SHARE

คัดลอกแล้ว

จำกันได้ไหมว่าล่าสุดที่เปิดทีวีดูรายการวาไรตี้โชว์ของไทย คือรายการอะไร บางคนอาจนึกถึงรายการที่ยืนหนึ่งในการเป็นรายการประกวดร้องเพลง รายการแข่งทำอาหาร หรือรายการหาคู่ที่สร้างกระแสในโลกออนไลน์อยู่เป็นระยะๆ หลายๆ รายการทีวีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงอยู่ในตอนนี้ เป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ที่เรานำมาต่อยอด ปรับรูปแบบให้เข้ากับความชอบของคนไทยอีกที

แต่จริงๆ แล้วมีรายการดีๆ อยู่ไม่น้อยที่ทีมงานคนไทยเป็นคนคิดและผลิตเอง หรือที่เรียกว่าออริจินัลคอนเทนต์ ที่นอกจากจะประสบความสำเร็จในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นที่สนใจของต่างชาติซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตใหม่ รวมถึงได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ การันตีคุณภาพของรายการในระดับสากลอีกด้วย

รายการทีวีออริจินัลของไทย ที่ได้รางวัลนานาชาติ

ชิงร้อยชิงล้าน

  1. ชิงร้อยชิงล้าน

ชิงร้อยชิงล้าน เป็นรายการคู่บ้านคู่เมืองของคนไทยที่ออกอากาศ (รวมทุกซีซั่น) ยาวนานถึง 33 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2566 จนได้ชื่อว่าเป็นรายการที่ออกอากาศบนหน้าจอโทรทัศน์ยาวนานที่สุดในประเทศไทย ชิงร้อยชิงล้าน เป็นรายการโทรทัศน์ลำดับที่ 2 ที่ผลิตโดย เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2533 ทางช่อง 7 สี โดยรูปแบบรายการเป็นรายการรูปแบบเกมโชว์ที่คัดผู้เข้าแข่งขันแบบคู่เพื่อที่จะลุ้นในรอบชิงล้าน และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเกมและตัวรายการ รวมไปถึงระยะเวลาการออกอากาศตามยุคสมัยความนิยม

ชิงร้อยชิงล้าน ได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 4 ครั้ง ได้แก่

  • ชิงร้อย ชิงล้าน ชะชะช่า รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Game or Quiz Show ในปี พ.ศ. 2542
  • ชิงร้อย ชิงล้าน รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Entertainment Programme) ในปี พ.ศ. 2545
  • ชิงร้อย ชิงล้าน Sunshine Day รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Comedy Programme ในปี พ.ศ. 2555
  • รวมถึง คุณปัญญา นิรันดร์กุล พิธีกร ชิงร้อย ชิงล้าน Sunshine Day ได้รับรางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Entertainment Presenter / Host ในปี พ.ศ.2556

 

เกมจารชน

2. เกมจารชน

เกมจารชน เป็นรายการโทรทัศน์ประเภทแอคชั่นเกมโชว์ที่รูปแบบของรายการได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง ALIEN ออกอากาศในปี พ.ศ. 2541-2548 ผลิตโดย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ความนิยมของรายการทำให้ในปี พ.ศ. 2559 ช่องเวิร์คพอยท์ ได้นำรายการเกมจารชนกลับมาผลิตอีกครั้งในรูปแบบใหม่ ในชื่อ เกมจารชน คู่หูอันตราย โดยเกมนั้นยังคงเดิมแต่มีการเปลี่ยนรูปแบบเกมเล็กน้อยตามยุคสมัย

นอกจากนี้ เกมจารชนยังเป็นรายการโทรทัศน์รายการแรกของเวิร์คพอยท์ที่จำหน่ายลิขสิทธิ์ออกไปผลิตในต่างประเทศ โดยประเทศแรกที่จำหน่ายลิขสิทธิ์ให้ คือ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2542

เกมจารชน ได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 3 ครั้ง ได้แก่

  • รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Game or Quiz Show ในปี พ.ศ. 2542
  • รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2543
  • รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2544

 

