Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

รอคอยกันมานานว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีคอนเทนต์หนัง-ซีรี่ส์ที่ผลิตและออกอากาศทาง Netflix บ้างหลังได้แต่นั่งมองหลายๆ ประเทศร่วมงานและผลิตผลงานคุณภาพกันไปก่อน ทั้งที่ไทยเองมีทรัพยากรอยู่ในมือพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานคุณภาพ นักแสดงยอดฝีมือ โลเคชั่นการถ่ายทำที่สวยงาม รวมถึงงานด้านเทคนิคพิเศษชั้นยอดไม่เป็นรองใครบนโลกนี้ และเมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา คนไทยก็ได้อิ่มหนำสำราญกันเสียทีเมื่อ เคว้ง (The Stranded) ซีรี่ส์แนวลึกลับเขย่าขวัญที่ Netflix เข้ามาร่วมงานสร้าง ผลงานการกำกับของ โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ผู้กำกับหนังสยองขวัญ โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต (2551) และ ลัดดาแลนด์ (2554) ของค่าย GTH/GDH (เขายังเป็นผู้เขียนบทหลักของซีรี่ส์คู่กับ คริสเตียน เดอร์โซ่ ผู้อำนวยการสร้างของ Netflix ด้วย) ได้ออกอากาศผ่านสตรีมมิ่งระดับโลกเสียที

 

 

 

เคว้ง เล่าเรื่องราวของเหล่าเด็กมัธยมในโรงเรียนไฮโซบนเกาะแห่งหนึ่ง ในวันที่พวกเขาจบการศึกษาและกำลังจะแยกย้ายกันไปตามทางของตัวเอง จู่ๆ ก็เกิดสึนามิขึ้นมาซัดและทำลายแทบทุกอย่างบนเกาะ ตัดขาดพวกเขาจากโลกภายนอกจนหมด เด็กๆ ที่เหลืออยู่กว่า 30 ชีวิตจึงต้องอยู่บนเกาะลึกลับโดยไม่สามารถหนีไปไหนได้ แล้วยิ่งเวลาผ่านไป นอกจากจะเกิดเรื่องแปลกๆ ที่หาคำอธิบายไม่ได้ ปีศาจร้ายภายในใจทุกคนยังก่อตัวขึ้น ทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม ตามสไตล์ของสตรีมมิ่งเจ้านี้ Netflix ปล่อย เคว้ง ออกมาให้รับชม 7 ตอนรวด ด้วยจำนวนตอนที่กำลังพอดิบพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป หลายคนจึงดูจบอย่างรวดเร็ว และเริ่มพูดถึงซีรี่ส์เรื่องนี้กันตั้งแต่วันแรกที่ออกอากาศ พร้อมชื่นชมถึงความลึกลับซับซ้อนในปริศนาต่างๆ ชวนให้คนอื่นอยากดูจนจบอย่างรวดเร็ว

แต่แล้วเสียงฮือฮาในตอนแรกๆ ก็แปรเปลี่ยนเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบ เมื่อคนได้ดูจนจบทั้ง 7 ตอนแล้วพบข้อบกพร่องหลายประการ ประเด็นสำคัญอยู่ที่บทซึ่งเต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผลของสถานการณ์และการกระทำ จนต่อให้ดูแบบไม่จับผิดก็ยังอดรู้สึกติดขัดไม่ได้ และเนื่องจากซีรี่ส์มีตัวละครเยอะ มีเส้นเรื่องมากมายพันกันยุ่งเหยิง แต่ยิ่งเรื่องราวดำเนินต่อไปเรื่อยๆ บทกลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตัวละครแต่ละตัวได้อย่างเหมาะสม จนเกิดคำถามว่าสร้างตัวละครเหล่านี้มาเพื่ออะไร การมีจำนวนตอนที่ไม่มากหรือน้อยเกินไปยังกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญ สะท้อนออกมาผ่านเวลาออกอากาศที่ค่อนข้างจำกัด เคว้ง ทั้ง 7 ตอน กินเวลาตอนละประมาณ 45-50 นาที เพราะฉะนั้นการจัดการกับตัวละครและเส้นเรื่องให้ลงตัวในเวลาเพียงเท่านี้จึงเป็นงานยาก หากมีจำนวนตอนที่มากกว่านี้อีกสัก 3 ตอน น่าจะช่วยให้เรื่องราวออกมาสมบูรณ์กว่าเดิมไม่มากก็น้อย

น่าคิดต่อว่า ด้วยวิธีการของซีรี่ส์ที่ออกมาในรูปนี้ ต่อให้มีถึง 10 ตอน สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าเดิมจริงหรือไม่ เพราะยิ่งเรื่องราวดำเนินไปพร้อมเงื่อนปมที่เพิ่มมากขึ้น แต่ปมปริศนาต่างๆ ที่ถูกวางไว้กลับไม่ถูกแก้ให้กระจ่างเลยสักประเด็น หากมีจำนวนตอนที่มากขึ้น มันอาจทำให้คนดูหัวเสียมากกว่าเดิมก็เป็นได้ หลังจากที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้ประทับใจมากตั้งแต่ต้น แล้วพอเป็นซีรี่ส์ลึกลับเขย่าขวัญในพื้นที่ปิด ไร้ซึ่งหนทางออก ยังทำให้หลายคนนึกถึงหนัง/ซีรี่ส์หรือนวนิยายลักษณะคล้ายกัน เช่น Lost (2005-2011) กับ Lord of the Flies

