SHARE

คัดลอกแล้ว

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กางแผนความพร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ประกาศขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใหม่ “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำแห่งอนาคต” (Leading Comprehensive University for Future Societies) เดินหน้าปฏิรูประบบการเรียนรู้ พัฒนาหลักสูตรทั้ง 19 คณะ 6 วิทยาลัย 2 สถาบัน 298 หลักสูตรที่เชื่อมโยงสหวิทยาการทั้งด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ พร้อมตั้งเป้าเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยไทยที่ผลิต “ผู้นำ” และ “แรงงานคุณภาพสูง” ตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ทุกมิติ นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดหลักสูตรและรายวิชาใหม่ อาทิ จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้นำอนาคต กลุ่มวิชา Finance & Investment ซึ่งสอดรับกับวิถีชีวิต สังคมและเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนมุ่งเป้าพัฒนาทักษะบัณฑิตสู่ทาเลนต์ที่เพียบพร้อมทั้ง Hard Skills , Soft Skills , Future Skills มุ่งสู่ภาวะการมีงานทำหลังจบการศึกษาได้ 100%

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในยุคที่ทุกบริบทโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมบัณฑิตให้พร้อมสู่อนาคต ซึ่งจากรายงานของ World Economic Forum ปี 2024 พบว่า “การคิดวิเคราะห์” (Analytical thinking) เป็นทักษะหลักที่ภาคธุรกิจมองว่าจำเป็นสูงสุดในปี 2025 โดยสูงถึง 68% รองลงมาคือ “ความยืดหยุ่น และความคล่องตัว” (67%) และ “ภาวะผู้นำและอิทธิพลทางสังคม” (61%) สะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะทั้งด้านความคิด การสื่อสาร และการปรับตัวในโลกที่ผันผวน ขณะเดียวกัน ที่น่าสนใจคือกลุ่มอาชีพด้านเทคโนโลยีกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2025–2030 โดยเฉพาะอาชีพ “ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลขนาดใหญ่” (Big Data Specialists) ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงถึงกว่า 100% ตามด้วย “วิศวกรฟินเทค” (FinTech Engineers) และ “ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning” ที่ต่างเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยังมีอาชีพที่เติบโตควบคู่กัน เช่น นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้สร้างความมั่นคงไซเบอร์ และวิศวกรพลังงานหมุนเวียน และในทางกลับกัน หลายอาชีพดั้งเดิมกำลังถูกลดบทบาทลงอย่างชัดเจน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้ตอกย้ำถึงความเร่งด่วนในการเสริมทักษะใหม่ให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะทักษะเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวเสริมว่า ม.ธรรมศาสตร์ จึงเดินหน้ายกระดับการศึกษาไทยสู่ระดับโลก ด้วยการเปิดแผนยุทธศาสตร์ใหม่ภายใต้แนวคิด “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต” (Leading Comprehensive University for Future Societies) พร้อมยังตั้งเป้าสร้าง Global Impact University เพื่อให้คนของธรรมศาสตร์ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยปรับปรุงและพัฒนากว่า 298 หลักสูตร ครอบคลุมทั้งด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สร้างบัณฑิตที่มีความรู้รอบด้านในเชิงประจักษ์ พร้อมลงมือปฏิบัติได้จริง และมีศักยภาพในการเป็นผู้นำยุคใหม่ที่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในปัจจุบันและตอบโจทย์ความต้องการสังคมแห่งอนาคตได้อย่างมีประสิทธิผล