แฟนพันธุ์แท้

3. แฟนพันธุ์แท้

แฟนพันธุ์แท้ เป็นรายการเกมโชว์ควิซโชว์ที่ส่งเสริมความรู้ ความรัก ความคลั่งไคล้ และแสดงถึงอัจฉริยภาพในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของ สถานที่ วัฒนธรรม วรรณกรรม และเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยการแข่งขันเรื่องราวนั้นๆ ผลิตรายการโดย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์

รายการแฟนพันธุ์แท้ มีไอเดียมาจากการที่ ประภาส ชลศรานนท์ รองประธานบริษัทเวิร์คพอยท์ ได้ยินซูโม่ขิ่ม-กฤษณ์ชัย ศิลป์วิสุทธิ์ เพื่อนร่วมรุ่นที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าเรื่องสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลที่เขาคลั่งไคล้ได้อย่างสนุกสนานและตื่นเต้น จึงเกิดความคิดในการนำเรื่องราวของกลุ่มแฟนคลับต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว มานำเสนอในรูปแบบเกมโชว์

แฟนพันธุ์แท้ ออกจากอากาศในปี พ.ศ. 2543-2566 และมีการปรับเปลี่ยนรายการหลายรูปแบบ ทั้ง แฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน, แฟนพันธุ์แท้ สเปเชี่ยล และ แฟนด้อมพันธุ์แท้

แฟนพันธุ์แท้ ได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 7 ครั้ง ได้แก่

  • รางวัลรองชนะเลิศ (Runner Up)  Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2544
  • รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2546
  • รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2547
  • รางวัลรองชนะเลิศ (Runner Up) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2548
  • รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended)  Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2549
  • รางวัลรองชนะเลิศ (Runner Up)  Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2550
  • รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended)  Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2551

 

นอกจากนี้ แฟนพันธุ์แท้ ยังได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Non-Scripted Entertainment จาก International Emmy Awards ในปี 2560 และ แฟนด้อมพันธุ์แท้ ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศ (Winner Silver Award) Best Asian Original Game Show จาก ContentAsia Awards ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ.2567 อีกด้วย

 

เกมทศกัณฐ์

4. เกมทศกัณฐ์

เกมทศกัณฐ์ ออกอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2551 เป็นรายการเกมโชว์ที่ให้ผู้เข้าแข่งขันตอบคำถามใบหน้าของบุคคลที่มีชื่อเสียงสำคัญๆ ของคนทั่วทั้งโลก ตอบถูกครบ 10 หน้า รับเงินรางวัลสูงที่สุด 10 ล้านบาท นับว่าเป็นรางวัลแจ๊คพอตสูงที่สุดในวงการของรายการเกมโชว์โทรทัศน์ไทยและในเอเชีย (โดยเฉพาะ “เกมทศกัณฐ์ยกทัพ” ที่มีรางวัลแจ๊คพอตสูงถึง 30 ล้านบาท)

เกมทศกัณฐ์ ได้รับความนิยมอย่างสูง จนทำให้มีการปรับรูปแบบรายการออกมาอย่างหลากหลาย ทั้ง เกมทศกัณฐ์ยกทัพ, เกมทศกัณฐ์จำแลง, ทศกัณฐ์ยกสยาม, ยกสยาม ๑๐๐ ข้อ, ยกสยาม ๑๐ ข้อ รวมไปถึงตอนพิเศษอย่าง ทศกัณฐ์ ศึกทศกัณฐ์หน้าทอง และ ทศกัณฐ์ช่วยครูใต้

เกมทศกัณฐ์ และเกมทศกัณฐ์เด็กได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 6 ครั้ง ได้แก่

  • เกมทศกัณฐ์ รางวัลรองชนะเลิศ (Runner Up) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2546
  • เกมทศกัณฐ์เด็ก รางวัลรองชนะเลิศ (Runner Up) Best Children’s Programme ในปี พ.ศ. 2547
  • เกมทศกัณฐ์ รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2548
  • เกมทศกัณฐ์เด็ก รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Children’s Programme ในปี พ.ศ. 2549
  • เกมทศกัณฐ์เด็ก รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Children’s Programme ในปี พ.ศ. 2550
  • และคุณปัญญา นิรันดร์กุล พิธีกรเกมทศกัณฐ์เด็ก ได้รับรางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Entertainment Presenter ในปี พ.ศ.2549

