SHARE

คัดลอกแล้ว

The Futures of Urban Life in Thailand’s Regional Cities คนเมืองภูมิภาค 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในภูมิภาคของประเทศไทย

งานสัมมนาครั้งนี้เป็นสัมมนาผลการวิจัย ข้อสังเกตและประเด็นต่างๆ จากโครงการวิจัยคนไทย 4.0 ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3-4 ปี ผู้นำเสนอหรือนักวิจัยในโครงการประกอบไปด้วย รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ (ภาพรวมโครงการ) อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ.ภัณฑิรา จูละยานนท์ (อนาคตการอยู่อาศัย) อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ.ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ (อนาคตการทำงาน) อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.เปี่ยมสุข สนิท (อนาคตการเดินทาง) อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ (อนาคตการซื้อของ) อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ.อนรรฆ พิทักษ์ธานิน (อนาคตความยากจน) นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.อภิวัฒน์ เริ่มการสัมมนาด้วยการแนะนำโครงการว่าทำไมจึงสนใจทำเรื่องอนาคตเมือง ซึ่งโครงการประกอบไปด้วยนักวิจัยหลายคน ศึกษาในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเมือง เป็นโครงการที่เริ่มจากกลุ่มนักวิจัยจากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเอเชีย และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานวิจัยในปีแรกเน้นศึกษาเรื่องชีวิตคนเมืองตั้งแต่การเกิด ที่อยู่อาศัย การทำงาน การเดินทาง การซื้อของ การตาย และคนไร้บ้าน เน้นภาพปัจจุบันและอนาคตของมหานครอย่างกรุงเทพฯ  

วิธีการวิเคราะห์ของโครงการนั้นมีความต่างจากโครงการวิจัยทั่วไป เนื่องจากใช้แนวทางการคาดการณ์ทางยุทธศาสตร์หรือ Strategic foresight งานวิจัยคนไทย 4.0 ประกอบไปด้วยการศึกษาหลายประเด็น รวมถึงอนาคตศึกษาที่เน้นเรื่องเมือง แต่ไม่ได้เน้นการพัฒนาเมืองทั่วไป เรื่องเมืองน่าอยู่ เมืองอัจฉริยะ หรือการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน 

สำหรับงานวิจัยปีที่สองเป็นการมองอนาคตเมืองหลักในภูมิภาค วิธีการวิจัยหลัก ใช้การคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ และมีการเก็บข้อมูลระดับครัวเรือน ในเมืองหลวง เมืองหลัก เมืองรอง เมืองเล็กที่อยู่ไม่ไกล รวมสามพันกว่าครัวเรือน มีการสุ่มเมืองตามวิถีชีวิตคนเมืองที่ศึกษาและผลการววิจัยจะมีการจัดทำเป็นหนังสือหกเล่มจากงานวิจัยพูดถึงอนาคตคนเมืองในไทย 

โจทย์ของการสนทนาคือการพูดคุยถึงข้อค้นพบของงานแต่ละชิ้นในมิติเมืองหลักในภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ สงขลา และเมืองหลวงคือกทม. จากนั้นจึงนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายที่ได้จากงานวิจัย

 

อ.ภัณฑิรา เรื่องที่อยู่อาศัย นำเสนอผลการวิจัยในเมืองหลัก โดยมีการเปรียบเทียบกับเมื่องหลวงเล็กน้อย ในส่วนของข้อค้นพบในเมืองหลักมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบ mass housing เพิ่มขึ้น และที่อยู่ในลักษณะนี้มีบทบาทสูงขึ้นในเมืองหลัก ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดในเมืองหลวงแล้ว ในเมืองหลวงมีทั้งที่อยู่อาศัยในแนวตั้งและแนวราบในระดับที่พอกัน ส่วนเมืองหลักอย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ สงขลา พบว่าเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ คือ หมู่บ้านจัดสรรหรือชุมชนล้อมรั้วมากกว่า ซึ่งที่อยู่อาศัยแนวนี้เป็นผู้เล่นสำคัญ มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยลักษณะนี้เยอะ เพราะคนยังอยากมีที่ดิน มีบ้านเป็นของตัวเอง

จากผลการศึกษาเราจึงควรคาดการณ์ว่าการรูปแบบการอยู่ mass housing แบบนี้ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง เมื่อมีภาวะโลกร้อน สังคมสูงวัยต่างๆ การอยู่ร่วมกันโดยมีนิติบุคคลบริหาร จะมีนโยบายที่แตกต่างไปอย่างไรในเมืองหลัก 

นอกจากนี้ยังมีโครงการเกือบจัดสรร ที่จัดสรรที่ดินขนาดเล็กๆ แต่ยังไม่ต้องไปขออนุญาตจัดสรร เป็นโครงการที่ปรากฏให้เห็นในหลายๆที่ เป็นโครงการที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน จึงอาจเป็นโครงการที่สร้างคอมมูนิตี้รูปแบบใหม่กลางเมืองขึ้นมาได้ แต่ถ้าโครงการไปอยู่ชานเมืองอาจทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่เป็นระบบ ยากต่อการวางระบบสาธารณูปโภค ส่วนนี้เป็นสิ่งที่อยากนำเสนอในทางนโยบาย

