลายแหล่ไปเรื่อยๆ พอคุณผ่านพวกประสบการณ์ไทม์ไลน์แบบนั้นมา คุณจะเชิดชูความเฉพาะตัว เฉพาะทางของแต่ละบุคคล คุณจะหวงแหนความเป็นปัจเจกของแต่ละคนว่าจริงๆ ทุกคนมันมีพื้นที่ของตัวเองได้ ทุกคนทำงานที่ตัวเองสบายใจ ทุกคนเลือกวิธีทำได้ 

เราก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ วิธีการทำงานหรือว่าวิธีการดำเนินชีวิตต่างๆ ก็คือเป็นแบบที่ตัวเองเป็น แล้วก็ค่อยหาพื้นที่ที่ถูกต้องสำหรับตัวเรา กระทั่งการใช้ชีวิตอื่นๆ อย่างการเลือกบ้าน เลือกเพื่อน ยิ่งแก่ตัวลงยิ่งตัดออกไปเรื่อยๆ เหลือแต่คนที่สำคัญสิ่งที่สำคัญเท่านั้น แม้ว่าไอ้คนที่สำคัญกับสิ่งที่สำคัญมันอาจจะไม่ได้ตรงตามมาตรฐานสังคมทั่วไปก็ตาม แต่ผมรู้สึกว่าถ้าเกิดเราสบายใจก็โอเค โดยคุณต้องหาวิธีจัดการเพื่อให้คุณอยู่กับความสบายใจนั้นไปได้แบบเรื่อยๆ ด้วย ไม่ใช่แบบสบายใจที่จะทำอะไรก็ได้ แต่ว่าถ้าสบายใจอย่างนี้ก็ต้องหาโมเดลที่จะพาสิ่งนี้ไปได้กับชีวิตคุณจริงๆ 

10 ปีที่ผ่านมาเคยรู้สึกชีวิตติดหล่มบ้างไหม

จริงๆ คือตอนนี้ (หัวเราะ) ตอนหลังฮาวทูทิ้ง เราทำหนังมา 10 ปี 7 เรื่อง มันเยอะมาก ทุกอย่างมันถูกใช้ไปหมดแล้ว คุณทำหนังเรื่องหนึ่งเหมือนคุณตกน้ำ ในร่างมีอะไรก็เอาออกมาใช้หมดเลย เพื่อให้มันรอดไปในโปรเจกต์นั้น แล้วพอทำปีเว้นปีหรือปีชนปีอย่างนี้ วัตถุดิบในช่วงวัย 20-30 ก็ถูกใช้รวดเร็วมากๆ จนหมดเกลี้ยง 

ในเชิงหน้าที่การงานเหมือนกับ “มึงได้ทำหมดแล้วที่มึงเคยอยากทำ สบายใจยังล่ะ” (หัวเราะ) แต่ในขณะเดียวกันก็คือ  อ้าว แล้วไงต่อวะ คุณโตมากับอาชีพนี้ คุณก็ต้องทำต่อไป คุณต้องหาที่ทางหรือโปรเจ็กต์อะไรต่อไป มันหยุดไม่ได้ แต่ทำอะไรต่อล่ะ หรือแม้แต่คำถามว่าคนยังอยากดูหนังเราหรือเปล่า เบื่อรึเปล่า 

แล้วทำยังไงกับช่วงชีวิตติดหล่มที่ว่า

เราก็หันกลับมาทบทวนตัวเองว่า หนึ่ง ความสนใจใหม่คืออะไร สอง ยังมีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำบ้าง สาม คือ ผมเชื่อว่าต่อให้มีคนเลิกสนใจ มันก็เริ่มใหม่ได้ ขนาดพี่หนุ่ม กรรชัยยังกลับมาเลยครับ (หัวเราะ) แต่เราต้องไม่กลัวที่จะเริ่มใหม่มากกว่าแค่นั้นแหละ เราไม่รู้สึกว่าการกลับไปรู้สึกเหมือนทำหนังเรื่องแรกตอน 36 มันคือการถดถอย มันคือเฟสใหม่มากกว่า แต่ว่าแน่นอนว่ามันไม่คุ้นเคยอยู่แล้ว เราไม่เคยรู้สึกอย่างนี้มาก่อน 

