Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หลายคนฝากความหวังไว้กับ ‘วัคซีน’ ว่าจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้ แต่เหมือนกับว่า ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จะไม่คิดเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่เครื่องยนต์สุดท้ายของเศรษฐกิจไทยดับ หมดเวลาพึ่งพาอาศัยบุญเก่า workpointTODAY จึงชวน ‘ศุภวุฒิ’ รวมให้ความเห็นพาประเทศไทยสู่ทางออกบนเวที THAILAND TOMORROW

เศรษฐกิจไทยแย่ ไม่ใช่เพราะโควิดแต่ด้วยนโยบาย

ศุภวุฒิ เริ่มต้นอธิบายว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพใช้ระบบสาธาณสุขจัดการกับโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งภายในภูมิภาคตลอดจนทั่วโลก แต่ปัญหาที่ทำให้ไทยไม่สามารถต้านทานวิกฤติในครั้งนี้ได้ เป็นเพราะว่า ‘การกระตุ้นเศรษฐกิจ’ ของไทยไม่ดีพอ

“บอกตรง ๆ เพราะว่าประเทศที่โดนหนักและจีดีพีติดลบมากเท่าเรา คือ กลุ่มประเทศยุโรป ด้วยสาเหตุว่าเขาโดนโควิดรุนแรงมาก ทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้น ในขณะที่อเมริกาโดนโควิดทั้งรอบ 1 และรอบ 2 แต่ในสมัยทรัมป์เลือกใช้นโยบายการเงินการคลังเต็มสูบ ทำให้จีดีพีของอเมริกาปีที่แล้วติดลบ 3.5% ส่วนปีนี้กำลังจะขยับขึ้นไปโตราว 6% หรือดีไม่ดีอาจจะสูงถึง 8%”

ขณะที่ปี 2563 แม้ประเทศไทยจะเดินหน้าปราบโควิด-19 สำเร็จ แต่จีดีพีกลับติดลบ 6% ส่วนในปี 2564 นี้เราปราบโควิด-19 รอบ 2 ได้ค่อนข้างดีเช่นเดียวกัน แต่ตามการคาดการณ์ของสภาพัฒน์คาดว่าจีดีพีไทยน่าจะโตแค่เพียง 2.8% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจอเมริกาดีกว่าไทยแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แม้จะจัดการโควิด-19 ได้แย่กว่า

ดังนั้น “กระตุ้นเศรษฐกิจไม่พอ” จึงเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยหากเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ใช้เงินกว่า 25% ของจีดีพีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐไทยจะต้องใช้เงินราว 4 ล้านล้านบาท รวมถึงกดดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงอยู่ที่ 0.5% ลงให้เหลือ 0% เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาทำ 

นอกจากนั้น ศุภวุฒิ ยังเชื่อว่า แม้ประเทศไทยจะเดินหน้าเริ่มต้นฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นคืนได้ เพราะปริมาณการฉีดวัคซีนในประเทศไทยน้อยเกินกว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นคืนได้ โดยหากต้องการฉีดวัคซีนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไทยจะต้องฉีดวัคซีนในลักษณะเดียวกับอิสราเอล คือ การฉีดวัคซีนปูพรมให้ได้อย่างน้อย 80% ของประชากร หรือหากต้องการให้วัคซีนจำนวนน้อยที่มีอยู่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไทยจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนแบบเจาะจงพื้นที่ อย่างเช่นฉีดเฉพาะในพื้นที่เกาะสมุยหรือภูเก็ต ก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยว

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เครื่องยนต์สุดท้ายพัง หมดเวลาหากินกับบุญเก่า

นอกจากนั้น อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบหนักกว่าที่อื่นๆ เป็นเพราะ ‘โครงสร้างเศรษฐกิจ’ โดยจะเห็นได้จากตัวเลขจีดีพีในช่วงก่อนโควิด-19 อย่างไตรมาส 4 ปี 2562 และไตรมาส 1 ปี 2563 ที่เห็นอย่างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงมากและเหลือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว คือ ‘การท่องเที่ยว’ ทำให้ทันทีที่เจอกับโควิด เครื่องยนต์ทั้งหมดของไทยจึงดับ

