SHARE

คัดลอกแล้ว

จากวิวาทะการขึ้นสแตนด์แปรอักษรร้อนฉ่าในวงการเมืองสู่งานวิจัยผ่านสายตานักวิชาการสหราชอาณาจักร ‘สวนกุหลาบวิทยาลัย’ กลายเป็นศูนย์กลางประเด็นร้อนในช่วงเดือนที่ผ่านมา 

สถาบันการศึกษาอายุกว่า 140 ปี แห่งนี้ไม่เพียงแต่บ่มเพาะนักเรียนชายออกจากรั้วสถาบันการศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่กลายเป็นศูนย์กลางของค่านิยม “สุภาพบุรุษ” ตามขนบไทยทาบทับในหลากหลายมิติทั้งสังคมและภาคการเมือง (ตามทรรศนะของงานวิจัยเรื่อง The Good Men of Suan Kulap : An Ethnographic Genealogy of an Elite Thai School and the Making of Political Subjects, 2022)

ในงานจตุรมิตรสามัคคีครั้งที่ 30 กระแสถกเถียงเรื่องความสมัครใจในการเข้าร่วมกิจกรรมกลายเป็นประเด็นเดือด นำมาสู่ความหวาดหวั่นว่า หรือ วัฒนธรรมในรั้วชมพู-ฟ้า จะถึงคราไร้ผู้สืบต่อแล้ว? 

ทีม TODAY พาไปจิบกาแฟ พูดคุยเรื่องนี้กับ ดร.แดเนียล ไวท์เฮาส์ นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาวิจัยสวนกุหลาบวิทยาลัย และศิษย์เก่า เพื่อเหลียวหลังแลหน้า พินิจโรงเรียนชายล้วนแห่งนี้ท่ามกลางกระแสธารการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยกัน

วิศรุต​ วี​ระ​โสภณ, Thai​ News​ Pix​

แปรอักษร – กีฬา ประดิษฐกรรมเพื่อเสริมสร้างชุมชนในจินตกรรม

จากงานวิจัยของแดเนียล เขาลงลึกในพิธีการต่างๆ ของโรงเรียนที่ส่งต่อถึงอุดมการณ์ ไม่เว้นแม้แต่กิจกรรมที่ดูเหมือนเป็นสันทนาการ อย่างกิจกรรมกีฬา – เพลงบูม – การแปรอักษร

“การแปรอักษรเป็นการผสมผสานระหว่างขั้นตอนที่หลากหลาย คุณต้องทำเพลต แล้วก็ต้องทำร่วมกันเป็นหมู่คณะ มันเป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดความรู้สึกของหมู่มวล แต่ก็มีการคุมวินัย เพราะกิจกรรมนี้บังคับให้คุณต้องอยู่ที่นั่นในห้วงเวลาหนึ่ง ไปห้องน้ำไม่ได้ ขยับร่างกายได้เวลาไหน”

การแปรอักษรคือนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองตอนที่ประเทศไทยและสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางการเมือง ’ หากไปดูต้นกำเนิดก็เกิดขึ้นในช่วงนั้นนี่ก็คือกิจกรรมส่วนหนึ่งของนวัตกรรมทางพิธีการที่มากำกับร่างกายด้วยเหมือนกันเพื่อพยายามจะหยุดนักเรียนจากการไปทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะว่า สงครามเย็นเริ่มเข้ามาแล้ว นักเรียนโรงเรียนจำนวนมากก็คือนักเรียนหัวซ้าย โรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะอัสสัมชัญ สวนกุหลาบและกรุงเทพคริสเตียน ก็เริ่มมาให้นักเรียนอยู่โรงเรียนจนค่ำมืดมากขึ้นแล้วให้มาเรียนมาซ้อมเพลงเชียร์ต่างๆ เพื่อมาเชียร์ฟุตบอล นี่คือกุศโลบายที่โรงเรียนสร้างขึ้นมา ดังนั้นเพลงเชียร์มันมากับช่วงเวลาที่วิกฤตทางการเมือง 

ขาชี้ให้คิดตามว่างานจตุรมิตรสามัคคีก็ถูกริเริ่มในช่วงทศวรรษ 2470 โดยการรวมสี่โรงเรียนชั้นนำ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในหมู่สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะ ปัจจัยต่าง ๆ ครบถ้วนทั้งสถานที่สาธารณะที่เอาไว้เล่นกีฬา นักเรียนที่มีพลังงานล้นเหลือ ดังนั้นประดิษฐกรรมนี้เลยเกิดขึ้นเพื่อถ่ายเทไปยังการสนับสนุนทีมของโรงเรียนให้เกิดความรู้สึกของความเป็นกลุ่มก้อน “กีฬาก็เลยกลายมาเป็นหนึ่งในสิ่งพื้นฐานที่เกิดขึ้นในสวนกุหลาบ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อพูดถึงลักษณะความเป็นสวนกุหลาบก็แยกออกจากกีฬาไม่ขาด อยู่บนพื้นฐานเอกลักษณ์สถาบันเหมือนๆ กับการแข่งขันระหวางอ็อกฟอร์ตเคมบริจน์”

