SHARE

คัดลอกแล้ว

การจัดตั้งรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ในสภาวะเสียงที่ก้ำกึ่งกันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน แบบเสียงปริ่มน้ำ ถูกจับตามองว่า อาจจะส่งผลต่ออายุของรัฐบาลที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุอยู่ได้ไม่นาน หากผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมายต่างๆ ฝ่ายรัฐบาลเกิดเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

เพราะในอดีตเคยมีตัวอย่างมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่รัฐบาลแพ้โหวตในสภาอย่างไม่คาดคิดและนายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก โดยทั้ง 2 ครั้งล้วนมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่น่าสนใจ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม (ภาพ wikipedia)

เหตุการณ์แรก เกิดในยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ซึ่งอยู่ในห้วงภาวะของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นบุกไทย

สถานการณ์ของไทยในตอนนั้น ปลายปี พ.ศ.2484 จอมพล ป. ตัดสินใจเข้าเป็นพวกกับญี่ปุ่น หลังจากถูกญี่ปุ่นบุกและยื่นคำขาดให้ไทยตัดสินใจเลือกข้าง แต่ช่วงกลางปี พ.ศ.2486 เมื่อฝ่ายอักษะที่ไทยเข้าร่วมทำท่าว่าจะแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตร จอมพล ป. จึงได้เตรียมทางหนีทีไล่ในการพลิกสถานการณ์

หนึ่งในนั้นคือการเตรียมการส่งคนไปเจรจากับกองทัพจีน ที่เป็นฝ่ายสัมพันธมิตร และการเตรียมย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยังเพชรบูรณ์ เนื่องจากมองว่าหากจะต้องเปลี่ยนมาสู้รบกับญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ จะก่อให้เกิดความเสียหายมาก ควรย้ายไปยังพื้นที่ที่ภูมิประเทศเป็นป่าเขาและห่างทะเลอย่างเพชรบูรณ์จะเหมาะสมกว่า เพราะจะทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถลำเลียงทหารจากฐานทัพอื่นทางทะเลมาช่วยได้

จอมพล ป.ให้เหตุผลเพื่อเป็นการลวงญี่ปุ่นว่า ต้องการย้ายเมืองหลวง เพราะกรุงเทพฯ มีพลเมืองหนาแน่นเกินไป และต้องการกระจายความเจริญไปสู่ภาคเหนือ ขณะที่การก่อสร้างมีคำสั่งห้ามหน่วยงานราชการพูดถึงเรื่องการก่อสร้างเด็ดขาด และให้กระทรวงมหาดไทยกวดขันห้ามคนต่างประเทศเข้าไปใน จ.เพชรบูรณ์และชัยบาดาล ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้าง

นอกจากนั้น จอมพล ป.ยังมีแนวคิดให้ จ.สระบุรี ที่เป็นทางผ่านไปเพชรบูรณ์เป็นพุทธมณฑล เป็นเสมือนเขตอภัยทานหากเกิดการสู้รบกัน และป้องกันญี่ปุ่นบุกเข้ายึด

ภาพ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

จอมพล ป.ได้เสนอพระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง โดยเป็นการชิงออกก่อนเปิดสมัยประชุมสภาไม่ถึงเดือน (แทนที่จะรอให้เปิดสภาแล้วเสนอเป็นพระราชบัญญัติ) เมื่อประกาศใช้ไปแล้ว และนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาภายหลัง ปรากฏว่า ฝ่ายรัฐบาลของ จอมพล ป.แพ้โหวตลับไปด้วยคะแนน 36 ต่อ 48 จากผู้เข้าร่วมประชุม 97 คน

โดยการล้มกฎหมายฉบับนี้เพราะฝ่ายค้านเห็นว่า การเกณฑ์แรงงานเพื่อการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้ ทำให้ประชาชนล้มตายเพราะไข้มาเลเรียจำนวนมาก จนมีคำกล่าวว่า ถ้าใครถูกเกณฑ์ให้ เตรียมหม้อดินไปใส่กระดูก เพราะสภาพพื้นที่ยังคงเป็นป่า

ตัวเลขจากรายงานของสภาผู้แทนราษฎรแจ้งว่า ในปี พ.ศ.2487 มีผู้ที่ถูกเกณฑ์ 127,281 คน ได้รับบาดเจ็บ 14,316 คน เสียชีวิตด้วยไข้ป่า 4,040 คน

แม้กระทั่ง พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของ จอมพล ป. ก็เห็นคัดค้านด้วยเหตุผลว่า แม้หลักภูมิประเทศของเพชรบูรณ์จะเหมาะเป็นป้อมปราการต้านทานข้าศึก แต่ทางคมนาคมก็จำกัดมีส่วนที่เป็นคอคอด หากถูกยึดหรือทำลายก็จะถูกตัดทางคมนาคมไปเลย และภูมิประเทศก็ทุรกันดาร ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

เท่านั้นไม่พออีก 2 วันต่อมา ได้มีการนำ พระราชกำหนดพุทธมณฑลบุรี ที่จะสร้างเขตมณฑลทางพระพุทธศาสนา ใน จ.สระบุรี เข้าสู่สภา แต่ก็ถูกลงมติคว่ำอีกครั้ง แพ้ไปด้วยคะแนนโหวตลับ 41 ต่อ 43 ทำให้ จอมพล ป. ต้องตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2487

ทั้งที่สถานภาพของ จอมพล ป.ในขณะนั้นคือผู้ทรงอำนาจ จนแม้แต่พระองค์เจ้าอาทิตย์ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ยังเกรงใจ