“มันสะท้อนว่าบุญเก่าเราชักจะเริ่มหมดนะครับ ถ้าคิดกลับไปเร็ว ๆ เศรษฐกิจไทยเราขับเคลื่อน กินบุญเก่ามาจากมาบตาพุต มาจากการที่เราค้นพบแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย แล้วเราก็เอาแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยที่เราค้นพบมาเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วขึ้นมาบนบก แล้วก็สร้างนิคมอุตสาหกรรม เอาแก๊สธรรมชาติมาแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเราก็ใช้นิคมอุตสาหกรรมเป็นฐานในการรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมรถยนต์ ก่อนที่เราจะสร้างท่าเรือมาบตาพุต ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออก เรากินบุญเก่าตรงนี้มา 30 ปีจนเวลาผ่านไป เราเคยบอกว่าเราอยากเป็น Detroit of Asia แต่เขาเป็น EV กันไปหมดแล้ว เราก็เลยยังหาอะไรไม่ได้ โชคดีที่เราได้การท่องเที่ยวมาโดยไม่ได้หา ถ้าดูตัวเลขมันก็เหมือนบุญหล่นทับ”

“ตอนประมาณปี 2005 ที่มีการเปิดเสรีทางการบิน ตั๋วเครื่องบินถูกลง และจีนเปิดประเทศ แล้วประเทศอื่นเขาก็บินกันเยอะแยะด้วยเนี่ย จากตอนนั้นสัดส่วนของการท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณแค่ 4-5% ของ GDP ขยับขึ้นมาเป็น 12% ของ GDP ภายในเวลาเพียงแค่ 10 กว่าปีเท่านั้น แล้วก็พึ่งพาตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Engine of Growth) ตัวนี้มาจนกระทั่งเจอโควิด-19”

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ไม่รู้ว่าเก่งอะไร ไม่น่าลงทุนตรงไหน คือ ไทยในเวลานี้

ยิ่งไปกว่านั้น ศุภวุฒิ มองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะประเทศไทยจะได้เชื้อเพลิงอย่าง ‘การลงทุน’ ทั้งจากภาครัฐหรือเอกชนมาเติมลงในเครื่องยนต์ที่กำลังจะดับ เพราะประเทศไทยขาดความชัดเจนในการเดินหน้านโยบายทางเศรษฐกิจ แตกต่างจากยุค 1980 ที่มีนโนบายเดินหน้าประเทศใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นแกนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสร้างนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ และใช้ฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

“ผมยังไม่เห็นว่ารัฐบาลไทย ภาคเอกชนไทย หรือแม้กระทั่งผมเอง รู้ว่าเราจะไปทำมาหากินอะไรกันดี รัฐบาลเพียงแต่พูดบอกว่าอยากจะลดภาษีให้กับกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ที่พูดกว้าง ๆ อย่างเช่น Robotic, AI, Digital แต่มันไม่ชัดเจนไงครับ เราบอกเราอยากจะ robotic อยากจะ digital อยากจะ s-curve แต่อุตสาหกรรมที่เราจะทำคืออะไร?”

นอกจากนั้น ในสายตาต่างชาติ ประเทศไทยยังมีความน่าสนใจในการลงทุนด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรป รวมถึงอยู่ในข้อตกลงการค้า TPP ที่ไทยไม่ได้อยู่ รวมถึงยังมีค่าแรงถูกกว่าไทยมาก

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เม็ดเงินไหลออก ตลาดหุ้นสะท้อนความรุ่งเรือง

สอดคล้องกับอีกปัจจัยอย่าง ‘เม็ดเงินลงทุน’ ที่ไหลออกจากประเทศ เพราะกำลังซื้อในประเทศตกต่ำ คนไทยบริโภคลดน้อยลง ทำให้การนำเข้าลดลงไปด้วยจนทุนเกินบัญชีเดินสะพัด ค่าเงินบาทเลยทวีความแข็งค่ามากยิ่งขึ้น จนธนาคารแห่งประเทศไทยยินดีที่นักลงทุนจะนำเงินออกจากประเทศไทย ทำให้การลงทุนภายในประเทศลดลง ทั้งที่การลงทุนคือการสร้างโอกาส ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตลดลงไปด้วย

“ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ มักจะสะท้อนอนาคตเสมอ ฉะนั้นพูดง่ายๆ เลย ถ้าดัชนีเราแค่ 1,500 กว่าๆ แทนที่จะเป็น 1,700 ที่สูงสุดก็แปลว่าตลาดมองว่าอนาคตเรายังไม่ได้ดีเท่ากับสมัยก่อนด้วยซ้ำ แต่ตลาดหุ้นในประเทศอื่นดัชนีกลับขึ้นไปแตะจุดสูงสุดตลอดกลาง (all time high) เรื่อยๆ อยู่แล้ว ทำให้เห็นว่าตลาดหุ้นในส่วนอื่นๆ ของโลกคาดการณ์ว่าอนาคตของเขาจะรุ่งเรือง”

โดยสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวช้ากว่าตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ทั่วโลก สะท้อนว่านักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นของไทยและไม่เชื่อมั่นในอนาคตของเศรษฐกิจไทย นอกจากนั้น ปัจจุบันหุ้นใหญ่ๆ ในตลาดหุ้นไทย มักเป็นหุ้นเศรษฐกิจเก่า (Old Economy) เช่น การธนาคาร พลังงาน ธุรกิจอุปโภคบริโภค ฯลฯ รวมถึงส่วนใหญ่ยังเป็นหุ้นที่มาจากการผูกขาด ต่างจากหุ้นในตลาดต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ที่หุ้นตัวใหญ่ๆ มักเป็นหุ้นเทคโนโลยี สะท้อนว่าไทยขาดบริษัทที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า 

“ฉะนั้น เศรษฐกิจเราสะท้อนเลยว่าคนที่มีอำนาจทางการตลาด ไม่ว่าจะได้จากการผูกขาดโดยอำนาจจากรัฐบาลหรือกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติก็จะกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่ แต่เมืองนอกคือหุ้นขนาดใหญ่เป็นหุ้นที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยี แต่ดูจากตลาดหุ้นไทยไม่ได้เป็นที่ที่รองรับบริษัททางด้านเทคโนโลยี”

ศุภวุฒิ อธิบายต่อว่า ถ้าประเทศไทยอยากให้บริษัทเทคโนโลยีมาอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากก็ต้องทำ ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ให้บริษัทเหล่านี้อยากมาอยู่ ยกตัวอย่างเช่น TSMC (Taiwan Semi-Conductor) ของไต้หวัน ซึ่งผลิตเซมิคอนดัคเตอร์หรือชิ้นส่วนในการผลิตโทรศัพท์ รถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงในเทคโนโลยี 5G ที่กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก โดยแม้จะมีประชากรแค่ 30 ล้านคน แต่กลับครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% ถ้าหากทำได้ไทยก็อาจจะสามารถสร้างมูลค่ามหาศาลแบบที่ TSMC สร้างได้เช่นกัน

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

หาเป้าหมายนำประเทศสู่ทางออก

ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษาของเกียรตินาคินภัทรฯ ยืนยันว่า “ไทยต้องหาว่าไทยจะเก่งด้านไหน” เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ตัวอย่างเช่นหากไทยอยากโดดเด่นเรื่อง ‘การท่องเที่ยว’ ที่เป็น Hi-touch Service Economy หรือเศรษฐกิจที่อาศัยต้นทุนทางวัฒนธรรมในการเติบโต โดยตั้งเป้าจะดัน Wellness Economy สู่ Medical Tourism และ World Fair Wellness ในที่สุด

โดยอาจจะวางให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแพทย์และพยาบาลของภูมิภาค แล้วเชิญจอห์น ฮอคกิ้ง (John Hocking) หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ มาตั้งมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก่อนเปิดเสรีให้คนที่มาเป็นแพทย์ในไทย ไม่ต้องสอบการแพทย์เป็นภาษาไทย สามารถใช้ภาษาอะไรก็ได้ ส่วนพยาบาลที่ขาดแคลนอยู่ก็เร่งผลิต ตั้งเป้ามีพยาบาลเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนคนใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อขยายจำนวนโรงพยาบาลในประเทศไทย ให้ต่างชาติมาลงทุนในศูนย์กลางด้านการรักษา พร้อมเปิดส่งออกทั้งแพทย์และพยาบาล 

นอกจากนั้น ไทยยังต้องผลักดันให้กลายเป็นประเทศที่มีอาหารออร์แกนิกมากที่สุด โดยต้องมีมาตรการส่งเสริม อาทิ เปิดให้ certify อาหารออร์แกนิกได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอดอายุการต่อใบประกาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอาหารออร์แกนิกมากที่สุดในโลก เพื่อให้คนอยากมาเมืองไทย เพื่อรักษาพยาบาลและกินอาหารที่ดี 

“ถ้าสมมติว่าเราชัดเจนว่าเราจะไปทางนั้นแล้ว เรื่องรถยนต์อย่าง Detroit of Asia ก็ไม่ต้องไปพูดถึงแล้ว”

