SHARE

คัดลอกแล้ว

หนักหน่วงสำหรับสายการบิน ‘ไทยเวียตเจ็ท’ ที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประสบกับปัญหาใหญ่ที่ส่งผลถึงชื่อเสียงของสายการบินอย่างรุนแรงมากกว่ารอบไหนๆ เพราะสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจสายการบินแล้วคงไม่มีความเสียหายที่กระทบชื่อเสียงใดจะรุนแรงเท่ากับเรื่อง ‘ดีเลย์’ ที่เคยทำให้สายการบินชื่อดังอย่างนกแอร์ต้องประสบปัญหาขาดความเชื่อมั่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะกอบกู้ชื่อเสียงคืนมาได้สำเร็จ

เหตุผลอะไร ‘ไทยเวียตเจ็ท’ ถึงประสบปัญหาดีเลย์ไฟล์ท ต้องยกเลิกเที่ยวบินติดๆ กัน และแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคตของสายการบินเป็นอย่างไร  workpointTODAY เรียบเรียงมา ณ ที่นี้

1) ก่อนจะเข้าเรื่องขออธิบายที่มาที่ไปและประวัติของสายการบิน ‘ไทยเวียตเจ็ท’ เล็กน้อย เพื่อให้พื้นฐานของสายการบินใกล้เคียงกัน สายการบิน ‘ไทยเวียตเจ็ท’ หรือ บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต็อค จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2015  เป็นสายการบินลูกของสายการบิน ‘เวียตเจ็ทแอร์’ สายการบินดาวรุ่งสัญชาติเวียดนามที่กำลังเติบโตโดดเด่นในตลาด

โดยสายการบินไทยเวียตเจ็ทให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ (low-cost airline) ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยมีฐานอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปัจจุบันมีเส้นทางภายในประเทศกว่า 14 เส้นทาง และมีเส้นทางระหว่างประเทศสู่เวียดนาม ไต้หวัน และจีน ผ่านมาเป็นเวลากว่า 6 ปีสายการบินไทยเวียตเจ็ทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีจำนวนฝูงบินกว่า 15 ลำและมีแผนที่จะเพิ่มเครื่องสู่ฝูงบินอย่างต่อเนื่อง

2) กลับมาเริ่มต้นเหตุการณ์ที่กลายเป็นดรามาครั้งใหญ่ ณ วันที่ 3 เม.ย. 2021 เหตุการณ์เที่ยวบินโดยสารของสายการบินไทยเวียตเจ็ทดีเลย์กว่า 5 ชั่วโมงกลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง หลังจากมีผู้โดยสารรายหนึ่งโพสต์ภาพกลุ่มผู้โดยสารไทยเวียตเจ็ทหลายสิบชีวิตกำลังรุมสอบถามพนักงานภาคพื้นของสายการบินเกี่ยวกับสถานการณ์ดีเลย์ที่กำลังเผชิญ โดยแคปชันของผู้โดยสารคนดังกล่าวระบุว่า “อากาศยานไร้คนขับ” เนื่องจากพนักงานภาคพื้นสายการบินไทยเวียตเจ็ทแจ้งต่อผู้โดยสารว่า “ตอนนี้ไม่มีกัปตันค่ะ บินแน่นอน แต่ระบุเวลาชัดเจนไม่ได้จริง ๆ ค่ะ” ทำให้อารมณ์ของผู้โดยสารที่กำลังคุกรุ่นอยู่แล้วคุกรุ่นยิ่งกว่าเดิม

3) โดยนอกจากโพสต์ของผู้โดยสารคนดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้โดยสารในไฟล์ทเดียวกันของไทยเวียตเจ็ทอีกหลายรายระบายความไม่พอใจลงบนโซเชียลมีเดีย โดยมีคลิปวิดีโอหนึ่งคลิปที่ตีคู่มาในเวลาเดียวกัน เป็นวิดีโอที่ฉายให้เห็นผู้โดยสารชายวัยกลางคนกำลังต่อว่าพนักงานภาคพื้นดินของไทยเวียตเจ็ทอย่างรุนแรง  โดยระบุว่าตนยังไม่ได้ทานข้าวจะเดินออกไปก็ทำไม่ไหว เพราะเจ็บเข่า ทำให้เดือดร้อนทั้งคนเดินทางและคนที่มารอรับที่สนามบินปลายทาง พร้อมกล่าว “คุณไม่มีสิทธิ์มาบอกให้ผมใจเย็น ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในสถานะแบบผม” ด้วยอารมณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง

4) หลังจากเหตุการณ์ถูกแชร์ออกไปก็มีผู้แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ถามถึงระบบการจัดการของสายการบินไทยเวียตเจ็ท พร้อมเรียกร้องให้สายการบินชี้แจงว่าจำนวนเที่ยวบินที่เปิดขายสอดคล้องกับจำนวนเครื่องบินที่มีในฝูงหรือไม่ และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการดีเลย์ เลื่อนเวลาบิน และยกเลิกเที่ยวบินในช่วงที่ผ่านมา

