จากเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศ ส่งผลให้สถาบันการเงินต่างออกมาตรการช่วยลูกค้า ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การพักชำระเงินต้น การยกเว้นดอกเบี้ย ไปจนถึงการให้สินเชื่อใหม่ ฯลฯ
TODAY Bizview รวบรวมข้อมูลธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ได้ทั้งสิ้น 10 ธนาคาร ดังนี้
1. ธนาคารไทยพาณิชย์: ออกมาตรการช่วยลูกค้า SMEs ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อนโนรู ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ต.ค. 2565
- พักชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุดนาน 6 เดือน
- พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 3 เดือน
- ยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระ (อัตราดอกเบี้ยปกติ) สำหรับการผิดนัดชำระไม่เกิน 30 วัน
- เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20 %ของวงเงิน Working Capital เดิมและไม่เกิน 10 ล้านบาท
- วงเงินกู้สำหรับปรับปรุง ซ่อมแซม หรือซื้อทดแทนทรัพย์สินของกิจการที่เสียหายสูงสุด 20% ของวงเงินรวมเดิม สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี
ในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยจากพายุโซนร้อนโนรู ก็สามารถติดต่อไปยังธนาคารเพื่อพิจารณาได้เช่นกัน
2. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา: ออกมาตรการช่วยลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจรายย่อย ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 พ.ย. 2565
- สำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคล – พักชำระเงินต้น สูงสุดนาน 6 เดือน
- สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจรายย่อย
– พักชำระเงินต้น สูงสุดนาน 6 เดือน
– ลดค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนสูงสุด 85% และผ่อนชำระได้สูงสุด 12 เดือน
- สำหรับลูกค้า กรุงศรี ออโต้ ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อคนมีรถ
– พักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุดนาน 3 เดือน
– ลดค่างวดและขยายเวลาการผ่อนชำระ
นอกจากนี้ ลูกค้าสินเชื่อบ้านและสินเชื่อธุรกิจกรุงศรีที่ถือครองกรมธรรม์ ดังต่อไปนี้ 1) ประกันอัคคีภัยสินเชื่อสำหรับบ้านอยู่อาศัยและธุรกิจ 2) ประกันกรุงศรี โฮม พร้อม และ 3) ประกันทรัพย์สิน อุ่นใจ
สามารถติดต่อแจ้งเคลมค่าสินไหมประกันภัยทรัพย์สินกรณีฉุกเฉินจากสถานการณ์น้ำท่วม ได้ที่สายด่วน AAGI 1292 ตลอด 24 ชั่วโมง
3. ธนาคารทหารไทยธนชาต: ออกมาตรการช่วยลูกค้าสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อรถยนต์ ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ก.ย. 2566
สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อย
- สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ แบบไม่มีหลักทรัพย์คำประกัน
– ลดยอดผ่อนชำระเหลือ 70% นาน 3 เดือน หรือ
– ชำระเฉพาะดอกเบี้ย นาน 3 เดือน หรือ
– ชำระขั้นต่ำ 20% ของค่างวดผ่อน นาน 3 เดือน
- บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด
– บัตรเครดิต ลดดอกเบี้ยเหลือ 12% พร้อมผ่อนชำระยอดค้างได้สูงสุด 84 เดือน
– บัตรกดเงินสด (Flash Card) ลดดอกเบี้ยเหลือ 22% พร้อมผ่อนชำระยอดค้างได้สูงสุด 84 เดือน
และสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ธนาคารมีมาตรการรองรับเพิ่มเติม คือ พักชำระค่างวดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นาน 3 เดือน
สำหรับลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ ทีทีบีไดรฟ์
- สินเชื่อรถยนต์ใหม่ สินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว สินเชื่อรถแลกเงิน
– พักชำระค่างวดสูงสุด 2 เดือน (รวมงวดค้างชำระหากมี) หรือ
– ลดค่างวด หรือ ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ หรือมาตรการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
– กรณีลูกค้าค้างชำระต้องไม่เกิน 60 วัน ณ วันที่ยื่นคำร้องโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือ
- สำหรับสินเชื่อรถแลกเงิน แบบอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (สินเชื่อเล่มแลกเงิน)
– พักชำระค่างวดสูงสุด 2 เดือน
– อัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 22% และลดค่างวดผ่อนชำระสูงสุด 70% ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