โดยยุทธศาสตร์ใหม่นี้ประกอบด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ การเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) ชั้นนำแห่งอนาคต มุ่งบูรณาการองค์ความรู้หลากศาสตร์และการพัฒนาทักษะทางการวิจัยให้ตอบสนองต่อการเรียนรู้ยุคใหม่ การเป็นมหาวิทยาลัยของสังคม โดยเน้นการผลิตบัณฑิตจิตสาธารณะ พร้อมสร้างความเข้าใจเชื่อมโยงกับชุมชนด้วยนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ การสร้างความสุขและความยั่งยืนให้กับประชาคมธรรมศาสตร์ ผ่านการใช้ระบบการบริหารแบบยั่งยืน และแผนงานเชิงระบบที่เน้นการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิด Outcome-Based Education (OBE) การยกระดับทักษะทั้ง Hard Skills และ Soft Skills พร้อมผลักดันการเรียนรู้แบบ Experiential Learning และ Co-operative Education ให้เกิดขึ้นในทุกคณะ

“แผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้มุ่งเน้นการบูรณาการการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary Learning) การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง (Experiential Learning) และการร่วมออกแบบหลักสูตรร่วมกับภาคธุรกิจ โดยเริ่มทยอยปรับหลักสูตรในปีการศึกษา 2567 และตั้งเป้าใช้เต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2570 โดยมีการออกแบบโครงสร้างหลักสูตรตามแนวคิด Outcome-Based Education (OBE) และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ครอบคลุมการจัดทำผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้งระดับหลักสูตร และรายวิชาตามมาตรฐานของ กกอ. โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติในรายวิชาต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและฝึกทักษะจริงในสถานประกอบการมากกว่า 405 ชั่วโมง รวมถึงการพัฒนากลุ่มหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้แบบ Experiential Learning ผ่านโครงงานและปัญหาจริงจากภาคสนาม สอดรับกับเป้าหมายการสร้าง “บัณฑิตพร้อมทำงาน” อย่างแท้จริง นอกจากนี้ การปรับปรุงทุกหลักสูตรยังมุ่งส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอกทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน และกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ องค์กรด้านเทคโนโลยี พร้อมยกระดับการเรียน e-Learning และสร้าง Common Core ภายในคณะเพื่อประโยชน์ร่วมกันทุกหลักสูตร ในขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและการมีวิชาที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลได้”

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือการผลักดัน รายวิชาเสริมทักษะเชิงลึกเพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต โดยเร็ว ๆนี้จะมีการเปิดสอน รายวิชา TU280 “จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้นำอนาคต” (Artificial Intelligence Ethics for Leader of the Future) ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับใหม่ทันกับกระแส AI และเทคโนโลยีแห่งอนาคตโดยตรง มุ่งพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้เข้าใจในประเด็นจริยธรรม เทคโนโลยี และความเชื่อมั่นการใช้ AI อย่างลึกซึ้ง ต่อเนื่องถึงการเสริมสร้างภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ ความแตกต่างของรายวิชานี้คือ      ไม่ได้สอนเพียงการใช้เทคโนโลยี แต่เป็นการฝึกนักศึกษาให้เข้าใจโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยน พร้อมตั้งคำถามอย่างมีจริยธรรมต่อการใช้ AI ในชีวิตมนุษย์ สังคม และระบบเศรษฐกิจในอนาคต เป็นการบ่มเพาะผู้นำที่คิดเป็น ทำเป็น และรับผิดชอบต่อผลกระทบในระดับโลกได้จริง และเป็นหัวใจของการสร้าง “Ethical Leaders” แห่งยุค AI ที่จะไม่ยึดติดเพียงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว โดยพร้อมเปิดสอนในภาคการศึกษา 2568 นำโดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ ยังเปิดหมวดวิชา Finance & Investment ครอบคลุมหัวข้อที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ อาทิ ความรู้การเงินในชีวิตประจำวัน การลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี การวางแผนภาษี ต้นทุนโอกาส และการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยร่วมออกแบบหลักสูตรกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำ เช่น SET SCB GULF และ Bangkok Bank เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้แบบ Online หรือ E-learning ได้อย่างยืดหยุ่น เหมาะกับการพัฒนาทักษะควบคู่กับการเรียนหลักสูตรปกติ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาเป็นจำนวนมาก เห็นได้ชัดจากการที่ได้มีการเปิดหลักสูตร SET E-learning ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงเดือนมีนาคม 2568 มีนักศึกษาลงเรียนวิชาต่าง ๆ ของหลักสูตรแล้วกว่า 22,000 คน

