Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ทศวรรษที่สูญหาย (The Lost Decade) ถูกใช้พูดเทียบถึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงยุค 90 ที่เศรษฐกิจโตต่ำต่อเนื่องยาวนาน จากเคยขึ้นสู่จุดพีคสูงสุดเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก ก่อนจะค่อยๆถอยลงมา

แม้จะไม่ได้ร่วงลงมาแบบตกต่ำ เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ล่มสลาย แต่ก็ไม่ได้เติบโตสูงต่อเนื่อง ตัวเลขจีดีพีและภาพรวมเศรษฐกิจโตต่ำยาวนาน จนคนญี่ปุ่นเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้เหมือนเดิม ยิ่งทำให้คนญี่ปุ่นเน้นเก็บออมและใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลทำให้ภาพรวมระบบเศรษฐกิจไม่ร้อนแรง

SCB EIC มองว่าสภาพของประเทศไทยตอนนี้ มีอาการของเศรษฐกิจที่ชวนให้สงสัยว่า กำลังก้าวตามรอยญี่ปุ่นเข้าสู่ ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ หรือไม่

เราลองมาดูกันว่าเคสของญี่ปุ่นในอดีต กำลังเป็นเคสของไทยในปัจจุบันหรือไม่

เมื่อลองทำการเปรียบเทียบทศวรรษที่รุ่งเรืองของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วง ปี 1961-1970

ตอนนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวชนิดก้าวกระโดด เป็นผลจากที่รัฐบาลใช้นโยบายส่งเสริมการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ทั้งการนำเข้าและปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการควบคุมคุณภาพการผลิต โดยในตอนนั้นในญี่ปุ่นการลงทุนเติบโตขึ้นถึง 15.1% เฉลี่ยต่อปี ขณะที่โปรดักทีฟของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตขึ้นถึง 3.8% ต่อปี

ถัดจากนั้นยุค 1971-1990 เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเติบโตต่อไป แต่เป็นการเติบโตจากการบริโภคเป็นหลัก

เศรษฐกิจที่เติบโตเร็ว และเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมากหลังจากญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลง Plaza Accord กับฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในปี 1985 ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ภายในประเทศปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จูงใจให้ภาคเอกชนก่อหนี้มาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และหลักทรัพย์ญี่ปุ่น

กระแสการลงทุนส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์และหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นเป็นฟองสบู่

จนกระทั่งปี 1989-1990 ธนาคารกลางญี่ปุ่นแสดงความกังวลกับฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแบบชนิดน่าตกใจจาก 2.5% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 1989 ไปอยู่ที่ 9 % ในไตรมาสที่ 3 ของปี 1990 แม้มีเจตนาดี แต่การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเร็วเกินไปทำให้ฟองสบู่ราคาสินทรัพย์แตก

[ จากฟองสบู่สู่ทศวรรษที่สูญหาย ]

พอราคาสินทรัพย์ตกลงอย่างรุนแรง สถานะทางการเงินของภาคเอกชนญี่ปุ่นก็ทรุดลง กระทบความต้องการซื้อสินค้าภายในประเทศ ยอดขาย และค่าแรง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ (ไม่รวมราคาอาหารสด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และพลังงาน) ชะลอลงจาก 2.6% ในปี 1990 ลงมาอยู่ที่ 0.7% ในปี 1995 ตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นสัญญาณของ ‘เศรษฐกิจฝืดเคือง’

ภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา และสถานะทางการเงินทรุดโทรมลงทำให้คนญี่ปุ่นประสบปัญหาในการชำระหนี้จนกลายเป็น ‘หนี้เสีย’ เนื่องจากสถาบันการเงินแบกรับความเสี่ยงจากหนี้เสียเอาไว้มาก จึงไม่สามารถให้สินเชื่อใหม่ได้

[ เศรษฐกิจเข้าสู่วงจรลบ ]

เมื่อสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ ภาคเอกชนจึงเข้าไม่ถึงสภาพคล่องทางการเงิน และไม่มีเงินลงทุน การลงทุนจึงซบเซา ส่งผลให้ผลิตภาพลดลง รายได้ซึ่งเป็นผลตอบแทนจากการผลิตก็ไม่อาจเติบโตได้เช่นกัน เมื่อรายได้ซบเซาลง ภาคเอกชนญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องลดการออม เพื่อนำเงินออมมาใช้จ่าย สุดท้ายสถานะทางการเงินก็ยิ่งทรุดโทรม

