SHARE

คัดลอกแล้ว

“ปีนึงอยู่ใช้ทุนแน่ๆ แล้วค่อยดูว่าอยู่ได้ไหม เพราะไม่เคยมีแพลนอยากลาออกเลย ขอแค่ได้ทำงานอย่างสบายใจ เข้าเวรเหมาะสม มีคนโคฟเวอร์ อย่างน้อยมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เดือนละครั้ง” ดูเหมือนสิ่งที่ ปลา (สมมติ) ว่าที่หมออินเทิร์นปี 1 คาดหวังต่อสถานที่ทำงานของเธอ ก็ไม่ได้ต่างไปจากที่เด็กจบใหม่คนหนึ่งต้องการเลย นั่นคือ Work-Life Balance ที่ดี ภายใต้ค่าแรงที่เป็นธรรม

 

แต่ด้วยสถานการณ์ในวงการแพทย์ที่เป็นอยู่ จนส่งผลต่อการจับสลากใช้ทุนของเธอในปีนี้ ไม่ผิดที่เธอจะ ‘เข้าใจแต่ไม่ใช่ทั้งหมด’ ด้วยสถานะว่าที่หมออินเทิร์นปี 1 ที่ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และกำลังจะไปใช้ทุนในจังหวัดหนึ่งทางอีสาน ซึ่งห่างจากบ้านเกิดเกือบ 1,500 กิโลเมตร

เมื่อชีวิตของเด็กที่อยู่ไกลบ้าน ตั้งแต่ครั้งมัธยมต้นจนจบการศึกษา จึงไม่แปลกที่ความตั้งใจของเธอในการทำงานเป็นแพทย์เต็มตัว จะมุ่งไปยังพื้นที่ใกล้บ้านมากที่สุด เช่นเดียวกับทุกคนในครอบครัว “เลือกอยู่อีสานเอง แต่ก็ยังเศร้าอยู่ดี ไม่กล้าลงโควตาใต้ เพราะอัตราเลือกสูงมาก…ลึกๆ ก็เสียใจ อยากกลับบ้าน”

ยังคงถูกจับตามองต่อเนื่อง สำหรับประเด็น ‘หมอลาออก’ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกชี้เหตุไปที่ปัญหาขาดแคลนบุคลากร จากการกระจุกตัวของแพทย์ในหัวเมืองใหญ่ ถึงได้เกิดแนวทางเร่งปรับในทุกมิติ 

และดูเหมือนยาแรงขนานหนึ่ง ที่ สธ. จัดให้แบบเร่งด่วน เพราะถึงจังหวะพอดิบพอดี คือ การกระจายแพทย์ให้เหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ด้วยการปรับโควต้าจับฉลากของแพทย์ใช้ทุนในระบบ ไปยังพื้นที่ขาดแคลนหนัก อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตัวเลขโควต้าพุ่ง

ฟังผิวเผินก็ดูจะมาถูกทางแล้ว แต่การที่ตัวเลขโควตาทั้งเขตเป็นศูนย์ ก็ไม่แปลกที่จะมาเสียงโอดตามมา อย่างเขตสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วยตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา

แน่นอนว่า แนวทางนี้อาจช่วยลดปัญหาของแพทย์อินเทิร์นลาออกในปีแรก เพราะมีกำลังคนเพิ่ม แต่นั่นจะการันตีผลลัพธ์ในระยะยาวได้จริงหรือไม่ ในเมื่อ ‘งานเหนื่อย งานหนัก ใครก็อยากกลับบ้าน’ อย่างเช่นความเห็นของหมออินเทิร์นปี 1 ที่สำนักข่าว TODAY มีโอกาสได้พูดคุย

[เข้าใจแนวคิด หมอเรียนจบต้องใช้ทุน]

ตามที่รู้กันว่า ในการพัฒนาและฝึกฝนคนๆ หนึ่งขึ้นมาเป็นแพทย์ ย่อมต้องใช้ทรัพยากร และกำลังทรัพย์ไม่น้อย รัฐจึงต้องสนับสนุนซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศ จึงกลายเป็นเจตจำนงหนึ่งของรัฐบาล ที่มุ่งหมายให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนทำงาน หรือรับราชการสนองความต้องการของประเทศชาติ ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว 

