SHARE

คัดลอกแล้ว

“เขากลับมาบอกกันว่าได้เงินแสนภายใน 2 เดือน บางคนก็ได้ 2 แสน เขาก็เลยมาชักชวน” เสียงเล่าลือนี้สะพัดไปทั่วหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแผ่นดินที่ราบสูง เป็นจุดเริ่มต้นชะตากรรมการทำงานในต่างแดน ของ พี่ไหว-ไพรสันติ จุ้มอังวะ จากบ้านหนองทุ่ม ต.สะพัง อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ

 

มุมหนึ่งบนบ้านไม้สองชั้น มีถุงพลาสติกสีขุ่นฝุ่นคลั่กวางอยู่ ภายในอัดแน่นด้วยปึกเอกสารกองโต มีรายชื่อ ตาราง และภาพของพี่ไหวและเพื่อนๆ สมัยเป็นแรงงานหาเบอร์รี่ป่า เมื่อ 12 ปีก่อน ในฟินแลนด์ ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกแปดปีซ้อน 

เขาจ้องมันนิ่งๆ ก่อนหยิบพาสปอร์ตมาให้ดู ซึ่งมันไม่ได้มีเล่มเดียว นับดูแล้วได้ 18 เล่ม

“มันเป็นพาสปอร์ตเพื่อนๆ ตอนที่สู้คดี ตอนนั้นจะไปขึ้นศาลฟินแลนด์ ในเดือนมิถุนายน 2560 เขาก็ฝากพาสปอร์ตให้เราเอาไปด้วย แต่จริงๆ มันไม่จำเป็นต้องเอาไปหรอก เพราะพี่โทรถามทางฟินแลนด์เขาบอกไม่ต้องเอาไป แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครคิดจะเอาพาสปอร์ตกลับ”

พี่ไหว เล่าติดตลกว่า ถ้าการไปทำงานต่างประเทศครั้งแรกในวันนั้น ทำให้พวกเขาร่ำรวยจริง หลายคนก็คงอยากไปซ้ำ พาสปอร์ตเหล่านี้ ก็คงไม่ถูกวางไว้ตรงมุมหนึ่งในบ้านของเขา มาเกือบ 10 ปี

กว่า 50 คน ของแรงงานเก็บเบอร์รี่ ค่อยถูกเปิดขึ้นทีละภาพ พร้อมคำบอกเล่าชีวิตความลำบากหลังกลับมาจากฟินแลนด์ บางคนเป็นคนบ้านเดียวกัน และมีไม่น้อยอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง แม้จะมาจากต่างที่ แต่ทุกคนกลับมีจุดร่วมเดียวกัน คือ “ไปทำงานแล้วเป็นหนี้ ไม่ได้เงินกลับมา”

พี่ไหว ณ บ้านแท่น มอง พี่ไหว ณ ฟินแลนด์ ผ่านภาพถ่าย เรื่องเล่าของแรงงานไทยในต่างแดนเมื่อ 12 ปีที่แล้วกำลังเริ่มต้น

[แรงงานสมัครใจ หรือถูกหลอก?]

“2 เดือนนี้มันเป็นช่วงว่างงาน ก็เลยคิดว่าจะไป ทางใดที่ได้เงินกลับมาบ้าน เพราะคนทำนาช่วงนี้มันก็ไม่ได้เฮ็ดหยัง (ทำอะไร)”

ย้อนไปปลายปี 2555 พี่ไหว ได้ยินคนพูดกันหนาหูว่ามีคนได้จับเงินแสน หลังไปทำงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ ประกอบกับช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน เป็นช่วงว่างเว้นจากการทำเกษตร ทำให้แรงงานจะมีเวลาว่าง เขาถึงตัดสินใจลองสมัครได้ไม่ยาก ทั้งที่ตัวเขาเองจะไม่มีเงินทุน ภายใต้คำแนะนำของนายหน้า