คนที่อาศัยในที่อยู่แบบ mass housingในคอนโดและบ้านจัดสรร เป็นตัวแทนของวิถีชีวิตแบบเมือง ในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การใช้บริการสาธารณะต่างๆ ถ้าเทียบเมืองหลวงกับเมืองหลัก ในเมืองหลัก พวกเขาจะมีเซนส์ของความสัมพันธ์กับคนในละแวกบ้านสูงกว่าคนในเมืองหลวง ยังมีความเป็นชุมชนดั้งเดิมในจังหวัดต่าง ๆ อยู่ ซึ่งถูกผสมผสานเข้ามาอยู่ในที่อยู่อาศัยสมัยใหม่

รศ.ดร.อภิวัฒน์ เสริมว่าผลการวิเคราะห์การใช้พื้นที่สาธารณะต่างๆ ในรายงาน มีการวิเคราะห์ระดับความเป็นชุมชนจากแบบสอบถาม พบว่ายิ่งเมืองใหญ่เท่าไหร่ ความเป็นชุมชนยิ่งน้อยลง ยิ่งความหนาแน่นสูงความเป็นชุมชนก็ลด มันมีความน่าสนใจเพราะนักผังเมืองพยายามสร้างประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร แต่พอเมืองหนาแน่นขึ้นแล้วความเป็นชุมชนลดลงแบบนี้ก็มีความน่าสนใจ ในรานงานพอรันโมเดลออกมาแล้วพบว่าคนที่อยู่ในครอบครัวใหญ่เท่าไหร่ ความเป็นชุมชนก็สูงขึ้นเท่านั้น อย่างในกทม.เป็นครอบครัวแบบซิงเกิลอินคัม โนคิดส์ หรือดับเบิลอินคัมโนคิดส์ แต่ถ้าเป็นแบบนี้จะหมายความว่ายิ่งอยู่ในครอบครัวเล็กเท่าไหร่ความเป็นชุมชนก็จะยิ่งน้อยลง ข้อมูลนี้มีนัยยะอะไรไหม 

อ.ภัณฑิรา เสริมว่า ในการศึกษาเรื่องความเป็นชุมชน ไม่ได้ต้องการให้คนกลับไปอยู่ในสังคมแบบดั้งเดิม ในแบบสำรวจถามว่าเขารู้สึกถึงความเป็นชุมชนมากหรือน้อย ถามในแง่ความปลอดภัย เวลามีความเดือดร้อน สามารถพึ่งพาคนใกล้ตัวได้ไหม มันจะสะท้อนถึงความรู้สึกอยากพัฒนาเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่อยู่อาศัย บริเวณไหนมีความรู้สึกเป็นชุมชนมากมักจะได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ในการดำเนินโครงการหรือการพัฒนาต่างๆ สื่อถึงศักยภาพในแต่ละพื้นที่ว่าจะพึ่งพา หรือผลักดันนโยบายอะไรได้มากกว่า เป็นการพัฒนาแบบ bottom up มากกว่า 

รศ.ดร.อภิวัฒน์ เสริมว่าข้อค้นพบ ในปีแรก ธีมสำคัญคือเรื่อง collectivism คติรวมหมู่ในสังคมเมืองที่แยกกันอยู่ เป็นโจทย์สำคัญในอนาคตว่าคนเมือง 4.0 ต้องมี

ต่อด้วยอ.ว่านนำเสนอเรื่องการทำงาน รูปแบบแรงงานที่แตกต่างกัน สนใจเรื่องการทำงานเพราะรายได้และรายจ่ายเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตคน โจทย์ในปีแรกศึกษามิติของความเป็นเมืองว่าเทคโนโลยีต่างๆ มันเปลี่ยนไดนามิคของการทำงานอย่างไรบ้าง ในปีแรกพบว่ากทม.ค่อยๆโตไปพร้อมกับงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ในกทม.เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีมาก่อน 

ส่วนงานวิจัยในปีต่อๆมาศึกษาเมืองหลักก็พบว่ามีเทคโนโลยีและความสามารถแต่อยู่ในกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มเล็กกว่ากทม. เห็นมิติของการกระจายเทคโนโลยีหรือมิติอื่นๆ เข้ามาในพื้นที่ที่พร้อมรับสิ่งนั้น เทคโนโลยีเริ่มจากเข้ามาในกทม.และกระจายไปตามเมืองหลัก ขอนแก่น หาดใหญ่ สงขลา เชียงใหม่ยังเป็นกลุ่มที่รับเทคโนโลยีมาแบบแรกเริ่ม 

ที่ผ่านมาไทยโตแบบรวมศูนย์ ในด้านเศรษฐกิจโตด้วยแผนของสภาพัฒน์ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางที่ระบุว่าเมืองไหนควรเป็นเมืองอะไร เช่น เชียงใหม่เป็นท่องเที่ยว หาดใหญ่ สงขลาเป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางราชการทางภาคใต้ ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางราชการภาคอีสาน เป็นย่านการเกษตร ทำให้ความเป็นเมืองศูนย์กลางราชการครอบงำการทำงานของเมืองเหล่านี้ นอกจากนี้เมืองเหล่านี้ยังเป็นศูนย์กลางของการศึกษาด้วย ดังนั้นการทำงานส่วนใหญ่จะพึ่งพิงมหาลัย การศึกษาการกระจุกตัวของประชากรว่าอยู่ในภาคเศรษฐกิจไหน มีรายได้ประมาณไหน หรือเศรษฐกิจของเมืองจะโตไปทิศทางไหน เป็นมิติที่น่าสนใจ