เราทำหนังฟาสต์ฯ วิธีการกำกับมันก็ใหม่มาก มันเป็นส่วนหนึ่งของเรา แต่มันไม่เคยถูกเอาออกมาใช้ พอออกมาใช้มันก็ต้องเจอน่านน้ำใหม่ แบบเฮ้ย ถ่ายยังไงวะฉากนี้ อาการนี้บางคนเขาอาจจะตกใจ แต่ผมรู้สึกว่าถ้าคุณจะเริ่มใหม่คุณต้องสู้กว่านี้ ได้เปล่าวะ กูไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่ากูต้องฝ่ามันไปให้ได้ เราว่าคนยิ่งโตขึ้นมันยิ่งกลัวเฟลเยอะขึ้นเรื่อยๆ มันมี something to lose แต่ผมรู้สึกว่าไม่ได้ เพราะว่าถ้าเรากลัวที่จะเสียบางอย่าง เราจะจบที่นั่นแหละ เพราะเราจะไม่ยอมทำอะไรอีกเลย

แต่ผมในฐานะคนทำงานคนหนึ่งรู้สึกว่า กูจะยอมจบที่นั่นหรอ กูยอมเสียก็ได้ กูยอมเริ่มใหม่ก็ได้ ถ้าจะเสียมันจะเสียสักกี่อย่างวะ มันจะเสียอะไรวะ เสียมากเสียน้อยมันอยู่ที่เรา เอาจริงๆ มันอาจจะไม่ได้เสียอะไรมากก็ได้ อาจจะเหมือนเรื่องก่อนๆ ก็ได้ด้วยซ้ำ แต่ความรู้สึกมันใหญ่กว่านั้น ผมแค่รู้สึกว่าต่อให้ไม่เวิร์ก อย่างน้อยก็ได้ทำ อย่างน้อยก็รู้ว่ามาทางนี้ไม่ได้แล้วล่ะ ต้องไปอีกทางมากกว่า 

อย่างน้อยใน 1 ปี 3 เดือนที่เสียไปกับเรื่องนี้ ถึงตอนนี้ผมไม่รู้สึกว่ามันเสียเปล่าอีกแล้ว ผมก็เผชิญกับไอ้ความรู้สึกนั้นระหว่างถ่ายมาตลอด แล้วมันก็เสร็จออกมาเป็นหนังเรื่องหนึ่ง ต่อให้หนังมันไม่ประสบความสำเร็จ มันก็ไม่ได้ว่ามันไม่มีความหมาย มันมีความหมายอยู่แล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ เราได้แล้ว เราก็เตรียมฉาย เราก็เตรียมไปงานต่อไป

อะไรที่ทำให้ลุกกลับขึ้นมาได้อีกครั้ง

มันคือการที่เรารู้สึกว่าเราเริ่มใหม่ได้ เรากลับไปเป็นตัวเล็กอีกรอบได้ไม่เป็นไร เพราะถ้าเกิดเราคิดว่าเราจะต้องตัวใหญ่ตลอดเวลา มันจบเลยนะ เพราะว่าเราต้องใหญ่ขึ้นไปอีก แล้วใหญ่ขึ้นไปอีก แต่สำหรับเราคือเราแบบลดขนาดตัวเองกลับมาจุดเดิมได้ เพราะเรารู้สึกว่าเราก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เราหมดได้ เรากลับไปเป็นคนธรรมดาได้ เรากลับไปเป็น new filmmaker ได้ 

แล้วพอเรารู้สึกอย่างนั้นได้ก็ค่อยๆ หาความสนใจใหม่ว่า เราสนใจอะไรแล้วในตอนอายุ 38 มันต้องไม่เหมือนตอนอายุ 22-23 แน่นอน ก็แค่เริ่มใหม่อีกรอบหนึ่ง แล้วพอเรารู้สึกว่าเราเริ่มใหม่ได้ มันก็จะรู้สึกเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่มีอะไรมากดทับว่าเราจะต้องเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ เราต้องตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ห้ามกลับไปเป็นแบบเดิมอีกแล้วอะไรแบบนี้ เราตัดความกดดันพวกนั้นออกไปเลย มันถึงจะไปเจอประตูใหม่ได้

ดูเหมือนความฝันของคุณจะไม่ใช่ตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 