5) ในวันเดียวกันสายการบินไทยเวียตเจ็ทได้ออกชี้แจงผ่านเฟสบุ๊กเพจ Vietjet โดยระบุว่า เที่ยวบินของไทยเวียตเจ็ทบางส่วนมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลา เนื่องจากเหตุผลด้านการปฏิบัติการบิน (Recommendation for re-scheduled flights) พร้อมระบุว่า สายการบินได้ดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงคูปองอาหาร การเปลี่ยนเที่ยวบินโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การชดเชย และจัดหาที่พักหากมีความจำเป็น

6) นอกจากนั้น สายการบินไทยเวียตเจ็ท ยังยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการบินเป็นไปเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจะได้รับแจ้งจากสายการบินทางอีเมล ข้อความ หรือระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ โดยเที่ยวบินอื่นๆ และเที่ยวบินในวันถัดไปยังคงให้บริการตามปกติ และสายการบินขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

7) ก่อนในวันที่ 5 เม.ย. 2021 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ที่มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินการด้านการบินในประเทศไทย ได้ออกคำสั่งให้สายการบินปฏิบัติตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 ระบุ แม้สาเหตุเกิดจากมาตรการความปลอดภัย แต่สายการบินจะต้องดูแลผู้โดยสารและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

โดยให้สายการบินไทยเวียตเจ็ทรวบรวมหลักฐานการดูแลผู้โดยสาร โดยเฉพาะการชำระค่าชดเชยเป็นรายบุคคลสำหรับกรณีเที่ยวบินยกเลิกและเที่ยวบินล่าช้ามากกว่า 5 ชั่วโมง ส่งให้ กพท. ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดสำหรับการดูแลผู้โดยสารให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้หลายคนได้ทราบว่านอกจากเที่ยวบินกรุงเทพฯ – อุดรธานีที่ได้รับผลกระทบหนักแล้ว ยังมีอีกหลายเที่ยวบินในวันนั้นที่ได้รับผลกระทบจากทั้งการยกเลิกเที่ยวบินและความล่าช้าของเที่ยวบิน

8) หลังจากนั้นมีรายงานว่า สายการบินไทยเวียตเจ็ทได้เข้าชี้แจงกับ กพท. เกี่ยวกับเที่ยวบินที่ได้รับผลกระทบและการชดเชยตามระดับความเสียหายที่สายการบินได้จัดชดเชยให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอาหารและเครื่องดื่ม การเปลี่ยนเที่ยวบินโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม การคืนเงินเต็มจำนวน และการจัดหาที่พัก (ในกรณีที่จำเป็น) รวมทั้งหมด 12 เที่ยวบิน ได้แก่ กรณียกเลิกเที่ยวบิน VZ120/121 และเที่ยวบิน VZ2106/2107 เส้นทาง สุวรรณภูมิ – เชียงใหม่และกลับ

กรณีเที่ยวบินล่าช้ามากกว่า 5 ชั่วโมงของเที่ยวบิน VZ204/205 เส้นทาง สุวรรณภูมิ – อุดรธานีและกลับ และเที่ยวบิน VZ310/VZ311 เส้นทาง ภูเก็ต-สุวรรณภูมิและกลับ

กรณีเที่ยวบินล่าช้ามากกว่า 3 ชั่วโมง ของเที่ยวบิน VZ214/215 เส้นทาง สุวรรณภูมิ – ขอนแก่นและกลับ รวมถึงเที่ยวบิน VZ310/311 เส้นทาง สุวรรณภูมิ-ภูเก็ตและกลับ

9) โดยหลังจาก กพท. มีคำสั่งดังกล่าว สายการบินไทยเวียตเจ็ทยังได้ออกแถลงการณ์ชดเชยเพิ่มเติมอีกฉบับ โดยมอบบัตรกำนัลมูลค่า 300 บาทเพิ่มเติมแก่ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากเวลาบินที่ล่าช้าจากกำหนดเดิมเกิน 1 ชั่วโมงขึ้นไปในเที่ยวบินระหว่างวันที่ 1-10 เม.ย. 2021 โดยระบุจะส่งบัตรกำนัลตรงสู่มือผู้โดยสารผ่านอีเมลที่ใช้ในการจองบัตรโดยสาร และหากผู้โดยสารคนใดไม่ได้รับสามารถแจ้งเข้ามาตามแบบฟอร์มของไทยเวียตเจ็ทได้เลย

10) คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ทำไมสายการบินไทยเวียตเจ็ทถึงดีเลย์ต่อเนื่องเป็นคอมโบภายใน 1 วัน และสายการบินจะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างไรกันแน่ แหล่งข่าวภายในสายการบินไทยเวียตเจ็ท ระบุว่า จุดเริ่มต้นของมหากาฬดีเลย์ เลื่อน และยกเลิกเที่ยวบินในวันที่ 3 เม.ย. เกิดจากหลายสาเหตุ โดยหลักๆ เกิดจากเครื่องบินเกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิคกะทันหัน ทำให้ต้องจอดซ่อมบำรุงด่วน ส่งผลให้เที่ยวบินเริ่มล่าช้า

