SHARE

คัดลอกแล้ว

กระทรวงการคลังกับกรมสรรพากร แถลงข่าวชี้แจงกรณีการเก็บภาษีหุ้น (FTT) ก่อนเก็บจริงวันที่ 1 เม.ย. 2566

‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร นำเสนอเรื่องภาษีขายหุ้นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ (29 พ.ย. 2565) ที่ผ่านมา เกิดความเข้าใจคาดเคลื่อนในสังคมค่อนข้างมาก

โดยเท้าความว่า ภาษีขายหุ้นเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2525 โดยเริ่มแรกกำหนดไว้เป็นภาษีการค้า ซึ่งได้รับการยกเว้นในขณะนั้น เพื่อส่งเสริมตลาดหุ้นให้มีการเจริญเติบโต

ต่อมาในปี 2535 ถูกปรับปรุงมาเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยเรียกเก็บที่อัตรา 0.11% แต่ก็ได้รับการยกเว้นอีกเช่นกันนานกว่า 30 ปี และหากนับรวมตั้งแต่ที่ระบุไว้เป็นภาษีการค้า ภาษีขายหุ้นจะได้รับการยกเว้นนานกว่า 40 ปีเลยทีเดียว

สำหรับการจัดเก็บภาษีหุ้นในปัจจุบันมี 2 แนวทาง คือ 1. ภาษีที่เรียกเก็บกับธุรกรรม (Financial Transaction Tax: FTT) และ 2. ภาษีที่เรียกเก็บจากกำไร (Capital Gain Tax) ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็มีการจัดเก็บทั้ง 2 แบบ แต่เลือกเก็บแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ FTT ก็ถูกเก็บทั้งขาซื้อและขาขาย ในบางประเทศมีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ (Stamp Duty Tax) ควบคู่ไปด้วย และในบางประเทศก็มีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 รูปแบบ เช่น สหรัฐ เป็นต้น

สำหรับบริบทประเทศไทย ที่ต้องมาจัดเก็บในปีนี้ นอกเหนือจากแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีแล้ว อีกสาเหตุ คือ ภาษีหุ้นเป็นภาษีที่ได้รับการยกเว้นมานาน ขณะที่ตลาดหุ้นมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในปีแรกจะเรียกเก็บในอัตรา 0.055% เท่านั้น และในปีที่ 2 จึงจะเรียกเก็บในอัตรา 0.11% โดยจะจัดเก็บวันแรกในวันที่ 1 เม.ย. 2566 ตามที่เป็นข่าว เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีเวลาปรับตัว และเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีระยะเวลาเตรียมวิธีการจัดเก็บ

ส่วน ‘ลวรณ แสงสนิท’ อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุยกันมาหลายปี แม้จะมีระบุในประมวลรัษฎากรมาตั้งแต่ต้น แต่ก็ได้รับการยกเว้นมานาน 30-40 ปี เพราะช่วงนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่งจัดตั้ง จึงไม่อยากให้มาตรการภาษีเป็นภาระ เพื่อให้ตลาดหุ้นเติบโตอย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในอดีต มูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 9 แสนล้านบาทเท่านั้น เทียบกับปัจจุบันที่ 20 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าจีดีพีของประเทศไทยด้วยซ้ำ ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่าช่วงเวลาปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะตลาดหุ้นมีความเข้มแข็งแล้ว

ขณะที่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีคนนำการจัดเก็บภาษีขายหุ้นของไทยไปเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางการเงิน อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนให้ทราบว่า ภาษีไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดที่จะตัดสินได้ว่าใครเป็นศูนย์กลางทางการเงินหรือไม่

เช่น ญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของไทย และอังกฤษ ศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป ก็มีการจัดเก็บภาษีหุ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ หากจะเปรียบเทียบการเก็บภาษีหุ้นของไทยกับประเทศอื่นๆ จะต้องดูที่ภาระโดยรวมของนักลงทุน กล่าวคือ ภาษีหุ้น บวกกับค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (Brokerage Fee) รวมถึงต้นทุนภาษอื่นๆ ด้วย

ในกรณีนี้ แม้ประเทศไทยจะเก็บเต็มอัตราที่ 0.11% แต่ภาระการการซื้อขายของประชาชนก็จะยังอยู่ที่ 0.22% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกงที่มีต้นทุนรวม 0.38% และมาเลเซียที่ 0.29% เป็นต้น

สำหรับประเด็นการยกเว้นภาษีให้กับผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) นั้น ขอชี้แจงว่า Market Maker ดังกล่าว คือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดูแลผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เช่น ตราสารที่มีความซับซ้อน

นอกจากนี้ ยังรวมถึงกองทุนบำเหน็จ/บำนาญ ( Pension Fund) เพื่อสนับสนุนการออมเงิน โดยนักลงทุนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามแนวทางเดียวกับต่างประเทศ ไม่ได้เข้าข่ายเอื้อผลประโยชน์ให้นักลงทุนรายใหญ่ตามที่เป็นกระแส

เมื่อถามถึงรายได้ที่คาดว่าจะได้จากการจัดเก็บภาษีขายหุ้น กรมสรรพากรบอกว่า ขึ้นอยู่กับปริมาณการซื้อขาย (Volume) ต่อจากนี้ ซึ่งหลังจากออกข่าวไป ดัชนี SET (SET Index) ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าตัวเลขประมาณการรายได้ที่ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท น่าจะเป็นไปได้

ส่วนแผนการปฏิรูปภาษีต่อจากนี้ กระทรวงการคลังและกรมสรรพากรยังเดินหน้าต่อ ซึ่งจะจัดเก็บภาษีอะไรเมื่อไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสมของแต่ละเรื่อง

รายละเอียดข่าวเผยแพร่ของกรมสรรพากร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้

โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา (Grace Period ประมาณ 90 วัน)

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้

ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยแบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง ในอัตรา ดังนี้

ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.05 (ร้อยละ 0.055 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 (ร้อยละ 0.11 เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้แก่

1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น

2. สำนักงานประกันสังคม

3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

7. กองทุนการออมแห่งชาติ

8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น

อนึ่ง ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก

การยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าวอาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นจากร้อยละ 0.17 เป็นร้อยละ 0.22 แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.29 และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.38 แต่อาจสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.20 เล็กน้อย

ทั้งนี้ ในปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ ร้อยละ 0.055 ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 0.195 ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าวนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะยาว

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่ได้มีการนำเสนอข่าวการเก็บภาษีหุ้น ว่าจะมีการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริง คือ มิได้ยกเว้นภาษีให้แก่ นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ

โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่ข่าวได้นำเสนอ

ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

Thailand FTT in detail Thailand FTT in detail

ลิสต์ 20 คำถามที่เกิดขึ้นในสังคมมากที่สุด

Thailand FTT in detail Thailand FTT in detail Thailand FTT in detail Thailand FTT in detail Thailand FTT in detail

ภาพเผยแพร่ของกรมสรรพากร

Thailand FTT in detail Thailand FTT in detail Thailand FTT in detail Thailand FTT in detail

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า