นักเรียนแพทย์เมื่อจบแล้ว ทุกคนจะกลายเป็น ‘แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป’ (Gerneral Practitioner  หรือ GP) ก่อนจะไปชดใช้ทุนภายใต้โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อินเทิร์น) ซึ่งในปีที่ 1 จะไม่สามารถเลือกพื้นที่ปฏิบัติงานได้เอง ต้องใช้ระบบ ‘สุ่มจับสลาก’ ตามโควตา

แต่ก็มีแพทย์อินเทิร์นบางโครงการ ที่จะมีโอกาสกลับไปใช้ทุนในพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่ต้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้ไปอยู่ที่ไหน เป็นที่รู้กันว่า พวกเขาจะต้องอยู่เวร ดูแลผู้ป่วยจริง เรียนรู้การทำงานร่วมกับทีม ภายใต้แพทยสภาคอยติดตามดูแล ก่อนที่ในปีที่ 2 จะต้องออกไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ที่ห่างไกลมากขึ้น 

โดยนักศึกษาแพทย์ จะต้องทำสัญญาฯ กับมหาวิทยาลัยเมื่อแรกเข้า ว่าจะทำตามกฎระเบียบ และยินยอมเข้ารับราชการ หรือ ทำงานจนครบกำหนดระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 3 ปี และ ไม่นับระยะเวลาระหว่างเข้ารับการศึกษาอบรมเพิ่มเติมรวมคำนวณ 

หากไม่ทำตามนั้น ก็จะต้องชดใช้เอง 400,000 บาท แต่หากเป็นแพทย์โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน จะต้องชดใช้ 2,000,000 บาท หรือตามที่ระบุในเงื่อนไข

ส่วนกรณีใช้ทุนไปแล้วบางส่วน แล้วเปลี่ยนใจลาออก ก็จะคิดคำนวณลดลง ตามส่วนเฉลี่ยจากจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ ถึงได้เห็นภาพของหมออินเทิร์น ตัดสินใจลาออกก่อนจะใช้ทุนครบ

[ชีวิตถูกเหวี่ยงทุก 1 ชั่วโมงของการสุ่มดวง]

ปลา เล่าย้อนไปว่า ตัวเธอนั้นอีกไม่นานก็จะต้องไปทำงานในเขตสุขภาพทางอีสานใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งเลือกด้วยตัวเอง จากการปรึกษากับรุ่นพี่ที่รู้จักกัน เพราะรับทราบตั้งแต่ต้นว่า ในเขตสุขภาพในพื้นที่จังหวัดบ้านเกิดนั้น มีจำนวนโควตาลดลงเรื่อยๆ

เล่าคร่าวๆ ว่าการสุ่มจับสลากนั้น จะเกิดขึ้นจนจบในวันเดียว เมื่อเปิดระบบทุกคนจะมีสิทธิเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการ ระบบก็จะโชว์อัตราการแข่งขันให้เห็นในตอนนั้นเลย เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเปลี่ยนใจในระยะเวลา 1 ชม. แรก ก่อนจะใช้วิธีสุ่มตามลำดับเลขบัตรประชาชน จากนั้นก็จะมีการคำนวณคะแนนของเรา เพื่อเรียงลำดับในแต่ละโรงพยาบาล ถ้าใครคะแนนสูงก็มีโอกาสมากกว่า หากพลาดรอบแรกก็เหมือนต้องกลับไปต่อแถว เพื่อใช้ระบบสุ่มเรียงคะแนนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

“หลุดรอบแรกไป เราก็ต้องรอเวลาหมุนคะแนนใหม่ หลุดอีกก็ไปต่อ ยิ่งนานตัวเลือกโรงพยาบาลก็จะลดลงเรื่อยๆ” 

นั่นเอง ทำให้ ปลา เลือกใช้ทุนในพื้นที่ซึ่งห่างไกลจากบ้านตั้งแต่ต้น โดยการหาข้อมูลเบื้องต้นว่า พื้นที่ไหนเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งก็คำนึงปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิต เพราะเป็นจังหวัดที่เธอเองก็ไม่เคยไปมาก่อนเลย

“ไหนๆ ก็ต้องไกลบ้าน ก็พยายามเลือกคุณภาพชีวิต อย่างน้อยให้มีวันหยุดบ้าง เวรไม่หนักเกิน และมีสนามบินอย่างน้อยจะได้กลับบ้านบ้าง” ถึงจะชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าลูกจะต้องห่างบ้านต่อไป แต่ปลาก็เล่าว่า “พ่อแม่ก็เสียใจ เลือกตลอดว่าภาคใต้นะ พอโควตาน้อยเขาก็ทำใจ”