 

กล่องดำ

5. กล่องดำ

กล่องดำ เป็นรายการที่เปิดโอกาสให้คู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายมาแข่งขันเกม ผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกกำหนดเงินรางวัลที่ต้องการ ซึ่งถ้าคู่แข่งขันทำสำเร็จก็ได้รับเงินรางวัลไป ออกอากาศในปี พ.ศ. 2548-2551 โดยมีการปรับรูปแบบรายการเป็น กล่องดำ รักแท้ ในปี พ.ศ. 2551

กล่องดำ ได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 6 ครั้ง ได้แก่

  • คุณปัญญา นิรันดร์กุล พิธีกรกล่องดำ ได้รับรางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Entertainment Presenter ในปี พ.ศ.2548
  • รางวัลรองชนะเลิศ (Runner Up) ในปี พ.ศ.2550
  • รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) ในปี พ.ศ. 2551
  • รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2548
  • รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2549
  • รางวัลรองชนะเลิศ (Runner Up) Best Game or Quiz Programme (รองชนะเลิศ) ในปี พ.ศ. 2550

 

อัจฉริยะข้ามคืน

6. อัจฉริยะข้ามคืน

อัจฉริยะข้ามคืน เป็นรายการเรียลลิตี้เกมโชว์ควิซโชว์รายการแรกและรายการเดียวของไทย สร้างสรรค์รูปแบบรายการและควบคุมการผลิตโดย รุ่งธรรม พุ่มสีนิล ออกอากาศระหว่างปี 2549-2551 ผู้เข้าแข่งขันเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ที่เข้ามาแข่งกันทำภารกิจ ไขปัญหาและรหัสลับในสถานที่ต่างๆ แตกต่างกันไปในแต่ละสัปดาห์ โดยใช้เวลาเพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น เพื่อชิงเงินรางวัล

อัจฉริยะข้ามคืน ได้รับรางวัล Best Reality Programme (รางวัลชมเชยสูงสุด) จาก Asian Television Awards 2006 ปี พ.ศ. 2549

 

สู้เพื่อแม่

7. สู้เพื่อแม่

สู้เพื่อแม่ ออกอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2548-2551 เป็นรายการที่สนับสนุนความกล้าคิด กล้าแสดงออก และความสามารถในด้านต่างๆ ตลอดจนความรัก ความผูกพันที่มีต่อคุณแม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาล 1-3 นำความรู้ ความสนใจ ความสามารถมาแข่งขัน โดยจะต้องผ่านด่านต่างๆ ในรายการเพื่อคว้ารางวัลที่คุณแม่อยากได้

สู้เพื่อแม่ ได้มีการต่อยอดกระแสความนิยมของรายการ ด้วยการปรับรายการในรูปแบบใหม่ๆ ทั้ง สู้เพื่อแม่ สะพายเป้, สู้เพื่อแม่ แท็กทีม และ สู้เพื่อแม่ สะพายกล้อง

สู้เพื่อแม่ ได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 2 ครั้ง ได้แก่

  • สู้เพื่อแม่ รางวัลรางวัลรองชนะเลิศ (Runner Up) Best Children’s Programme ในปี พ.ศ. 2549
  • สู้เพื่อแม่…สะพายเป้ รางวัลรองชนะเลิศ (Runner Up) Best Reality Programme ในปี พ.ศ. 2550

 

ระเบิดเถิดเทิง

8. ระเบิดเถิดเทิง

ระเบิดเถิดเทิง เป็นรายการซิตคอมควบคู่กับเกมโชว์ ออกอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2539-2564 รวมเวลาออกอากาศทั้งสิ้น 25 ปี โดยในช่วงแรกรูปแบบของรายการเป็นวาไรตี้อย่างเดียว ภายหลังได้มีช่วงละครซิตคอมเพิ่มเข้าไป และในช่วงท้ายของรายการค่อยเป็นการพูดคุยกับแขกรับเชิญ และร่วมเล่นเกมชิงรางวัล