ตอนจบยังทำให้หลายคนคิดถึงซีรี่ส์สัญชาติเยอรมันเรื่องหนึ่ง ซึ่งสร้างโดย Netflix เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจของเหล่าผู้สร้างหรือไม่ก็ตาม ย่อมถูกนำมาเปรียบเทียบกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ว่าทำได้ไม่ถึงขั้น พอ เคว้ง ไม่ได้มาพร้อมความสดใหม่ แถมยังแพ้แต่ละเรื่องที่กล่าวมาก็ยิ่งเป็นข้อเสียประการสำคัญให้โดนโจมตีเพิ่มเติม

ถึงจะมีรอยโหว่เยอะ แต่ เคว้ง ก็มีคุณงามความดีอยู่เช่นกัน ซีรี่ส์มีการออกแบบงานสร้างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการสร้างโลกสุดลึกลับบนเกาะแห่งหนึ่งขึ้นมา มีการกำกับภาพที่สวยงาม สื่อความหมาย และการลำดับภาพซึ่งอุ้มชูตัวเรื่องให้น่าติดตาม แต่ตราบใดที่วัตถุดิบสำคัญอย่างบทมีปัญหา ต่อให้ออกแบบงานสร้างได้อลังการ มีภาพสวย และตัดต่อดีแค่ไหน ก็ไม่อาจช่วยอุ้มชูให้ เคว้ง รอดพ้นจากหายนะไปได้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ เคว้ง ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายในเมื่อทีมงานเบื้องหลังล้วนเป็นยอดฝีมือในสายงานนี้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ-เขียนบท โสภณ, ผู้กำกับภาพ ชูเกียรติ ณรงค์ฤทธิ์ (Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ, 2555), นักลำดับภาพ ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต (ฉลาดเกมส์โกง, 2560) และนักออกแบบงานสร้าง พวัสษ์ สวัสดิ์ชัยเมธ (ฝนตกขึ้นฟ้า, 2554)  ส่วนทีมนักแสดงก็มีชื่อชั้น เคยเข้าชิงและได้รางวัลด้านการแสดงจากหลายสถาบัน อาทิ จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล (ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น, 2556-2557), ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช (Someone From Nowhere, 2561), กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา (เกรียนฟิคชั่น, 2556), โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ (The Blue Hour, 2558), ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ (Project S The Series ตอน Spike!, 2560), ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ (The Deadline, 2561) รวมถึงรุ่นใหญ่อย่าง สินใจ เปล่งพาณิช (รักแห่งสยาม, 2550) และวินัย ไกรบุตร (นางนาก, 2542) เป็นต้น

การจะผลิตผลงานในระดับนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ เชื่อได้ว่ามาพร้อมเบื้องหลังงานสร้างที่ยากลำบาก ทีมงานหลายคนได้เขียนถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของ เคว้ง บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำให้หลายคนได้เห็นความทุ่มเทของทีมงานว่า พวกเขาตั้งใจผลิตซีรี่ส์ที่มีคุณภาพออกมาจริงๆ ต่อให้ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคใดๆ ก็ตาม แม้ผลลัพธ์ที่ออกมา มันจะไม่ใช่งานที่เลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ (และห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบอยู่ไกลลิบ) ในส่วนนี้ถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจทีมงานทุกคน

การเป็นซีรี่ส์เรื่องแรกของไทยที่ได้ทำให้กับ Netflix ไม่ได้ออกมาราบรื่นและสวยงามอย่างที่คิด แม้จะได้ทำงานกับคนและองค์กรระดับโลก ได้เข้าไปอยู่ในระบบซึ่งมีมาตรฐานสูงขึ้นไปอีกระดับ แต่ก็น่าจะมาพร้อมกับเงื่อนไขยุ่งยากและซับซ้อนมากมายในขั้นตอนการผลิต อีกทั้งยังได้รับการคาดหวังสูงปรี๊ดจากหลายฝ่าย หากผลงานออกมาดี มันจะเป็นประตูบานสำคัญช่วยให้นักสร้างหนัง-ซีรี่ส์ชาวไทยได้พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ๆ ในอนาคตเพิ่มเติม ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้มันออกมาแย่

อย่างไรก็ตาม การรู้ถึงความลำบากของงานเบื้องหลังก็ไม่ได้หมายความว่าจะลบจุดโหว่ต่างๆ ไปได้ เพราะสุดท้ายสิ่งที่คนดูจะจดจำจากงานชิ้นนี้ คือตัวงานที่เสร็จสมบูรณ์และผ่านกระบวนการทุกอย่างจนกลายเป็นซีรี่ส์ 7 ตอน เสียงวิจารณ์ที่ออกมาถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ผู้สร้างชาวไทยจะได้จดจำ เรียนรู้ และนำไปปรับปรุงในซีซั่นต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะมีอย่างแน่นอน และระยะเวลานับจากนี้ไป เชื่อได้ว่าทีมงานเหล่านี้คงจะทุ่มสุดตัวกันยิ่งกว่าเดิม เพื่อสยบเสียงวิจารณ์ด้านลบทั้งหมดทั้งมวลให้จงได้ แม้จะยังไม่รู้ว่า เคว้ง ซีซั่น 2 จะได้ออกอากาศเมื่อไหร่ และต้องใช้เวลาในการสร้างนานแค่ไหน แต่ในฐานะคนดู เราก็พร้อมจะรอคอย และสนับสนุนผลงานของคนเบื้องหลังคุณภาพต่อไป และหวังว่าพวกเขาจะไม่ทำให้ผิดหวัง

บทความโดย ปราณพัฒน์ แอนุ้ย

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า