SHARE

คัดลอกแล้ว

เวทีเสวนา “เมื่อแบบเรียนเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ” จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จี้ศธ.รื้อถอนระบบตำราเรียน ด้าน“นักวิชาการ” ชี้แบบเรียนที่กดทับเป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ ใช้อำนาจเหนือครอบงำ นำไปสู่ความก้าวร้าวรุนแรง ขณะที่ “กลุ่มนักเรียนเลว” เรียกร้องปฏิรูประบบการศึกษาทั้งระบบ

น.ส.ศศิธร สรฤทธิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ศึกษาข้อมูลเนื้อหาหนังสือเรียน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ระดับประถมศึกษาปีที่1 – ระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ปีการศึกษา2561-2563 พบเนื้อหาในหนังสือเรียนสะท้อนความแตกต่างผู้ชายอยู่เหนือผู้หญิงชัดเจน แบบเรียนไม่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เนื่องจากเนื้อหาแบบเรียนระดับประถม พบว่า

  1. แตกต่างกันระหว่างเพศด้านอารมณ์ ลักษณะนิสัย คือเพศชาย ชอบเล่นกีฬา ใช้พละกำลัง ที่ท้าทาย ส่วนเพศหญิง จะทำกิจกรรมที่ใช้พละกำลังน้อย เช่น เล่นขายของ ทำอาหาร เล่นตุ๊กตา
  2. แตกต่างด้านบทบาทหน้าที่ พบว่า เพศชาย เป็นผู้นำครอบครัว หารายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนเพศหญิง ดูแลความสะอาดในบ้าน ช่วยเก็บออมและหารายได้เลี้ยงครอบครัว ทำอาหารให้ทุกคนรับประทาน
  3. แตกต่างด้านพฤติกรรมทางเพศนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ พบเนื้อหา การแต่งกายล่อแหลม ยั่วยุอารมณ์ทางเพศของเพศหญิง คือในแบบเรียนระบุว่า ผู้หญิงต้องรู้จักรักนวลสงวนตัว แต่งกายไม่รัดรูป ไม่เปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไป ระมัดระวังตนเองไม่ปล่อยตัวปล่อยใจตามอารมณ์

นอกจากนี้ การใช้ภาพประกอบในหนังสือเรียน ยังผูกขาด ให้ผู้หญิงเป็นบทบาทของแม่ ดูแลลูก ทำงานบ้าน ใช้ชีวิตในบ้าน ส่วนผู้ชาย เป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานนอกบ้าน ใช้ชีวิตนอกบ้าน หารายได้

“เนื้อหาแบบเรียนถือเป็นเบ้าหลอมสำคัญในการสร้างเสริมเจตคติ มิติหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศ ผ่านโรงเรียน สื่อการสอน โครงสร้างโรงเรียนและแบบเรียนที่ใช้จากรุ่นสู่รุ่น และสิ่งสำคัญ คือ บุคลากรทางการศึกษาล้วนมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของนักเรียน จากข้อมูลที่ปรากฎในแบบเรียน

ทางมูลนิธิฯ จึงมีข้อเสนอเพื่อให้กระทรวงศึกษานำไปพิจารณา ดังนี้

  1. หลักสูตรแกนกลางต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยออกแบบหลักสูตรที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกันทุกเพศ ทุกวัย เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองที่เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตนเองและผู้อื่นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม
  2. ปรับปรุง พัฒนา แก้ไข และยกเลิกเนื้อหาแบบเรียนที่กดทับ ตอกย้ำทางความคิดความเชื่อที่มองว่าเพศชายเหนือกว่าเพศอื่นๆ เช่น ผู้ชายเป็นผู้นำ เข้มแข็ง ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูก
  3. ต้องพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา โดยเฉพาะวิชาชีพครูที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่น และมีแนวทางการสอนที่สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็ก 3 ช่วง คือ เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยรุ่น และวัยรุ่น
  4. ผู้บริหารโรงเรียนต้องยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติในการเลือกแบบเรียนที่มีความก้าวหน้า ไม่มีเนื้อหาการละเมิดสิทธิเด็ก
  5. ควรพัฒนาให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศทุกวัย เป็นพื้นที่เคารพในเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน

ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้าน ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิธีคิดของคนที่สร้างหลักสูตรนี้ถือว่าล้าหลัง ไม่เสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศ เนื่องจากแบ่งแยกเนื้อหาออกเป็น 2 ขั้วชายหญิง ปลูกฝังระบบเพศสภาพที่มากำกับพฤติกรรม วิธีคิด การใช้ชีวิต การมองโลก ปลูกฝังขั้วตรงข้ามให้กับผู้เรียน ปลูกฝังผู้เรียนไม่ให้ยืดหยุ่น ไม่ปรับตัว เอาเพศตัวเองเป็นศูนย์กลาง ยึดมั่นกับกฎกติกาที่ตายตัว จึงยากที่จะปรับเปลี่ยน เพราะเป็นการปลูกฝังทางอ้อมที่แนบเนียนและเป็นอันตราย นำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

