SHARE

คัดลอกแล้ว

การเมืองไทยช่วง 30 ปีหลัง มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ช่วงเวลานี้เกิดรัฐประหารขึ้นถึง 3 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญถึง 6 ฉบับ รัฐบาลผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอีกหลายชุด ท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคมที่ประทุใหญ่เป็นการชุมนุมทางการเมืองและเกิดความสูญเสียตามมา
.
ขณะที่รูปแบบของประชาธิปไตยยังมีข้อถกเถียงว่าแบบใดที่เหมาะสมกับสังคมไทย และที่เป็นอยู่ในแต่ละช่วงเวลา ใช่ประชาธิปไตยจริงหรือไม่

1.รัฐประหาร รัฐบาลชาติชาย (2534)
.
การเมืองไทยเปลี่ยนผ่านจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ จากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสุูลานนท์ มาสู่ รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่นายกรัฐมนตรีมาจากกระบวนการเลือกตั้ง
.
แต่รัฐบาลถูกข้อครหาเรื่องการหาผลประโยชน์จนถูกเรียกว่าเป็น “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ฟางเส้นสุดท้ายคือ ความพยายามในการตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กําลังเอก เป็น รมช.กลาโหม หวังให้มาคานอํานาจกับนายทหาร จปร.5
.
ที่สุด คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ที่นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยึดอำนาจ ขณะที่ พล.อ.ชาติชาย กำลังนำ พล.อ.อาทิตย์ ขึ้นเครื่องบินไปเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณที่พระตําหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่

2. พฤษภาทมิฬ (2535)
.
หลัง รสช.เลือกนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประเทศไทยเดินหน้ากลับสู่การเลือกตั้ง 22 มี.ค. 2535
.
แต่หลังการเลือกตั้ง นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคเสรีธรรม ที่มีความใกล้ชิดกับ รสช. ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับพ่อค้ายา จึงถูกกระแสกดดันไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. ที่เคยยืนยันไม่รับตำแหน่ง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง กระแสต่อต้านก็ลุกลามบานปลา
.
มีการใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมประท้วงจนเป็นเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

3. รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (2540)
.
ผลพวงจากความสูญเสียในเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ และรัฐธรรมนูญ 2534 ที่ถูกมองว่าเอื้อให้มีการสืบทอดอำนาจทหาร นำไปสู่เสียงเรียกร้องปฏิรูปการเมือง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาเขียนกฎหมายซึ่งเปิดกว้างเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนมากขึ้น ให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาคานอำนาจ จนถูกเรียกต่อมาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
.
ภายหลังร่างแล้วเสร็จและเตรียมนำเข้าสู่การให้ความเห็นชอบของสภา เกิดการระดมเพื่อรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อสู้กับฝ่ายคัดค้านที่นำโดยกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยสีของการรณรงค์ให้รับคือ สีเขียวอ่อน

 

4.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทย (2541)
.
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มเข้ามาชิมลางทางการเมืองด้วยการเข้ามาเป็น รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ต่อด้วยเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
.
ที่สุดก็ตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2541 และนำพรรคชนะการเลือกตั้ง 6 ม.ค. 2544 แบบถล่มทลาย ด้วยแคมเปญหาเสียงนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติได้
.
แต่ช่วงที่ดำรงตำแหน่งทั้ง 2 สมัย ถูกโจมตีเรื่องการไม่ฟังใคร และถูกกล่าวหาว่าเหลิงอำนาจ จนถูกชุมนุมต่อต้านและถูกรัฐประหาร

5.พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (2549)
.
จุดเริ่มต้นจากการเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง สู่การ “กู้ชาติ” ด้วยการขับไล่ระบอบทักษิณ ซึ่งรวมไปถึง นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาต่อมา

6. รัฐประหารโดย คมช. (19 ก.ย. 2549)
.
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คมช.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา
.
เหตุผลในการยึดอำนาจคือ การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ

