SHARE

คัดลอกแล้ว

ปัญหายาสูบและบุหรี่ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อหลายมิติในสังคม​ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่มาจากสารพิษของการเผาไหม้ที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในหลายโรค เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง ฯลฯ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ร่วมสังคม ที่ต้องได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มือสองโดยไม่ตั้งใจ ลุกลามไปจนถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าภาษีจากยาสูบและบุหรี่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล แต่หากมองลึกลงไป ต้นทุนสำหรับการรักษาผู้ป่วยเนื่องจากโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ที่สำคัญอันตรายด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับประชากรของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติถือเป็นความเสียหายที่มหาศาลมาก

การแก้ไขปัญหายาสูบและบุหรี่ในไทย จึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องมีการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล​ ภาคเอกชน และสังคมทั้งหมด เช่น การเพิ่มภาษีและข้อกำหนดเพิ่มเติมต่อบุคคลที่สูบบุหรี่  การประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักในประชาชน ให้เข้าใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม การสนับสนุนการเลิกบุหรี่ และการสร้างสภาพแวดล้อม ที่ไม่สนับสนุนในการใช้ยาสูบและบุหรี่ โดยทั้งหมดคงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้สำเร็จได้

WHO หนุนรัฐบาลใหม่ไทยห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า

โดยเกี่ยวกับเรื่องนี้องค์กรระดับโลกอย่าง WHO ก็เล็งเห็นความสำคัญและพร้อมที่จะแนะนำและให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้กับประเทศไทยอย่างเต็มที่ ล่าสุดได้ส่งตัวแทนมารุดประเมินความจำเป็นศักยภาพควบคุมยาสูบไทยตามกรอบ FCTC เพื่อเปิดจุดแข็งของประเทศไทย ส่งเสริมมาตรการควบคุม “ยาสูบ-บุหรี่ไฟฟ้า” พร้อมจับมือ 2 มหาวิทยาลัยดัง ธรรมศาสตร์-มหิดล จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO FCTC” เพื่อป้องกันสุขภาพเยาวชน ด้วยการเร่งให้ความรู้อันตรายบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน พร้อมเสนอขึ้นภาษียาเส้น กระจายงานควบคุมยาสูบ

ดร.เอเดรียนา บลังโก มาร์กิโซ (Dr. Adriana Blanco Marquizo) หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control : WHO FCTC) และคณะ ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสรุปผลการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) การดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกของไทย โดยเปิดเผยว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ไทยเป็นภาคีต่อ WHO FCTC ได้ดำเนินตามกรอบอนุสัญญา ว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกฉบับนี้เป็นที่ประจักษ์ และเป็นผู้นำในการควบคุมยาสูบทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) ในการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ทั้งการทบทวนกฎหมาย ยุทธศาสตร์ นโยบาย มาตรการควบคุมยาสูบของไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า

โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานควบคุมยาสูบของไทยจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  องค์การสหประชาชาติ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบของไทย

“โอกาสนี้องค์การอนามัยโลก ขอสนับสนุนให้รัฐบาลใหม่ของไทย คงมาตรการห้ามนำเข้าและขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใหม่ทุกชนิด ควรรักษากฎหมายนี้ต่อไป และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า  และควรเร่งรณรงค์พิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าในระบบการศึกษา

นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญถึงการป้องกันการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบตามแนวปฏิบัติข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญาฯ ทั้งในกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการที่มีหน้าที่ในการกำหนดและปฏิบัติตามนโยบายเพื่อการควบคุมยาสูบ”  

ดร.เอเดรียนา บลังโก มาร์กิโซ (Dr. Adriana Blanco Marquizo) หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control : WHO FCTC)

แนะไทยขึ้นภาษียาสูบ-คงมาตรการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า

ดร.เอเดรียนา กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการทางภาษีไทยควรวางแผนภาษียาเส้นระยะยาว และปรับโครงสร้างฐานภาษีให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและคำนึงถึงด้านสุขภาพเป็นสำคัญตามแนวปฏิบัติข้อที่ 6 มาตรการราคาและภาษีของ FCTC  ขณะนี้ไทยจัดเก็บภาษียาเส้นในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับบุหรี่ซิกาแรต ยาเส้นที่มีปริมาณการผลิตไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี เก็บภาษี 0.025 บาทต่อกรัม ส่วนยาเส้นที่มีปริมาณการผลิตเกิน 12,000 กรัมต่อปี เก็บภาษี 0.10 บาทต่อกรัม ทำให้ราคาขายปลีกยาเส้นต่อซองต่ำกว่าบุหรี่ซิกาแรต 5-6 เท่า โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการคลัง จัดทำอัตราภาษีใหม่ที่เหมาะสมกับและสอดคล้องกับการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากยาสูบ

“เรื่องภาษีก็ยังเป็นสิ่งที่ควรต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเก็บภาษียาเส้นในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับบุหรี่ซิกาแรต จึงควรทำอัตราภาษีใหม่ให้เหมาะสมและสอดคล้อง เพื่อไม่ให้ยาสูบมีราคาที่แตกต่างกันออกไป มิเช่นนั้นคนก็จะหันไปซื้อยาสูบที่ราคาถูกกว่า”