นายหน้าแนะนำพี่ไหว ถึงค่าใช้จ่ายที่าต้องหา ทั้งค่าวีซ่า ค่าตรวจโรค ค่ามัดจำ และค่าดำเนินการ เบ็ดเสร็จแล้วยังไม่ทันได้เริ่มต้นงาน เขาก็มีหนี้ก้อนจ่อรอประมาณ 73,000 บาท

พี่ไหวเล่าว่าต้องไปหาหยิบยืมเงิน 20,000 บาท เพื่อเป็นเงินมัดจำ ก่อนจะกู้เงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก 50,000 บาท ไม่น่าแปลกว่าทำไม พี่ไหว และเพื่อนๆ จะจดจำตัวเลขเหล่านี้ได้อย่างดี  เพราะพวกเขาต่างได้รับประสบการณ์เป็นหนี้ ธ.ก.ส. ครั้งแรกจากเหตุการณ์นี้นั่นเอง

“กรณีของพี่ไม่มีเงินสด ก็เลยต้องไปกู้ ธ.ก.ส. เพราะว่าทางบริษัทเขาจะมีใบการันตีไปถึง ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ในแต่ละปีเขาจะได้โควตาไปหลายคน”

ใบการันตีที่พี่ไหวพูดถึง บนหัวกระดาษระบุโลโก้ของบริษัท Ber-Ex Oy ไว้ชัดเจน พร้อมข้อความระบุ ‘รายการประเมินรายได้คนงานเก็บผลไม้ป่าประเทศฟินแลนด์ปี 2556’ ซึ่งมีแบ่งเป็นรายได้เฉลี่ยในการเก็บผลไม้บลูเบอร์รี่ อยู่ที่ 60 กิโลกรัมต่อวัน ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.8 ยูโร

ทั้งยังระบุว่า รายได้จากการทำงาน 60 วัน จะได้ 6,480 ยูโร ก่อนจะหักลบค่าใช้จ่ายระหว่างทำงานที่ประเทศฟินแลนด์ตกอยู่วันละ 23 ยูโร (ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร 3 มื้อ) และเมื่อรวม 60 วัน เท่ากับ 1,380 ยูโร ใบการันตีรายได้นี้เอง ที่สร้างความหวังให้กับแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่า เพราะเมื่อเอาเงินที่ได้จากการทำงาน มาหักลบค่าใช้จ่าย 5,100 ยูโร เมื่อตีเป็นเงินไทยในเวลานั้น เท่ากับว่าพวกเขาจะมีเงินรายได้ราว 204,000 บาท เลยทีเดียว

ในเอกสารฉบับนี้ ยังระบุต่ออีกว่า เมื่อนำรายได้ 204,000 บาท หักค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากประเทศไทย 65,000 บาทแล้ว ทำงานเพียง 2 เดือน พี่ไหวจะเหลือเงินกลับมาบ้านแน่นอน 139,000 บาท ถึงตอนนี้ ถ้าเอารายได้ 139,000 บาท มาคิดเฉลี่ยต่อเดือน เท่ากับเดือนๆ นึง แรงงานจะได้รับเงินเข้ากระเป๋าถึง 65,000 บาท แล้วใครจะอดใจไหวในเมื่อตัวเลขจูงใจถึงขนาดนี้

ชัดเจนกว่านั้น เมื่อย้อนดูในปี 2556 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนของคนชัยภูมิ 18,641 บาท ตัวเลขที่ต่างกันนี้ ก็พอจะเป็นเหตุจูงใจ ทำให้แรงงานอีสานจำนวนมากอยากไปทำงานต่างแดน ถึงขั้นยกกันไปทั้งครัวก็มีให้เห็น เพื่อรายได้ที่ทวีคูณ

พี่ไหว เล่าย้อนว่าในช่วงมิถุนายน ปี 2556 ได้มีการจัดอบรมแรงงานเก็บเบอร์รี่ ซึ่งมีคนเข้าร่วม 300-400 คน หลายบริษัทจัดอบรมพร้อมกัน “มีการประชุม อบรมคนงาน แรงงานจังหวัดเขาจะอบรมเอง เขาจะนัดอบรมอยู่แก้งคร้อ (จ.ชัยภูมิ)”