7.สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี (2551)
.
การเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550 พรรคพลังประชาชน ที่ตั้งขึ้นมาแทนพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบ ชนะเลือกตั้งแบบขาดลอย นายสมัคร สุนทรเวช กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25
.
เป็นที่รับรู้กันว่านายสมัคร เป็นผู้สนใจเรื่องอาหารการกินและการทำกับข้าว ซึ่งต่อมาปมการที่ไปเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร “ชิมไปบ่นไป” จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ทำให้ต้องพ้นตำแหน่งหลังดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 8 เดือน

8. ทักษิณกลับบ้านกราบแผ่นดิน (28 ก.พ. 2551)
.
หลังชัยชนะของพรรคพลังประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางจากฮ่องกงกลับมายังประเทศไทย
.
หลังออกจากห้องรับรองได้คุกเข่าลงกราบแผ่นดิน เป็นการเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศนับตั้งแต่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อเดือน ก.ย.2549
.
แต่หลังจากนั้นเขาก็ต้องออกไปอีกและยังไม่ได้กลับมาอีกเลย

9. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี (ธ.ค. 2551)
.
ต้นเดือน ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคพลังประชาชน จากคดีทุจริตเลือกตั้ง มีการตั้งพรรคเพื่อไทยเพื่อรองรับสมาชิกที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ปรากฏว่าสมาชิกบางส่วนไม่ได้ย้ายตามไปด้วย
.
ขณะที่การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เกิด 2 ขั้วที่พยายามวิ่งรวบรวมเสียงเพื่อชิงตำแหน่งนี้
.
การเดินเกมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สามารถดึงเสียงกลุ่มเพื่อนเนวิน และอีกหลายพรรคมาร่วมได้สำเร็จ ทำให้นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกต่อมาว่า งูเห่าการเมือง ภาค 2

10.นปช.ชุมนุมเรียกร้อง อภิสิทธิ์ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ (2553)
.
กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ประท้วงต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการประทะกันหลายจุดจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ก่อนจะมีการสลายการชุมนุม
.
แกนนำหลายคนยังโดนคดีต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

11.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก (2554-2557)
.
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนเล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค. 2554 ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก
.
แต่จบลงด้วยการต้องประกาศยุบสภาภายหลังการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ และภายหลังยังถูกพิพากษาในคดีเกี่ยวเนื่องกับการรับจำนำข้าว

12.กปปส.จากต้านนิรโทษกรรมสู่การไล่รัฐบาล (2556-2557)
.
จุดเริ่มต้นจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จัดชุมนุมเพื่อต่อต้านการที่พรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันกฏหมายนิรโทษกรรมสุดซอยเพื่อล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
.
ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา แต่การชุมนุมก็ยังคงมีต่อไปเพื่อกดดันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากการรักษาการนายกฯ และการชุมนุมสิ้นสุดลงเมื่อมีการรัฐประหาร

13.เลือกตั้งล่ม (2 ก.พ. 2557)
.
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งร่ำไห้ หลังถูกผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนมีการปฏิรูป ปิดกั้นหลายหน่วยเลือกตั้งจนใช้สิทธิ์ไม่ได้
.
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดให้เลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั่วประเทศได้ภายในวันเดียว ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ

14. กองทัพเป็นคนกลางหาทางออกประเทศ (21-22 พ.ค. 2557)
.
ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมของผู้ประท้วงแต่ละฝ่ายยังคงเดินไปอย่างต่อเนื่อง ที่สุดกองทัพ ได้ประกาศกฎอัยการศึกและเชิญตัวแทน 7 ฝ่ายประกอบด้วย รัฐบาล, วุฒิสภา, กกต., พรรคเพื่อไทย,พรรคประชาธิปัตย์, กปปส.และ นปช. ไปหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันที่สโมสรกองทัพบก
.
ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. พยายามปล่อยมุขลดความตึงเครียดหลายครั้ง แต่ในวันที่ 2 ของการหารือ 22 พ.ค. 2557 เขาก็ประกาศยึดอำนาจและควบคุมตัวผู้ที่เชิญมาหารือ

