‘ทุเรียนไทย’ มีคู่แข่งใหม่เข้ามาในตลาดส่งออกไป ‘จีน’ ตั้งแต่ปี 2565 หลักๆ คือ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยจีนนำเข้าทุเรียนจากไทยมากที่สุด 9.2 แสนตัน ตามมาด้วยเวียดนาม 4.9 แสนตัน และฟิลิปปินส์ 3 พันตัน
จากข้อมูลสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง สรุปคู่แข่งทุเรียนไทยในตลาดจีนตอนนี้
ทุเรียนสด – อันดับ 1.ไทย 2.เวียดนาม 3.ฟิลิปปินส์
ทุเรียนแช่แข็ง – อันดับ 1.ไทย 2.มาเลเซีย
ถ้าดูเทียบไทยกับเวียดนาม พบว่า เวียดนามมีสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังจีน คือ ทุเรียน รังนก มันเทศ แก้วมังกร ลำไย มะม่วง ขนุน แตงโม กล้วย มังคุด ลิ้นจี่ และเสาวรส
ส่วนไทยมีสินค้าเกษตรกรที่ส่งออกไปยังจีน คือ ทุเรียน มะพร้าว ลำไย มังคุด ผลไม้แช่แข็ง ลำไยอบแห้ง ส้มโอ สับปะรด มะม่วง เงาะ
ขณะที่ปีนี้คาดกันว่า ผลผลิตทุเรียนของไทย ทั้งจากภาคตะวันออก และใต้จะลดลง ซึ่งเป็นปีที่ผลผลิตลดลงหนักสุดในรอบ 15 ปี สาเหตุจากปัญหาน้ำแล้ง ฝนน้อย ฝนทิ้งช่วง และคาดว่าทั้งปีผลผลิตจะลดถึง 18%
ในจังหวะช่วงนี้สื่อเวียดนามได้นำเสนอข่าวว่า เวียดนามถือเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่อันดับ 2 ไปจีนรองจากไทยแล้ว โดยการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปยังจีนช่วง ม.ค.-เม.ย. เพิ่มขึ้น 91% เมื่อเทียบเป็นรายปี และน่าสนใจด้วยว่า ตอนนี้เกษตรกรเวียดนามพากันหันมาปลูกทุเรียนส่งออกจีนมากขึ้น เนื่องจากมีรายได้ดี และสนใจการปลูกกาแฟน้อยลงเรื่อยๆ
ส่วนเกษตรกรไทยคาดว่า ปีนี้ภาพรวมรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฤดูปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% แม้ราคาทุเรียนจะพุ่งสูงถึง 22% โดยรายได้เกษตรกรภาคตะวันออกอาจเพิ่มขึ้น 4% ขณะที่รายได้เกษตรกรภาคใต้อาจลดลง 8%
เป็นรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่ยังไม่หักต้นทุนการผลิต โดยมีต้นทุนการผลิตที่สำคัญในการจัดหาน้ำช่วงเอลนีโญ เช่น ต้นทุนการซื้อน้ำมารดต้นทุเรียน เครื่องปั๊มน้ำ/เครื่องสูบน้ำ/สปริงเกอร์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งหากนับรวมต้นทุนการผลิตด้วย ก็จะทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิของผู้ปลูกทุเรียนเผชิญแรงกดดันมากยิ่งขึ้น