SHARE

คัดลอกแล้ว

หลายประเทศกำลังต่อสู้กับประเด็นสินค้าจีนทะลัก จนทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจในประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบกันไปถ้วนหน้า ด้วยความสามารถด้านการผลิตปริมาณมากของจีนที่ทำให้แข่งขันสู้ไม่ได้

กรณีนี้เกิดขึ้นกับแทบทุกประเทศในอาเซียน แม้แต่สหรัฐอเมริกา ยุโรป ซึ่งแต่ละประเทศก็พยายามจะออกกฎเกณฑ์ กฎระเบียบเพิ่มน้ำหนักทางกติกาให้การเข้ามาของสินค้าจีนแข่งขันได้ยากขึ้น

ถ้ามองมาที่ไทยยิ่งน่าห่วงว่า เราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเร่งตัวของการขาดดุลการค้ากับจีนเร็วมากที่สุดในโลก (เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ) โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ของ GDP ในปี 2012 เป็น 7.5% ของ GDP ในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5 p.p. ซึ่งเกิดจากทั้งการนำเข้ามาเพื่อบริโภคในประเทศเอง และการนำเข้าเพื่อส่งออกสินค้าต่อไปยังต่างประเทศ

สินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าแนวโน้มดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับจีนโดยตรงเท่านั้น แต่ยังจะกระทบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งรายได้ธุรกิจและแรงงาน การขาดดุลทางการค้า

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณามาตรการในการช่วยดูแลผลกระทบอย่างเหมาะสม

ที่ว่าภาครัฐต้องเร่งพิจารณานั่นก็เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยที่สินค้าจีนทะลักนั้นก็เกิดจากในประเทศไทยเอง ที่ทำให้มีส่วนดึงดูดสินค้าจากจีนให้เร่งเข้ามามากกว่าในหลายประเทศ คือ

1.ประเทศไทยมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากจีน ตัวอย่างเช่น การคิดอัตราภาษีจากสินค้าจีนในระดับต่ำ

2. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จีนเป็นผู้นำ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

3. การเกิดขึ้นของ e-Commerce ในประเทศไทย โดยคนไทยมีความคุ้นเคยและนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพิจารณาจากราคา ไม่ยึดติดกับแบรนด์

4. การให้ Free visa กับนักท่องเที่ยวจากจีน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบการเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด เปิดช่องทางให้คนจีนเข้ามาทำการค้าทำธุรกิจในไทยได้โดยง่าย

เมื่อไปดูจะเห็นว่าตอนนี้สินค้าที่ทะลักเข้าไทยมากที่สุด และกำลังได้รับผลกระทบ คือ

กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มที่ส่งผลให้มีการขาดดุลมากที่สุด โดยสินค้าที่สำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีนค่อนข้างมาก คือ สินค้าในกลุ่ม smartphone ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ผ่าน e-Commerce Platform ทำให้เห็นภาพว่า e-Commerce มีบทบาทสำคัญเช่นกันในการส่งผ่านสินค้าจากจีนมายังไทยมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สินค้าในกลุ่มเครื่องจักร เคยเป็นหนึ่งในประเภทสินค้าที่ไทยเกินดุลการค้ากับจีนจากสินค้าอย่าง Hard Disk Drive อย่างไรก็ดี ในภายหลังสินค้าเครื่องจักรจากจีนเริ่มเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น นำโดย Laptop และเครื่องใช้ไฟฟ้า

สินค้าในกลุ่มยานยนต์ สินค้าที่ขาดดุลกับจีนเป็นอันดับต้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่สินค้าที่เกินดุลการค้ากับจีนเป็นสินค้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จแล้ว โดยในปี 2022 เริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงจากการที่ไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนในสินค้ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นแซงหน้าชิ้นส่วนยานยนต์ทุกประเภท

เหล็กกล้าและอะลูมิเนียม พบว่าเหล็กและอะลูมิเนียมขาดดุลการค้ามากขึ้นทุกปีกับจีน โดยมีสาเหตุจากกำลังการผลิตที่เกินอุปสงค์ภายในประเทศจีนที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ สุดท้ายจึงต้องส่งออกเหล็กสำเร็จรูปเหล่านั้นมาที่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย

เคมีภัณฑ์และพลาสติก เปลี่ยนจากการเกินดุลการค้าเป็นขาดดุลการค้าในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าในปัจจุบันจีนมีการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยมีกำลังผลิตรวมมากกว่ายุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รวมกันเสียอีก จีนจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอีกต่อไป

หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจีนที่เคยร้อนแรงขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 สูสีกับสหรัฐได้นั้น ก็มาจากการที่จีนเติบโตจากการเป็นประเทศผู้ผลิตป้อนตลาดโลก และยิ่งช่วงวิกฤตโควิด ทำให้สินค้าจากจีนสามารถส่งออกไปยังโลกและไทยได้เร็วมากขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะพัฒนาการการเติบโตที่รวดเร็วของแพลตฟอร์ม e-Commerce ในจีนที่เติบโต และยังขยายธุรกิจส่งออกโดยอาศัย e-Commerce ข้ามประเทศ ที่เติบโตเอามากๆ