อย่างไรก็ดี ธรรมศาสตร์ยังวางทิศทางการเตรียมบัณฑิตให้พร้อมสู่ตลาดแรงงาน ด้วยการเน้น “ทักษะอาชีพที่สำคัญ” ทั้ง ‘Hard Skill’ เช่น ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ กฎหมาย และการเงิน ‘Soft Skill’ เช่น การสื่อสาร แก้ปัญหา และการเป็นผู้นำ รวมถึง ‘Adaptability Skill’ ได้แก่ ความยืดหยุ่น การทำงานเป็นทีม และการวิเคราะห์ความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมทักษะเฉพาะด้าน เช่น ความเข้าใจจริยธรรม AI และการทำงานข้ามวัฒนธรรม เพื่อให้บัณฑิตธรรมศาสตร์เป็น Talent ที่โดดเด่นพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนในทุกมิติ

“ในภาพรวม มหาวิทยาลัยวางเป้าหมายให้บัณฑิตมีความรู้เชิงวิชาการควบคู่กับทักษะปฏิบัติจริง และมีประสบการณ์วิชาชีพ โครงการ หรือฝึกงานอย่างน้อย 6 หน่วยกิต โดยคาดหวังให้ทุกหลักสูตรสามารถพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้มีทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) เพื่อเติบโตอย่างมั่นคงในโลกการทำงานยุคใหม่ได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังได้ตั้ง “ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ” (TUCEEC) เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาและศิษย์เก่า ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นอย่าง Hard Skills , Soft Skills รวมถึง Future Skills เรื่องของ AI และการตลาดดิจิทัล โดยมีเป้าหมายจัดอบรมและกิจกรรมกว่า 100 รายการในช่วงปี 2568–2570 เพื่อสร้างแรงส่งสู่การมีงานทำทันทีหลังจบการศึกษาให้ได้ 100%”

การวางกลยุทธ์ด้านบุคลากร มหาวิทยาลัยยังเร่งยกระดับศักยภาพอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญสู่การเป็น “ผู้นำการเรียนรู้” อย่างเป็นระบบ ผ่านแนวทาง Professional Standard Framework (PSF) ซึ่งเป็นกรอบมาตรฐานสากลเพื่อส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอนในระดับสูง โดยตั้งเป้าหมายให้อาจารย์ผ่านการรับรองมาตรฐาน PSF ระดับ 2 ขึ้นไป (PSF 2+) อย่างน้อย 100 คนภายในปีงบประมาณ 2568–2570 ทั้งนี้ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาอาจารย์ให้เป็นผู้มีบทบาทผู้นำการสร้างการเรียนรู้เชิงรุก และออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนยุคใหม่อย่างแท้จริง ทั้งในระดับปริญญาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ และความร่วมมือหลักสูตรแบบ Dual Degree กับสถาบันพันธมิตรทั่วโลก เพื่อสร้างเครือข่ายวิชาการระดับสากลที่เชื่อมโยงการเรียนรู้อย่างไร้พรมแดนได้

“หลายปีที่ผ่านมากลุ่มเป้าหมายของคนที่ต้องการศึกษาที่ม.ธรรมศาสตร์ อยู่ในทุกช่วงวัย และมีความหลากหลาย สิ่งเหล่านี้จึงทำให้มหาวิทยาลัยตระหนักถึงการต้องพัฒนาสร้างหลักสูตรที่รองรับความต้องการที่ไม่สิ้นสุดให้กว้างมากขึ้น อีกทั้งจำเป็นจะต้องเน้นการผลิตบุคลากรในเชิงคุณภาพ สวนทางกับช่วงที่ประชากรโลกมีอัตราการเกิดลดลง นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังที่จะเป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษา – การเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นในแบบองค์รวม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกระดับส่วนต่าง ๆ ของประเทศในภาพรวมได้ในที่สุด”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า