Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ถ้าที่ดินคือตัวชี้วัดถึงความมั่นคงในชีวิต แล้วสังคมไทยในปัจจุบันที่คนรวยที่สุด 5% สามารถเป็นเจ้าของที่ดินมากถึง 80% ในไทย

ส่วนจำนวนประชากรที่เหลือแทบจะไม่มีโอกาสมีที่ดินเป็นของตัวเอง และยังไม่มีโอกาสเข้าถึงสิ่งอื่นๆ ในสังคมด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าเรื่องนี้สะท้อนปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในไทยได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านั้น แต่นโยบายของรัฐบาลกลับเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ความเหลื่อมล้ำยังอยู่และดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วทางออกของเรื่องนี้เป็นอย่างไร รายการ TOMORROW โดย TODAY Bizview ชวนคุยเรื่องนี้กับ ‘ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์’ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กัน

[ สถานการณ์คนยากจนจากอดีตสู่ยุคโควิด-19 ]

ดร.อรรถจักร์ เล่าย้อนให้ฟังว่า ก่อนปี 2540 คนจนมีโอกาสในการประกอบอาชีพต่างๆ น้อยกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ชีวิตของพวกเขาต้องตกอยู่ในบ่วงของความยากจน มีหนี้สินทุกระดับ ไม่สามารถขยายตัว หรือออกจากชนชั้นนี้ได้เลย

จนกระทั่งเกิดวิกฤตธนาคารการเงิน หรือ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ในช่วงปี 2540 ทำให้ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ ‘non-bank’ ได้ขยายตัว และเกิด ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ หรือ ‘windows of opportunity’ ที่ให้โอกาสคนจนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

เช่น การมีบัตรเครดิตเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น จากก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง บัตรเครดิตในประเทศไทยมีอยู่ 1.2 ล้านใบ แต่หลังวิกฤตการณ์นี้ มีบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นถึง 12 ล้านใบ

คนจนที่เคยอยู่ในชนบท สามารถขยับขยาย เปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น อาชีพเสริมที่พวกเขาเคยทำ กลายมาเป็นอาชีพหลักของเขาเพื่อเลี้ยงชีพ

ดร. อรรถจักร์เผยว่า ถ้าดูสถิติตัวเลขของคนจน จะพบว่าหลังจากปี 2540 จำนวนคนจนลดลงมาจาก 10-12 ล้านคน เหลือเพียง 6 ล้านกว่าคน จากโอกาสของพวกเขาเหล่านี้ที่มีมากขึ้น

แต่การครองอำนาจของรัฐบาลทหารในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนของคนจนพุ่งไปถึง 15 ล้านคน และชีวิตของพวกเขาหนักหน่วงกว่าเดิมมาก

[ คนจนในยุคโควิด-19 ลำบากกว่าเดิม  ]

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป ในช่วงที่ปิดเมือง โอกาสที่จะออกไปขายของ หาบเร่แผงลอยก็เป็นไปไม่ได้ ทำให้พวกเขาต้องกลับบ้าน พยายามช่วยเหลือตัวเอง เช่น ซื้อ-ขายของกันเองในตลาดนัดเล็กๆ ในหนึ่งตำบลเพื่อความอยู่รอด

ส่วนในภาคเกษตรกรรม ทุกคนบอกว่าชีวิตช่วงโควิดหนักหน่วงมาก โอกาสในการเลื่อนชนชั้นน้อยลง ในขณะที่คนชนเผ่าจำนวนมากก็กลับบ้าน แต่ก็ไม่รู้จะกลับไปทำอะไรที่บ้านได้เลย

ทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่มาก นั่นก็คือ ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย’

[ ความเหลื่อมล้ำไม่มีผลกระทบต่อคนรวย ]

ดร.อรรถจักร์บอกว่า ‘ความยากจน’ กับ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เทียบได้กับเหรียญที่มีสองด้าน เป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถึงแม้ความยากจนจะลดไปแล้วในช่วงหนึ่งก็ตาม แต่ความเหลื่อมล้ำมันสูงขึ้นไปมาก และทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงของโควิด-19

