SHARE

คัดลอกแล้ว

‘The Future I Saw’ มังงะชื่อดังผลงานของนักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ‘เรียว ทัตสึกิ’ เคยสร้างเสียงฮือฮามาแล้วในอดีต หลังจากเนื้อหาในเรื่องถูกโยงเข้ากับภัยพิบัติและเหตุการณ์สำคัญระดับโลกหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น สึนามิปี 2011, การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา ไปจนถึงโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 จนมีคนจำนวนไม่น้อยกล่าวว่า เนื้อหาในมังงะเรื่องนี้ “ทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำจนน่าขนลุก”

และในปีนี้ The Future I Saw กลับมาสร้างกระแสความสนใจอีกระลอก เมื่อคำทำนายหนึ่งในเนื้อเรื่องระบุว่า “จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนกรกฎาคม 2025” ซึ่งตรงกับช่วงฤดูท่องเที่ยวพอดี ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนรู้สึกไม่สบายใจ ถึงขั้นเลื่อนหรือยกเลิกแผนการเดินทางมายังญี่ปุ่น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน่าสนใจไม่น้อย และชวนให้ตั้งคำถามว่า เรื่องราวในมังงะเล่มนี้ ‘แม่นจริง’ หรือแค่ ‘บังเอิญ’ ไปตรงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พอดี? บทความนี้จะพาไปถอดรหัส The Future I Saw พร้อมโยงเข้ากับคำพยากรณ์อื่น ๆ ทั้งจาก นอสตราดามุส, บาบา วานกา และนักพยากรณ์ร่วมสมัย เพื่อสำรวจว่า ‘คำทำนาย’ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์มากแค่ไหน เพราะบางเรื่อง ควรถูกตั้งคำถาม มากกว่าจะตื่นตระหนกไปล่วงหน้า 

 

The Future I Saw: มังงะที่ทำให้คนหยุดหัวเราะกับอนาคต

The Future I Saw เป็นมังงะที่ผู้เขียน เรียว ทัตสึกิ อ้างว่าอิงจากบันทึกความฝันของเธอเองตั้งแต่ปี 1976 ซึ่งเป็นความฝันที่มาพร้อม ‘ภาพนิมิตของอนาคต’ และเธอได้นำมันมาถ่ายทอดเป็นการ์ตูน ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1999

ดูเผิน ๆ หนังสือเล่มนี้ก็ดูเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้มันถูกพูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้ คือคำทำนายเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นสึนามิที่ถล่มญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ซึ่งตรงกับคำในมังงะที่เขียนไว้ว่า “จะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น เดือนมีนาคม 2011”

นับตั้งแต่นั้นมา The Future I Saw ก็กลายเป็นกระแสที่คนพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นกลายเป็นมังงะที่ดังเป็นพลุแตก มีแต่คนตามหามาอ่าน โดยเฉพาะเมื่อมีคนสังเกตว่า เรื่องราวหลายตอนในมังงะนั้นดันไปตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อย่างเช่น 

การเสียชีวิตของ เฟรดดี เมอร์คิวรี นักร้องนำวง Queen ผู้เป็นตำนานแห่งวงการเพลงร็อกอังกฤษ โดยทัตสึกิอ้างว่า เธอฝันเห็นการเสียชีวิตของเฟรดดีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1976  และ 15 ปีถัดมา เฟรดดีเสียชีวิตในวันเดียวกัน คือ 24 พฤศจิกายน 1991

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบ ทัตสึกิบอกว่าเธอฝันเห็น “แผ่นดินแยก” ในวันที่ 2 มกราคม 1995 และไม่ถึงเดือนต่อมา แผ่นดินไหวใหญ่ก็เกิดขึ้นจริงที่โกเบ ในวันที่ 17 มกราคม 1995 หรือแม้แต่การสิ้นพระชนม์ของ เจ้าหญิงไดอานา — เธอก็ฝันเห็นเหตุการณ์นี้ ก่อนเกิดอุบัติเหตุในปี 1997

แต่หากพิจารณาให้ลึกขึ้น จะพบว่าเหตุการณ์ทั้งหลายที่ถูกกล่าวถึง  ไม่ว่าจะเป็น การเสียชีวิตของเฟรดดี, แผ่นดินไหวที่โกเบ หรือแม้แต่เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์ ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1999 จึงทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า บางคำทำนายในเล่ม อาจเป็นการ “ตีความย้อนหลัง” หรือมีการ “แก้ไขต้นฉบับ” ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในโลกความจริงภายหลังหรือไม่?