รศ.ดร.อภิวัฒน์ เสริมว่า สมมติฐานของงานวิจัยที่ได้ทำไปนั้นตั้งต้นว่าคนไทยจะกลายเป็นคนเมืองในอีก20ปี จากที่วิเคราะห์มาข้อมูลที่ราชการใช้แต่เดิมที่กล่าวว่าคนเมืองคือคนที่อยู่ในเขตเทศบาลนั้นเป็นข้อมูลที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะรูปแบบการทำงาน การซื้อของ และการเดินทางของผู้คนกลายเป็นคนเมืองไปแล้วแม้ไม่อยู่ในเขตเทศบาล ซึ่งเป็นข้อเสนอหลักในงานวิจัยนี้

สำหรับข้อมูลที่แบ่งกลุ่มการตั้งถิ่นฐานของไทย นักวิชาการรุ่นก่อนจะมองว่าเมืองเป็นทวิลักษณ์ระหว่างเมืองและชนบท แต่งานนี้ไม่ได้มองแบบนั้น มองว่ามันความต่างระหว่างเมืองหลัก เมืองรอง การศึกษาของอ.ว่านชี้ให้เห็นความต่างระหว่างเมืองโต เมืองทรง เมืองหด ประเด็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นจึงสำคัญ จะกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์อย่างไร ที่ผ่านมาเน้นการพัฒนาในเมืองโตเป็นหลัก กลายเป็นว่าไม่มีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในระดับเมืองต่างๆ สิ่งที่อ.ว่านพูดมาเป็นโจทย์สำคัญ คือนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจระดับเมือง 

อีกประเด็นคือ ทฤษฎีของการกระจายเทคโนโลยี เป็นอีกเรื่องใหญ่ ในภาพใหญ่เราเรียกว่ากรุงเทพภิวัตน์ ในเมืองภูมิภาคหรือต่างจังหวัดที่จะพัฒนาตามแบบของกรุงเทพ เวลาใช้การคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ไม่ได้มองตามเทรนด์โลกเท่านั้นแต่ที่สำคัญคืออนาคตทางเลือก ต้องพยายามหลุดออกจากกระแสปัจจุบันแล้วมองว่าจะมีทางเลือกอื่นไหม อ.ว่านคิดว่าเมืองหลักจะยังพัฒนาไปตามกรุงเทพภิวัตน์อีกไหม 

อ.ว่าน เสริมว่า การที่สามารถทำงานออนไลน์ได้เปิดโอกาสให้เมืองหลักต่างๆ สามารถนิยามทิศทางของเมืองตัวเองได้ เด็กกลับมาอยู่ที่บ้านไหมหรือยังอยู่กทม. พบว่าส่วนใหญ่นิสิตกลับมาอยู่ที่บ้านเพราะเรียนออนไลน์ได้ อีกข้อค้นพบที่น่าสนใจคือในเมืองหลักคนยังไม่เข้าสู่ gig economy ที่คนหารายได้มากกว่าหนึ่งทาง ในขณะที่คนกทม.ทำงานหลายอย่างอาจเพราะค่าใช้จ่ายสูง เลยต้องหางานมากขึ้น แต่ในเมืองหลักค่าใช้จ่ายกับรายรับค่อนข้างพอเหมาะพอดีกัน 

สำหรับทางเลือกของเมืองหลักเป็นโจทย์สำคัญที่กำลังคิดอยู่ ที่สำคัญกว่านั้นคือเมืองหลักจะสามารถมองเห็นแนวทางการพัฒนาได้ไกลแค่ไหน เพราะระบบการเมืองยังคงรวมศูนย์สูงอยู่ จะคาดการณ์ได้ไกลหรือไม่ก็อาจไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ ในตอนทำวิจัยแต่ละเมืองเลือกฉากทัศน์อนาคตที่พึงประสงค์ไม่เหมือนกัน ยกเว้นชม สงขลาที่เมหือนกัน อาจตีความได้ว่าทุนแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน เพราะทุนทางสังคม มนุษย์ ทรัพยากรไม่เหมือนกัน ทำให้การคิดเรื่องการใช้ทุนเพื่อพัฒนาไม่เหมือนกัน เพื่อให้แต่ละเมืองหลักมีความโดดเด่นต่างกันไม่แข่งกันเอง 

รศ.ดร.อภิวัฒน์ เสริมว่า ในเรื่องของจินตนาการ การนิยามใหม่ เป็นจุด แนวคิดพื้นฐานของการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพราะการมองภาพอนาคต ประเด็นหนึ่งที่คุยกันเยอะคือการมองอนาคตนี่นั่งเทียนไหม ก็อาจมีการนั่งเทียนระดับหนึ่ง เพราะไม่มีใครรู้อนาคต แต่เป็นการวิเคราะห์บนข้อมูลและระบบ 

ดร.เปี่ยมสุข  อนาคตของการเดินทาง นำเสนอการเดินทางซึ่งเป็นผู้เชื่อมชีวิตในเมือง บ้าน การทำงาน แหล่งพักผ่อนจะถูกเชื่อมโดยการเดินทาง ข้อค้นพบสำคัญพบว่าเมืองหลักมีแนวโน้มตามรอยเมืองหลวง ตามแบบกรุงเทพภิวัตน์ ติดเรื่องของกับดักรถยนต์การพึ่งพารถยนต์ พาหนะส่วนตัว เมืองหลักมีแนวโน้มใช้รถส่วนตัวสูงใกล้เคียงกับกทม. 