“กรมการจัดหางานให้โควตาบริษัท Ber-Ex ในปีนั้น 380 คน บริษัทที่พี่ไป แต่มันจะมีผู้ประสานงานคนไทยเป็นคนเดินเรื่องให้บริษัท”

อดความสงสัยไม่ไหว ‘เขาจัดที่กรมการจัดหางานเลยหรอ?’ ถูกถามออกไป ก่อนที่พี่ไหวจะปฏิเสธ และอธิบายเพิ่มเติมต่อ ว่าครั้งนั้นการอบรมเกิดในโรงแรมแห่งหนึ่ง “ไม่ได้ทำที่กรมการจัดหางาน เขาจะไปจัดที่โรงแรมกว้างๆ ให้คนหลายร้อยคนเข้าได้ แล้วก็เรียกตัวแทนกรมแรงงานจากจังหวัดเข้ามา”

ก่อนเดินทาง พี่ไหวและแรงงานอีกหลายร้อยชีวิตที่เข้าอบรม ต้องต่อแถวเซ็นเอกสารจำนวนนับสิบแผ่น ซึ่งพี่ไหวรับว่า “บอกตรงๆ ไม่มีผู้ใดได้อ่าน” ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้สร้างความไม่สบายใจแต่อย่างใด ออกจะเชื่อมั่นเสียด้วยซ้ำ เพราะการอบรมในวันนั้นมีทั้งกรมการจัดหางาน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ในห้องประชุมนั้นด้วย

อีกทั้งผู้ประสานงานของบริษัท ก็ประกาศชัดเจนออกไมค์ว่า “เราจะได้เงินเท่านั้นเท่านี้ มันประกาศเลยเราจะรับซื้อผลไม้หมากดำ 1.8 ยูโร หมากแดง 1.4 ยูโร”

มาถึงตรงนี้ ชวนทุกคนนึกภาพตาม ถ้าเป็นเราๆ ที่กำลังจะหาโอกาสเพื่อชีวิตที่ดี ในต่างถิ่นต่างภาษา ดังนั้น การที่ตัวแทนบริษัท ป่าวประกาศถึงรายได้งามๆ กลางห้องประชุม โดยมีหน่วยงานและธนาคารของรัฐ นั่งเป็นสักขีพยาน ไม่ว่าใคร ‘เงินแสนอยู่ใกล้ฉัน’ จึงไม่ใช่เรื่องคิดฝัน แต่เป็นความเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นจริง

[ถึงฟินแลนด์ แต่ไม่มี ‘หมากแดงหมากดำ’ ให้เก็บ]

แรงงานไทยจากบ้านแท่น เน้นว่า เมื่อมาพร้อมหนี้สินทุกนาทีย่อมมีค่า พี่ไหว เดินทางถึงฟินแลนด์ ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 และเช้าวันถัดมาก็เริ่มออกหาผลไม้ป่าทันที โดยมีเป้าคือ “หมากแดง” lingonberry และ “หมากดำ” blueberry

ทว่า สิ่งที่พบกลับไม่เป็นไปตามคำโฆษณา เพราะแหล่งเก็บหมากแดงหมากดำ ถูกคนงานจากอีกบริษัทเก็บไปก่อนแล้ว เบอร์รี่รอบแคมป์หมดเกลี้ยง แรงงานไทยต้องออกเดินทางไกลกว่าร้อยกิโลเมตร เพื่อหาผลไม้ในป่า โดยบริษัทไม่ช่วยเหลือ ไม่ยอมให้ย้ายแคมป์ไปยังพื้นที่ที่ยังมีผลผลิต แถมยังขู่ว่าหากใครย้ายจะต้องถูกส่งกลับไทยทันที

“ในรัศมี 20-50 กิโลเมตร เขาเก็บหมดแล้ว เขามาเก็บตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม คนเขาเป็นร้อย พอเราไปที่หลัง ยิ่งเป็นคนใหม่เราก็ไม่รู้พื้นที่ มันไม่มีเบอร์รี่เก็บ…ก็เลยขอเขาว่ามันไม่มีเบอร์รี่ ขอย้ายได้บ่ (ได้ไม่) บริษัทบอกย้ายบ่ได้ (ไม่ได้)”