 

คำทำนายใหม่: แผ่นดินไหวใหญ่เดือนกรกฎาคม 2025

แม้จะมีข้อสงสัยเรื่องความน่าเชื่อถือของคำทำนายก่อนหน้า แต่สิ่งที่ทำให้ The Future I Saw ถูกยกขึ้นมาเทียบชั้นกับนักพยากรณ์ชื่อดังอย่าง นอสตราดามุส หรือ บาบา วานกา ก็คือคำทำนายแผ่นดินไหวและสึนามิในเดือนมีนาคม 2011 ที่แม่นยำจนไม่น่าเชื่อ

และในปี 2021 ทัตสึกิก็กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อเธอตีพิมพ์มังงะฉบับสมบูรณ์ The Future I Saw: Complete Edition โดยเพิ่มคำทำนายใหม่ ว่าจะเกิดภัยพิบัติใหญ่ใน เดือนกรกฎาคม 2025

เธอเล่าว่าในปี 2021 เธอฝันเห็นพื้นทะเลยกตัวขึ้นผิดปกติ ราวกับมีพลังบางอย่างเคลื่อนตัวใต้เปลือกโลก ก่อนจะเกิดคลื่นยักษ์โถมเข้าสู่ชายฝั่ง ผู้คนพากันกรีดร้อง วิ่งหนีเอาชีวิตรอด และทัตสึกิบอกว่า “นี่ไม่ใช่แค่สึนามิ… แต่มันคือมหาภัยพิบัติที่รุนแรงกว่าปี 2011 ถึง 3 เท่า”

 

คำทำนายสะเทือนญี่ปุ่น ท่องเที่ยวทรุด นักท่องเที่ยวแห่ยกเลิกทริป

แม้ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าคำทำนายของทัตสึกิใน The Future I Saw: Complete Edition จะเป็นจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ “เกิดขึ้นจริงแล้ว” คือผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของญี่ปุ่น

ซีเอ็น หยวน ผู้อำนวยการบริหารบริษัทท่องเที่ยว “WWPKG” ในฮ่องกง ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า ยอดจองไปญี่ปุ่นลดลงถึงครึ่งหนึ่งในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องอีกในสองเดือนถัดไป

หยวนอธิบายว่า นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยรู้สึกกังวลจากคำทำนายในมังงะ จนไม่กล้าเดินทางไปญี่ปุ่น ที่สำคัญกว่านั้น ไม่เพียงแค่ที่ฮ่องกง CNN ยังตั้งข้อสังเกตว่า กระแสความหวาดกลัวคำทำนายกำลังแพร่ไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น ไทย และ เวียดนาม โดยพบว่ามีคำเตือนกระจายอยู่ทั่วไปในโซเชียลมีเดีย แนะให้ผู้คน “คิดให้ดี” ก่อนตัดสินใจเดินทาง

ความจริงทางวิทยาศาสตร์: แผ่นดินไหวไม่มีใครรู้ล่วงหน้า

คำถามสำคัญคือ  คำทำนายในมังงะที่ระบุว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในเดือนกรกฎาคม 2025 นั้น มีโอกาสเป็นจริงได้แค่ไหน?