ในอนาคตเรื่องของการครอบครองรถยนต์ของครัวเรือนมีแนวโน้มสูง ยิ่งมืองขนาดใหญ่ยิ่งมีรถยนต์ในครัวเรือนเยอะขึ้น เช่น กทม. จำนวนรถยนต์ในครัวเรือนมีแนวโน้มมากกว่าเมืองหลัก แม้ขนาดครัวเรือนในกทม.เล็กกว่าเมืองหลัก แต่มีจำนวนรถยนต์เหลือใช้ในครัวเรือนเหล่านี้ ยิ่งรายได้มากขึ้นยิ่งมีการใช้รถส่วนตัวเพิ่มขึ้น 

กทม.แม้มีขนส่งสาธารณะก็ยังมีการใช้รถส่วนตัวสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามรายได้ยิ่งน้อยหรืออยู่เมืองเล็กยิ่งพึ่งพารถมอเตอรไซค์มากกว่า ดังนั้นสำหรับคนจนเองรายได้ยิ่งน้อยยิ่งพึ่งพามอไซค์สูง จากการสุ่มตัวอย่างพบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดพึ่งพารถมอไซค์สูงมากต่างกับกทม. 

ทั้งนี้เมืองหลักเองเริ่มมีแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ประเภทรถราง แต่คนยิ่งรวยยิ่งใช้รถยนต์ แล้วในเมืองหลักก็พัฒนาดตามกทม. เน้นการใช้รถส่วนตัว คนจนยังใช้มอเตอร์ไซค์มากกว่าสองแถว คนจนยังอาจเข้าไม่ถึงขนส่งมวลชนด้วย ทำให้เราต้องระวังมากขึ้น เรื่องกับดักรถยนต์ การพัฒนาขนส่งมวลชนในเมืองหลักตามกทม.ถือเป็นข้อค้นพบแรกของงาน 

ข้อค้นพบที่สองคือ มีความพยายามของรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคือถนน โลจิสติกส์ที่กระจุกตัวในเมืองหลักที่เป็นเมืองโต มากกว่าเมืองทรงหรือเมืองหดที่คนส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไซค์ รัฐยังพัฒนาการขนส่งสาธารณะในเมืองทรงและหดน้อย 

รศ.ดร.อภิวัฒน์ เสริมว่า Bangkok model trap เป็นอุปสรรคสำคัญแม้จะพยายามบอกว่ากระจายอำนาจแล้ว แต่การพัฒนาเมืองตอนนี้ยังตามแบบกทม.อยู่ ทั้งที่บริบทการคมนาคม ความหนาแน่นของเมือง การทำงานในเมือง รูปแบบการอยู่อาศัยต่างกับคนในกทม. ฉะนั้นโมเดลของการพัฒนาเมืองในเรื่องของการเดินทางอาจไม่ควรตามรอยกทม. ถ้าเรามองในอนาคต แนวโน้มหนึ่งคือเรื่องplatform ในเรื่องการเดินทาง เรื่อง mobility as a sevice เราจะมองโอกาสนี้อย่างไร

ดร.เปี่ยมสุข มองว่าเมืองหลักจะหลุดจากกรุงเทพภิวัตน์ได้ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้มีการขนส่งด้วยตัวเอง สร้างอัตลักษณ์ รถรางต่างๆเองได้ ในเรื่องของmass transit ควรมีการนิยามใหม่ไปสู่ mass mobility คนกลุ่มเดียวกันควรเดินทางร่วมกันได้ เช่น คอนโด หมู่บ้านเดียวกัน เดินทางเป็นกลุ่มก้อนได้ ให้เทคโนโลยีเป็นตัวทำลายข้อจำกัด ค่อยๆ เปลี่ยนการเดินทางจากการเดินทางส่วนตัวไปสู่การเดินทางร่วมกัน 

ถ้ามองว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปสู่การเดินทางสาธารณะ จากผลสำรวจจะพบว่าแพลตฟอร์มโตเร็วมาก คนนิยมใช้เยอะมาก ทุกคนน่าจะเคยลองใช้ แต่ผลสำรวจเมืองหลัก หรือเมืองหลวง คนท้องถิ่นใช้น้อยมากโดยเฉพาะเมืองหลัก คนที่นิยมใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นนักท่องเที่ยวมากกว่า คนท้องถิ่นคุ้นกับการเดินทางใช้มอเตอร์ไซค์มากกว่า โอกาสที่เขาจะใช้แอพอะไรก็อาจเป็นทริปพิเศษ คนท้องถิ่น/คนกทม.ใช้แอพน้อยโดยเฉพาะคนรายได้น้อย คนชายขอบบางที่แทบไม่เคยใช้ การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ควรระวังหากนโยบายมุ่งไปแต่เทคโนโลยีจะช้อนคนที่ตกหล่นจากเทคโนโลยีอย่างไร 

รศ.ดร.อภิวัฒน์ เสริมว่า เป็นเรื่องของdigitalization of platformization เรานิยมสมาร์ทซิตี้ แต่คนด้อยโอกาส ความเป็นธรรมในสังคมเป็นประเด็นที่ขาดไม่ได้ ถ้ามองเมืองจากเรื่องคนไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย mass customization อาจเป็นประเด็นที่ต้องนำขบคิด เดิมเราคิดว่าการเดินทางถ้าไม่เป็นการเดินทางส่วนตัวก็ต้องเป็นการเดินทางสาธารณะแบบรถเมล์ รถไฟฟ้า แต่ด้วยเทคโนโลยีมันทำให้เราสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่าmass customหรือpersonalizationให้เหมาะกับพื้นที่ได้ 