อีกทั้งราคาผลไม้ ก็ต่ำกว่าที่ตกลงไว้ โดยบลูเบอร์รี่ ‘หมากดำ’ ถูกตีราคารับซื้อแค่ 1.4 ยูโร จากที่เคยโฆษณาไว้ว่า 1.8 ยูโร “พอเรามีปัญหาเรื่องราคาเบอร์รี่ มันเอาหนังสือมาให้เราเบิ่ง (ดู) เลย หนังสือเราเซ็นยินยอม ในนั้นบอกว่าราคาเบอร์รี่มันขึ้นลงตามท้องตลาด มันอ้าง มันเป็นลายเซ็นเรา พอเราเบิ่งมันเป็นลายเซ็oเราอิหลี (จริงๆ)” พี่ไหวกล่าวถึงหนังสือเอกสารที่ตนได้เซ็น

[แคมป์แออัดค่าใช้จ่ายสูง พอเริ่มหาได้ เขาบอกพรุ่งนี้ย้ายแคมป์เด้อ]

“บ้านก็อยู่ดี ไม่แออัด รถก็สภาพดีไม่เก่า” นี่คือคำโฆษณาที่แรงงานไทยได้รับ จากผู้ประสานงานบริษัทก่อนเดินทาง แต่ทุกอย่างต่างไปโดยสิ้นเชิง ภาพที่เห็นเป็นที่พักแสนแออัด รถสภาพเก่า อีกทั้งต้องเดินทางไปกลับนับร้อยกิโลเมตรต่อวัน หมากแดงหมากดำ หายากแสนเข็ญ

โดยชีวิตประจำวันของแรงงานไทย ต่างต้องตื่นตี 3 ออกขับรถหาเก็บเบอร์รี่ตลอดทั้งวัน กลับถึงแคมป์สองทุ่ม แล้วรอชั่งน้ำหนักถึงเที่ยงคืน 

“บ้านเขามันก็หนาวเนอะ มือแข็งไปหมด กว่าจะไปเก็บผลไม้ได้ก็ต้องจุดไฟผิงก่อน ให้มือมันเส้นยืด”

คิดถึงบ้านไหม? ความยากลำบากที่ต้องเจอ จึงไม่แปลกที่คนไกลบ้านอย่าง พี่ไหว ได้สัมผัส แต่เรา “คิดถึงหนี้สินที่เรามีหลายก้อน เราก็คิดว่าอดทนเอาในระยะ 2 เดือน จะอยู่แบบไหนก็จำเป็นต้องอดทน”

สุดท้ายแรงงานไทยใช้วิธีแบ่งทีมกัน ออกไปลาดตระเวนหาเบอร์รี่ป่า แม้ต้องขับรถไกลวันละหลายร้อยกิโลเมตร แลกกับความเหน็ดเหนื่อยสาหัส แต่สุดท้ายพวกเขาก็หาเบอร์รี่ได้

“ช่วงวันที่ 5 กันยายน เรากลับมาแคมป์ เขาบอกพรุ่งนี้ย้ายแคมป์เด้อ เราก็ถามว่าทำไมย้าย อยู่นี้ก็มีผลไม้เก็บอยู่ หมากแดงเราก็ได้ 70-80 กิโลต่อคนทุกวัน ล่ามบอกว่าบ่รู้ บอกว่าบริษัทให้ย้ายแคมป์ เราก็ถามว่าย้ายไปจะมีหมากเก็บไหม ล่ามก็บอกว่า ถ้าบ่มีเขาจะให้คุณย้ายไปหยัง”

แล้วไม่ผิดจากที่พี่ไหวคาด การย้ายจากแคมป์เดิมประมาณ 100 กิโลเมตร สิ่งที่ตามมา เมื่อมาใหม่แรงงานไทยก็ต้องเริ่มต้นหากันใหม่

