Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ดูเหมือนว่า วิกฤติการบินไทยจะไม่ได้สร้างความระส่ำระสายแค่ภายในองค์กรเท่านั้น หากแต่ส่งผลกระทบถึงบรรดาสหกรณ์ออมทรัพย์อีก 82 แห่ง ที่เอาเงินไปลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นมูลค่ารวมกันกว่า 42,000 ล้านบาทด้วย ทำให้หลายคนกังวลว่า ถ้าการบินไทยล้มละลายขึ้นมาจริง ๆ เงินฝากของสมาชิกสหกรณ์ต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบอย่างไร

เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้ ไปทีละลำดับกันครับ

1. ปัจจุบัน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 51.03% ทำให้การบินไทยมีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” หรือสามารถแปลได้อีกความหมายหนึ่งว่า กิจการนี้มีประชาชนทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ เพราะเงินของรัฐมาจากภาษีประชาชนนั่นเอง

2. ในการประกอบธุรกิจ “เงินทุน” เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งการที่จะได้เงินทุนมานั้นมีหลากหลายวิธี เช่น เจ้าของกิจการควักเงินของตัวเองมาใช้ทำธุรกิจ เปิดให้คนอื่นมาร่วมลงทุน หรือจะขอกู้ยืมเงินมาก็ได้

3. หนึ่งในวิธีที่การบินไทยใช้ก็เหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ทั่ว ๆ ไป นั่นคือการขาย “หุ้นกู้” (ตราสารหนี้) เพื่อระดมทุนจากประชาชน แล้วนำเงินไปดำเนินธุรกิจให้เจริญเติบโต สร้างกำไร คนที่ซื้อหุ้นกู้จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ของกิจการ และหุ้นกู้นั้น ๆ จะมีการกำหนดระยะเวลาคืนเงิน เช่น 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี พร้อมกับกำหนดอัตราผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ที่ผู้ซื้อจะได้รับเมื่อถือครบสัญญาเอาไว้ชัดเจน

4. แม้ช่วง 10 ปีหลังสุด การบินไทยจะขาดทุนมากกว่ากำไร แต่หุ้นกู้ของบริษัทกลับยังได้รับความนิยมจากนักลงทุน อย่างเมื่อ 3 ปีก่อน ที่การบินไทยเปิดขายหุ้นกู้ก็มีนักลงทุนจองซื้อมากกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นกู้ที่มีขาย เรียกว่าขายดีจนต้องแย่งกันซื้อเลยทีเดียว

5. สาเหตุที่หุ้นกู้ของการบินไทยขายดี (ตรงข้ามกับผลประกอบการ) เป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มีความมั่นใจว่า การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 51% หากกิจการประสบปัญหาอะไรขึ้นมา เดี๋ยวรัฐบาลก็ต้องหาทางช่วยเหลือ ไม่มีทางที่จะปล่อยให้กิจการนี้ล้มไปแน่ ๆ

6. ความเชื่อมั่นนี้สอดคล้องกับการจัดอันดับเครดิตเรทติ้งโดย TRIS (บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ) เมื่อปี 2562 ที่ให้เครดิตเรทติ้ง บริษัท การบินไทย จำกัด และหุ้นกู้การบินไทยที่ระดับ A โดย TRIS ระบุเหตุผลสำคัญของการให้เครดิตเรทติ้งระดับ A ว่า

“การบินไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจโดยมีกระทรวงการคลังเป็นถือหุ้นในสัดส่วน 51% TRIS เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่รัฐบาลจะยังคงสนับสนุนทางการเงินให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่องและทันสถานการณ์เมื่อบริษัทต้องการความช่วยเหลือ”

7. เมื่อหุ้นกู้การบินไทยได้รับเครดิตเรทติ้ง A ก็ถือว่ามีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลางถึงสูง จึงไม่แปลกใจที่สหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ จะสนใจลงทุนและซื้อหุ้นกู้การบินไทยไว้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินกับธนาคาร

8. สหกรณ์ออมทรัพย์ คือ การรวมกลุ่มกันของบุคคลที่ประกอบอาชีพเดียวกันหรืออาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน สหกรณ์มีการดำเนินงานคล้ายกับสถาบันการเงิน คือให้สมาชิกฝากเงินและนำไปปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิก เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยปกติสหกรณ์จะนำเงินบางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมาจ่ายให้กับสมาชิกในรูปแบบของ “เงินปันผล”

9. แต่ไม่ใช่ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์จะนำเงินของสมาชิกลงทุนอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ในมาตรา 62 ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์จะฝากเงินหรือลงทุนได้ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนดเท่านั้น

หรือหมายความว่า หุ้นกู้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ สามารถเข้าไปลงทุนได้ จะต้องเป็นหุ้นกู้ที่มีหลักประกันหรือหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ A- ขึ้นไป ดังนั้น เมื่อหุ้นกู้การบินไทยมีเครดิตเรทติ้งอยู่ในระดับ A สหกรณ์จึงสามารถลงทุนได้

10. นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ว่าปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์ซื้อหุ้นกู้การบินไทยจำนวน 82 แห่ง วงเงินรวมทั้งสิ้น 42,229 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของสหกรณ์ทั้ง 82 แห่ง ซึ่งมีรวมกันกว่า 1.17 ล้านล้านบาทแล้ว ถือว่าสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยนั้นน้อยมาก หรือแค่เพียง 3.62% ของสินทรัพย์ทั้งหมด

ยกตัวอย่าง สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ถือหุ้นกู้การบินไทย เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กฟผ. สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สหกรณ์ออมทรัพย์ ปตท. สหกรณ์ออมทรัพย์กรมทางหลวง สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

11. อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป กับปัญหาขาดทุนเรื้อรังจนขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรงของบริษัทฯ ทำให้หลายคนเริ่มไม่มั่นใจว่า สุดท้ายการบินไทยจะต้องล้มละลายไปจริง ๆ หรือไม่ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น เงินฝากให้สหกรณ์ออมทรัพย์จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

12. ก่อนจะบอกได้ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ซื้อหุ้นกู้การบินไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน จะต้องไปดูก่อนว่าสถานการณ์วิกฤติของการบินไทยจะคลี่คลายไปทิศทางใด ปัจจุบันมีการคาดการณ์เอาไว้ 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ

– รูปแบบที่หนึ่ง รัฐบาลให้ความช่วยเหลือการบินไทยเหมือนในอดีต ไม่ว่าจะใส่เงินเพิ่มเข้าไปให้หรือให้การบินไทยไปกู้เงินแล้วรัฐบาลค้ำประกัน ถ้าเป็นแบบนี้บริษัทฯ จะยังดำเนินกิจการต่อไปได้ และสามารถนำเงินไปไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดตามปกติ สหกรณ์ก็จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เพราะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยเต็มจำนวน

– รูปแบบที่สอง รัฐบาลให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย หมายความว่าการบินไทยจะต้องทำแผนฟื้นฟูตามกฎหมาย เจรจากับเจ้าหนี้ทุกรายว่าบริษัทจะฟื้นฟูธุรกิจอย่างไรให้กลับมามีกำไร แล้วจะขอพักหนี้ ลดหนี้ ลดดอกเบี้ยได้อย่างไร ซึ่งแผนต่าง ๆ จะต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้และศาล ถ้าเป็นรูปแบบนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ในฐานะ “เจ้าหนี้” ต้องเข้าไปร่วมประชุม เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูและต่อรองหาข้อสรุป

– รูปแบบที่สาม รัฐบาลปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย หมายความว่า การบินไทยต้องปิดกิจการลงแล้วขายทรัพย์สินทั้งหมดออกมาเพื่อใช้หนี้ เจ้าหนี้แต่ละรายรวมถึงสหกรณ์จะต้องไปขอเฉลี่ยรับเงินคืนตามสัดส่วน หากโชคดีอาจได้เงินคืนเต็มจำนวน แต่ถ้าทรัพย์สินที่ขายไปนั้นได้เงินคืนกลับมาน้อย เจ้าหนี้ก็จะได้เงินคืนน้อยลงด้วย

13. สำหรับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 82 แห่ง ที่ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทย ถ้าอยากรู้ว่ามีโอกาสได้รับกระทบแค่ไหน อย่าดูเพียงแค่ว่าสหกรณ์ที่เราเป็นสมาชิกอยู่มีหุ้นกู้การบินไทยกี่บาท แต่ต้องดูด้วยว่าหุ้นกู้ที่มีนั้นคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด

เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยประมาณ 2,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% เมื่อเทียบกับทุนดำเนินงานของสหกรณ์ประมาณ 33,000 ล้านบาท

สหกรณ์ออมทรัพย์ป่าไม้ ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยประมาณ 760 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.5% เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมประมาณ 21,380 ล้านบาท

14. เมื่อเรารู้แล้วว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เราเป็นสมาชิกอยู่มีหุ้นกู้การบินไทยเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินของเราจะหายไปตามสัดส่วนนั้นทันทีหากการบินไทยล้มละลายไปจริง ๆ เพราะการบินไทยยังมีทรัพย์สินที่สามารถขายมาคืนให้กับเจ้าหนี้ได้บางส่วน

เช่น สมมุติว่าการบินไทยมีหนี้ 2.5 แสนล้านบาท ขายทรัพย์สินทั้งหมดได้มา 1.5 แสนล้าน ถ้าทุกคนเป็นเจ้าหนี้ลำดับชั้นเดียวกัน เจ้าหนี้ทุกรายก็จะได้เงินคืน 60% ของหนี้ที่ปล่อยกู้ให้การบินไทย

จากตัวอย่าง สหกรณ์ธรรมศาสตร์จะได้เงินคืนประมาณ 2,300 x 60% = 1,380 ล้านบาท ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ป่าไม้ก็จะได้เงินคืนประมาณ 760 x 60% = 304 ล้านบาท เป็นต้น

15. เท่าที่มีข้อมูล สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอยู่แล้ว ทำให้แต่ละแห่งถือหุ้นกู้การบินไทยในสัดส่วนไม่เกิน 10% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ดังนั้น หากการบินไทยต้องล้มละลายหรือเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ สหกรณ์ก็ยังได้รับเงินคืนกลับมาบางส่วนในฐานะ “เจ้าหนี้” ของการบินไทยแน่นอน

แต่สิ่งที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาและวิกฤติใหม่ในครั้งนี้ คือ “ความเชื่อมั่นของสหกรณ์” เพราะสหกรณ์ต้องนำเงินของสมาชิกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีมาให้กับสมาชิก ซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้นไม่สามารถขายออกมาเป็นเงินสดได้ทันที

ดังนั้น ถ้าสมาชิกสหกรณ์แห่ไปถอนเงินออกมาพร้อมกันมาก ๆ สหกรณ์ก็อาจจะเจอปัญหาการขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถหาเงินสดมาคืนให้กับสมาชิกได้ และต้องเอาสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปเร่ขาย สุดท้ายกลายเป็นว่าสมาชิกสหกรณ์ต้องขาดทุนจากวิกฤติสภาพคล่องมากกว่าวิกฤติหุ้นกู้การบินไทยเสียอีก

หมายเหตุ : ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 63 TRIS ได้ปรับอันดับเครดิทเรตติ้งหุ้นกู้การบินไทยลง 3 อันดับจาก A เหลือ BBB จากความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการชำระหนี้ให้แก่การบินไทยเหมือนในอดีตหรือไม่ ซึ่ง TRIS อาจจัดอันดับเครดิตเรทติ้งการบินไทยอีกครั้ง หากมีความชัดเจนจากรัฐบาล

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า