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โดยจะหาว่า ‘ไทยเก่งด้านไหนและเก่งอะไร’ ศุภวุฒิ บอกว่า ต้องให้ทุกคนช่วยกันตอบคำถามนี้ อย่างสิงคโปร์มีความพยายามในการตั้ง Blue Ribbon Committee มาระดมสมองกันว่าประเทศจะเดินไปในทิศไหนและตกลงกันทั้งภาครัฐและเอกชน ขนนำมาสู่กรอบในการใช้ทรัพยากรเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่จุดหมาย

“ประเทศไทยเรายังไม่มีตรงนั้นเลย ล่าสุดเราได้ยินรัฐบาลพูดจะมี 3 ส่วนในการออกจากโควิด-19 อย่างแรกคือ ‘เยียวยา’ เราเยียวยาไปเยอะมาก เราชนะกี่ครั้งแล้ว คนละครึ่งกี่ครึ่ง อันนี้ไม่ได้มีประโยชน์เลยในการสร้างอนาคต ช่วยเยียวยาเฉยๆ”

“อันที่ 2 คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจมันฟื้นแล้ว ช่วยให้มันฟื้นหน่อยซิ อย่างเช่นเราเคยบอกว่าจะมีมาตรการงบประมาณ 4 แสนล้านบาท จะไปกระตุ้นให้นักศึกษาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้แต่ละอำเภอ แต่ละตำบล นั่นเป็นการสร้างงานให้นักศึกษาไม่ตกงานเป็นการกระตุ้น” 

“แต่อันที่ 3 ที่ยากที่สุด คือ การปรับโครงสร้าง อันนี้ยังไม่มีใครพูดสักคนเดียว ว่าประเทศนี้จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไร ที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจที่เราจะทำ คือ EEC ผมจะบอกว่า EEC เนี่ย มันถูกโควิด-19 ลบล้างภาพของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปเยอะแล้ว อย่างที่เล่าไป 3 โปรเจคแรกภายใต้ EEC (รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน, ขยายสนามบินอู่ตะเภา, สร้างอู่ซ่อมเครื่องบิน) มันเลยต้องเปลี่ยน ถ้าคุณไม่ทำอย่างนั้น แล้วคุณจะทำอย่างไร”

ศุภวุฒิ ย้ำว่าเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งแรกที่ไทยควรทำคือการ ‘เลือก’ เลือกว่าไทยอยากจะเป็นอะไร อยากเก่งด้านไหน เมื่อเลือกได้แล้วจะได้มีทิศทางในการพัฒนาประเทศชัดเจนและสามารถระดมสมองจากทุกภาคส่วนได้ รัฐบาลควรเป็นคนสร้างกรอบนโยบายที่ประเมินแล้วว่าไทยมีศักยภาพในด้านที่เลือกจริง และมีสเต็ป 1 2 3 4 5 เพื่อไปถึงเป้าหมายความเป็นเลิศในด้านนั้น

“รัฐบาลเรามีศักยภาพมหาศาล เพราะหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแค่ 56% เท่านั้น ในขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของอเมริกาและอังกฤษนั้นพุ่งไปที่ 100% แล้ว ก็เอางบประมาณมาใช้สิ เพราะอันนี้เป็นการช่วยอนาคต ถ้าคุณทำได้ดี คุณใส่เข้าไปสมมติ 10% ของจีดีพี แต่ทำให้จีดีพีโตขึ้น 10% สุทธิต่อจีดีพีเท่าเดิม เพราะเป็นการทำให้ตัวหารเพิ่มขึ้น นี่คือข้อดีของการลงทุน”

อย่างไรก็ตาม ศุภวุฒิ ทิ้งท้ายว่า “(ประเทศไทย) คงไม่ได้มีความหวังอะไรเท่าไร ตราบใดที่ยังคงไม่มีความชัดเจนในการกำหนดอนาคตของประเทศแบบนี้ ความหวังของเรามีอยู่ที่ว่ารัฐบาลจริง ๆ แล้วแข็งแรง หนี้สาธารณะแค่ 56% แข็งแรงกว่าเอกชนอีก ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะ 90% แล้ว แล้วทำไมคนที่แข็งแรงกว่าไม่ช่วยคนที่อ่อนแรงกว่า”

รับชม ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในงาน THAILAND TOMORROW by workpointTODAY ทอล์คความรู้ฉีดวัคซีนเศรษฐกิจไทย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า