หากมองในแง่วิทยาศาสตร์ คำตอบค่อนข้างชัดเจนว่า แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ  ไม่ว่าจะเป็นวัน เวลา หรือสถานที่

แม้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถระบุพื้นที่เสี่ยง หรือประเมินโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้คร่าว ๆ แต่การเจาะจงว่า “จะเกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน” นั้น ยังเกินขีดความสามารถของเทคโนโลยีปัจจุบัน

ดังนั้น ต่อให้คำทำนายบางอย่างดูน่าตื่นเต้น หรือคล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง ก็ไม่อาจถือเป็น “หลักฐาน” ว่าจะเกิดซ้ำในอนาคต

การเข้าใจโลกตามหลักวิทยาศาสตร์ จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีเหตุผลที่สุด ในการเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว  มากกว่าการใช้ความกลัวเป็นเครื่องนำทาง

 

บทเรียนจากคำทำนายในอดีต: ยิ่งคลุมเครือ ยิ่งสร้างแรงกระแทกแรง

The Future I Saw ไม่ใช่แค่ “วรรณกรรมทำนายอนาคต” เรื่องเดียวที่เคยสร้างแรงสะเทือนในใจผู้คน ในอดีตเราก็เคยเห็นคำทำนายประเภทนี้มาแล้วหลายครั้ง และแต่ละครั้งก็มักทำให้ผู้คน ‘เชื่อจนกลัว’ อย่างยากจะห้าม

หนึ่งในตัวอย่างคลาสสิกคือ นอสตราดามุส นักพยากรณ์ชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 ผู้ทิ้งข้อความทำนายไว้เป็นกลอนปริศนา หลายคนเชื่อว่าคำทำนายของเขาตรงกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างการปฏิวัติฝรั่งเศส สงครามโลก หรือ 9/11 ขณะที่ฝั่งตะวันออกก็มี บาบา วานกา หมอดูหญิงตาบอดชาวบัลแกเรีย ที่ได้ฉายาว่า “นอสตราดามุสแห่งบอลข่าน” เพราะเคยทำนายเหตุการณ์อย่าง 9/11 และภัยพิบัติทางธรรมชาติไว้ล่วงหน้าเช่นกัน

คำทำนายเหล่านี้ล้วนมีจุดร่วมคือ ‘ความคลุมเครือ’ ที่เปิดช่องให้ผู้คนตีความและโยงเข้ากับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ไม่มีการระบุเจาะจงชัดเจน แค่มีคำว่า “ไฟไหม้ เมืองพัง ท้องฟ้าแตก” พอมีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นมา เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว หรือภัยสงคราม คนก็จะย้อนกลับมาเชื่อมโยงว่า “ตรงกับเหตุการณ์อย่างไม่น่าเชื่อ”

แม้แต่คำทำนายที่เกิดจากความเข้าใจผิดอย่าง วันสิ้นโลก 2012 ที่มีคนตีความปฏิทินมายันผิดว่า “โลกจะแตกวันที่ 21 ธันวาคม 2012” ก็เคยทำให้ผู้คนแตกตื่นถึงขั้นยกเลิกทริป แต่งงาน หรือขายทรัพย์สินหนีภัย หรือกรณี Y2K ที่กลัวกันว่าคอมพิวเตอร์จะล่มทั้งโลกตอนขึ้นปี 2000 ก็ล้วนแสดงให้เห็นกลไกเดียวกัน ความกลัวอนาคตจากข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน

คำถามคือ ทำไม “ความคลุมเครือ” ถึงส่งแรงกระแทกได้มากขนาดนั้น? เพราะมันกระตุ้นกลไกทางจิตวิทยาที่ลึกมาก เช่น “การยืนยันอคติ” (confirmation bias) ที่ทำให้เรามักหาหลักฐานมายืนยันสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว หรือ “จิตวิทยาฝูงชน” ที่ทำให้เรารู้สึกกลัวตามคนอื่นง่ายขึ้น ยิ่งในยุคที่ข้อมูลแพร่กระจายไวกว่าไฟลามทุ่งในโซเชียล ความคลุมเครือจึงไม่ใช่จุดอ่อน แต่กลายเป็นจุดแข็งที่ทรงพลังที่สุดของคำทำนาย

และนี่เองที่อธิบายปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวบางกลุ่มยกเลิกทริป เลื่อนการเดินทาง เพราะคำทำนายใน The Future I Saw  เพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่ “ผู้คนพร้อมจะเติมความหมายให้คำทำนายเอง” ยิ่งคลุมเครือ ยิ่งเปิดพื้นที่ให้จินตนาการ และความกลัว เข้าไปนั่งอยู่ตรงนั้น

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า