KKP Research ประเมินว่าหนึ่งในปัจจัยทำให้เกิดการทะลักของสินค้าจีนเข้ามาในไทย ก็เพราะการเติบโตของ e-Commerce platform

ข้อมูลชี้ว่ามูลค่า e-Commerce เติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 10.5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ตลาด e-Commerce มีมูลค่าโดยรวมอยู่ที่ราว 5.96 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนกว่า 50% เป็นธุรกิจประเภท Business-to-Consumer (B2C) คือการขายของออนไลน์จากธุรกิจไปยังผู้บริโภคโดยตรง

[ เศรษฐกิจไทยภายใต้แรงกดดันจากสินค้าจีน ]

ในกรณีของประเทศไทยการเติบโตของ e-Commerce มีแนวโน้มส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยผลจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ

คือถ้ามองมุมผู้บริโภคมีแนวโน้มได้ประโยชน์ เพราะสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง ขณะที่ผู้ผลิตในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการใช้วัตถุดิบราคาถูก หรือธุรกิจที่โตไปพร้อมกับ e-Commerce

แต่ผู้ผลิตในกลุ่มสินค้าเดียวกับสินค้าที่นำเข้าผ่าน e-Commerce มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากการเข้ามาทดแทนของสินค้าจีน ตัวอย่างเช่น สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า

เมื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่มีแนวโน้มส่งออกผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce มายังประเทศไทย กลุ่มสินค้าที่ไทยมีแนวโน้มขาดดุลกับจีนมากขึ้นและมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับ e-Commerce คือ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า

โดยเริ่มเห็นทิศทางการผลิตที่ชะลอลงแล้วในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้การเข้ามาของ e-Commerce ยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อ ภาคบริการแบบเก่า คือ กลุ่มค้าปลีกมีโอกาสได้รับผลกระทบ

เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าผลกระทบสำคัญที่ตามมา คือ

1.รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มถูกกระทบรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ปรับตัวได้ยากกว่า

2.หนี้เสียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นกลุ่มสินค้าเดียวกันกับสินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนมากขึ้น เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า เหล็ก

3.ดุลการค้ามีแนวโน้มพลิกเป็นขาดดุลในระยะยาวและกดดันค่าเงินบาทจากการนำเข้าสินค้าจีนทดแทนการผลิต

4.เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากสินค้าราคาถูกจากจีน

5.รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ภาษี จากการที่การชำระเงินให้กับการซื้อสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านี้ ถูกจ่ายตรงไปยังธุรกิจในต่างประเทศ

[ ไทยควรรับมืออย่างไร ]

การเข้ามาบุกตลาดของสินค้าจีนอาจมีข้อดีทำให้ซื้อสินค้าในราคาถูกลง แต่ตามมาด้วยผลกระทบด้านลบต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้การออกมาตรการสกัดกั้นหรือตอบโต้สินค้าจากจีนอาจเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องกีดกันสินค้าจากจีนในวงกว้าง หากแต่ควรพิจารณาออกแบบมาตรการรับมือ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นต้นว่า

Fair competition สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีการลักลอบ หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี หรือเป็นการทุ่มตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียผลประโยชน์จากการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม

Quality and standards สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดโดยมาตรฐานสินค้าและอาหารของหน่วยงานภาครัฐไทยหรือไม่?

Strategic industry สินค้านำเข้าเป็นการนำเข้าที่มาแข่งขันกับการผลิตในประเทศในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเศรษฐกิจไทย และการจ้างงานในภาพรวมหรือไม่

ในกรณีที่สินค้ามีลักษณะที่ตรงตามเกณฑ์ต่าง ๆ ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือธุรกิจไทยในกรณีที่มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการช่วยให้อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจมีเวลาปรับตัวมากเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการใดที่จะใช้ในการตั้งรับกับการแข่งขันในสมรภูมิสินค้าที่ดุเดือดมากขึ้นนี้ก็อาจเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการได้พอมีเวลาปรับตัว แต่สุดท้ายแล้วผู้ชนะในตลาดนี้จำเป็นต้องแข่งกันด้วยคุณภาพของสินค้า ประสิทธิภาพในการผลิต ความคุ้มค่า

มองอีกด้านก็เป็นโอกาสดีที่ภาคการผลิตของไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต สร้างนวัตกรรม สร้างแบรนด์ที่มีความแตกต่าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ส่วนภาครัฐอาจต้องช่วยส่งเสริมด้วยการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาปรับปรุงการผลิต และบุกเบิกตลาดใหม่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า