ผนวกกับการจราจรที่หนาแน่นภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจนเกิดการดีเลย์สะสมเพิ่มเติม ทำให้นักบินและลูกเรือชุดที่จะต้องทำการบินหมดเวลาบิน (ส่วนหนึ่งของข้อบังคับทางการเดินทางอากาศที่กำหนดชั่วโมงทำงานนักบิน) ทำให้สายการบินฯ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนนักบินและลูกเรือยกชุด และจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของพนักงานภาคพื้นดิน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดกรณี “อากาศยานไร้คนขับ” ขึ้น

11) โดยแหล่งข่าวจากสายการบินไทยเวียตเจ็ท อธิบายต่อว่า วันที่ 3 เม.ย. 2021 เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นหลายเหตุการณ์ในวันเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อตารางบินของสายการบินไทยเวียตเจ็ทอย่างมาก และด้วยจำนวนผู้โดยสารที่มากกว่าในอดีต ทำให้ความเสียหายมากตามด้วย โดยสายการบินยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมดและจะเดินหน้าปรับปรุงบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารอย่างสูงสุด

12) ในขณะที่บางความคิดเห็นถามถึง ‘เครื่องบินสำรอง’ นั้น คาดว่าน่าจะเป็นไปได้ยากและไม่พบเห็นการจัดการการบินในลักษณะนี้ในหมู่สายการบินต้นทุนต่ำ เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและการบริหารจัดการสายการบินให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ขึ้นอยู่กับ ‘การบริหารจัดการต้นทุน’ ของแต่ละสายการบิน ดังนั้น Utilization Rate หรือชั่วโมงการใช้ประโยชน์เครื่องบินจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทำให้สายการบินต้นทุนต่ำแต่ละสายการบินจะต้องจัดตารางบินให้สามารถใช้เครื่องบินได้อย่างเต็มความสามารถและเร่งเพิ่มชั่วโมงการใช้ประโยชน์ให้สูงสุด โดยไม่สามารถจอดเครื่องบินทิ้งไว้สำรองได้

13) ในส่วนของสายการบิน ‘ไทยเวียตเจ็ท’ มีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารสูงมาก โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา แม้จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 ก็ไม่มีการหยุดบินหรือลดคนแต่อย่างใด โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ไทยเวียตเจ็ทสามารถขยับส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Shared) ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ของตลาดได้ในที่สุดซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก หลังเริ่มทำตลาดไทยมาเกินกว่า 5 ปี

14) อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์วันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยเวียตเจ็ทเกิดเหตุการณ์ดีเลย์หลายชั่วโมง เพราะในวันที่ 12 พ.ย. ปลายปีก่อนก็มีเหตุการณ์ดีเลย์กว่า 6 ชั่วโมงเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ – ภูเก็ต โดย ณ เวลานั้นสายการบินชี้แจงว่า เกิดจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิค อากาศยานจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและการบำรุงรักษา เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการปฏิบัติการบิน โดยคาดว่าปัญหาทางเทคนิครวมถึงการดีเลย์หลายครั้งน่าจะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ไทยเวียตเจ็ทเร่งเครื่องเต็มที่วางแผนขยายฝูงบินจาก 15 เป็น 25 ลำภายในปีนี้

15) นายรณน วิพุทธิศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียดเจ็ท เคยให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY เอาไว้ว่า ในปี 2021 นี้หากไม่มีอะไรผิดพลาดสายการบินไทยเวียตเจ็ทซึ่งพึ่งรับเครื่องเพิ่มจาก 11 เป็น 15 ลำในปี 2020 จะเร่งรับเครื่องเพิ่มอีกอย่างน้อย 10 ลำภายในปี 2021 นี้ โดยภายในสิ้นปีไทยเวียตเจ็ทจะมีเครื่องบิน 25 ลำในฝูงบิน

16) ถึงจะมีความตั้งใจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่แหล่งข่าวภายในจากสายการบินไทยเวียตเจ็ท เผยว่ามีความเป็นไปได้ที่การรับเครื่องบินเข้าฝูงจะถูกขยับเวลาออกไป เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกสามที่ทำให้มีผู้โดยสารยื่นคำร้องขอเลื่อนเที่ยวบินโดยสารมามากกว่า 10,000 ครั้ง ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อแผนของสายการบินในช่วงถัดไป

อย่างไรก็ตาม หาก ‘ไทยเวียตเจ็ท’ ไม่เดินหน้าแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติการการบินและจำนวนฝูงบินนี้โดยเร็วก็อาจจะนำมาซึ่งความเสียหายเกินรับมือเช่นครั้งนี้

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า