ระเบิดเถิดเทิง ถือเป็นรายการแจ้งเกิดของดาราตลกในสมัยก่อนมากมายพอๆ กับรายการชิงร้อย ชิงล้าน จึงได้มีการปรับรายการในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้ง ระเบิดเถิดเทิง รุ่น 3, ระเบิดเถิดเทิงลั่นทุ่ง, ระเบิดเที่ยงแถวตรง, ระเบิดเถิดเทิงสิงโตทอง, ระเบิดเถิดเทิงแดนซ์เซอร์ทะลวงไส้, ระเบิดเถิดเทิงแดร็กคูล่าหารัก, ระเบิดเถิดเทิง ซอยข้าใครอย่าแตะ และ เถิดเทิงม่วนคักฮักหลาย

ระเบิดเถิดเทิง ได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 7 ครั้ง ได้แก่

  • รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Comedy Programme ในปี พ.ศ. 2551
  • ระเบิดเถิดเทิงสิงโตทอง รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Comedy Programme ในปี 2558
  • ระเบิดเถิดเทิงแดนเซอร์ทะลวงไส้ รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Comedy Programme ในปี พ.ศ.2559
  • ระเบิดเถิดเทิงแดร็กคูล่าหารัก รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Comedy Programme ในปี พ.ศ.2560

นอกจากนี้แล้ว 2 นักแสดงซิทคอม ในรายการระบเดเถิดเทิง ยังได้รับรางวัลตลกยอดเยี่ยม 3 ปีติดต่อกัน โดย

  • เท่ง เถิดเทิง ได้รับรางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Comedy Performance by an Actor ในปี พ.ศ.2550
  • โหน่ง ชะชะช่า ได้รับรางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Comedy Performance by an Actor ในปี พ.ศ.2551 และ พ.ศ.2552

 

ยกสยาม

9. ยกสยาม

ยกสยาม เป็นรายการเกมโชว์ควิซโชว์ที่เน้นส่งเสริมให้คนในแต่ละจังหวัดรักบ้านเกิด ส่งเสริมให้เกิดการใช้ความรู้ความสามารถ ที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ในแต่ละจังหวัด ถ่ายทอดผ่านเกมได้อย่างสนุกสนาน ออกอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2551-2554 และได้มีการต่อยอดด้วยการปรับรูปแบบรายการ ทั้ง ยกสยาม ๑๐๐ ในปี พ.ศ. 2553 และ ยกสยาม ๑๐ ข้อ ในปี พ.ศ. 2553-2554

ยกสยาม ได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 2 ครั้ง ได้แก่

  • รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2551 และ 2553
  • คุณปัญญา นิรันดร์กุล พิธีกร ได้รับรางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Entertainment Presenter ในปี พ.ศ.2552

 

หลานปู่ กู้อีจู้

10. หลานปู่ กู้อีจู้

หลานปู่ กู้อีจู้ ออกอากาศช่วงปี พ.ศ. 2551-2553 เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์ที่แสดงความสามารถของ หลาน-ปู่ หลาน-ย่า หลาน-ตา และ หลาน-ยาย ที่ให้ทำภารกิจด้วยกัน เพื่อชิงรางวัลตั๋วเครื่องบินไปกลับ กรุงเทพ-ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ จำนวน 2 ที่นั่ง 3 วัน 2 คืน เป็นรายการอบอุ่นหัวใจที่คนดูจะได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของปู่ย่าตายายกับรุ่นหลาน และคอยลุ้นให้ได้รางวัลไปด้วยกันทุกคู่

หลานปู่ กู้อีจู้ ได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 2 ครั้ง ได้แก่

  • รางวัลชนะเลิศ(Winner) Best Game or Quiz Programme ในปี 2551
  • รางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Game or Quiz Programme ในปี 2552

นอกจากนี้ ยังได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล 2009 International Emmy Awards ในปี 2552 อีกด้วย

 