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของ จอมพล ป. เขียนบันทึกความทรงจำไว้ในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย” ว่า ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างถนนสายเพชรบูรณ์มากนัก ทราบแต่ว่าเป็นแผนการต่อต้านญี่ปุ่น และเพื่อกันไม่ให้ญี่ปุ่นขอคนไทยไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่ จ.กาญจนบุรี แต่คนทั้งในรัฐบาลและประชาชนไม่เข้าใจ ท่านจอมพลก็ไม่อาจจะชี้แจงอะไรให้ทราบในขณะนั้นได้ ท่านบอกว่ายังไม่ถึงเวลา วันหนึ่งจะมีผู้เข้าใจเจตนาของท่านเอง แม้จะมีการจะขอให้ไปชี้แจงที่สภาผู้แทน ท่านจอมพลก็ไม่ได้ไป เพราะถือว่า พ.ร.บ.เพชรบูรณ์เป็นเรื่องลับทางราชการทหาร ซึ่งไม่สามารถจะเปิดเผยความจริงทางรัฐสภาได้ ผลจากการที่ไม่ได้ไปแถลงในสภา ทำให้ท่านจอมพลพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยแพ้คะแนนเสียงโหวตในสภา

ขณะที่นายควง อภัยวงศ์ นักการเมืองคนสำคัญ ซึ่งจะกลายมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “การต่อสู้ของข้าพเจ้า นายควง อภัยวงศ์” ไว้ว่า นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยใต้ดิน (เสรีไทย) ประเมินแล้วว่า แผนการของ จอมพล ป. ไม่สอดคล้องกับแนวทางที่ประสานกับเสรีไทยนอกประเทศอยู่ จึงได้ให้ลูกศิษย์ไปติดต่อกับ ส.ส.ประเภท 2 ที่รัฐบาลแต่งตั้ง ให้ช่วยกันล้มกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ที่ จอมพล ป.เสนอ

หลังการลาออกเชื่อกันว่า จอมพล ป. ยังมั่นใจว่าสภาจะลงมติให้กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ฝ่ายของปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอชื่อ นายควง อภัยวงศ์ และเป็นฝ่ายชนะ จอมพล ป.ไปด้วยคะแนน 69-22 โดยนายควง ก็ยอมรับว่า ในตอนแรกไม่มีใครกล้ารับตำแหน่งนี้เพราะกลัวจอมพล ป. ยึดอำนาจ จึงตัดสินใจจะเชิญ พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตหัวหน้าคณะราษฎร และอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง จอมพล ป.เกรงใจมารับตำแหน่ง แต่พระยาพหลฯ ก็ตอบปฏิเสธไปถึง 3 ครั้ง จนมาเป็นนายควง ที่ต้องมารับตำแหน่งนี้ และได้ตัดสินใจเดินทางไปเจรจากับจอมพล ป.ด้วยตนเองถึงค่ายทหารที่ จ.ลพบุรี

รัฐบาลของนายควง ได้เข้ามาทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกาศสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร และลาออกจากตำแหน่ง โดยมี นายทวี บุณยเกตุ มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 17 วัน เพื่อรอ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ที่สอง ที่นายกฯ แพ้โหวตจนต้องลาออก 

หลังเสร็จสิ้นภารกิจในการเจรจาจนไทยพ้นสถานะผู้แพ้สงคราม ม.ร.ว.เสนีย์ ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ นายควง อภัยวงศ์ ได้รับการลงมติให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยในช่วงเวลานั้นเอง ที่นายควง ได้เกิดการผิดใจกับนายปรีดี ที่ให้การสนับสนุน นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรีแข่งกับนายควง

แต่แม้นายควง จะชนะโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี เหนือนายดิเรก 86-66 เสียง เขาก็อยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึง 2 เดือน และต้องลาออกไปเพราะแพ้โหวตในสภา เช่นเดียวกับ จอมพล ป.

ในการประชุมสภาตอนนั้น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นคนสนิทของนายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน ซึ่งถูกเรียกว่า “พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว”

ฝ่ายรัฐบาลของนายควง ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเป็นไปไม่ได้ในการปฏิบัติและไม่ได้ช่วยประชาชนใดๆ แต่ในการลงมติในสภาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2489 ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายชนะไปแบบฉิวเฉียด 65-63

นายควง อภัยวงศ์ จึงต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สาเหตุของความพ่ายแพ้ส่วนหนึ่งของรัฐบาลนายควง คือ ส.ส.หลายคนไม่ได้เข้าสภา เพราะอยู่ระหว่างเดินทางกลับจังหวัดของตนเพื่อฉลองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งไม่คิดว่าจะมีการเสนอกฎหมายนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา

https://www.facebook.com/DemocratPartyTH/photos/a.396915786790/10154301045246791/?type=3&theater

 

จากความผิดหวังของนายควงในครั้งนั้น ได้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่ม ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วยกับนายปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2489 ซึ่งจะกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาททางการเมืองไทยต่อมาอีกยาวนาน

 

ข้อมูลอ้างอิง
– แผนชิงชาติไทย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
– การต่อสู้ของข้าพเจ้า นายควง อภัยวงศ์ โดย ควง อภัยวงศ์
– การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ โดย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ
– โครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบูรณ์ของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดย พรเลิศ พันธุ์วัฒนา

– เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 2 ในส่วนบันทึกของ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

– นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 202 ธันวาคม 2544  “60 ปี เสรีไทย วีรกรรมของผู้รับใช้ชาติ”

 

ปรับปรุงเนื้อหาเมื่อ 28 มิ.ย. เวลา 14.00 น.

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า