15. รัฐประหารครั้งที่ 3 ในรอบ 30 ปี (พ.ค.2557)
.
หลังประโยค “นาทีนี้ขอยึดอำนาจ” กำลังทหารที่ควบคุมจุดต่างๆ อยู่แล้ว ได้ออกมาคุมพื้นที่ และมีการประกาศเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว
.
ขณะที่ประชาชนที่สนับสนุนการรัฐประหารออกมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ โดยหนึ่งในป้ายที่ชูคือ ความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประเทศต้องมาก่อ

16. ประท้วงการยึดอำนาจ (มิ.ย.2557)
.
ในช่วงที่ คสช.ควบคุมอำนาจ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยังพยายามเคลื่อนไหวแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ทำให้การแสดงออก เช่น การชู 3 นิ้ว หรือการกินแซนด์วิช กลายเป็นสิ่งต้องห้ามไปด้วย

17.ประชามติรัฐธรรมนูญ ( 7 ส.ค.2559)
.
รัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เข้าสู่กระบวนการทำประชามติ โดยถูกโจมตีว่ารณรงค์ได้ฝ่ายเดียว ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรรับถูกปิดกั้น
.
ผลสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ “รับ” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พร้อมทั้ง “รับ” คำถามพ่วงที่มีความยาวเกือบ 4 บรรทัด ที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนด ไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
.
หลายคนเพิ่งเข้าใจความหมายของคำถามพ่วงในอีก 3 ปีต่อมาว่า คือ การให้ ส.ว.ที่ คสช.ตั้งร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่

18.เลือกตั้งครั้งแรกรอบ 8 ปี (24 มี.ค. 2562)
.
หลังจากเลื่อนมาเป็นระยะ การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี หากไม่นับครั้งที่เป็นโมฆะในปี 2557 ก็จัดขึ้นเมื่อ 24 มี.ค.2562
.
ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.เขต แต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย, พรรคพลังประชารัฐ ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้อันดับ 2, พรรคอนาคตใหม่ สร้างเซอร์ไพรส์ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3
.
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศชูแนวทางเป็นทางเลือกที่ 3 หล่นไปอันดับที่ 4 ไม่ได้ ส.ส.ใน กทม.เลย และเสียฐานที่มั่นในภาคใต้ไปหลายเขต แต่กว่าจะรู้ผลเลือกตั้งสุดท้ายต้องรอกันนานเพราะต้องรอผลจากสูตรการคำนวณตามรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อน 

19.ธนาธร หยุดทำหน้าที่ ส.ส. (พ.ค.2562)
.
จากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สู่ ส.ส.ที่ไม่มีสิทธิ์เข้าสภา
.
หลังปฏิญาณตนก่อนรับหน้าที่ ส.ส. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 25 พ.ค. 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกเชิญให้ออกจากห้องประชุมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
.
ก่อนหน้านั้น นายธนาธร พยายามจะพูดกับที่ประชุมแต่ถูกประท้วง จนสามารถเปิดไมค์พูดได้ว่า “ผมนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ รับทราบคำสั่งศาลและจะหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่นครับ”
.

ช่วงเดินออก นายธนาธร โค้งคำนับที่ประชุม ก่อนชู 3 นิ้ว โดยมี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านปรบมือให้ ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ที่ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวตำหนิว่า “ตรงนี้ไม่ใช่โรงละคร”

20.พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ( มิ.ย.2562)
.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ้มอย่างเต็มที่หลังพิธีรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 11 มิ.ย. 2562
.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า “ผมขอยืนยันว่าจะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ จะเพียรพยายามมุ่งมั่นทำงาน พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทุกสาขาอาชีพ ทุกช่วงวัย ในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุกด้าน”

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า