ดร.ชเนตตี กล่าวว่า การคิดที่เนื้อหาฝังหัวให้มองว่าโลกนี้มีแค่หญิงกับชาย ส่วนผู้หญิงต้องเป็นผู้หญิงที่ดี รักนวลสงวนตัว สุภาพอ่อนหวานน่ารัก ทำงานบ้าน เป็นภรรยาเป็นแม่ สุดท้ายจะกลายเป็นกับดักทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือกมากในชีวิต ทำให้เยาวชนหญิงเติบโตอย่างไร้คุณภาพ เพราะเขามองไม่เห็นทางเลือกอื่น ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นการเปรียบเทียบ อำนาจครอบงำกำกับอยู่เบื้องหลังระหว่างเพศ ทำให้อีกเพศหนึ่งนั้นสยบยอม  ส่วนอีกฝ่ายกลายเป็นคนที่มีความแข็งกร้าว ดุดัน กดขี่ ไม่รับฟัง เพราะใช้อำนาจในฐานะที่ถูกปลูกฝังให้เป็นผู้นำ สุดท้ายจะผลิตเยาวชนไม่ให้ยอมรับในความแตกต่าง ไม่ยืดหยุ่นไม่ปรับตัว ไม่ยอมรับความหลากหลาย ใช้อำนาจเหนือครอบงำ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มักจะเป็นคนพิพากษาสิ่งต่างๆในสังคม นอกจากวิธีคิดแบบนี้จะไม่เหลือพื้นที่ให้กับเพศสภาพแล้ว ความหลากหลายอื่นๆก็จะถูกขจัด สร้างความร้าวฉานรุนแรงได้

“ศธ.ต้องยกระดับเนื้อหาหลักสูตร เพราะโลกมันไปไกลแล้ว ต้องรื้อถอนวิธีคิดแบบเพศออกไป แล้วเอาคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ก็ต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ยึดติด ไม่ตีตราเพศใดเพศหนึ่ง ไม่พยายามจัดกล่องให้ผู้หญิงผู้ชายมีคุณลักษณะที่ตายตัว แต่ต้องสามารถเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นคนที่มีคุณค่า และหลักสูตรต้องเน้นให้เด็กรู้จักระบบโครงสร้างวัฒนธรรมต่างๆในสังคม สอนให้รู้เท่าทัน ที่สำคัญหาก ศธ. มีตำราเรียนมีเนื้อหาปรับปรุงใหม่และพร้อมสำหรับเด็กแล้ว ศธ.ต้องสร้างครูผู้สอนรุ่นใหม่ที่มีสำนึกเข้าใจ มีความเท่าเทียม มองเห็นความยุติธรรมในเรื่องเพศ เลิกจัดวางเด็กหญิงเด็กชายลงตามกรอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า เรามีตำราที่ก้าวหน้า แต่ผู้สอนยังเข้าไม่ถึงตำรา” ดร.ชเนตตี กล่าว

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษกฯ

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษกฯ กล่าวว่า อำนาจนิยมเป็นการจัดการความกลัวของผู้ที่มีอำนาจ เราไม่กล้าที่จะให้เด็กๆ เติบโตได้ จึงทำให้อำนาจนิยมในโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็ก ผ่านวาทะกรรมคำว่ารัก ความหวังดี ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาจึงควรทำการปฏิรูปทั้งระบบ ไม่ใช่การปฏิรูปบางส่วนเท่านั้น ตนเองอยากให้การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาครั้งต่อไปควรเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิรูป ระบบการศึกษาของพวกเขา อำนาจนิยมที่กดทับมาเรื่อยเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ในที่สุดจะเกิดการสะสม และจะเกิดเป็นแรงต้านขึ้นมา การเรียกร้องของเด็กๆในวันนี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมมากที่สุด

“เมื่อเราเป็นเจ้าของอำนาจ เราหวงอำนาจของเรา การเข้ามาเขย่าของเด็กๆในครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนในสังคม แต่เราจะต้องใช้ความอดทนอย่างเพียงพอ ที่ผ่านมาเราไม่เคยตั้งคำถามกับรากเหง้าของปัญหา แต่เรามักจะตั้งคำถามกับผู้ที่ถูกกระทำ” นางทิชา กล่าว

ศศิธร สรฤทธิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ขณะที่ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว เสนอว่า เนื้อหาแบบเรียนตอนนี้ควรแก้ได้แล้ว เพราะไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง ลักษณะแบบนี้มันสะท้อนความคิดผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว เช่น รักนวลสงวนตัว ไม่แต่งตัวล่อแหลม คือ เวลาเกิดคดีข่มขืน จะโทษเหยื่อว่าแต่งตัวโป๊  นอกจากนี้ในข้อสอบชอบตั้งคำถาม กับผู้ถูกกระทำ อย่างเรื่องที่เป็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่พบเห็นในบทเรียนบอกว่า ผู้ชายเข้มเเข็ง เป็นผู้นำ ผู้หญิงจะต้องเรียบร้อย ในบทเรียน #saveเกี๊ยว หรือตัวละครหนึ่งในบทเรียนภาษาไทย หนังสือภาษาพาที หนังสือบอกว่าเกี๊ยวทำตัวเเบบนี้เท่ากับผิด หรือบทเรียนเรื่อง ใครทำหน้าที่ภายในบ้าน คำตอบที่ถูกคือ เเม่ ถ้าตอบพ่อคือผิด ซึ่งจริงๆเเล้ว ไม่ควรยัดความคิดเรื่องเเบบนี้ แสดงให้เห็นความล้าหลังของหลักสูตรอย่างเห็นได้ชัดจึงเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาให้ปฎิรูปการศึกษาทั้งระบบ

“สิ่งเหล่านี้มันโยงไปสู่จุดเดิม เป็นระบบอำนาจนิยม เราทุกคนถูกกดทับ แบบเรียนเป็นอุปสรรคล้าหลัง ถูกผลักไม่ให้เห็นคุณค่าของตัวเอง เพศหญิงไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก มันเหมือนถูกผลักให้ต่ำลง สุดท้ายทำให้สังคมมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ทางกลุ่มนักเรียนเลว กำลังทำเคมเปญ นักเรียนแต่งกายแบบที่ต้องการ แบบไหนก็ได้ เพราะเป็นสิทธิ” ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว กล่าว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า