ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ปี 2019 จัดทำโดย The Economist Intelligence Unit (EIU) ระบุว่าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจากปีที่แล้ว โดยมีคะแนน 6.32 เต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้ 4.63 คะแนน ทำให้ประเทศไทยขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยแบบไม่สมบูรณ์ จากที่เคยอยู่กลุ่มประเทศกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยติดต่อกัน 5 ปี นับเป็นประเทศที่พัฒนาด้านประชาธิปไตยมากที่สุดในโลกของรอบปีที่ผ่านมา
แนวโน้มของประเทศไทยที่มีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นสวนทางกับกระแสโลกที่คะแนนเฉลี่ยลดลงจากปีที่แล้ว จากคะแนน 5.48 เหลือ 5.44 คะแนน
ดัชนีประชาธิปไตยนี้ให้คะแนนโดยแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่
1.กระบวนการการเลือกตั้งและมีหลายตัวเลือก
3.การมีส่วนร่วมทางการเมือง
4.วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย
ซึ่งปีนี้ประเทศไทยได้คะแนนด้านกระบวนการการเลือกตั้งและความเป็นพหุสังคม 7.42 คะแนน รองลงมาคือคะแนนด้านเสรีภาพของประชาชน 6.47 คะแนน ตามมาด้วยด้านวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย(6.25)และด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง(6.11) ส่วนที่คะแนนต่ำที่สุดจากการประเมินครั้งนี้คือด้านการทำงานของกลไกรัฐบาล ได้คะแนน 5.36 เต็ม 10 คะแนน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพัฒนาการในรอบปีมากที่สุดในการประเมินครั้งนี้เพราะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยคะแนนเพิ่มจากปีที่ผ่านมามากถึง 1.69 คะแนน จนเลื่อนจากกลุ่มประเทศกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยมาเป็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยแบบไม่สมบูรณ์
รายงานนี้บรรยายกลุ่มประเทศกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยว่า “ประเทศเหล่านี้จะมีความไม่ปกติหลายอย่างในระบบเลือกตั้งทำให้ไม่เสรีและเป็นธรรม รัฐบาลอาจจะกดดันพรรคฝ่ายค้านและผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม วัฒนธรรมการเมือง กลไกรัฐบาล และการมีส่วนร่วมทางการเมืองจะอ่อนแอกว่าประเทศประชาธิปไตยแบบไม่สมบูรณ์ มีการคอร์รัปชันทั่วไปและไม่มีหลักนิติรัฐ ส่วนภาคสังคมก็อ่อนแอ นักข่าวถูกกดดันและคุกคาม สถาบันยุติธรรมไม่เป็นอิสระ” ขณะที่บรรยายกลุ่มประเทศประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ไว้ว่า “ประเทศเหล่านี้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แต่อาจมีปัญหาบ้างเล็กน้อย เช่น เรื่องเสรีภาพของสื่อ ส่วนประชาชนมีเสรีภาพในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีมีข้อด้อยในส่วนต่าง ๆ ของระบบประชาธิปไตย เช่น หลักธรรมาภิบาล วัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือการมีส่วนร่วมประชาธิปไตยในระดับต่ำ”
รายงานยังเขียนว่าในการเลือกตั้งปี 2019 ของไทย “ผู้เลือกตั้งมีผู้สมัครและพรรคการเมืองจากหลายแนวคิดทางการเมืองให้เลือก ทำให้เพิ่มความมั่นใจของสาธารณชนต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้งและระบบการเมืองของไทย” แต่ก็ระบุด้วยว่า “มีรายงานการละเมิดและการใช้กำลังขู่เข็นบังคับ แต่ก็อยู่ในปริมาณน้อยและอยู่ในวงจำกัดซึ่งไม่เพียงพอต่อการลดทอนกระบวนการทั้งหมดได้” และบอกว่า “การเลือกตั้งทำให้คะแนนเพิ่มขึ้นในทั้ง 5 ด้าน แต่ด้านที่จะแนนเพิ่มมากที่สุดคือด้านการเลือกตั้ง”
ประเทศที่ดัชนีประชาธิปไตยตกลงฮวบที่สุดคือจีน ซึ่งกำลังเผชิญข้อกังขาเรื่องการปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในเขตซินเจียง ประกอบกับประเด็นเรื่องเสรีภาพของพลเมืองอื่น ๆ เช่น การสอดส่องโดยใช้ระบบดิจิทัล ทำให้คะแนนดัชนีประชาธิปไตยของประเทศตกจาก 3.32 คะแนนเป็น 2.26 คะแนน
ส่วนภาพรวมในทั่วโลกนั้นพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมาหลายประเทศพบกับปรากฎการณ์ประชาธิปไตยถดถอย โดยคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 5.44 เต็มสิบ เป็นคะแนนต่ำที่สุดเท่าที่มีการประเมินมาตั้งแต่ปี 2006 ในสายตาของ EIU มีเพียง 22 ประเทศเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ หากคิดเป็นจำนวนประชากรก็หมายถึงพลโลก 430 ล้านคนเท่านั้นได้มีสิทธิมีเสียงอย่างเต็มที่ ส่วนคนมากกว่า 1 ใน 3 ต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยม (authoritarian rule)
ในการประเมินครั้งนี้ประเทศที่อยู่ในระดับประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้แก่ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก แคนาดา ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักแซมเบิร์ก เยอรมนี สหราชอาณาจักร อุรุกวัย ออสเตรีย สเปน โมริทิอุส กอสตาริกา ฝรั่งเศส ชิลี และโปรตุเกส ตามลำดับ