SHARE

คัดลอกแล้ว
เรื่องโดย ดร.ฐิติมา ชูเชิด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

 

เป็นข่าวใหญ่ช่วงปลายเดือน ต.ค. 2567 เมื่อนายมาธิอัส คอร์มันน์ เลขาธิการใหญ่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มาเยือนไทย เพื่อมาเปิดตัวการเริ่มต้นกระบวนการการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย หรือเรียกว่า “Accession Process” และได้ส่งมอบแผนการดำเนินการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก (Roadmap for Accession) ให้กับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

เรื่องนี้สำคัญต่อประเทศไทยและคนไทยอย่างไร? ไทยคาดหวังอะไรจากการขอเข้าเป็นสมาชิก OECD? กระบวนการเตรียมเข้าเป็นสมาชิก OECD ครั้งนี้ต้องทำอะไรบ้าง ใช้เวลานานแค่ไหน แล้วภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวข้องอย่างไร? บทความนี้จะสรุปภาพให้เห็น เพื่อสร้างความเข้าใจในเป้าหมายที่ประเทศไทยอยากไปให้ถึง และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยในช่วงข้างหน้าถ้าเราร่วมกันทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ

กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD สำคัญต่อประเทศไทยอย่างไร ?

ความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะเริ่มเข้ากระบวนการ Accession เพื่อเป็นสมาชิกของ OECD ครั้งนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณความตั้งใจของรัฐบาลที่พยายามจะหาแนวทาง เพื่อจะทำให้ประเทศไทยยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาความสามารถในการแข่งขันถดถอยลงเรื่อย ๆ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเองได้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

มาในครั้งนี้รัฐบาลไทยต้องการจะอาศัยเกณฑ์ปฏิบัติสากลของ OECD ที่จะใช้เป็นมาตรฐานให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (Structural reform) ภายในประเทศพร้อมกัน 26 ด้าน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิรูปตัวเองได้อย่างเป็นระบบ มีจุดมุ่งหมาย ตัวชี้วัด และมีทีมงานจาก OECD คอยให้คำแนะนำ จนกว่าไทยจะมีคุณสมบัติเหมาะสมตามเกณฑ์เข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ได้ในสายตาของประเทศสมาชิก OECD ทั้งหมด 38 ประเทศที่ต้องลงมติเห็นชอบร่วมกัน ที่สำคัญไทยจะมีเพื่อนร่วมเส้นทางกระบวนการ Accession สู่สมาชิก OECD เช่น อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา ที่เริ่มออกตัวในปีนี้เหมือนกัน รวมถึงมีประเทศสมาชิกอื่นที่ทำได้สำเร็จแล้วช่วยให้คำแนะนำจากประสบการณ์จริงได้อีกด้วย

ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทยลดต่ำลง โดยเฉพาะแผลเป็นโควิดส่งผลทำให้ธุรกิจไทยส่วนหนึ่งฟื้นตัวช้าและแข่งขันยาก เพราะยังปรับตัวตามความต้องการสินค้าในโลกหรือเมกะเทรนด์โลกที่กำลังเปลี่ยนได้ไม่ทัน เรื่องนี้มาซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศหลายด้านที่สะสมมานาน เราจึงเห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าในอดีต และมีแนวโน้มจะต่ำลงเรื่อย ๆ หากประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนหลายมิตินี้ได้

ประเทศไทยคงไม่ได้มุ่งหวังแค่ได้ชื่อว่าเข้าเป็นสมาชิก OECD แต่ไทยเราต้องการเห็นผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงประเทศที่จะเกิดขึ้นระหว่างเส้นทางของกระบวนการ Accession ไปสู่การเป็นสมาชิก OECD โดยอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญจาก OECD ในการพัฒนาความร่วมมือกับ OECD และการยกระดับการพัฒนานโยบายเศรษฐกิจของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความคาดหวังของไทยจากเรื่องนี้มี 3 เรื่องหลัก ๆ คือ

1) ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ ให้สูงขึ้น จะมีผลช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตเร่งขึ้นได้ในเชิงตัวเลข GDP และเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ คือ โตได้ทั่วถึงและโตได้ยั่งยืนขึ้น

2) ส่งสัญญาณบวกสู่นานาประเทศ ให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถยกระดับธรรมาภิบาล ปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจด้านต่าง ๆ เช่น การค้า การลงทุน การแข่งขันที่เป็นธรรม การยกระดับระบบการศึกษาและทักษะแรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยี การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

3) เป็นสะพานเชื่อมโยงให้ไทยมีบทบาทในเวทีโลกได้มากขึ้นในกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ
เส้นทางสู่การเป็นสมาชิก OECD ของไทยจะยาวนานแค่ไหน ?

