ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์นับเป็นปัญหาระดับประเทศเรื่องหนึ่งที่หลายๆ สถาบันและองค์กรต่างให้ความสำคัญ ซึ่งประเทศไทยก็นับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรเยอะไม่แพ้ชาติใด
โดยผลสำรวจการดื่มแอลกอฮอล์ในภูมิภาคจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ในปี 2564 พบว่า ‘ภาคเหนือ’ มีคนดื่มแอลกอฮอล์มากสุดที่ในประเทศไทยหรือรวมตัวกันอยู่ที่นี้มากถึง 33.1%
ที่สำคัญมีสัดส่วนของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์หนักๆ หรือดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกัน 5-7 วันต่อสัปดาห์อยู่ที่ 39.3% ของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดที่มี 2.2 ล้านคน
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าทำไม ‘ภาคเหนือ’ ถึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เลือกที่จะเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดโครงการดีๆ ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ของคนกลุ่มนี้
โดยทาง สสส.ได้เข้ามาสนับสนุนผ่านกิจกรรมของชุมชน ได้แก่ ‘ธรรมนำทาง’ และ ‘กลุ่มฮักครอบครัว’ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน ณ เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
จากการดำเนินโครงการและได้เห็นความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถสะท้อนผ่าน 2 เคสตัวอย่างของผู้ที่เคยดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก แต่ปัจจุบันสามารถเลิกและกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติหลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรม
เคสที่ 1 : ครอบครัว ‘เหรียญทอง นันต๊ะโส’ อายุ 54 ปี ซึ่งตนเองเป็นผู้นำกลุ่มฮักครอบครัวที่มีสามีดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก แต่หลังจากเข้าร่วมก็สามารถเลิกดื่มแอลกอฮอล์และครอบครัวกลับมามีความสุขอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่โครงการได้พยายามส่งเสริมให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว
เคสที่ 2 : ‘พระอภัย’ (ตุ๊อ๊อด) หรือ ‘อภัย ฮ่องแฮ่งสุน’ อายุ 47 ปี เริ่มดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น และได้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านการชักชวนจากแม่ จึงได้เริ่มต้นลดการดื่มลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งแม่เสียชีวิต จึงตัดสินใจบวชและเข้าร่วมกิจกรรมจนครบกระบวนการเป็นระยะเวลา 1 ปี และยังเป็นพระสงฆ์ในวัดห้วยโจ้จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ที่น่าหนักใจ อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่ากันในภาคเหนือคือเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่ง ‘จังหวัดเชียงใหม่’ อย่างที่ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่ใครก็อยากไปเยือน
ซึ่งนั่นทำให้ที่นี้มีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถขนส่งสาธารณะอยู่บนท้องถนนเป็นจำนวนมาก และมีการจราจรที่วุ่นวายไม่แพ้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และไม่น่าแปลกใจที่จังหวัดเชียงใหม่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
ข้อมูลสถิติปี 2562 อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใน จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนมากกว่า 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง
โดยสาเหตุหลักของการเสียชีวิตมาจากสภาพแวดล้อมบนถนนที่มืดทำให้เห็นเส้นทางไม่ชัดเจนในเวลากลางคืน การขับเร็วเกินกำหนด การดื่มแล้วขับ และที่สำคัญคือการไม่สวมหมวกนิรภัยซึ่งจากผลสำรวจพบว่ามีผู้สวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่เพียง 10-30% เท่านั้นซึ่งค่อนข้างน้อยมาก
ปัญหานี้ส่งผลร้ายแรงไปถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนท้องถนนกว่า 70-80% พบมากในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ช่วงอายุ 10-19 ปี ซึ่งมีการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะจำนวนมากเพราะไม่สวมหมวกนิรภัย
สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริมความรู้และสร้างจิตสำนึกที่ดี ภายใต้โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ
สาเหตุที่ สสส.เลือกเป้าหมายเป็นเด็กเล็ก เพื่อเริ่มต้นปลูกฝังวินัยจราจรให้ตั้งแต่ยังเด็ก เพราะมองว่าเด็กกลุ่มนี้จะโตไปเป็นพลเมืองที่ดีต่อไปในอนาคต และที่สำคัญยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและจิตสำนึกที่ดีส่งผ่านไปยัง ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และคนในชุมชน
ซึ่งโครงการถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพ สามารถที่จะเข้าใจและปฎิบัติตาม รวมถึงนำไปบอกกล่าวแก่ผู้ปกครองจนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใส่หมวกนิรภัย การข้ามทางม้าลาย และมีวินัยบนท้องถนนมากขึ้น
มากไปกว่านั้น สสส.ยังได้เข้ามาสนับสนุนการติดกล้อง CCTV ร่วมกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจจับผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยและลดอัตราเสียชีวิตในกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ให้น้อยลง
โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังจากมีการใช้กล้องอัตโนมัติ พบว่า คนในพื้นที่สวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในทุกๆ จุด โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 อำเภอที่เป็นจุดเสี่ยง ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสันทราย อำเภอสารภี อำเภอหางดงและอำะภอแม่ริม พบว่ามีผู้สวมหมวกนิรภัยมากขึ้นถึง 80%
นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับสื่อในพื้นที่ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน เนื่องจากประชาชนสวมหมวกนิรภัยเพิ่มมากขึ้น 20% และสวมหมวกนิรภัยมากกว่า 90% ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกจุดที่มีการติดตั้ง และประเด็นสำคัญที่สุดสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ลดลงกว่า 50%
ด้าน ‘นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย’ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการผ่านกิจกรรม ‘กลุ่มฮักครอบครัว’ ในพื้นที่ ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีของหน่วยงานและคนในพื้นที่ที่ตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันทำให้ชุมชนห่างไกลปัจจัยเสี่ยงและมีสังคมที่ดีขึ้น ซึ่งตรงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ สสส. ที่ต้องการสร้างสังคมให้มีสุขภาวะ
ทั้งนี้ สสส. ตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ ตำบลสบเตี๊ยะ เป็น 1 ในพื้นที่ต้นแบบการสานพลังภาคีเครือข่ายลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมุ่งขยายให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในทุกภูมิภาคต่อไป
ขณะที่การขยายผลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใน 4 ภูมิภาค 13 จังหวัดทั่วประเทศ เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัย 21 ตำบล สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์เรียนรู้ โรงเรียนครอบครัว รวมทั้งหมด 105 แห่ง
ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสุเทพถือเป็นต้นแบบที่ดีที่สามารถขับเคลื่อนสร้างวินัยจราจร และปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่เด็กเล็ก และสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ที่สำคัญทาง สสส.ยังได้ให้การสนับสนุนแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) บูรณาการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับจังหวัดและพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันเชิงนโยบายในการสร้างมาตรการต่างๆ เช่น
มาตรการการบังคับใช้กฎหมายด้วยการใช้ กล้อง CCTV ร่วมกับ AI ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัย และขับเคลื่อนกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนในระดับอำเภอ
ผลจากการดำเนินงานและขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สสส.ยังคงยืนหยัดทำงานร่วมกับองค์กร หน่วยงานและเครือข่ายภาคีอย่างมุ่งมั่นมาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญก็เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาขบวนการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะยั่งยืนของประชาชนและสังคมไทย ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.นั่นเอง