SHARE

คัดลอกแล้ว

ตุ๋ย – พัชรดา อินแปลง หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Localist

“เรามองงานคราฟต์เป็นเรื่องซีเรียส” ตุ๋ย – พัชรดา อินแปลง เผยทัศนคติต่อวิชาชีพของเธอ “การมีจุดยืนแบบนี้ทำให้คนที่ทำงานลักษณะเดียวกันในจังหวัดเขารู้สึกว่ามันทำได้ มันไปรอด มันมีทางของมัน”

     จากจุดยืน สู่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตุ๋ยและเพื่อนๆ นักออกแบบอีก 3 แบรนด์ ร่วมกันก่อตั้งร้าน The Localist ขึ้นมา

     อาคาร 3 ชั้น ตั้งอยู่ไม่ไกลจากประตูท่าแพแห่งนี้ เปรียบเสมือนชุมชนเล็กๆ ของกลุ่มคนที่หลงใหลงานคราฟต์ ทั้งในฐานะผู้สร้างสรรค์และลูกค้า ที่นี่มีฟังก์ชั่นหลักๆ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ชั้นล่างสุด เป็นพื้นที่กระจายสินค้า โดย 70% มาจากฝีมือของนักออกแบบท้องถิ่น และอีก 30% มาจากเพื่อนนักออกแบบจังหวัดอื่นๆ

     ถัดขึ้นมาชั้นสอง เป็นพื้นที่จัดเวิร์คช็อป เช่น งานเซรามิก งานกระดาษ งานผ้า ฯลฯ ส่วนชั้นสาม เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน มีแค่ 4 ห้องเล็กๆ

The Localist เกิดจากการร่วมหุ้นของเพื่อนนักออกแบบ 4 แบรนด์ คือ ดิบดี, Chatchaiwat Pottery Studio, Ease Studio และ Brown Bike

/ 1 /
กระจายรายได้

ตุ๋ยเล่าว่า ในเชียงใหม่มีนักออกแบบท้องถิ่นจำนวนมาก แต่โรงงานหรือสายการผลิตมีอยู่น้อย ดังนั้นสตูดิโอส่วนใหญ่จึงเป็นคราฟต์สตูดิโอ คือ ออกแบบแล้วผลิตเอง เพราะทำได้ง่ายที่สุดและมีต้นทุนต่ำที่สุด

     “พอเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เขามีกำลังผลิตแค่ส่วนหนึ่ง ต่างจากสตูดิโอที่ออกแบบแล้วติดต่อโรงงาน สามารถผลิตซ้ำได้ ในเชียงใหม่มีผู้ประกอบการที่ทำแบบนั้นได้น้อย ใครมาตั้งต้นที่นี่ก็มักจะเริ่มด้วยการทำเอง”

     หลังจากผลิตชิ้นงานออกมาแล้ว สเต็ปต่อไปคือวางจำหน่าย การฝากขายเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนเห็นสินค้ามากขึ้น แต่ช่องทางนี้ก็มีต้นทุนไม่น้อยเช่นกัน “ถ้าเขาเอาสินค้าไปฝากวางในห้างหรือร้านใหญ่ๆ จะโดนหักส่วนแบ่ง 40% หักค่อนข้างเยอะนะคะ การมีร้านแบบ The Localist ทำให้เขามีช่องทางอื่นบ้าง มันเหมือนเป็นกำลังใจให้คนทำงาน ถ้าทำงานเหนื่อยแล้วโดนหักรายได้ไปอีก 40% มันโหดร้ายพอสมควร” ตุ๋ยสะท้อนความรู้สึกของคนทำงาน

     The Localist จึงหักเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งเพียงแค่ให้พอกับค่าเช่าที่และค่าจ้างสต๊าฟเท่านั้น

     “จริงๆ ต้องบอกว่า ตลาดของงานคราฟต์มันเป็นตลาดที่มีความต้องการนะคะ คนชอบก็ซื้อเลย ไม่มีเหตุผล มาจากอารมณ์ล้วนๆ หลายแบรนด์สามารถเข้าสู่ตลาดแมสได้ คือเก่งนะคะ เขาพัฒนาตัวเอง ค่อยๆ เติบโต มันทำได้และไปรอด”

ชั้น 1 ร้าน The Localist เป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าต่างๆ