– กรณีลูกค้าค้างชำระต้องไม่เกิน 30 วัน ณ วันที่ยื่นคำร้องโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือ
4. ธนาคารออมสิน:
- มาตรการพักชำระหนี้ ให้ลูกหนี้สามารถพักชำระหนี้เงินต้น เลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย 10% – 100% และกรณี Flat Rate ลดการชำระเงินงวด 50% ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
- มาตรการให้กู้เงินฉุกเฉินผ่านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเพียง 0.85% ต่อเดือน (Flat Rate) ชำระเงินเป็นรายเดือน 3-5 ปี ปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก
- สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ถึง 100% ของราคาประเมิน ดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.49% (MRR-2.755%) และปีที่ 4 เป็นต้นไป = 4.99% ต่อปี (MRR-1.250%)
- สินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 = 3.99% (MRR-2.255%) ปีที่ 2 = 4.99% (MRR-1.255%) ปีที่ 3 เป็นต้นไป = 5.745%
- สินเชื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 10% ของวงเงินกู้เดิมแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.50% ปีที่ 2 เป็นต้นไป = MLR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยธนาคาร MRR = 6.245% และ MLR = 6.150% ต่อปี)
5. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.): ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค. 2565
- มาตรการลดภาระหนี้เดิม สำหรับลูกค้าสถานะหนี้ปกติ
– การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี
– จ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ
– ชำระดีมีคืน กรณีลูกค้ามาชำระหนี้ถึงกำหนด จะได้รับการคืนดอกเบี้ย 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงไม่เกิน 2,000 บาทต่อราย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางการเงินแก่ลูกค้า
- มาตรการลดภาระหนี้เดิม สำหรับลูกค้าที่มีหนี้เป็นภาระหนัก
– จ่ายน้อย ผ่อนคลาย ได้ลดดอกเบี้ย โดยลูกค้าชำระหนี้อย่างน้อย 1% ของต้นเงิน ธนาคารจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พร้อมกำหนดชำระหนี้ตามศักยภาพ แต่ไม่เกิน 20 ปี ในอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50)
– ทางด่วนลดหนี้ สำหรับลูกค้าที่เป็นหนี้ NPL ณ 31 มี.ค. 2565 เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นเป็นรายสัญญา ธนาคารจะพิจารณาลดดอกเบี้ยค้างชำระตามสัดส่วน
สำหรับลูกค้าที่มีหนี้ NPL ที่มีการโอนเพิ่มในปีบัญชี 2565 และมีสถานะ NPL ณ 31 ส.ค. 2565 เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นเป็นรายสัญญา ธนาคารจะพิจารณาลดดอกเบี้ยค้างชำระตามสัดส่วน
- มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูลูกค้า
– โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกร เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท
– โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2
6. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.): ออก ‘มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2565’ ตั้งแต่วันนี้ถึง ธ.ค. 2565
- ลดเงินงวด 50% จากเงินงวดปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน
- ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 1 ปีแรก
- ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี 6 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด
- ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก ผ่อนเงินงวดเพียง 1,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี
- ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร
- พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จ่ายตามความเสียหายจริงรวมทุกภัยธรรมชาติสูงสุด 30,000 บาทต่อปี
7. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank): ออก ‘มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ’ ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธ.ค. 2565
- มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา ให้สิทธิ์พักชำระเงินต้น สูงสุด 6 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน ต่ออายุโดยไม่ต้องชำระเงินต้น โดยพิจารณาแนวทางช่วยเหลือตามผลกระทบของผู้ประกอบการแต่ละราย
- มาตรการเติมทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ ผ่านโครงการ ‘สินเชื่อ SMEs Re-Start’ วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี หรือ MLR-1.25% ผ่อนชำระนานสูงสุด 12 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) สูงสุด 24 เดือนแรก
เบื้องต้นธนาคารกำหนดพื้นที่ช่วยเหลือมาตรการพักชำระหนี้ฯ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ใน 49 จังหวัด ส่วนมาตรการเติมทุนฯ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (iBank): ออกมาตรการช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค. 2565
- มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร นานสูงสุด 6 เดือน และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
- สินเชื่ออุปโภคบริโภคและเชื่อธุรกิจอัตรากำไรพิเศษ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัย สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อบ้านชายแดนใต้ สินเชื่อ MOU
- สินเชื่อธุรกิจอัตรากำไรพิเศษ ได้แก่ โครงการสินเชื่อ SMEs Back to iBank โครงการสินเชื่อ iBank Small SMEs เป็นต้น
9. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank): ออกมาตรการ ‘2 เพิ่ม 3 ช่วย’ สำหรับลูกค้าที่ถูกผลกระทบน้ำท่วม
- เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินประเภทหมุนเวียนเดิม ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเดิมของลูกค้า
- เพิ่มวงเงินกู้ สูงสุด 2 ล้านบาท เพื่อซื้อหรือซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออาคารโรงงานที่ได้รับความเสียหาย อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ต่อปี ระยะเวลานาน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) สูงสุด 3 เดือน
- ช่วยลดการผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยลง สูงสุด 50% เป็นระยะเวลาสูงสุด 1 ปี
- ช่วยคืนเงิน 2% ของดอกเบี้ยจ่ายสะสมในระยะเวลาดังกล่าว โดยพิจารณาลูกค้าแต่ละรายตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด กรณีลูกค้าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ได้
- ช่วยขยายระยะเวลาต่ออายุตั๋วสัญญาใช้เงินเกินเทอมที่ธนาคารคารอนุมัติ สูงสุด 180 วัน
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ปัจจุบันเท่ากับ 5.75% ต่อปี
10. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.): ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ใน 25 จังหวัด ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 พ.ย. 2565
- กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อที่ถึงกำหนดชำระ (หนังสือค้ำประกันลงวันที่ 6 ต.ค. – 30 พ.ย. 2565) สามารถพักชำระออกไปอีก 6 เดือนนับจากวันถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมเดิม
- สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ประนอมหนี้กับ บสย.ที่ค้างชำระไม่เกิน 3 งวด (ณ วันที่อนุมัติ) ได้พักชำระค่างวด นานสูงสุด 6 เดือน โดยเริ่มงวดแรกในเดือนที่อนุมัติ แต่ไม่เกินเดือน ธ.ค. 2565
ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังอีกหลายธนาคาร พบว่าอยู่ระหว่างเตรียมการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ จึงแนะนำผู้ประสบภัยทั้งทางตรงและทางอ้อมติดตามข้อมูลจากธนาคารที่ใช้บริการเพิ่มเติม
ที่มา
- https://www.scb.co.th/th/about-us/news/oct-2565/help-sme-storm-noru.html
- https://www.scb.co.th/th/about-us/news/oct-2565/transformation-loan.html
- https://www.krungsri.com/th/about-krungsri/about-us/overview/announce/measureflooding-support
- https://www.ttbbank.com/th/tang-luk
- https://www.gsb.or.th/news/gsbpr36-65/
- https://www.baac.or.th/th/content-news.php?content_id=16728&content_group_semi=0004&content_group_sub=1&content_group=3&inside=1
- https://www.ghbank.co.th/news/detail/public-relations/flood-relief-measures-in-august-2022
- https://www.smebank.co.th/news/detail/1632#
- https://www.ibank.co.th/th/news/detail/2022-10-06-10-09-22
- https://www.exim.go.th/th/Newsroom/Press-Releases/EXIM-BANK-ออกมาตรการชวยเหลอลกคาทไดรบผลกระทบจาก-(1).aspx
- https://www.tcg.or.th/news_inside.php?news_id=6155