เก่งยกห้อง

11. เก่งยกห้อง

เก่งยกห้อง เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์สำหรับเด็ก ออกอากาศในปี 2552 โดยรายการเปิดโอกาสให้นักเรียนในสถานศึกษาระดับประถมศึกษา ห้องละ 20 คน เข้ามาร่วมทำภารกิจที่ทางรายการกำหนดให้ โดยเด็กๆ จะได้ใช้ความสามารถพิเศษในด้านต่าง ๆ ทั้งความสามารถทางด้านดนตรี ศิลปะ ความรู้รอบตัวและวิชาการ ทำให้ได้เห็นทั้งความสามารถ ความน่ารักสดใส และความสามัคคีของเด็กๆ ที่ผู้ชมคอยเอาใจช่วยให้เด็กๆ ผ่านทุกภารกิจไปได้อย่างสวยงามทุกตอน

เก่งยกห้อง ได้รับรางวัล Best Children’s Programme (รางวัลชมเชยสูงสุด) ในปี พ.ศ. 2552 จากเวที Asian Television Awards 2009

 

ยอดมนุษย์น้อย

12. ยอดมนุษย์น้อย

ยอดมนุษย์น้อย ออกอากาศช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2551-2552 เป็นรายการที่เปิดโอกาสให้เด็กที่มีความสามารถชนิดไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ทั้งชายและหญิง อายุไม่เกิน 12 ปี มากความสามารถที่แปลกแหวกแนว สมกับเป็น “ยอดมนุษย์น้อย” เพื่อชิงเงินรางวัลมากมาย

ยอดมนุษย์น้อย ได้รับรางวัล Best Children’s Programme ในปี พ.ศ. 2552 จากเวที Asian Television Awards 2009

 

เกมเผาขน

13. เกมเผาขน

เกมเผาขน ออกอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2554-2556 เป็นรายการเกมโชว์สุดเกรียนที่สุดเท่าที่เวิร์คพอยท์เคยทำมา นอกจากจะได้ น้าเน็ก-เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เป็นพิธีกรแล้ว ภารกิจต่างๆ สุดเกรียนที่ท้าคนทั่วไปทำเพื่อแลกกับข้อเสนอที่จะช่วยผ่อนหนี้ให้แล้ว การท้าให้คนมาเล่าเรื่องตลก ถ้าไม่ตลกจะตกลงไปในรู และรอบที่แขกรับเชิญมาเลือกป้ายแล้วเข้าไปในเครื่องปล่อยรางวัล ที่ของรางวัลอาจจะตกลงมา หรืออาจจะเป็นสัตว์ที่แขกรับเชิญเกลียด ทำให้ได้เห็นภาพความโกลาหลของแขกรับเชิญวิ่งหนีสัตว์ต่างๆ เรียกเสียงฮาแบบเกรียนๆ ได้ทุกสัปดาห์

เกมเผาขน สร้างความเกรียนอย่างต่อเนื่อง และปรับรูปแบบของรายการใหม่จนได้มาเป็น เกมเผาขน ออนเดอะบีช ในปี พ.ศ. 2555  และ ปฏิบัติการซ่า ฮารูฟรึ่บ ในปี พ.ศ. 2555-2556

เกมเผาขน ได้รับรางวัล Best General Entertainment Programme (รางวัลชมเชยสูงสุด) ในปี พ.ศ. 2554 จาก จากเวที Asian Television Awards 2011

 

ราชรถมาเกย

14. ราชรถมาเกย

ราชรถมาเกย ออกอากาศในระหว่างปี พ.ศ. 2554-2556 เป็นรายการโทรทัศน์ประเภทเกมโชว์ควิซโชว์ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากรูปแบบของเกมที่เรียบง่าย แต่แจกรางวัลใหญ่อย่างรถยนต์ 1 คัน ให้กับผู้เข้าแข่งขันจากทางบ้าน ที่ตอบคำถามเพียง 1 ข้อได้ถูกต้อง ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2555 รายการได้ปรับรูปแบบเป็น “ราชรถมาเกย ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม” เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 มาร่วมเล่นเกมชิงรางวัลได้

ด้วยรูปแบบของรายการที่น่าสนใจ และของรางวัลเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าแข่งขันอย่างแท้จริง ทำให้ประเทศเวียดนามซื้อลิขสิทธิ์รายการไปทำใหม่อีกด้วย

ราชรถมาเกย ได้รับรางวัล Best Game or Quiz Programme (รางวัลชมเชยสูงสุด) ในปี พ.ศ. 2554 จากเวที Asian Television Awards 2011

 