ดร.พรสรร อนาคตของการซื้อของ ในเมืองหลักตลาดยังเป็นแหล่งจับจ่ายสำคัญ ในขณะที่กทม.ขึ้นอยู่กับว่าคนอาศัยอยู่ใกล้ตลาดหรือไม่ ในเมืองที่ทำการศึกษาตลาดได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นเรื่องของวัฒนธรรม แต่ละบ้านจะมีร้านประจำที่โมเดิร์นเทรดให้ไม่ได้ เมืองเปลี่ยน โลกเปลี่ยน แต่สินค้าโดยเฉพาะอาหารสด ยังไม่ได้หลุดไปจากวัฒนธรรมเดิมของเมือง

อีกส่วนหนึ่งเป็นซุปเปอร์เซนเตอร์ที่มีบทบาทกับชีวิตของคนมากพอควร จะมีการใช้งานสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง สุดสัปดาห์มักจะไปทานอาหารกับครอบครัว น่าจะเป็นพฤติกรรมของคนเมืองในต่างจังหวัดคนส่วนใหญ่เลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่ตอบโจทย์การไปซื้อของเยอะๆ ในขณะที่ซื้อของอย่างอื่นจะใช้มอเตอร์ไซค์

ส่วนเรื่องของการใช้แหล่งการค้า จะมีแนวโน้มว่าผู้อยู่อาศัยกลางเมืองจะใช้โมเดิร์นเทรดมากกว่า เหตุผลหนึ่งอาจเพราะการกระจุกตัวของโมเดิร์นเทรดและวิถีชีวิตของคนที่เริ่มเป็นสมัยใหม่ขึ้น หรือย้ายถิ่นมาจากที่อื่นแล้วมีความผูกพันกับร้านในตลาดน้อยลง 

เรื่องการซื้อของออนไลน์แทบไม่มีประเด็นในเชิงพื้นที่มาเกี่ยวข้อง ทลายกำแพงในเชิงพื้นที่ แต่ในเรื่องของการซื้ออาหารสดยังเป็นข้อจำกัดของการซื้อออนไลน์อยู่ ทั้งยังคงมีการส่งอาหารสำเร็จรูปเฉพาะกลางเมืองในเมืองหลัก 

จากข้อมูลวิเคราะห์ตามเจเนอเรชั่น พบว่าเจนวาย แซดมีการใช้การซื้อของออนไลน์บ่อยกว่าเจนเอ็กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์ รวมถึงการเดินทางเพื่อซื้อของ ทานอาหารนอกบ้านจะเป็นทิศทางเดียวกันหมดเพราะอยู่ในวัยทำงาน วัยเรียน ทำกิจกรรมอยู่นอกบ้าน 

ในส่วนของการซื้อของออนไลน์ มีการถามครัวเรือนถึงประสบการณ์การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ พบว่ามีผู้เคยใช้บริการอย่างน้อยหนึ่งครั้ง 50% ส่วนการซื้อของในโซเชียลจะอยู่ที่ 25-30% ในช่วงโควิดพฤติกรรมไม่ค่อยเปลี่ยน มีแต่แนวโน้มการทานอาหารนอกบ้านลดลง การทำอาหารทานในบ้านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

หากแบ่งคนเป็นสี่กลุ่มdigital native, non-digital native, urban native, suburban native มองไปในอนาคตคิดว่าตลาดสดยังมีความสำคัญอยู่ เพราะมีจุดแข็งที่อาหารสด ระบบโลจิสติกส์ยังไม่ได้รวดเร็วในการส่งของ อาจถูกการค้าสมัยใหม่แทนที่ได้ แต่สิ่งที่สินค้าออนไลน์มาแทนได้ลำบากคืออาหารสด อาหารปรุงสำเร็จอาจใช้แพลตฟอร์มมาช่วยได้แต่ก็ยังมาแทนที่ตลาดยังไม่ได้

อาจมีการเปลี่ยนรูปแบบจากตลาดไปเป็นซุปเปอร์เหมือนญี่ปุ่น กทม.จะเปลี่ยนก่อน ผู้ประกอบการพยายามแปลงโฉมซุปเปอร์ให้เล็กลงเพื่อไปอยู่ในชุมชน เป็นโมเดลทางญี่ปุ่น ซุปเปอร์ขนาดเล็กจะตอบโจทย์คนในเมืองมากขึ้น เช่น การขายผักในปริมาณเล็กลง อาหารปรุงสำเร็จสำหรับผู้สูงอายุ ในเมืองที่มีความหนาแน่นมากก็มีความเป็นไปได้ แต่ชานเมืองแนวโน้มยังอาจเป็นซุปเปอร์ขนาดใหญ่และตลาดสดอยู่

อ.อนรรฆ คนไร้บ้าน ในงานนี้ทำเรื่องความยากจน ถือเป็นการทดลอง ปกติเรื่องความยากจนจะดูเรื่องพื้นที่ที่มีประชากรยากจนอาศัยอยู่หรือดูระดับรายได้ งานชิ้นนี้อยู่ในสมมติฐานว่าความยากจนอาจอยู่มากกว่านั้น โดยสำรวจความยากจนพื้นฐานคือเรื่องที่อยู่อาศัย คนมีเงินอยู่ในที่อยู่ที่ดีมีความแออัดน้อย การใช้ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นเกณฑ์วัดความยากจนเพราะไปจับกับเรื่องรายได้ และซัพพลายก็ได้ ในพื้นที่ครัวเรือนที่ไม่ต่างกันมาก สิ่งที่เห็นชัดเจนคือความยากจนที่อยู่ในทุกพื้นที่ของเมือง ทั้งพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของที่อยู่อาศัย และมีความหนาแน่น คนยากจนจะอยู่ในทุกอณูของเมือง โดยกระจุกตัวในพื้นที่กลางเมืองเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใหญ่ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่คนจนออกจากสลัมมากขึ้น หรือสลัมอาจไม่ใช่ที่ๆคนยากจนที่สุดอยู่ สรุปคือคนจนยังอยู่ใจกลางเมืองแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ยากจนอีกต่อไป 