ปลา เล่าต่อว่า เพื่อนของเธอหลายคนจึงเลือกที่จะไม่ต้องแขวนชีวิตไว้กับวิธีนี้ ด้วยการสมัครเป็น ‘แพทย์พี่เลี้ยง’ ตั้งแต่ต้น ซึ่งจะทำให้พวกเขารู้ว่าจะต้องเป็นอินเทิร์นที่โรงพยาบาลไหน และจะอยู่ประจำแผนกนั้นไปจนจบ ทั้งนี้ โควตาเปิดรับก็จำกัด อีกทั้งไม่ใช่ทุกสาขาที่จะเปิดรับได้

ทำไมส่วนใหญ่ เลือกลาออกหลังจบอินเทิร์น ปีที่ 1? หลายคนคงเคยทราบมาบ้างว่า นักศึกษาแพทย์จะได้รับ ‘ใบประกอบวิชาชีพ’ ติดตัวนับแต่เรียนจบแล้ว แต่การใช้ทุนจนจบจะได้รับ ‘ใบเพิ่มพูนทักษะ’ 

“ใบนี้เหมือนประตูไปสู่การเรียนเฉพาะทางหลายๆ อย่าง เพราะบางสาขามีกำหนดว่า ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะมาปีนึง คือการเป็นอินเทิร์น 1 เพราะฉะนั้น อินเทิร์นปีที่ 1 แทบจะเป็นมาตรฐานต่ำสุดของการเรียนต่อเฉพาะทางเลยก็ว่าได้ ”

“ตอนนี้ต้องไปอยู่อีสานยังไม่กังวล ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล เพราะพื้นที่กว้างมาก แต่ละที่ก็ต่างกัน ที่ดีๆ ก็มีเยอะ…ไม่รู้เลยว่าถ้าไปอยู่แล้วไม่แฮปปี้จะเอายังไง แต่อย่างน้อยปี 1 พยายามอยู่แน่ๆ ถ้าหลังจากนั้นไม่ไหวก็คิดอีกครั้ง”

[โควตาใช้ทุน 2568 สมเหตุสมผล?]

ตามข้อมูล ณ วันที่ 7 พ.ค โควตาสถานที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุน สำหรับแพทย์ผู้ทำสัญญาชดใช้ทุน ของ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2568 ในสัดส่วนแพทย์โครงการทั่วไป (จับสลาก) ซึ่งเป็นโควตารอบสุดท้ายในการจับสลากเลือกใช้ทุน จำนวน 635 คน ดังนี้

  • เขตสุขภาพที่ 1 ​
    (เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน) : 29 คน 
  • เขตสุขภาพที่  2 
    (ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย) : 33 คน
  • เขตสุขภาพที่ 3 
    (กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี) : 50 คน
  • เขตสุขภาพที่ 4 
    (สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี) : 21 คน
  • เขตสุขภาพที่ 5 
    (เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี)  : 46 คน
  • เขตสุขภาพที่ 6 
    (สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด) : 19 คน
  • เขตสุขภาพที่ 7 
    (กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด) : 46 คน
  • เขตสุขภาพที่ 8 
    (อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ)  : 156 คน
  • เขตสุขภาพที่ 9 
    (ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์) : 58 คน
  • เขตสุขภาพที่ 10 
    (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ มุกดาหาร อำนาจเจริญ) : 154 คน
  • เขตสุขภาพที่ 11    
    (นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ชุมพร) : 23 คน
  • เขตสุขภาพที่ 12 ​
    ไม่มีการจัดสรรโควตาในปี 2568

ตามความเห็นของแพทย์จับสลากใช้ทุนอีกรายหนึ่ง ที่ให้ข้อมูลกับ Hfocus มองว่า โควตาการจับสลากปีนี้ลดลง และเปลี่ยนไปมาก อย่างเขตสุขภาพที่ 12 ทางภาคใต้หายไปทั้งเขต จากที่น้อยอยู่แล้ว คือ 6 ที่นั่ง ในปี 2567 รวมถึง เขตสุขภาพที่ 6 เทียบกับปีก่อนหน้า ก็ลดลงคิดเป็นสัดส่วน 60.42%