วิทยสัประยุทธ์

15. วิทยสัประยุทธ์

อีกหนึ่งรายการน้ำดีจาก เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ โดยเป็นรายการเกมโชว์ที่ริเริ่มขึ้นโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นรายการเกมโชว์เกี่ยวกับทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการแข่งขันการแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์ โดยทางรายการจะกำหนดโจทย์ให้แต่ละทีมที่เป็นนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่จะนำมาแก้ไข พร้อมทั้งนำเสนอระบบการทำงานของอุปกรณ์นั้นให้กับคณะกรรมการ

ด้วยความสนุกสนานพร้อมให้ความรู้ และส่งเสริมกิจกรรมดีๆ ให้กับเยาวชน จึงทำให้รายการวิทยสัประยุทธ์ คว้ารางวัลใหญ่ทั้ง รางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2554 จากเวที Asian Television Awards 2011 และได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล 2012 International Emmy Awards ในปี 2555 อีกด้วย

 

แก๊งนมกล่อง

16. แก๊งนมกล่อง

หลังจากที่ เวิร์คพอยท์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการนำเสนอรายการวาไรตี้โชว์แนวซิตคอม จนปั้นดาวตลกจนมีชื่อเสียงมากมายนับไมถ้วน มาคราวนี้จึงปั้นดาวตลกรุ่นเด็กมาเล่นซิตคอมป่วนๆ ปนน่ารักให้ผู้ชมได้เอ็นดูไปกับความตลกธรรมชาติของเหล่าเด็กๆ มากความสามารถที่จะมาแสดงซิตคอมให้ชมกันทุกสัปดาห์

แก๊งนมกล่อง เป็นรายการวาไรตี้โชว์ซิตคอมสำหรับเด็กหนึ่งเดียวของเวิร์คพอยท์ที่ได้รับรางวัล Best Comedy Programme (รางวัลชมเชยสูงสุด) ในปี พ.ศ. 2557 จากเวที Asian Television Awards 2014

 

ปริศนาฟ้าแลบ

17. ปริศนาฟ้าแลบ

ปริศนาฟ้าแลบ เป็นรายการโทรทัศน์ประเภทเกมโชว์แนวควิซโชว์ ออกอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2557-2562 เอกลักษณ์ของรายการนี้อยู่ที่ “เก้าอี้ล่อฟ้า” ที่ผู้ที่ตอบคำถามจะต้องขึ้นไปนั่ง โดยเก้าอี้จะเลื่อนสูงขึ้นเมื่อตอบถูก และตกสู่จุดเริ่มต้นเมื่อตอบผิด ผู้ที่ตอบคำถามได้ถูกต้องติดต่อกันมากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ผ่านเข้าสู่รอบแจ็คพอต และหากผู้แข่งขันคนใดในทีมสามารถตอบคำถามได้ถูกต้องติดต่อกัน 10 ข้อ จะได้รับเงินรางวัลกลับบ้านไป

ความนิยมของรายการนี้ ทำให้มีตอนพิเศษออกมา ทั้ง ปริศนาฟ้าแลบเด็ก และ ปริศนาฟ้าแลบ BNK48 ที่มาโปรโมตเพลง “ คุกกี้เสี่ยงทาย”

ปริศนาฟ้าแลบ ได้รับรางวัลจากเวที Asian Television Awards ถึง 3 ครั้ง คือ

  • รางวัลรางวัลชมเชยสูงสุด (Highly Commended) Best Game or Quiz Programme (รางวัลชมเชยสูงสุด) ในปี พ.ศ. 2558 และ 2559
  • และที่สำคัญ คุณปัญญา นิรันดร์กุล พิธีกร ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ(Winner) Best Entertainment Presenter / Host ในปี พ.ศ.2559

 

Singer Auction เสียงนี้มีราคา

18. Singer Auction เสียงนี้มีราคา

Singer Auction เสียงนี้มีราคา ออกอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2560-2561 ผลิตโดย โพลก้าดอท เอนเตอร์เทนเมนท์ (ในเครือบริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด) ที่ทีมงานไทยคิดและพัฒนารายการเอง เป็นรายการโทรทัศน์รูปแบบวาไรตี้ซิงเกอร์เกมโชว์การแข่งขันร้องเพลง ที่ค่าตัวของนักร้องวัดกันที่ราคา ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของดารารับเชิญ ที่มาร่วมแข่งขันประมูลในแต่ละสัปดาห์อีกด้วย