ทบทวนสิ่งที่เราเล่าไปก่อนหน้า ต้นทุนในการทำงานทั้งหมด แรงงานไทยต่างต้องจ่ายเอง โดยเฉพาะ ‘ค่าน้ำมัน’ ออกไปหาผลไม้ป่าไกลเท่าไหร่ ต้นทุนก็ยิ่งเพิ่มขึ้นทวีคูณ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแรงงานไทยส่วนใหญ่ ล้วนไม่มีเงินติดตัว เพราะถูกหักเป็นค่าดำเนินการหมดแล้ว บริษัทก็เตรียมสิ่งหนึ่งเอาไว้ อย่างกับคาดการณ์ไว้ได้ล่วงหน้า คือ บริการให้ยืมเงินสัปดาห์ละ 50 ยูโร

พี่ไหว เล่าว่าจากการคำนวณ แรงงานทุกคนถ้าไม่อยากขาดทุน ต้องเก็บเบอร์รี่ให้ได้อย่างน้อยวันละ 70-80 กิโลกรัม “ถ้าเก็บได้ 50 กิโลกรัมก็คือเฮาไม่ได้หยัง แต่ถ้าเกิน 50 กิโลขึ้นไป ส่วนเกินก็คือกำไรที่เราจะได้”

[ความอดทนหมดสิ้น จบด้วยแรงงานไทยเป็นหนี้บริษัท]

“เราขับรถมันก็ไม่ไหวอยู่แล้ว ทางระดับเป็น 1,000 กิโล พี่ว่าบ่ขาดดอก”

หนทางเดียวที่ พี่ไหวและเพื่อนแรงงาน จะหาเบอร์รี่ได้ คือต้องขับรถไกลออกไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายร่างกายก็ออกฤทธิ์ต่างจากชื่อของเขา ‘ไม่ไหว’

พวกเขาเริ่มรวมตัวขอเปลี่ยนพื้นที่ แต่ทางบริษัทกลับตอบโต้สั่งให้กลับไปทำงาน รวมถึงขู่ว่าจะเรียกตำรวจมาไล่ออกจากแคมป์ และยึดค่าจ้างทั้งหมด

“เราก็บอกว่าถ้าจะให้เรากลับบ้านก็ต้องจ่ายเงินเรามา เงินในส่วนที่เราเก็บเบอร์รี่ได้ 1 เดือน เขาบอกว่าไม่มีเงินจ่าย เขาบอกว่าเราติดลบเขา เขาบอกว่าเรายังเป็นหนี้เขาอยู่…ผมจะเป็นหนี้คุณได้ยังไง เงินก็เงินพวกผม เงินที่พวกผมยืมกันมาเอง กู้มาเอง คนที่เป็นเงินสดก็เป็นเงินนายทุนที่เขากู้มาเอง แล้วเป็นหนี้หม่องได๋ (ที่ไหน)”

ถึงตอนนั้น บริษัทกางบัญชีสรุปตัวเลขมาว่า พี่ไหวเป็นหนี้บริษัทอยู่ทั้งหมด 2,900 ยูโร ตัวเลขนี้บริษัทอธิบายว่าคือเงินที่ให้ยืมสัปดาห์ละ 50 ยูโร

ชะตากรรมของทุกคนไม่ต่างกัน พวกเขาต้องยืมเงินเป็นค่าน้ำมันทุกสัปดาห์ บวกกับต้นทุนที่บริษัทหัก ทั้งค่ารถ ค่าเช่าบ้าน ไปๆ มาๆ เมื่อบริษัทหักลบกับจำนวนเบอร์รี่ที่เก็บได้แต่ละวัน นอกจากไม่เหลือเงินกลับบ้าน แรงงานไทยกลับมีรายได้ติดลบ เป็นหนี้บริษัท

นั่นหมายความว่า 1 เดือนที่ทำงานในฟินแลนด์ พี่ไหวและเพื่อนต่างมีหนี้เพิ่ม ซ้ำเติมเงินที่หยิบยืมมาแต่เดิม ที่ยังไม่มีจะใช้คืนได้