เหตุที่คนจนยังอยู่ในเมือง เพราะงานที่ทำอยู่ในเมือง งานส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานนอกระบบ สำหรับคนจนเจนแซด อยู่ในเมืองมีทางเลือกในการเลือกงาน ลดความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสในการจัดการความเสี่ยงของครัวเรือนยากจน สำหรับที่อยู่อาศัย ตัวอย่างเช่นในหาดใหญ่จะอยู่ในห้องเช่า ห้องแบ่งเช่า อาจอยู่ในชุมชนที่ไม่ใช่สลัม เป็นพื้นที่แบ่งเช่าอาคารพาณิชย์ ตึกร้างต่างๆ สถานีขนส่ง ในอนาคตแนวโน้มของครัวเรือนพวกนี้น่าจะน้อยลง 

ในบางประเด็นเช่น ความเป็นชุมชน ครัวเรือนยากจนอยู่ได้เพราะมีความเป็นชุมชนนิยม ช่วยเหลือกัน นโยบายของรัฐควรส่งเสริมความเป็นชุมชน พอไปสำรวจจริงๆ พบว่าจะคนยากจนขอความช่วยเหลือจากครอบครัวเป็นหลัก มีสองระดับเรื่องชุมชนในพื้นที่ คือสำนึกของความเป็นเครือญาติไม่ใช่ความเป็นชุมชนอย่างเดียว คำถามคือว่าในอนาคตหากความเป็นเครือญาติลดลงแล้วจะเอาอะไรมาแทน ความเป็นชุมชนอาจเปลี่ยน เป็นแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต

เรื่องที่แปลกใจคือ คิดว่าคนยากจนจะพึ่งพิงร้านค้าปลีก แต่กลับพึ่งพิงตลาดมากกว่า ปัจจัยไม่ใช่เรื่องราคา และระยะทาง แต่เป็นการที่ตลาดสามารถเชื่อไว้ก่อนมาจ่ายทีหลังได้ ไม่เหมือนร้านโชห่วยหรือร้านค้าอื่นๆ กับอีกเรื่องคือความเป็นดิจิตัล มีความสำคัญแต่อาจไม่ใช่ปัจจัยในการเข้าถึงงานเสมอไป เครือข่ายข้อมูลยังมีอยู่ในความเป็นเครือญาติ บางทีการเข้าถึงงานยังส่งผ่านการทางไลน์เป็นงานแบบเก่าที่ส่งตามแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ประชากรที่มีอายุน้อยมีแนวโน้มทำงานบนแพลตฟอร์ม เป็นข้อค้นพบเบื้องต้น

สำหรับแนวโน้มเรื่องความเชื่อใจในอนาคตความเป็นเครือญาติกับละแวกบ้าน (Neighborhood) จะลดลง แต่คนจะเชื่อใจรัฐแทนหรือไม่นั้นยังไม่แน่ใจ ต้องหากลไกบางอย่างมาทำหน้าที่แทนครอบครัวหรือสร้างNeighborhoodมาแทนครอบครัว ซึ่งสังคมไทยไม่มีหากเทียบกับตะวันตก เพราะไทยไม่มีความเชื่อใจคนในNeighborhood เพราะชุมชนในไทยไม่ได้สนิทกันในแบบเดิมแล้ว

รศ.ดร.อภิวัฒน์ เสริมว่า เรื่องชุมชน เรื่องพื้นที่สาธารณะในไทยแต่เดิมมีพื้นที่สาธารณะที่เป็นคอมมอนในลักษณะต่าง ๆ เช่น วัดเป็นที่พึ่งพิงของชุมชน คนไร้บ้าน แต่ตอนหลังน้อยลง เป็นปัญหาคอมมอนหนึ่ง อีกหนึ่งคือการที่คนเคยเข้าไปตกปลา ตกกุ้งได้ แต่พอมีการทำสวนล้อมรั้วคนเลยเข้าไปหากินไม่ได้ เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับวิ่ง ถ่ายรูปลงโซเชียล ของชนชั้นกลาง

อ.อนรรฆ sense of commons ต่างๆ ยังอยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยน ในอดีตครัวเรือนยากจนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเหล่านี้เพื่อการยังชีพ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร มีพื้นที่เล็กๆ ปลูกผัก ลดค่าใช้จ่ายแต่ในอนาคตคอมมอนพวกนี้เปลี่ยนไป ต้นทุนในชีวิตสูงขึ้นจะเกิดการปะทะกัน เพราะเป็นพื้นที่คอมมอน ตัวอย่างเช่น มีคนทอดแหในคลองผดุงเพราะมองว่าเป็นพื้นที่คอมมอน ในอนาคตต้องมาคิดกันว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้แบบชนชั้นกลาง มองที่สาธารณะเป็นสวน ตัวอย่างในภาคใต้เดิมมีพื้นที่ปศุสัตว์เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์จะทำให้พื้นที่สาธารณะมี inclusiveness อย่างไร