Singer Auction เสียงนี้มีราคา ได้รับรางวัล Best Game or Quiz Programme ในปี พ.ศ. 2560 จากเวที Asian Television Awards 2017

 

THE RAPPER

19. THE RAPPER

รายการแข่งขันร้องเพลงของไทยก็ได้รับความนิยม และประสบความสำเร็จอย่างสูงไม่แพ้กัน THE RAPPER เป็นรายการประกวดร้องเพลงแนวแร็ป และฮิปฮอป ผลิตรายการโดยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด ออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ จำนวน 4 ฤดูกาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2561-2564

ช่อง Vie Channel จากประเทศเวียดนาม ซื้อลิขสิทธิ์รายการ THE RAPPER นำไปทำเป็นรูปแบบรายการภาษาเวียดนามภายใต้ชื่อรายการว่า แร็พเวียด ในปี พ.ศ. 2563 อีกด้วย

THE RAPPER ได้รับรางวัลชนะเลิศ (Winner) Best General Entertainment Programme ในปี พ.ศ. 2562 จาก เวที Asian Television Awards 2018

 

The Producer นักปั้นมือทอง

20. The Producer นักปั้นมือทอง

The Producer นักปั้นมือทอง เป็นรายการเรียลลิตี้โชว์แข่งขันทำดนตรีของ 4 โปรดิวเซอร์ชั้นนำแห่งวงการดนตรีไทย ได้แก่ ฟอร์ด – สบชัย ไกรยูรเสน, หนึ่ง – จักรวาล เสาธงยุติธรรม, แมว – จิรศักดิ์ ปานพุ่ม และ เพชร สหรัตน์ เพื่อค้นหาสุดยอดโปรดิวเซอร์ของประเทศไทย ผลิตโดย บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ออกอากาศในช่วงวันที่ 9 มิถุนายน 2561 – 8 กันยายน 2561 แทบจะเป็นรายการเดียวในประเทศไทยที่ให้ผู้เข้าแข่งขันแข่งกันเรียบเรียงดนตรีใหม่ ได้แสดงศักยภาพของโปรดิวเซอร์ไทยให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในไทยและต่างประเทศ

The Producer นักปั้นมือทอง ได้รับรางวัล รางวัล Best Music Programme จาก Asian Academy Creative Awards 2019 ในปี 2562

 

10 Fight 10

21. 10 Fight 10

นอกจากรายการเพลง รายการตลก และรายการสำหรับเด็กแล้ว รายการกีฬาของไทยก็โดดเด่นไม่เป็นสองรองใครในตลาดโลกเช่นกัน 10 Fight 10 เป็นการแข่งขันมวยสากลที่นำเอาเซเลบริตี้ดารามาขึ้นชกกันทั้งหมด 10 คู่ ดาราแข่งชกมวยกันอย่างจริงจังแบบไม่มีใครยอมใคร เล่นจริงเจ็บจริง จึงทำให้ผู้ชมให้ความสนใจ และเอาใจช่วยให้กับดาราที่ตนเองชื่นชอบ และยังทำให้เหล่าดาราได้แสดงศักยภาพและความสามารถทางด้านกีฬาให้คนทั่วไปได้เห็นกันมากขึ้นอีกด้วย

10 Fight 10 เป็นรายการถ่ายทอดสดแข่งกีฬา ที่ออกอากาศยาวนานถึง 3 ซีซั่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2565

10 Fight 10 ได้รับรางวัลชนะเลิศ(Winner) Best Sports Programme (one off/series) จาก Asian Academy Creative Awards 2019 ในปี พ.ศ.2562 และ 10 Fight 10 ซีซั่น 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศ(Winner) Best Sports Programme จาก Asian Television Awards 2021 ในปี พ.ศ. 2564

 