“คนรวยที่มีอยู่ 10% ในสังคมไทย ไม่ได้เดือดร้อนจากโควิด-19 เลย พวกเขาจะยังสามารถ ‘ดูดซับ’ ทรัพยากรหรือส่วนเกินต่างๆ ไปล่อเลี้ยงได้เหมือนเดิม

“ในขณะที่คนจนตกอยู่ในภาวะของภายใต้วิกฤต และอยู่ในเงื่อนไขแวดล้อมที่เกิดความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ซึ่งต้นทุนของความเหลื่อมล้ำมีมันความอันตราย และกระทบสังคมในทุกๆ ด้าน

ความเหลื่อมล้ำจะทำให้สังคมเปราะบางมากขึ้น ใช้ความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น หรือแม้กระทั่งปัญหาทางกายภาพก็จะสูงขึ้น

ซึ่งจากงานวิจัยทั่วไป กลุ่มคนจนในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง จะมีปัญหาสุขภาพมากกว่าคนจนในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่า

ดังนั้นถ้าคิดถึงความยากจน สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกอย่าง ก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่ทวีสูงมากขึ้น และยิ่งสูงมากขึ้นจากโควิด-19

[ นโยบายการแก้ปัญหาของรัฐที่ล้มเหลว ]

ดร. อรรถจักร์เปรียบเทียบการแก้ปัญหาของรัฐบาลในปัจจุบันกับ ‘การหยอดน้ำข้าวต้ม’ หรือ การเยียวยาที่แค่ประทังชีวิตคนจนเพื่ออยู่รอด แต่ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน หรือความเหลื่อมล้ำเลย

สิ่งที่รัฐบาลทำตอนนี้ คือโยนเงินเป็นก้อนๆ ให้ไปใช้ (เช่น โครงการคนละครึ่ง) ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด แต่รัฐบาลควรคำนึงถึงแผนระยะยาวที่จะแก้ปัญหาตรงนี้

เพราะการที่จะแก้ปัญหาเรื่องความยากจน ที่มีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำ จะต้องคิดให้ทุกมิติรอบด้าน

ดร. อรรถจักร์พูดถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 9 ว่า “อ่านแล้วยังไม่รู้สึกว่าคนในรัฐบาลมองเห็นปัญหาของความยากจนและความเหลื่อมล้ำจริงๆ

เช่น ถ้าหากจะพูดถึง ‘ความยากจนข้ามรุ่น’ หรือเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมชนบทจริงๆ แผนการของสภาพัฒน์ควรจะต้องพูดถึงว่า เราจะส่งเสริมทำให้พลังของสังคมผู้ประกอบการในชนบทมันเข้มแข็งได้อย่างไร

ดังนั้น อยากจะย้ำอีกทีว่า เราควรคิดถึงความยากจน และความเหลื่อมล้ำบนฐานความเข้าใจของสังคมไทยที่มันเปลี่ยนไปมากแล้ว”

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้น จะทำให้สังคมมีความผิดปกติ (dysfunction) และส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย

เช่น ในฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำและความยากจนสูงมาก มีปัญหาอาชญากรรมที่สูงด้วย ไม่ใช่ว่าเพราะคนจนก่ออาชญากรรม แต่เป็นเพราะสังคมมีความระแวงซึ่งกันและกัน และมีความเปราะบางในสังคมสูง

ซึ่ง ดร. อรรถจักร์หวังว่าตอนนี้ 300 ตระกูลใหญ่ที่ร่ำรวยในสังคมจะเข้าใจว่า การที่บริษัทของพวกเขาประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เพราะความเก่งของพวกเขาอย่างเดียว แต่เติบโตมาจากเลือดเนื้อ แรงงาน-คนจนในสังคมทั้งสิ้น

ไม่มีคนรวยคนไหนที่สามารถรวยจากความสามารถอย่างเดียว แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย จังหวะ โอกาส และความเปลี่ยนแปลงของสังคม ถ้าคนรวยกลุ่มนี้เข้าใจในประเด็นนี้ ก็จะสามารถรักษาสังคม ใช้ชีวิตร่วมกันได้ดี

[ ปัญหารัฐไทยกับการจรรโลงความเหลื่อมล้ำ ] 