เมื่อเศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลานาน คนญี่ปุ่นก็เริ่มคุ้นชินกับสภาพนี้ เพราะกินระยะเวลายาวนาน และยังมองได้ในอนาคตข้างหน้าว่ารายได้จะเติบโตช้า สวนทางกับราคาสินค้า นำไปสู่พฤติกรรมเก็บออมและจำกัดการใช้จ่าย

เป็นแบบนี้ก็หมุนวนกลับมากระทบความต้องการซื้อภายในประเทศ

[ ไทยกำลังอยู่ในทศวรรษที่สูญหาย? ]

กลับมาดูเศรษฐกิจไทยออกอาการโตช้ามาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และอยู่ท้ายๆ ประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดได้ช้า มองไปข้างหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.5-3% ในปี 2024 จากที่เคยเติบโตได้ 5.4% ต่อปีในช่วงปี 2000-2006 และ 3.1% ในช่วงปี 2012-2018

เมื่อลองทาบเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงต้นของทศวรรษที่สูญหายกับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เกิดโควิด จะพบว่า ‘เศรษฐกิจไทยแสดงอาการที่คล้ายกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมากจนน่าวิตก’

ผลิตภาพแรงงานของไทยหยุดเติบโต จากที่เคยเติบโตช้าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ส่วนสถาบันการเงินไทยก็เผชิญกับต้นทุนเครดิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ไม่สามารถให้สินเชื่อใหม่ได้

ศักยภาพการเติบโตของประเทศไทยระยะยาวที่เสื่อมถอยลง และข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของคนไทย

สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อมาดูฐานะการเงินของคนไทยในระดับย่อย พบว่าครัวเรือนไทยหารายได้ไม่พอรายจ่ายกว่า 41% ของครัวเรือนไทยทั้งประเทศ และพบด้วยว่าครัวเรือนรายได้ปานกลางเริ่มเจอปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายกันมากขึ้น จากเดิมที่ปัญหานี้จะกระจุกตัวส่วนใหญ่ในกลุ่มรายได้น้อย แต่ตอนนี้ลุกลามมาถึงกลุ่มรายได้ปานกลาง

ขณะเดียวกัน ก็มีภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น 5% ระหว่างปี 2021-2022

อาการเหล่านี้ทำให้ข้อสงสัยเรื่องทศวรรษที่สูญหายกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย?

และถ้าตามรอยญี่ปุ่น เราอาจต้องเผชิญสถานการณ์นี้ไปอีกกว่า 30 ปี จากนี้

[ ญี่ปุ่นจะหลุดพ้นจากทศวรรษที่สูญหายได้อย่างไร ]

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงต้นของทศวรรษที่สูญหาย เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังส่งสัญญาณของโอกาสที่จะหลุดพ้นจากทศวรรษที่สูญหายที่เผชิญมากว่า 30 ปี

กรณีของญี่ปุ่น มีพื้นฐานที่ดี คือ

1. ญี่ปุ่นสามารถสร้างโอกาสจากการส่งออกและการลงทุน มีการเร่งกระบวนการพัฒนาและนำเทคโนโลยีการผลิตมาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

2. ญี่ปุ่นสอดประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ในขณะที่นโยบายการคลังพยายามรักษาสมดุลระหว่างการใช้เงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบริหารหนี้สาธารณะ นโยบายการเงินมีบทบาทสำคัญในการพยายามรักษาภาวะการเงินให้ผ่อนปรน อย่างต่อเนื่อง และยาวนานพอ ซึ่งนโยบายการเงินเข้ามาช่วยดูแลสถานะทางการเงินของประชาชนในยามที่เศรษฐกิจเผชิญปัจจัยลบและความไม่แน่นอน

ที่สำคัญภาวะการเงินที่ผ่อนปรนยังเป็นพื้นฐานให้ธุรกิจเข้าถึงทุน ที่เป็นเงื่อนไขจำเป็นต่อการลงทุน

ประสบการณ์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นบอกเราว่า ‘ความร่วมมือของผู้ดำเนินนโยบาย’ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากทศวรรษที่สูญหาย

ดังนั้นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สอดประสานกันระหว่าง ‘นโยบายการคลัง’ และ ‘นโยบายการเงิน’ จึงสำคัญมาก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยไม่ติดอยู่กับภาวะโตต่ำยาวนาน 30 ปี

แล้วพอมาดูประเทศไทยตอนนี้
เราสอดประสานหรือสวนทาง?

 

เรียบเรียงจากบทความ ‘เศรษฐกิจไทยในทศวรรษที่สูญหาย’ โดย SCB EIC

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า