นับจากวันนี้ เส้นทางสู่การเป็นสมาชิก OECD ของไทยจะต้องผ่านขั้นตอน Accession process ซึ่ง สภาพัฒน์ฯ ตั้งเป้าไว้ 5 ปี ซึ่งไทยจะต้องผ่านการประเมินตนเอง การประเมินผลเชิงเทคนิค และการปฏิรูปให้เกิดขึ้นจริง

ปี 2025 ไทยจะเข้าสู่ขั้นตอนประเมินตนเอง และส่ง Initial Memorandum ให้ OECD

ปี 2026 – 2029 ไทยจะเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินผลเชิงเทคนิค (in-dept technical reviews) ครอบคลุมนโยบาย 26 ด้าน (เช่น การลงทุนและการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ธรรมาภิบาลภาครัฐ ธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ การต่อต้านทุจริต การแข่งขัน การค้าและการสนับสนุนการส่งออก กฎระเบียบที่ใช้ปัจจุบัน การคลังและงบประมาณภาครัฐ ตลาดการเงิน ระบบประกันและบำนาญเอกชน ระบบเศรษฐกิจและการพัฒนา การพัฒนาภูมิภาค การจัดเก็บข้อมูลสถิติ การศึกษา การจ้างงานและแรงงาน การดูแลผู้บริโภค ระบบสุขภาพ การรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและดิจิทัล ภาคเกษตร)

โดยจะมีคณะกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Technical committees) จาก OECD 26 ชุดจะเข้ามาศึกษาประเทศไทยและหารือร่วมกันถึงความแตกต่างของบริบทประเทศที่จะปรับเปลี่ยนตามเกณฑ์ OECD ได้ โดยจะพิจารณาเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD เป็นแรงผลักดันจากภายนอกที่จะเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปภายในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากนั้น Technical committees ทุกคณะจะประเมินตรวจสอบการปฏิรูปของไทยที่เกิดขึ้น หากไทยสามารถทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ทั้ง 26 ด้าน ประเทศสมาชิก OECD จะลงมติร่วมกันเพื่อเชิญประเทศผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ

OECD ย้ำว่า Accession process ของแต่ละประเทศไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของแต่ละประเทศผู้สมัครว่า จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้ช้าหรือเร็ว มากหรือน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะยังไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่ละประเทศก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วยระหว่างเส้นทางที่เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องได้

ภาคส่วนต่าง ๆ จะมีส่วนร่วมอย่างไร ?

คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลักในการวางกลไกและประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย และฟาก OECD จะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบริบทของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจะเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย เริ่มจากตระหนักรู้ในเป้าหมายและประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ เส้นทางข้างหน้าที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง 26 ด้านตามแนวปฏิบัติ OECD และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแต่ละกลุ่มบนข้อจำกัดของไทยที่ยังมีอยู่มากในปัจจุบัน

สำหรับภาคเอกชนไทยจะมีบทบาทในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นที่ภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืนขึ้น แต่ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากการเข้าปรับตัวตามเส้นทาง OECD นี้ ซึ่งภาคธุรกิจสามารถแนะนำให้ภาครัฐนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำข้อสงวนของไทยต่อ OECD ในประเด็นที่สามารถทำได้ โดยภาคเอกชนจะเข้าร่วมใน 5 คณะอนุกรรมการย่อย ที่อยู่ภายใต้ “คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย” ได้แก่

คณะ 1: การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย (ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงกฎหมาย)
คณะ 2: การปฏิบัติตามมาตรฐาน OECD (นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาเป็นแนวทางดำเนินธุรกิจ)
คณะ 3: โครงสร้างเชิงสถาบันเข้มแข็ง (ให้ความร่วมมือภาครัฐปฏิบัติตามกฎระเบียบการดำเนินธุรกิจ)
คณะ 4: ตัวชี้วัดทาง ศก. (ให้ข้อมูลแก่ภาครัฐ เพื่อจัดเก็บข้อมูลสถิติและเผยแพร่)
คณะ 5: การมีส่วนร่วมกับ OECD (เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเครือข่ายภาคธุรกิจต่างประเทศของ OECD ในการแลกเปลี่ยนและเสนอแนะหลักปฏิบัติที่ดีในทางปฏิบัติ ร่วมกับประเทศต่าง ๆ)

หากประเทศไทยสามารถปฏิรูปโครงสร้างด้านนโยบาย กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับเกณฑ์ OECD ได้ ประเทศไทยจะสามารถเติบโตเชิงคุณภาพได้ทั่วถึงและยั่งยืนขึ้นได้ในระยะปานกลาง ถือเป็นความหวังต่อการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของไทยที่จะเห็นเป็นรูปธรรม รัฐบาลส่งสัญญาณเดินหน้าก้าวแรก ทุกภาคส่วนเริ่มรับรู้และเตรียมตัวทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่จุดหมายปลายทางของประเทศไทยที่จะมีความสามารถแข่งขันสูงขึ้นได้ คงอีกไม่นานเกินรอ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า