อ.ภัณฑิรา เสริมเรื่องพื้นที่สาธารณะ ในงานมีข้อค้นพบว่ายิ่งอยู่พื้นที่ กลางเมือง คนยิ่งใช้พื้นที่สาธารณะน้อยลง ต่างกับชานเมือง คนที่ใช้พื้นที่สาธารณะเยอะคือคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง พื้นที่สาธารณะของไทยอาจอยู่ผิดที่หรือเปล่า หรือการเข้าไปใช้บริการต้องเสียเงินหรือไม่ ดังนั้นนโยบายการบริหารจัดการหรือสร้างพื้นที่สาธารณะต้องดูเรื่องพวกนี้ด้วยว่ามีความเป็นสาธารณะให้คนทุกกลุ่มหรือใช้ในการผลิตอะไรหรือไม่ เพื่อการจัดการพื้นที่สาธารณะในอนาคต ภาครัฐอาจต้องดูว่าจะลงทุนสร้างพื้นที่สาธารณะมากน้อยแค่ไหน เป็นพื้นที่เพื่อสังคม หรือเพื่อทำมาหากินมากน้อยแค่ไหน 

สำหรับประเด็นว่าการพัฒนาแบบกรุงเทพภิวัตน์หรือ Bangkok trap นั้นว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมหรือไม่หรือควรก้าวให้พ้นนั้น  

อ.ภัณฑิรา คิดว่าเมืองหลักมีศักยภาพมากพอที่จะไม่ทำตามกทม.ในการพัฒนาพพื้นที่สาธารณะและmass housingที่อยู่อาศัยต่างๆ เมืองหลักมีความต้องการพื้นที่ที่ไม่ใช่สวนสีเขียว พื้นที่วิ่งออกกำลังกาย แต่ต้องการพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ กลไกที่แต่ละเมืองควรได้รับคือ ให้คนในพื้นที่มอนิเตอร์การพัฒนาเมืองได้จะได้รู้ว่าจะเกิดไรขึ้นในเมืองบ้าง จะทำให้คนในพื้นที่เดิมต่อรอง กำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ที่หลุดไปจากกับดักกทม.ได้ 

ส่วนอ.ว่านมองสองด้าน เรื่องการกระจายอำนาจ และรวมศูนย์อำนาจ การเงินควรกระจายอำนาจ ท้องถิ่นควรพัฒนาศักยภาพให้การช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยเพื่อให้เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น อีกมุมนึงคือการกระจายอำนาจในเรื่องของpolicy sandbox ในมิติของการปล่อยให้เมืองสามารถinnovate policyใหม่ๆ ให้เหมาะกับพื้นที่ของตนเอง ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องการทำงาน แต่โยงไปเรื่องอื่นด้วย โดยมีการทำงานเป็นคีย์หนึ่ง 

เรื่องสวัสดิการยังควรรวมศูนย์เพื่อกระจายสวัสดิการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยระบบข้อมูลที่เป็นกลาง ตามเก็บได้ ด้วยงานที่เปลี่ยนไปดิจิตัลมากขึ้น สวัสดิการต้องไปถึงคนในพื้นที่ รัฐต้องมองเห็นเราจากข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ส่วนที่จะสร้างeconomy of scaleให้ดำเนินการแบบรวมศูนย์ได้ ขณะเดียวกันสิ่งที่ควรกระจายอำนาจคือการพัฒนาเศรษฐกิจนโยบายในท้องที่ โครงสร้างต้องรวมศูนย์ แต่ข้อมูลต้องกระจาย

อ.อนรรฆ มองในอนาคตเรื่องสวัสดิการ ซึ่งมีทั้งสวัสดิการที่ติดกับพื้นที่ เช่น การศึกษา ผู้สูงอายุ และติดกับตัวบุคคล เช่น เรื่องสุขภาพ สวัสดิการควรติดกับคน  เมืองควรมีหน้าที่ในการสร้างโครงสร้างสวัสดิการต่างๆ ให้เหมาะกับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ ในสวัสดิการพื้นฐาน เมืองอาจต้องเป็นผู้เพิ่มเติมสวัสดิการให้เหมาะสม ส่วนในเรื่องของข้อมูลควรมีแผนแห่งชาติ แต่ว่าแต่ละเมืองควรมีอำนาจในการจัดการข้อมูลของตนเอง ตอนนี้เมืองไม่สามารถดึงข้อมูลด้านเมืองของตนเองมาใช้ได้

ดร.เปี่ยมสุข ถ้ายังมองที่โครงสร้างพื้นฐานจะเป็นการดำเนินการโดนส่วนกลาง จะก้าวข้ามกทม.ก็ต้องกระจายอำนาจไปท้องถิ่น เรื่องของ transportation authority ตอนนี้ขนส่งจังหวัดให้ใบอนุญาตในการเดินทาง แต่เมืองไม่มีอำนาจตรงนี้ทั้งที่รู้จักพื้นที่มากที่สุด อย่างขอนแก่นก็หาทางเลือกต่าง ๆ และต้องก้าวผ่านแนวคิดเรื่องขนส่งมวลชนให้เหมาะกับเมืองขนาดกลาง ก้าวข้ามกับดักรถยนต์ให้ดีมาน ซัพพลายอยู่ร่วมกันได้ ใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้ท้องถิ่น หรือเมืองเข้ามาจัดการเองได้ ที่สำคัญคือการพัฒนาขนส่งเป็นการสร้างนวัตกรรม สร้างงานให้ อย่างไรให้เมืองเอาข้อมูลกลับมาพัฒนาให้ตอบโจทย์เมืองที่สุด ภาคเอกชนมีข้อมูลการเดินทางเยอะ เมืองจะเอาข้อมูลมาได้อย่างไรให้เหมาะสม 