[12 ปี ยังคงรอคอยความยุติธรรม]

“50 คน มีคนตายไปแล้ว อย่างลุงบุญมี คนบึงกาฬตายไปแล้ว ยังไม่ได้เงิน แต่ตายไปแล้ว รอเงินก็บ่ได้ คดีก็บ่ทันได้ตัดสินแต่คนตายจาก ลูกชายลุงบุญมีที่ไปด้วยกันเขาก็ตาย”

ภาพถ่ายเพื่อนแรงงานจำนวนมาก ที่ตัวเขาเป็นคนถ่ายด้วยกล้องโทรศัพท์ เพื่อบันทึกเรื่องราวระหว่างทำงานต่างแดน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นหลักฐานที่ใช้ในการต่อสู้บนชั้นศาลที่ผ่านมา

เพิ่มเติมไปในแต่ละภาพ ต่างมีคำอธิบายถึงชีวิตที่ยากลำบากของแต่ละครอบครัว เขียนบันทึกไว้อย่างละเอียด โดยที่ผู้คนในภาพถ่ายกระจายตัวอยู่ทั้งใน ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดร สกลนคร และบึงกาฬ

บทสรุปของแรงงานเก็บหมากแดงหมากดำ 50 คนแห่งที่ราบสูง ในปี 2556 พี่ไหวเล่าว่า จบลงด้วยบริษัท Ber-Ex แจ้งตำรวจ ว่าแรงงานไม่ยอมทำงาน และ บริษัทบอกว่าถ้าไม่ทำงาน คุณก็ต้องออกจากแคมป์ 

จนในตอนนั้น พี่ไหวได้ติดต่อกับ จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักสิทธิแรงงานไทยในฟินแลนด์ และ ลี แอนเดอร์สัน กลุ่มเยาวชนฝ่ายซ้าย ให้เข้าช่วยเหลือและสู่กลับ ด้วยการแจ้งความบริษัท Ber-Ex 

ทว่า “ทางโรงพักไม่รับแจ้งความเป็นคดีค้ามนุษย์ เลยแจ้งความคล้ายเป็นคดีค่าผลไม้ไม่เป็นตามสัญญา ก็เลยกลายเป็นเรียกร้องค่าผลไม้”

ถึงท้ายสุด ทางบริษัทตกลงจ่ายเงินให้เพียง 30 คน ส่วนอีก 20 คน ยังคงได้ชื่อว่าเป็นหนี้บริษัทอยู่ กรณีความขัดแย้งระหว่างแรงงานไทย กับ บริษัท Ber-Ex มีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยเจรจา จนนำไปสู่การฟ้องศาลที่ฟินแลนด์ แต่จบด้วยแรงงานไทยแพ้คดี

“แพ้คดีเลยแหละ เขายกคำร้อง บอกว่าเราไม่ใช่คนงานเขา เขาบอกเราเป็นแค่นักท่องเที่ยว ตัวเถ้าแก่พอขึ้นศาล เขาก็บอกว่าพวกพี่เป็นใคร เขาไม่รู้จัก แล้วก็ไม่รู้จักกับคนที่ไปหาจากเมืองไทย ตัวแทนผู้ประสานงานของมันที่เมืองไทย มันบอกว่าไม่รู้จักคนนี้ มันบอกแบบนี้เลยในศาล”

“พอเราไม่เป็นคนงานแล้ว เราก็เสียเปรียบเขาทุกอย่าง ไม่ว่าจะไปฟ้องคดีอะไรก็ช่าง เราเป็นแค่นักท่องเที่ยว ทางกระทรวงแรงงาน กรมแรงงานก็รู้กันดี เวลาส่งเราไปบอกเราเป็นคนงาน แต่เวลาไปจริงๆ เกิดปัญหา ‘เราเป็นแค่นักท่องเที่ยว’ คล้ายกับเฮ็ดผิดให้เป็นถูก เฮ็ดถูกให้เป็นผิด”

[DSI ขีดเส้นใต้ “แรงงานเบอร์รี่ไม่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์”]