“กีฬาเป็นจุดตัดสำคัญมาก เพราะแทรกซึมเข้าไปในหัวใจให้คนได้มีความรู้สึกกับมันท่วมท้น แถมน่าจะเป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่ทำต่อหน้าสาธารณชนที่ใหญ่ที่สุดที่โรงเรียนทำแล้ว”

เขากล่าวว่าพิธีการอื่นๆ ในปฏิทินของสวนกุหลาบจริงๆ ก็แน่นแล้ว มีพิธีและอีเวนต์แทบทุกสัปดาห์ แต่ทุกอย่างเป็นพิธีปิดหมดใช้สื่อสารกับคนใน งานจตุรมิตรสามัคคีคือพิธีเปิดต่อสาธารณชนต่อคนนอก 

“ดังนั้นชื่อเสียงระดับชาติของสวนกุหลาบก็ขึ้นอยู่กับอีเวนต์เหล่านี้ ทำให้ทุกอย่างยิ่งเพิ่มความเข้มข้น คนก็ตั้งมั่นปกป้องรักษาชื่อเสียงมากเข้าไปอีก แต่ถ้าสังเกตมันก็จะมีดราม่า เรื่องอื้อฉาวเล็กน้อยทุกครั้ง เช่นครั้งที่แล้วก็มีป้ายการเมืองไทยในกะลาใช่ไหม มันเป็นเรื่องการยันกันโดยธรรมชาติระหว่างคนต่างรุ่นที่เรามีมาตลอดในประเทศไทยหรือทั่วโลก” 

วิศรุต​ วี​ระ​โสภณ, Thai​ News​ Pix​

ย้อนธารประวัติศาสตร์ กับ ‘สปิริตสวนกุหลาบ’ ที่ลื่นไหล

“เราต้องกลับไปดูประวัติศาสตร์เล็กน้อย” แดเนียลเริ่มหลังผู้สื่อข่าวจั่วหัวถามว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นหมายความว่าโรงเรียนเก่าแก่แห่งนี้สิ้นมนต์ขลังแล้วหรือไม่? 

 “เราจะพบว่าทุกๆ ครั้งที่คนผลัดรุ่น คนรุ่นใหม่ก็มักจะคิดว่าตัวเองเป็นกลุ่มแรกที่ทำอะไรแบบนี้และทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่นออกไป แต่ถ้าไปดูในบริบทประวัติศาสตร์เราก็จะเห็นว่าเด็กสวนกุหลาบเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากรุ่นพี่ของพวกเขาในช่วงปี 2475 ในช่วงประวัติศาสตร์เดือนตุลา ช่วงทศวรรษ 2520 2530 หรือ 2470 เป็นต้นมา

นักมานุษยวิทยายกตัวอย่างโดยการเล่าให้เราฟังว่าวันที่เกิดการปฏิวัติขึ้น ปรีดี พนมยงค์ ถึงกับส่ง สงวน ตุลารักษ์  หนึ่งในคณะราษฎคนสนิทไปโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยพร้อมกับรถถัง เมื่อไปถึงโรงเรียน นายสงวนก็เรียกระดมเด็กสวนกุหลาบวัยโตและบรรดาครูออกมา แสดงปืนแล้วบอกว่าการปฏิวัติกำลังเกิดขึ้นและพวกเธอต้องเข้าร่วมกับเรา 

มีเด็กจำนวนมากที่ตื่นเต้นเพราะมันเป็นอะไรที่แตกต่างจากของเดิมกำลังเกิดขึ้น เด็กๆ เคลื่อนพลไปที่รัฐสภาและเริ่มชุมนุมสนับสนุนคณะราษฎรหลังจากนั้นนักเรียนสวนกุหลาบก็ปรับตัวมาใช้ภาษาใหม่ที่มากับขบวนการประชาธิปไตยที่พวกเขาไม่เคยใช้มาก่อน แล้วก็เริ่มเห็นการชุมนุมมากขึ้นจากนักเรียนต่างๆ มีการไฮด์ปาร์กที่สวนลุมพินี 

ดเนียลชี้ชวนให้ฟังว่าจริงๆ แล้วบรรยากาศทางการเมืองขณะนั้นตื่นตัวในหมู่เยาวชนในโรงเรียนชั้นนำจำนวนมากไม่เพียงแต่สวนกุหลาบ นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญเคยประท้วงซิทอิน (ประท้วงโดยการนั่งเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์)  ในโรงเรียนเพื่อเรียกร้องให้เพื่อนถูกไล่ออกกลับมาเรียนด้วย พวกเขาเขียนธรรมนูญของตัวเองออก มีความกระตือรือร้นทางการเมืองอย่างมาก