/ 2 /
แลกเปลี่ยน – ส่งต่อ

“ประโยชน์อีกข้อนึงของ The Localist คือเรื่อง Movement เราว่าในจังหวัดต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเชียงใหม่นะ ควรมีพื้นที่ที่คนรู้ว่าถ้าเขาสนใจเรื่องนี้ เขาจะไปที่ไหน เราว่าพื้นที่เล็กๆ ที่เป็นของคนเล็กๆ ไม่ควรมีแค่ 2-3 แห่งในจังหวัด แต่มันควรมีเยอะๆ แล้วก็กระจายตัวอยู่ค่ะ”

     เมื่อถามว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น ตุ๋ยตอบว่าพื้นที่ที่ทำให้คนมาเจอกัน ได้คนแลกเปลี่ยนหรือร่วมงานกันบ้าง มีความสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ๆ

     หมุดหมายของตุ๋ยและเพื่อนๆ จึงไม่ใช่แค่การเพิ่มพื้นที่ขายสินค้าให้กับแบรนด์ท้องถิ่น แต่รวมถึงการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนางานออกแบบ และส่งต่อพื้นที่นี้ไปให้คนรุ่นใหม่ด้วย

     “เรื่องนี้สำคัญ พวกเราก็อายุสามสิบกันแล้ว เรารู้สึกว่าวิชาชีพของตัวเองมีประโยชน์ ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำมาหากินอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของการส่งต่อให้คนอื่นด้วย เด็กที่เรียนออกแบบอาจมีแค่ 5% ของจำนวนเด็กที่จบมาต่อปี แต่เราเชื่อว่า 5% นี้มีผลต่อการพัฒนาประเทศมากๆ”

     ปัจจุบันเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีคอมมูนิตี้ฮับเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เรียกได้ว่าไม่แพ้กรุงเทพฯ เลย แต่ตุ๋ยมองว่า ยังไม่เพียงพอ “สำหรับคนที่อยากทำงานคราฟต์เป็นงานอดิเรก หรืออยากให้ลูกมีอะไรทำช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมาถือว่ามากพอแล้ว แต่สำหรับนักศึกษาที่เรียนออกแบบยังไม่พอค่ะ”

     “การจะมีนิทรรศการดีๆ เกี่ยวกับคราฟต์หรืองานดีไซน์ให้พวกเขาได้ดู ต้องรองาน Design Week (จัดปีละครั้ง) พูดตรงๆ ว่ายังน้อยมาก สำหรับนักศึกษาที่จะเติบโตไปเป็นบุคลากรที่ใช้การออกแบบผลักดันให้เมืองดีขึ้น” เธอบอกว่าในอนาคต The Localist จะขยับขยายพื้นที่ทำงานที่จริงจังกว่านี้

/ 3 /
งานคราฟต์ (ไม่) แพง

ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยว การขายงานคราฟต์ให้ชาวต่างชาติอาจสามารถสร้างรายได้ให้กับนักออกแบบอย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่สำหรับคนทั่วไป ส่วนใหญ่ยังมองว่า งานคราฟต์แพง ซึ่งตุ๋ยก็ยอมรับ “เพราะค่าครองชีพบ้านเรา ข้าวจานละ 40 บาท แต่ค่าออกแบบ 40,000 บาท มันแพงอยู่แล้ว”

     “เราจะมาคาดหวังให้เขายอมรับค่าออกแบบด้วยค่าครองชีพกับรายได้ที่เขาได้รับ มันสวนทางกัน เราเข้าใจตรงนี้มากๆ เลย ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนมีรายได้มาก เขามีเวลามาสนใจงานออกแบบ แล้วเขาก็ยินดีจ่าย”

     ถึงอย่างนั้น ตุ๋ยเชื่อว่าทัศนคติของคนที่มีต่องานคราฟต์งานออกแบบสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องใช้เวลา

     “เดี๋ยวนี้คนไปเที่ยวต่างประเทศ เอาแค่ในเอเชีย ไปสิงคโปร์ ไปเกาหลีใต้ เห็นว่างานดีไซน์เปลี่ยนประเทศเขายังไง คนจะค่อยๆ รู้เองว่ามันสำคัญ มันมีผลต่อคุณภาพชีวิต มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศค่ะ” เธอทิ้งท้าย

The Localist  www.facebook.com/thelocalistcm

 

เรื่องโดย  รินพร ออกเวหา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า