“ทาง DSI ตั้งแต่ปี 2556 ได้รับเรื่องแล้วก็ไปสอบคนงาน สอบทุกคนทั้ง 50 คน พอสอบแล้วพวกเราก็รอ แต่ DSI ปัดตก คือไม่สอบสวนต่อในปี 2557”

ภายหลังเดินทางกลับไทย พี่ไหว และกลุ่มแรงงานเก็บเบอร์รี่ ได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จนแล้วจนรอด พวกเขาก็ไม่ได้รับความคืบหน้า จนสุดท้าย ในปี 2566 พี่ไหวได้ทวงถามผ่านทางกรมการจัดหางาน ถึงได้ทราบว่าคดียุติการสอบสวนไปนานแล้ว

“ปัดตกแล้วไม่ยอมส่งหนังสือให้คนงาน ทำให้คนงานเกิดความเสียหาย เราก็ไม่รู้ว่าเป็นการปัดตกคดี ทำให้เราไม่สามารถไปฟ้องคดีใหม่ได้”

‘ผลการคัดแยกพบว่าผู้ร้องไม่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และไม่เข้าองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เพราะพระราชบัญญัติป้องกันการค้ามนุษย์ 2551 จึงไม่มีเหตุในการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ’ นี่เป็นรายละเอียดตอนหนึ่ง ที่ DSI สอบสวนในปี 2567 

ทราบเช่นนั้น พี่ไหวเลยได้ขอให้ DSI รื้อคดีใหม่ โดยขอให้พิจารณาความช่วยเหลือหรือขอให้ดำเนินคดีอาญาบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีกรณีถูกชักชวนให้ไปเก็บเบอร์รี่ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ โดยมีบริษัท Ber-ex /Arctic International เป็นผู้ว่าจ้าง เมื่อปี พ.ศ. 2556

[ภาวะเงินทองหาได้ยาก ผลักแรงงานสู่ความเสี่ยงต่างแดน]

ไม่รู้เป็นเพราะความยุติธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ตลอด 12 ปี ตามมุมของ พี่ไหวและเพื่อนๆ หรือไม่ ถึงทำให้ชีวิตแรงงานธรรมดาๆ คนหนึ่ง กลับต้องยืนหยัดในฐานะนักสู้เพื่อสิทธิแรงงาน

ทุกวันนี้ ไม่เพียงประเด็น ‘เบอร์รี่เลือด’ เท่านั้น พี่ไหว ร่วมสื่อสารประเด็นสิทธิผู้ใช้แรงงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังกลายมาเป็นสมาชิกของ ‘สหภาพคนทำงานต่างประเทศแห่งประเทศไทย’ เครือข่ายที่มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มแรงงานเก็บเบอร์รี่ ซึ่งประสบปัญหาเรื่องสิทธิและสวัสดิภาพในสวีเดนและฟินแลนด์ 

เช่นในวันแรงงานแห่งชาติที่เพิ่งผ่านไป พวกเขาได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อมายื่นหนังสือขออุทธรณ์ และให้ทบทวนผลการสืบสวนของ DSI และทีมสหวิชาชีพ จ.ชัยภูมิ ด้วยหวังว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้จะส่งถึง นายกรัฐมนตรี และผู้มีอำนาจ ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประกา

“สิ่งหนึ่งที่สหภาพแรงงานต่างประเทศแห่งประเทศไทยนำเสนอต่อกระทรวงแรงงาน คือการจัดส่งแรงงาน เพื่อไปทำงานต่างประเทศ คือการจัดเก็บผลไม้ป่า ประเทศสวีเดน และฟินแลนด์ เพื่อให้มีกลไกในการทำงาน และคุ้มครองแรงงานอย่างเป็นธรรม ให้มีคณะทำงาน หรือตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานต่างประเทศแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วม ในการคัดกรองบริษัทต่างๆ ที่ส่งออกแรงงานเก็บเบอรี่”  พี่ไหว กล่าวไว้