Tower of Love หอคอยเพลงรัก

22. Tower of Love หอคอยเพลงรัก

Tower of Love หอคอยเพลงรัก เป็นรายการวาไรตี้สนุกๆ ที่ให้ผู้ชมลุ้นไปกับเหล่าไอดอลสาวที่จะมาตามหาคู่เดต โดยไม่ให้เห็นหน้ากันอย่างเด็ดขาด แต่ต้องใช้เสียงเพลงเป็นสื่อแทนใจ นอกจากผู้ชมจะได้เห็นความน่ารักของไอดอลสาวแต่ละคนแล้ว ยังได้ลุ้นให้ได้ลงเอยกับหนุ่มที่ผู้ชมเล็งเอาไว้ว่เหมาะสม ได้สนุกกับการจับคู่ให้คนอื่นอีกด้วย

ถึงแม้รายการ Tower of Love หอคอยเพลงรัก จะออกอากาศเพียงไม่กี่เดือน (3 พฤษภาคม – 16 สิงหาคม 2565) แต่ก็เข้าตากรรมการจนได้รับรางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Game or Quiz Programme จาก Asian Television Awards 2022 ในปี 2565

 

นักร้อง 2 ชั้น (The Idol Duet)

23. นักร้อง 2 ชั้น (The Idol Duet)

นักร้อง 2 ชั้น (The Idol Duet) รายการวาไรตี้โชว์ที่ให้นักร้องรุ่นน้องมาร้องเพลงแข่งกัน เพื่อสิทธิ์ที่จะได้ร้องดูเอตกับศิลปินรุ่นพี่ที่อยู่บนชั้นสอง ที่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นใคร เป็นการต่อยอดรายการประเภท “ทายว่าใครเป็นแขกรับเชิญจากเสียงร้อง” ที่เป็นจุดเด่นของรายการวาไรตี้ร้องเพลงของ เวิร์คพอยท์ ได้ดีทีเดียว

แม้ว่า นักร้อง 2 ชั้น (The Idol Duet) จะออกอากาศเพียงไม่กี่เดือน (23 สิงหาคม – 27 ธันวาคม 2565) แต่ก็ได้รับรางวัลระดับเอเชียด้วย นั่นคือรางวัลชนะเลิศ (Winner) Best Game or Quiz Programme จาก Asian Television Awards ครั้งที่ 28 ในปี 2567

 

FACE OFF แฝดคนละฝา

24. FACE OFF แฝดคนละฝา

FACE OFF แฝดคนละฝา เป็นรายการของเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ที่ตอบสนองต่อเทรนด์ AI ในยุคปัจจุบัน ที่นำมาปรับใช้ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตรายการวาไรตี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยทางรายการจะใช้เทคโนโลยี Deep Fake ปลอมตัวเป็นคนดัง และปกปิดตัวตนของแขกรับเชิญทั้ง 3 คนที่จะมาเผยความลับขั้นสุดที่มีเฉพาะคนสนิทสุดๆ เท่านั้นที่จะรู้ แล้วให้ดาราทายว่าคนที่ปลอมเป็นตัวเองอยู่นั้นคือใคร

FACE OFF แฝดคนละฝา คว้า 2 รางวัลชนะเลิศ จาก 2 เวที

  • รางวัลชนะเลิศ(Winner) BEST ASIAN ORIGINAL GAME SHOW จาก ContentAsia Awards 2024 ในปี 2567
  • รางวัลชนะเลิศ Best Reality & Variety จากงานประกาศรางวัล Asia Contents Awards & Global OTT Awards ( ACA & G. OTT) ในปี พ.ศ.2567

 

รายการทีวีของไทยหลายรายการได้รับการยอมรับจากเวทีนานาชาติถึงรูปแบบของรายการที่มีความคิดสร้างสรรค์ ได้ทั้งความสนุกเพลิดเพลิน เสริมสร้างสังคมไปในทางที่ดี และยังได้แสดงศักยภาพของคนไทยว่าเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งตัวผู้เข้าร่วมแข่งขัน และทีมงานผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่ยังคงทำหน้าที่สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ให้ผู้ชมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อย่าลืมให้กำลังใจพวกเขาด้วยการรับชมผลงานและบอกต่อกันเยอะๆ เพื่อให้คอนเทนต์ออริจินัลของไทยยังคงได้รับการสนับสนุนต่อไป

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า