จากที่ศึกษาประวัติศาสตร์มา ดร. อรรถจักร์บอกว่า รัฐบาลทำหน้าที่ซื่อสัตย์ในการ ‘จรรโลงความเหลื่อมล้ำ’ และเกื้อหนุนเพียงแค่ 300 ตระกูลใหญ่ให้ร่ำรวยตลอดมา

หากพื้นที่ใดหรือคนกลุ่มใดมีปัญหา รัฐบาลก็อาจจะแสดงตัวไปช่วยคนตรงนั้น และหยุดการช่วยเหลือต่อไป แต่เพียงแค่แสดงตัวเพื่อรักษาความเป็นธรรมเป็นจุดๆ ครั้งๆ ป้องกันแรงกดดันให้มีน้อยลง

รัฐบาลไม่เคยปรับโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเลย เช่น การครอบครองที่ดิน ที่เพิ่งออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ หรือให้ลองนับที่ดินของคนในรัฐบาลว่ามีเท่าไหร่ การถือที่ดินเป็นธรรมจึงเป็นเรื่องเพ้อฝันมาโดยตลอด

นอกจากนี้ สวัสดิการของรัฐก็กระจัดกระจาย ไม่เป็นแบบประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนการหยอดน้ำข้าวต้มเพื่อให้ผู้ป่วยไม่ถึงกับตายนั้นเอง

การพูดถึงช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก รัฐบาลก็จะแก้ตัวด้วยการบอกว่า เพื่อป้องการความเสี่ยง เพื่อทำให้กลุ่มทุนของธนาคารยังคงแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่ลำบากจากช่องว่างตรงนี้

[ โครงสร้างสังคมไทยบิดเบี้ยวเกิดความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ ] 

ดร. อรรถจักร์มองว่า คนชนชั้นกลางในสังคมไทย เป็นคนขี้สงสาร มีเมตตากรุณา ช่วยบริจาคเงินหรือสิ่งของมากมาย  แต่ที่พร้อมช่วยเป็นแค่กรณีๆ ไป และปล่อยให้การขูดรีดในระบบยังดำรงได้อยู่

แบบนี้เรียกว่าคนในสังคมไทยเป็นสังคมของคนใจดำได้หรือไม่?

“เราจะเรียกคนในสังคมไทยว่าเป็นสังคมของคนใจดำ คนใจดำที่ยอมรับหรือมองเห็นระเบียบที่รัฐออก ดูดทรัพย์ผลประโยชน์จากคนจนประมาณ 20-30% มาหล่อเลี้ยงตัวเอง ซึ่งไม่ได้แปลว่าทุกคนทั้งหมดเป็นคนใจดำ

“แต่คุณก็ใจดำต่อโครงสร้างที่กดทับคนไว้ และมีความเชื่อว่า คนจนเป็นคนขี้เกียจ เพราะชอบกินเหล้า เล่นการพนัน ซึ่งนี่คือความใจดำด้านหนึ่งของคนที่มีเมตตา

“ถ้าสังคมเราเริ่มรู้สึกถึง ‘โครงสร้าง’ ให้มากขึ้น หยิบความเมตตาที่มีต่อผู้ตกทุกข์ได้ยาก สังคมไทยก็จะเปลี่ยนเป็นสังคมที่มีความเมตตาโดยรวม ไม่ใช่สังคมใจดำ”

ส่วนประเด็นของคนจนที่ชื่นชอบการเล่นสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องวิเคราะห์ในมุมที่คนจนเหล่านี้ ไม่ได้มีโอกาสที่จะสัมผัสเงินหลักพัน หลักหมื่นในชีวิตประจำวัน การเล่นหวยจึงเป็นโอกาสเดียวสำหรับพวกเขา

แล้วเป็นไปได้มั้ยถ้าจะเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำ?

มีงานวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกเผยว่า การเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำไม่ได้มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นผลดีมากกว่า แต่สังคมไทยมักง่าย และมีความคิดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบต้นทุนของธุรกิจ

แต่กลับไม่ได้คิดในมุมของการกระตุ้นของแรงบริโภคในสังคม เพราะการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้คนจนจำนวนหนึ่ง รู้สึกถึงโอกาสเลื่อนขั้น และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหวยอย่างเดียว

[ คนจนที่เกิดมายุดนี้ จะไม่มีโอกาสรวยเลยใช่มั้ย ] 

ถ้าพูดง่ายๆ ‘คนจนข้ามรุ่น’ คือ คนที่เกิดมาจน แล้วลูกหลานก็เกิดมาจน และไม่สามารถเลื่อนชนชั้นได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ทำให้คนจนอ่อนแอ

ในปัจจุบัน คนในสังคมประมาณ 1 ใน 4 คน คือคนจนข้ามรุ่น หรือเป็นคนที่หล่อเลี้ยงคนในเมือง คนรวย ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ดร. อรรถจักร์ยกตัวอย่างว่า ในบรรดาที่คนรวยมีรถซูเปอร์คาร์หลายคัน คำถามง่ายๆ คือพวกเขาล้างรถเองมั้ย แล้วใครเป็นคนล้างรถให้ คำตอบก็คือคนจนกลุ่มนี้นี่แหละ

โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และหลังจากนี้ ความหวังจะเลื่อนชนชั้นของคนจนจะหายไปเลย ความรู้สึกที่น่ากังวลคือ คนจนจำนวนมากจะสูญเสียความหวัง และไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ

ความเหลื่อมล้ำ และการเมืองแห่งความหวัง (politics of hope) จะก่อปัญหาอีกมากมาย และเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากๆ

ถ้าสังคมไหนทำให้ผู้คนสูญเสียความหวัง สังคมนั้นมองไม่เห็นอนาคตอีกแล้ว และสังคมไทยกำลังจะเดินไปแบบนั้นด้วย

[ อนาคตสังคมชนชั้น เมื่อเกิดโลกเมตาเวิร์ส ] 

ถ้าหากโลกเมตาเวิร์สเติบโตขึ้น ขยับเข้ามาในสังคมไทยมากขึ้น ระบบชนชั้นก็จะเกิดสังคม 3 ระดับ:

– กลุ่มบน แสวงหาประโยชน์ใช้ชีวิตในเมตาเวิร์ส

– กลุ่มกลาง ขึ้นไม่ได้ ลงไม่ได้

– กลุ่มชนชั้นล่าง ต้องเอาตัวรอด ไม่มีโอกาสเข้าถึง

การเข้าถึงของเมตาเวิร์ส จะทำให้สังคมเห็นเส้นแบ่งที่ชัดมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ชัดแล้วในเขตเมือง อย่างคนจนส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตไม่เคยเข้าห้าง หรือนานๆ ถึงจะมีโอกาสที พวกเขาไม่เคยไปสวนสนุก เพราะชีวิตถูกทำให้อยู่ข้างล่างตลอด

นี่คือตัวอย่างว่าโลกมันต่างกันมาก สังคมเมืองเริ่มเป็น ‘ขนมชั้น’ หรือ ‘สังคมขนมชั้น’ เป็นก้อนของขนมชั้นเรียงกันอยู่ ในแต่ละชั้นมันแยกกันอยู่ และไม่ได้สัมผัสกัน

ซึ่งในวันนี้ สังคมขนมชั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ต่อไปชั้นก็จะชัดมากขึ้น และก็จะถูกบีบ ล่วงมาข้างล่างมากขึ้น ตรงชั้นกลางก็จะน้อยลง จนกลายเป็น 2 โลก ถ้าคนกลางจะรอด ต้องกลายเป็นทาสรับใช้ของคนข้างบน

[ การแก้ปัญหาของความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ] 

หนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงสังคมคนจน คือ ‘American Dream’ คนที่เกิดจากครอบครัวที่ยากจน แล้วต้องขยัน เรียนเก่ง เพื่อประสบความสำเร็จ ซึ่งพิสูจน์โดยโจเซฟ สติกลิตส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน แล้วว่า ‘ไม่จริง’

ส่วนในสังคมไทยเอง ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นการศึกษา ทุกอย่างมันถูกซ้อนเอาไว้

เช่น เด็กยากจนที่เรียนโรงเรียนเทศบาล โอกาสที่จะไต่เต้าขึ้นมามหาลัยดังๆ (เช่น วิศวะจุฬา) เป็นไปได้ยากมาก เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีโอกาสเลยก็ได้