ผมว่าผมเริ่มมาจากความเล็ก แล้วสุดท้ายคือแค่ได้ทำก็ดีแล้วนะ อันนี้คือเริ่มจากความที่ไม่ได้เรียนหนัง เวลาทำหนังสั้นแรกๆ ก็ DIY มากๆ เลย เลยรู้สึกว่าถ้าได้ทำอะไรที่อยากทำก็ดีมากๆ แล้ว ส่วนที่เหลือถ้ามันจะเกิดอะไรขึ้นมันก็ถือว่าเป็นโบนัส ยิ่งโตยิ่งคิดแบบนี้ ยิ่งรู้สึกว่าเวลามันสำคัญเหมือนกันนะที่เสียไปในชีวิตในแต่ละวัน อย่างน้อยขอรักษาความสุขในการทำงาน เหนื่อยแล้วขอมีความสุขกับมันด้วยนิดนึงก็น่าจะดีกว่า เลือกทางนี้มากกว่า 

แต่แน่นอนถ้าเกิดคุณคิดแบบนี้ คุณอาจจะไม่ได้สามารถตัวใหญ่ได้เท่าคนอื่น แต่ก็อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะพร้อมรับกับสิ่งนั้นหรือเปล่า ผมอาจจะขอแค่นี้พอ วันนี้ผมกลับไปผมนอนหลับแน่นอน ต่อให้พรุ่งนี้จะเป็นรอบสื่อ ผมก็แบบ… มันเสร็จแล้ว เสร็จตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้วแล้ว แล้วก็ เฮ้อ เป็นไปอย่างที่คิด คนดูจะว่ายังไง คนดูเยอะไหมก็ต้องรอดูกันไป แต่แค่รู้สึกว่าหนึ่ง-ไม่น่าจะเกิดความเสียหายในการฉาย แล้วทุกคนก็ดูแฮปปี้

Fast and Feel Love พาเต๋อพิชิตอะไรมาบ้าง

เราว่ามันพิชิต ‘ความกลัว’ นะ ซึ่งเป็นหินก้อนใหญ่สำหรับคนทำงานครีเอทีฟ เราว่าทุกคนแหละ มันจะมีแบบทำอันนี้ได้เปล่าวะ มันดูเสี่ยงเหมือนกันก็เลยอย่าดีกว่าเนอะ ถอยดีกว่าเอาชัวร์อะไรแบบนี้ นั่นคือก้อนที่จะบล็อกเราไม่ให้ทะลุออกไป แล้วเราจะกลับไปที่เดิม 

Fast and Feel Love คือการชนกับความกลัวไปเรื่อยๆ ถามว่าทะลุไหม อาจจะไม่ใช่ทะลุ แต่เข้าใจแล้วว่า อ๋อ มันเป็นก้อนกลมๆ แบบนี้ กูหาทางแทรกมันไปได้ ไม่ใช้คำว่าทะลุ เพราะว่าสุดท้ายเดี๋ยวเราก็กลัวมันอยู่ดี มันมาใหม่เราก็จะกลัว แต่ว่าเราอาจจะดีลกับมันได้ดีขึ้น เหมือนมีตัวอย่างแล้วว่ากลัวเป็นยังไง ไม่กลัวเป็นยังไง ผลที่ออกมามันเป็นยังไง มันก็จะช่วยให้การตัดสินใจในการทำอะไรต่อไปข้างหน้ามันดีขึ้น ในระยะยาวมันก็ดี มันเฮลตี้ทางความคิดสร้างสรรค์นิดนึง 

เหมือนคุณได้เผชิญสิ่งนี้มาแล้ว เหมือนเจอผีมาแล้วทีนึง รอบหน้าเจอก็จะดีลกับมันได้นิดนึงอะไรอย่างนั้นมากกว่า นี่คือจุดใหญ่ แล้วก็อย่างที่บอกคือพอเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องแรกของเฟสใหม่ของเรา  สำหรับเรามันเป็นเรื่องแรกที่ดีมากๆ แล้วที่สรุปแล้วไอ้ที่ไปบอกเขาว่าจะทำหนังแอคชั่นมันก็ออกมาเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ใช่แบบทำไปทำมา อ้าว… เหมือนเดิม แต่นี่มันไม่เหมือนกับที่ผ่านมาเลยจริงๆ ก็รู้สึกว่าเออ ในเชิงการทำงานมันเริ่มต้นใหม่ได้นี่หว่า

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า