“น่าสนใจที่รัฐบาลประชาธิปไตยในตอนนั้น กลับไม่ได้ชอบที่นักเรียนเอี่ยวการเมืองสักเท่าไหร่ ว่ากันตามจริงปรากฎการณ์ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมาก็คือสิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ พะวงมาตลอดว่าเด็กวัยรุ่นจะเริ่มคิดอ่านทำอะไรแบบนี้ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่เป็นชนชั้นสูง ตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมาเราก็เลยเห็นการควบคุมด้านวินัยอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมาการทำโทษทางร่างกายของสวนกุหลาบนั้นจึงเริ่มเข้มข้นมากขึ้น หลังจากนั้นช่วงทศวรรษ 2520 ตอนที่การทำโทษทางร่างกายเลิกฮิตไปแล้วจึงเริ่มเห็นพิธีการต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่” 

เมื่อพิธีการเริ่มทวีความจำเป็น ประจวบเหมาะเหม็งกับคราวสงครามเย็นก็เริ่มเข้าสู่จุดสูงสุด แดเนียลชี้ว่านักเรียนสวนกุหลาบเริ่มพูดถึงประเด็นที่เข้มข้นขึ้นไปอีก 

น่าจะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ เข้มข้นขึ้นยิ่งเสียกว่าช่วงการชุมนุมประท้วงที่เพิ่งผ่านมา (การชุมนุมช่วงปี 2563-2564 ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ราษฎร’) เสียอีก เราจึงเห็นโรงเรียนเริ่มสร้างพิธีการขึ้นมา ‘เธอต้องกลืนกลายเป็นชาวสวนกุหลาบให้ได้’” 

นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาความเป็นมาของโรงเรียนเก่าแก่ย่านพระนครสรุปว่า สิ่งที่ทำให้คนรุ่นก่อนหน้ารู้สึกกังวลในวิวาทะการแปรอักษรครั้งนี้ก็คือการที่เหล่านักเรียนรุ่นนี้เริ่มที่จะแสวงหาตัวตนอีกครั้งหนึ่ง กลับมาตั้งคำถามและแสวงหาความหมายของการทำพิธีการและระเบียบวินัยต่างๆ อีกครั้ง

“นี่ก็คือภาวะตึงเครียดระหว่างสองรุ่นที่สุดท้ายแล้วผมคิดว่าก็จะคลี่คลายลงเอง” เขาสรุป

อย่างไรก็ดี เขาเสริมว่าที่ผ่านมาในสายธารประวัติศาสตร์ มีนักเรียนหลายต่อหลายคนที่มีอุดมการณ์การปฏิวัติในช่วงที่อยู่โรงเรียนหรือช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัย “แต่พอเขาต้องหางาน ถ้าเขาต้องเข้าสังคมชนชั้นนำ เขาก็จะเริ่มเสียความเป็นนักปฏิวัติไปทีละน้อย แล้วก็จะเริ่มหันเหความสนใจเข้าสู่เครือข่ายเอง” 

“อย่างประท้วงแปรอักษรรอบนี้จะนำไปสู่อะไรยั่งยืนไหม ผมไม่มั่นใจว่าจะเป็นอย่างนั้น นักเรียนที่สถาบันชั้นนำอยากสู้กับมันตอนที่เขายังอายุน้อย ไม่มีทรัพยากร ไม่มีอำนาจ แต่ต่อมาก็จะเกิดทางเลือกในชีวิตแล้วว่าจะต่อสู้ หรือจะสมาทานเอาทรัพยากรอำนาจแทน คนจำนวนมากก็แค่จะไปทางเส้นทางเดิมนั่นแหละ มันง่ายกว่า”

วิศรุต​ วี​ระ​โสภณ, Thai​ News​ Pix​

นักเรียนเก่า – ศูนย์กลางค่านิยมยุคหลัง

กลับมาที่ยุคปัจจุบัน แดเนียลกล่าวว่า “ผมคิดว่าสิ่งที่จะตามมาก็คือเดี๋ยวคงจะมีพิธีการมากขึ้น และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ต่อไปนี้พิธีการต่างๆ อาจจะไม่ได้มาจากตัวโรงเรียนแต่จะถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาโดยกลุ่มนักเรียนเก่ามากกว่า” โดยชี้ว่าตั้งแต่ช่วงปี 2510 เป็นต้นมา จะเริ่มเห็นว่ากลุ่มศิษย์เก่าเริ่มแทรกตัวเองเข้ากับชีวิตในโรงเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มเข้ามาข้องเกี่ยวกับพิธีรับน้องมากขึ้น 