ใจความของหนังสือในวันนั้น คือให้หน่วยงานรัฐเข้มงวดคัดกรองบริษัทที่จะพาพี่น้องแรงงานไปทำงานต่างประเทศ เพราะประสบการณ์ของพี่ไหว เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เงินทองหาได้ยาก ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้มีแรงงานไทยที่อยากได้เงิน ตกอยู่ในความเสี่ยงเข้าไปสู่ขบวนการทำนาบนหลังคน ที่เอื้อให้เกิดเหยื่อที่ไปทำงานไม่ได้เงิน แต่กลับได้หนี้กลับมา

จากข้อมูลของสหภาพแรงงานต่างประเทศแห่งประเทศไทย ระบุว่า กรณีของแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่า นับตั้งแต่ปี 2549 มีผู้ร้องเรียนความเสียหายแล้ว 4,000 กว่าคน  ในปี 2565 มีผู้เสียหายถึง 548 คน และในปี 2566 มี 270 คน และได้เน้นย้ำว่า “นี่เป็นเพียงตัวเลขผู้ที่กล้าร้องเรียนเท่านั้น”

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากการทำอาชีพเก็บเบอร์รี่ป่าในต่างแดน ไม่เกิดขึ้นกับคนบ้านแท่น จ.ชัยภูมิ อีกเลย ด้วยประสบการณ์ในชุมชนเป็นบทเรียนสำคัญ

พี่ไหว ขยายความต่อว่า คนบ้านแท่นแทบไม่มีใครไป เพราะหลายครอบครัว ต่างเจอกับเรื่องราวเลวร้าย บ้างกลับมาเป็นหนี้เป็นสิน และหลายคนที่เคยเดินทางไปพร้อมเขา ผ่านมา 12 กว่าปี ยังทำได้แค่จ่ายดอกหนี้ ธ.ก.ส. ไปวันๆ ไม่มีวี่แววปิดหนี้ครึ่งแสนที่กู้ในครั้งนั้นได้

“ทุกวันนี้คนที่เสียหายจะเป็นต่างจังหวัด หลายจังหวัดด้วย มันไม่ใช่แค่ชัยภูมิ เขาจะออกไปหาคนใหม่ๆ เขาไปหลอกตามต่างจังหวัดในถิ่นทุรกันดาร แรงงานที่เสียหายในปีนี้มีหลากหลายจังหวัดมาก”

สายตาของพี่ไหว ระหว่างที่ไล่เปิดรูปภาพครอบครัวเพื่อนแรงงานเบอร์รี่ กว่าครึ่งร้อย ยังคงสะดุดตาและใจเรา เขาจำได้หมดว่าเพื่อนแรงงานเป็นคนบ้านไหน จำได้ดีว่าใครยังอยู่ และใครล่วงหน้าไปก่อน  พร้อมถ่ายทอดความทุกข์ยาก  ราวกับเป็นเรื่องราวที่ฝังอยู่ในจิตใจมาตลอด

“ลำพังปากท้อง แค่มีหนี้สินทำไร่ทำนามันก็หลายบาทแล้ว ต้องมาใช้หนี้สินในส่วนของปัญหาที่ไม่ได้เกิดจากเรา เป็นปัญหาที่บริษัทเขาบริหารผิดพลาด แต่ก็มาทิ้งกรรมให้เรารับผิดชอบในส่วนภาระหนี้สินอีก ทางกระทรวงแรงงานก็ไม่ยอมรับผิดชอบ อ้างว่าคนงานเป็นผู้ก่อปัญหา ทั้งๆ ที่ตัวบริษัทก่อปัญหาให้เรา”

ถึงตอนนี้ ทั้งเรื่องราวและผลลัพธ์ของคดี ภาพชายบนชั้นสองของบ้านไม้ ท่ามกลางกองเอกสารและพาสปอร์ตในวันนั้น ไม่ต่างจากฉากปิดจบหนังสักเรื่อง แต่กับ ‘ไพรสันติ จุ้มอังวะ’ ดูเหมือนว่าการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม คงไม่จบลงง่ายๆ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า