ส่วนกรณีประเทศไทย ที่มีกระแสอาจจะมีการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายนั้น  ดร.เอเดรียนา กล่าวว่า เมื่อห้ามแล้วควรห้ามเลย ไม่แนะนำให้มีการเปลี่ยนนโยบายกลับมาทำให้ถูกกฎหมาย แม้จะบอกว่ามีการเก็บภาษี ก็ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ต้องเสียไปกับการที่ประชาชนต้องมาดูแลสุขภาพตามหลัง

“ที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีประโยชน์จนต้องทำให้ถูกกฎหมาย ทั้งชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าก็มีนิโคตินปริมาณสูง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน  อันตรายต่อการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน

 เวลาคิดอะไรต้องคิดรอบด้าน อยากให้ประเทศได้ประโยชน์ทางสาธารณสุขหรือทางเศรษฐกิจ ประเทศที่ดีควรแข็งแรงด้านไหนก่อน สุขภาพหรือเงิน? หากทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อยากให้มองถึงศักยภาพของประเทศด้วย ว่าจะสามารถควบคุมได้หรือไม่ เพราะขณะนี้แม้ไทยจะแบนบุหรี่ไฟฟ้า คิดว่าก็ยังมีความยากในการควบคุมสิ่งที่ผิดกฎหมาย และหากเปิดให้ถูกกฎหมายการควบคุมก็จะยากยิ่งขึ้น”

ทางด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การประชุมทวิภาคีครั้งนี้มีความสำคัญ ในการแลกเปลี่ยนบทบาทและบทเรียนความสำเร็จการของการทำงานควบคุมยาสูบของสสส.และภาคีเครือข่าย ตลอดจนการเสนอแนะเกี่ยวกับโอกาสในการพัฒนาการดำเนินงานในระยะต่อไป เพื่อการบรรลุกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ

โดยนับตั้งแต่ก่อตั้ง สสส. ได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนการทำงานควบคุมยาสูบร่วมกันกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงส่งผลให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จและเป็นผู้นำเรื่องการควบคุมยาสูบนำหน้าในหลายประเทศ ทั้งการสามารถลดอัตราการบริโภคยาสูบจาก 25.5% ในปี 2544 ลดเหลือเพียง 17.4% ในปี 2564  และที่ผ่านมายังมีอัตราการเก็บภาษียาสูบเทียบกับราคาขายปลีกในระดับสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85% ของพื้นที่บนซอง มีการห้ามการนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเพิ่มอายุขั้นต่ำในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นอย่างน้อย 20 ปี และประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกในเอเชีย และประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่บังคับใช้บรรจุภัณฑ์บุหรี่ซองเรียบ เพื่อลดความดึงดูดใจในการอยากสูบบุหรี่อีกด้วย

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.

ให้ความรู้ชาวไร่ปลูกพืชอื่นทดแทน

ส่วนทางด้านการส่งเสริมงานควบคุมยาสูบ ดร.เอเดรียนา ให้ความเห็นว่า การป้องกันสามารถเริ่มต้นได้จากต้นน้ำ ประเทศไทยควรให้การสนับสนุนชาวไร่ยาสูบ ตามมาตรา 17 ในการเปลี่ยนจากการปลูกยาสูบ มาเป็นการปลูกพืชอื่นทดแทน เพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าการปลูกลดน้อยลงความต้องการบริโภคก็จะลดลงด้วย ทั้งยังมีผลดีเพิ่มเติมคือช่วยปกป้องชาวไร่จากสารพิษของยาฆ่าแมลงในขั้นตอนการปลูกด้วย

การดำเนินการควรกระจายกำลังลงพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มาตรการและบริการต่าง ๆ ลงสู่ประชาชนในพื้นที่มากขึ้น และสนับสนุนให้ไทยให้สัตยาบันต่อพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย เพราะปัญหาบุหรี่เถื่อนระบาดหนักมากขึ้นในไทย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและกระทบต่อรายได้จากการจัดเก็บภาษียาสูบของไทย และสนับสนุนบริการรักษาการเลิกสูบบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากไทยสามารถดำเนินการครบทุกมาตรการที่เสนอแนะ จะส่งผลให้ไทยสามารถควบคุมและป้องกันปัญหาจากยาสูบทุกชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลไทยต้องการให้อัตราการสูบยาสูบลดลง 14% ภายในปี 2570

ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า องค์การ อนามัยโลกเคยประเมินสมรรถนะการควบคุมยาสูบของประเทศไทยเมื่อปี 2551 มีข้อเสนอให้ไทย

  1. ขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตตามการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ
  2. ขึ้นภาษียาเส้นมวนเองให้สูงขึ้น
  3. ปรับกฎหมายให้ห้ามสูบบุหรี่ในทุกพื้นที่สาธารณะ
  4. จัดบริการให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ในระบบบริการปฐมภูมิ
  5. กำหนดแผนควบคุมยาสูบแห่งชาติ โดยเพิ่มความเข้มแข็งของการควบคุมยาสูบทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
  6. สร้างบุคลากรควบคุมยาสูบรุ่นใหม่
  7. เพิ่มการรณรงค์พิษภัยยาสูบผ่านสื่อหลัก