“ตัวอย่างเช่นช่วงปี 2540 และหลังจากที่ทักษิณถูกโค่นจากรัฐบาลตามมาด้วยความขัดแย้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง ประมาณช่วง 2552 ก็มีพิธีกรรมใหม่ถูกคิดขึ้นมา ชื่อว่า ‘มหัศจรรย์สุภาพบุรุษสวนกุหลาบ’ ซึ่งจะมีนักเรียนที่เรียนจบไปแล้วประมาณ 50 ปีมาแล้วกลับมาที่โรงเรียน กลับมาใส่ชุดนักเรียน แล้วก็ทำพิธีเข้ารับเด็กๆ ที่เพิ่งเข้าเป็นพี่น้องกัน มีพิธีรีตองมากเลย เช่นตอนที่จะเข้าซุ้มประตูหน้าโรงเรียน ก็จะมีการจูงมือกันเข้าซุ้มประตูเหมือนกับน้องได้เกิดใหม่ จากนั้นโรงเรียนเป็นแม่ เลือดนักเรียนสีชมพูฟ้า เขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่ มีทั้งความรัก ความคูแล และระเบียบวินัย เราก็จะเห็นอะไรแบบนี้ในช่วงเวลาต่างๆ” 

“แต่สิ่งที่จำเกิดขึ้นอีกก็คือคนก็จะเริ่มลืมว่าพิธีกรรมพวกนี้เป็นของคิดใหม่ คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมแล้วพิธีกรรมก็กลายเป็นมีความสำคัญขึ้นมา”

ดร.แดเนียล ไวท์เฮาส์ นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาวิจัยสวนกุหลาบวิทยาลัย และศิษย์เก่า

มองอนาคต ‘เครือข่ายสวนกุหลาบฯ’ และการแปรเปลี่ยนของสังคมไทย

บางทีเรามองสวนกุหลาบเป็นสถาบันที่เป็นหนึ่งเดียว แต่จริงๆ แล้วเครือข่ายนี้ใหญ่มากแล้วก็มีความหลากหลาย” เขาเกริ่นเมื่อเราพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต “ดังนั้นถามว่าสวนกุหลาบเคยเปลี่ยนไหม ก็ต้องถามว่าหมายถึงใคร หมายถึงคณะผู้บริหารหรือเปล่า หมายถึงโรงเรียน หรือหมายถึงสมาคมนักเรียนเก่า”

“มันเหมือนกับเครือข่ายก็จริง แต่เป็นเครือข่ายที่มีหลายกิ่งก้านสาขา ไม่ได้เห็นตรงกันไปหมดเสมอไป ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันหมายความว่าเป็นสังคมที่ค่อนข้างเฮ้ลท์ตี้”

“ปัญหาเดียวก็คือว่า ในการที่จะธำรงภาพจำ เทพนิยายของสวนกุหลาบนั้นคุณก็ต้องสร้างเรื่องที่ล้างออกประวัติความขัดแย้ง ลบความซับซ้อนหลากหลายออกซะ แม้ว่าสวนกุหลาบเองจะมีความเห็นทางการเมืองที่หลากหลายมาโดยตลอด แต่เรื่องราวที่ได้ยินมาตลอดก็จะเป็นเรื่องที่ว่า เราทั้งผองเป็นพี่น้องอยู่กันฉันมิตร เราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป ดังนั้นหากมีใครเบี่ยงเบนออกจากเรื่องเหล่านั้น โดยเฉพาะทำต่อหน้าธารกำนัล ถ้าคนนั้นบอกมาว่า ไม่ จริงๆ เราไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน นี่จะไม่ใช่แค่เป็นภัยต่อชุมชนชาวสวนกุหลาบ แต่จะเป็นการเริ่มแสดงความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวซึ่งอาจจะทำให้ภาพจำของสวนกุหลาบสูญสลายหายไป แล้วจะเหลืออะไรล่ะถ้าเป็นแบบนั้น ผมว่านี่ต่างหากคือความกลัวของบางคนในชุมชน”  

ขณะเดียวกัน นักมนุษยวิทยาเสริมว่า เขามองว่านักเรียนรุ่นนี้มีความต่างออกไป เด็กรุ่นนี้มีคุณลักษณะบางอย่างต่างออกไป แล้วอาจจะเป็นบางอย่างที่มาพร้อมกันกับอินเตอร์เน็ต ค่านิยมแบบพลเมืองโลก เด็กๆ เป็นสากลมากขึ้น แต่ผมก็คิดว่าโรงเรียนจะทำกิจกรรมต่างๆ อย่างที่เคยทำในอดีตได้ลำบาก”

“มาถึงคำถามว่า คิดว่าเรื่องต่างๆ จะเปลี่ยนไปไหม? ผมไม่แน่ใจ แต่ก็คิดว่าต่อไปโรงเรียนจะประสบความท้าทายมากขึ้นกับคนรุ่นนี้”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า