ขณะที่ เขตสุขภาพในแถบอีสาน อย่างเขตสุขภาพที่ 10 ทั้งนี้ในเขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งเป็นเขตที่มี จ.บึงกาฬ ที่เคยมีกรณีหมออินเทิร์นลาออกนั้น สัดส่วนทั้งเขตไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เจาะจงเพิ่มเฉพาะ จ.บึงกาฬ  โดยในปี 2567 รับอยู่ 29 ที่ แต่ปีนี้รับเพิ่ม รวมฝากฝึกเป็น 30 ที่

“อยากให้การจัดสรรการจับสลากมีตัวเลือกมากกว่านี้ เพราะหายไปหลายโรงพยาบาล แน่นอนว่าการที่ผู้บริหารจัดสรรนี้ จะช่วยลดปัญหาของแพทย์อินเทิร์นลาออกในปีแรก โดยมีคนใหม่เข้าไป แต่ในปีต่อมาก็จะมีคนลาออกอีก กลายเป็นปัญหาสะสมไปเรื่อยๆ และอาจไม่ใช่แค่บึงกาฬ อาจมีจังหวัดอื่นๆ อีก” แพทย์ใช้ทุนรายดังกล่าว พูดเอาไว้

[โครงสร้างไม่เปลี่ยน เพิ่มหมออาจเอาไม่อยู่?]

บอล (นามสมมติ) แพทย์อินเทิร์นปี 3 ซึ่งปฏิบัติงานในโซนพื้นที่ภาคใต้มาตั้งแต่ต้น เล่าบริบทของเขตสุขภาพทางใต้ว่า สัดส่วนของหมอไม่ค่อยออกนอกระบบ มีแพทย์วนอยู่ในพื้นที่เยอะตั้งแต่ต้น พอช่องว่างปริมาณงานกับคนไม่ต่างกันมาก ก็อาจจะเป็นเหตุผลให้คนยังอยู่ต่อกันได้ ความขาดแคลนเลยไม่ได้เพิ่มขึ้นจนน่ากลัวเท่าภาคอื่นๆ

ประกอบกับ ในพื้นที่มีโครงการที่ทำสัญญา ส่งเด็กกลับมาใช้ทุนในพื้นที่บ้านตัวเองจำนวนหนึ่ง ทำให้โควตาจากส่วนกลางก็เลยน้อยตั้งแต่ต้น “ภาคใต้อาจไม่ได้ขาดแคลน แต่เด็กภาคใต้จบใหม่จะไม่ได้ทำงานที่บ้านตัวเอง”

ขณะเดียวกัน ตามการสังเกตส่วนตัวของ บอล เล่าว่า ในเขตสุขภาพที่ครอบคลุมชายแดนใต้ ซึ่งคนทำงานจะได้ ‘เบี้ยเสี่ยงภัย’ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้อัตราการย้ายออกน้อย การลาออกเพื่อศึกษาต่อก็น้อย

“เข้าใจหมอฝั่งอีสานที่ลาออกเลย ทั้งที่ไม่รู้ว่าเขาหนักแค่ไหน ขนาดเราที่ไม่คิดว่าหนักมาก ทุกวันนี้ยังแทบกระอักเลือด แล้วเขาจะขนาดไหน พอไม่พักนานๆ ก็กลายเป็นเครียด ปัญหาสุขภาพก็มา”

เช่นเดียวกับ โบว์ (นามสมมติ) แพทย์เรซิเดนต์ ที่หันมาเรียนต่อเฉพาะทาง เล่าถึงภาระงานที่หนักขึ้นในทุกปี จน จำนวนหมอในระบบมันลดลง “บางงานอินเทิร์น กับเอ็กซ์เทิร์น (น้องศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ) รับผิดชอบงานเดียวกันด้วยซ้ำ เพราะคนมันไม่พอจริงๆ” 

“กลายเป็นว่าเทรนทุกวันนี้ไปเรียนต่ออะไรสักอย่าง เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่กลับมาก็ไม่รู้นโยบายโรงพยาบาลจะเปลี่ยนไหม ถ้าคนไม่เพียงพอ”

โบว์ ยังให้ความเห็นว่า การวางระบบการทำงานให้ชัด จำกัดชั่วโมงทำงาน ให้รายได้เหมาะสม และสร้างระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ดี น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้แพทย์ทำงานได้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เพิ่มอัตรากำลัง

“เพิ่มจำนวนอาจจะมีส่วนสำคัญก็จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นมาก็ออกนอกระบบหมด ถ้าโครงสร้างการทำงานเหมือนๆ เดิม” โบว์ ทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า