ทั้งนี้โลกร้อนเป็นการสร้างงานในหลายประเทศ เช่น การขนส่ง เราเริ่มเข้าสู่ยุคแรงงานสูงวัย โครงสร้างพื้นฐานเริ่มเก่า คิดแบบใหม่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญ แต่ไทยมองแคบไปเช่น ยานยนต์ไร้คนขับที่ไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นสาธารณะ เช่น รถเมล์ไร้คนขับ ถนนชาร์จไฟ เป็นต้น 

รศ.ดร.อภิวัฒน์ มองว่าเมืองจะโตได้ต้องมีเศรษฐกิจที่โต ต้องมีการกระตุ้นเงินมาจากข้างนอกให้ผลิตงานในเมือง หรือรัฐอาจต้องลงทุนให้ส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นสมัยก่อนเป็นภาคราชการ แต่เดิมรัฐใช้โครงการก่อสร้างเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สส. เป็นผู้รับเหมาเป็นคนมีเงินสร้างถนนในเมือง  ทั้งนี้มองไปเรื่องความเหลื่อมล้ำ โลกร้อน การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ขนส่งสาธารณะเป็น green infrastructure แบบหนึ่ง 

การกระจายเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านเมืองไปสู่อะไรที่ดีกว่าต้องใช้เงินและความรู้ใหม่ๆ หน่วยงานอย่างGIZ JAICA ขายเทคโนโลยีสีเขียวให้เราได้ ถือเป็นกับดักเทคโนโลยี ถ้าเรายังต้องซื้อเทคโนโลยีจากเขาอยู่ อาจติดกับดักเทคโนโลยีที่ไม่ได้เป็นเจ้าของได้ 

ดร.พรสรร เสริมว่า ท้องถิ่นไทยมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจน้อย  ถ้าท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจดูเรื่องพวกนี้ก็จะทำได้ยาก กระจายอำนาจนอกจากอำนาจในการปกครองแล้วยังต้องมีเรื่องมายเซทของคนด้วย แต่ละเมืองควรกำหนดได้ว่าจะส่งเสริมธุรกิจประเภทไหน เพื่อจะพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสม ท้องถิ่นโตมาด้วยมายเซทที่มองการพัฒนาแบบกทม. ตอนนี้ผู้บริหารยุคใหม่ก็เปลี่ยนมายเซทไปบ้างแต่อำนาจหน้าที่ยังไม่มี

รศ.ดร.อภิวัฒน์  ปัญหาของไทยอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ควรต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการซื้อของมีเรื่องกลุ่มทุนขนาดใหญ่ คือ กลุ่มทุนกทม. และกลุ่มทุนข้ามประเทศ คือแพลตฟอร์มต่าง ๆ มองไปอนาคต20ปี ท้องถิ่นจะทำอะไรได้ มีภาพอะไรบ้างที่จะทำให้เชียงใหม่เป็นเกียวโต โอซาก้าสู้กับโตเกียวได้ 

ดร.พรสรร มองว่าสิ่งที่จะสู่กับทุนใหญ่ได้ คือความเป็นหัตถกรรม งานฝีมือ เป็น niche market ที่ต้องขยายให้ใหญ่ขึ้น เราจะเห็นว่าที่ผ่านมาโควิดเร่งกระแสการค้าออนไลน์มากขึ้น กระจายไปตามแพลตฟอร์ม โซเชียลต่าง ๆ กลายเป็นว่าคนทำตลาดง่ายขึ้น ของดีในไทยมีเยอะ แต่ต่างคนต่างทำหรือพึ่งรัฐในการโปรโมทอย่างเดียว ตอนนี้ทุกคนก็พยายามเข้าสู่โลกออนไลน์ การรวมกลุ่มก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อย้ายมาขายออนไลน์ภาครัฐควรเข้ามาช่วย แต่ไม่ใช่สร้างแพลตฟอร์มใหม่ ต้องส่งเสริมในแพลตฟอร์มเดิมให้คนที่รวมกลุ่มแล้วรอดได้

อ.ว่าน เสริมว่าเมืองหลักมีศักยภาพสู้กับกทม.ได้ อย่างในเรื่องการทำงานที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ เป็นมิติสำคัญของการพัฒนาเมือง ทำให้เมืองหลักมีกำลังมากขึ้น คือการย้ายถิ่นฐานตามไลฟ์สไตล์ ขึ้นอยู่กับว่าจะพัฒนาเมืองให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์แบบไหน อย่างเมืองที่อยากโฟกัสเรื่องการค้า หรือเมืองสตาทอัพก็มีการพัฒนาที่ทางเมืองสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายเข้ามาในเมืองมากขึ้น

อ.อนรรฆ ปิดท้ายประเด็นนี้ว่าเวลาพูดเรื่องการพัฒนาเมือง ยังขาดการพูดถึง social infrastructure เช่น บ้านพักฉุกเฉินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ กทม.เคยคิดเรื่องนี้แล้วก็ถูกยุบไปเมื่อสามปีก่อน เมืองอาจต้องหันมาสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น การกระจายอำนาจในไทยเป็นการกระจายอำนาจแต่ไม่กระจายทรัพยากรและอิสระ ปัญหาของsocial infrastructureคือทำแล้วไม่ได้คะแนนเสียงทางการเมือง แต่จะทำอย่างไรให้มันเกิดโครงสร้างได้

ปิดท้ายการสัมมนาด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เครื่องมือ foresight ในการสร้างจินตนาการใหม่ๆ ให้กับการบริหารจัดการเมือง

 

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า