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือ ลดความเหลื่อมล้ำที่แยกเป็นชั้นๆ ลดความเหลื่อมล้ำในทุกๆ ด้าน ที่จะส่งผลต่ออนาคตที่มันจะโหดร้าย

ในมุมของ ดร. อรรถจักร์ การแก้ปัญหาของความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยขั้นพื้นฐาน ต้องเริ่มจาก 3 ข้อนี้:

1.จำกัดการถือครองที่ดิน – เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ครอบครองเยอะขึ้น และครอบครองอย่างถูกต้อง

2.สร้างสวัสดิการรวมหมู่ – ในทุกมิติเสมอภาคมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปโดยปริยาย

3.ปฏิรูปการศึกษา – เพราะระบบการศึกษาไทยหยุดนิ่งไปแล้ว ซึ่งต้องกระจายอำนาจลงไปในการศึกษาก่อน แล้วนึกถึงให้จังหวัดจัดการตัวเอง

ถ้า 3 สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง สิ่งที่จะต้องตามมาก็คือ ‘เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย’

ดร. อรรถจักร์บอกว่า “รัฐบาลมีความคิดเหมือนชนชั้นนำทั่วๆ ไป และนิยามคนจนว่า ‘ไม่มีคุณสมบัติที่ดี’ เราเลยไม่ควรหวังอะไรจากรัฐบาลชุดนี้ ที่เขาอยู่ได้เพราะเขาคิดเหมือนคนชนชั้นบน

รัฐบาลชุดนี้ที่อยู่มา 8 ปี เป็น ‘รัฐบรรษัทนิยมใหม่’ คือรัฐบาลที่ผูกกับคนกลุ่มทุนนิยม

ถ้ามีการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ โอกาสที่ภาคสังคมจะใช้อำนาจในการเลือกตั้ง เพื่อที่จะดัดแปลงรัฐเป็นผู้จรรโลงความเหลื่อมล้ำเป็นไปได้

แต่ถ้ายังเป็นรัฐบรรษัทแบบนี้ ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น แต่รัฐบาลชุดนี้เขาไม่ฟังอยู่แล้ว เพราะเขามีความสุขกับความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัฐกับนายทุน”

[ ‘คนรุ่นใหม่’ คือความหวัง ]

การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดร. อรรถจักร์คิดว่าเป็นน่าสนใจ เพราะทำให้เห็นถึงความหลายหลายของความคิด

ที่สำคัญคือ คนรุ่นใหม่เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางอำนาจ มีมิติการยอมรับความหลากหลายของคนในสังคมมาก และมีความกล้าหาญมาก

ดร. อรรถจักร์ยังหวังด้วยว่าคนรุ่นใหม่จะขยับไปถึงการเรียนรู้ และเข้าใจสังคม และร่วมกันสร้าง และทำลาย หรือลดความเหลื่อมล้ำไปให้มากที่สุด คนรุ่นใหม่ถึงจะเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่ในสังคมไทยวันนี้

[ บทสรุปเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างสังคมลดความเหลื่อมล้ำ ]

ดร. อรรถจักร์ปิดท้ายว่า “ถ้าคนฟังเป็นผู้ที่มีอำนาจอยู่ สังคมเรากำลังเดินก้าวเข้าไปสู่ ‘การรับผลจากความเหลื่อมล้ำ’ จะทำให้สังคมเกิดปัญหามากมาย

ถ้าเราลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ยังไงก็จะไม่มีผลสูญเสียต่อ 300 ตระกูลใหญ่ อย่าไปกลัวว่าถ้าลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน แล้วพวกคุณจะจนลง”

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ดี จะทำให้ลักษณะสังคม เป็นเสมือนสังคมญี่ปุ่นก่อนปี ค.ศ. 1990 ที่มีลักษณะรูปเพชร ที่คนจนและคนรวยนิดเดียว คนทั่วไปก็จะมีชีวิตดีขึ้น อยู่ร่วมในสังคมที่ดีขึ้น

อย่าให้รัฐบาลกับนายทุนเป็นคนคิดฝ่ายเดียว เพราะ ‘ทุกคนในสังคมสามารถร่วมคิด และแก้ปัญหากันได้’

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า