ซึ่งไทยก็ได้ดำเนินการตามข้อแนะนำหลัก ๆ เช่น การมีแผนควบคุมยาสูบแห่งชาติ การกำหนดในกฎหมายให้มีคณะกรรมการควบคุมยาสูบจังหวัด แต่ยังมีบางเรื่องที่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เช่น แผนการขึ้นภาษียาเส้นมวนเอง การบริการรักษาการเลิกสูบบุหรี่ที่ยังไม่เข้มแข็ง และยังขาดงบประมาณรณรงค์พิษภัยยาสูบผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งนี้ การประเมินความต้องการในการเพิ่มความเข้มแข็งของการควบคุมยาสูบของไทยครั้งนี้ จะได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบ เพื่อลดจำนวนคนสูบบุหรี่ให้เหลือน้อยที่สุดต่อไป

นอกจากนี้ ศ.นพ.ประกิต ได้กล่าวถึงข้อมูลล่าสุด ว่ามีประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากเมื่อ 2 ปีก่อนมีเพียง 32 ประเทศ ขณะนี้มีการประกาศเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ได้แก่ นอร์เวย์ สปป.ลาว มอริเชียส วานูวาตู  ปาเลา กาบูเวร์ดี และเขตปกครองพิเศษ ฮ่องกง และไต้หวัน

“แนวโน้มคือประเทศต่างๆ ทยอยออกกฎหมายห้ามขาย และห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อป้องกันวัยรุ่นจากการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ทำได้ง่ายกว่าการเปิดให้ขายได้ถูกกฎหมาย  จึงอยากขอให้รัฐบาลใหม่ยังคงกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าของไทยไว้ และมีการบังคับใช้กฎหมายห้ามขายอย่างเข้มงวด ซึ่งจะป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ดีกว่า  โดยประเทศที่มีการควบคุมที่ได้ผล เช่น สิงคโปร์ และออสเตรเลียที่เขาสามารถควบคุมได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และนำมาใช้ รวมถึงที่ขายทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน หรือ ฮ่องกง ที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำที่สุดในโลก”

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ร่วมมือม.ธรรมศาสตร์-ม.มหิดล ตั้งศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3

ดร.เอเดรียนา กล่าวอีกว่า การเฝ้าระวังการแทรกแซงของยาสูบ ประเทศไทยควรให้ความสำคัญต่อการป้องกันการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบตามแนวปฏิบัติข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญาฯ ทั้งในกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่มีหน้าที่ในการกำหนดและปฏิบัติตามนโยบายเพื่อการควบคุมยาสูบ WHO FCTC ได้มีการมาลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดตั้ง “ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO FCTC” ซึ่งศูนย์ฯ ที่ตั้งขึ้นนี้จะมีการติดตามการเฝ้าระวังกิจกรรมธุรกิจยาสูบที่จะมีการแทรกแซงนโยบาย มีองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆ ซึ่งในการรายงานการทำตามกรอบอนุสัญญาฯ ทุก 2 ปี จะพบว่าปัญหาหลักของการควบคุมยาสูบและบุหรี่ คือ การแทรกแซง วิ่งเต้น และการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เราต้องป้องกันทุกด้านไว้ดีกว่าแก้ อย่างในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังไม่มีตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพ  แต่เราต้องมองเห็นเยาวชนในอนาคต จากข้อมูลการศึกษาวิจัยการสำรวจการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน 75 ประเทศ มาเปรียบเทียบกัน สิ่งที่เขาเปรียบเทียบกันอันหนึ่งคือ “กฎหมายการสูบบุหรี่ไฟฟ้า” ส่งผลต่ออัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่างกันอย่างไร โดยพบว่าประเทศที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เยาวชนมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้ห้ามจำหน่าย อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ

ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหน ที่ควบคุมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ 100% แต่หลายประเทศก็พยายามควบคุมมากขึ้น เพื่อปกป้องเยาวชนของเขา อย่างออสเตรเลียต้องมีใบสั่งทางการแพทย์หากจะต้องมีการใช้เพื่อการเลิกบุหรี่ปกติ ซึ่งเพิ่งเริ่มทำเมื่อ 2 เดือนนี่เอง ก็ต้องติดตามว่าการควบคุมแบบนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และจะช่วยทำให้เยาวชนเข้าไม่ถึงได้หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม การสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ชายไทยอายุมากกว่า 15 ปี ยังสูบบุหรี่สูงถึง 34.7% และผู้หญิง 1.3% ขณะที่คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 62,343 คน ตามข้อมูลจากการวิจัยของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง 9,434 คนต่อปี ตามรายงานของสถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา (Institute for Health Metrics and Evaluation : IHME) รวมถึงค่าใช้จ่ายรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มากกว่า 8 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 และหากรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการเจ็บป่วยที่ขาดรายได้และเสียชีวิตก่อนเวลาจะสูงถึงมากกว่า 2 แสนล้านบาท

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า