SHARE

คัดลอกแล้ว

หากจะพูดถึงร้านขายโทรศัพท์มือถือ ‘เจ มาร์ท’ (Jaymart) น่าจะเป็นร้านแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง

.ทั้งด้วยสาขาที่มีมากมาย สินค้าก็มีครบครัน มีบริการผ่อนได้แบบไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ทำให้หลายคนน่าจะเคยไปใช้บริการ หรือไม่ก็แวะเวียนเดินเข้าไปดูสินค้าในร้านเจ มาร์ทกันมาบ้าง

.แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของเจมาร์ทไม่ใช่ร้านขายมือถือ และทุกวันนี้รวมถึงในอนาคตข้างหน้า เจ มาร์ทก็จะไม่ใช่แค่ร้านขายมือถือเช่นกัน

แล้วเส้นทางของเจ มาร์ทเป็นไปเป็นมาอย่างไร รวมถึงในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอะไร TODAY Bizview ชวนติดตามไปด้วยกัน

[ จากร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า สู่ร้านมือถือ 6 หมื่นล้าน ]

ย้อนกลับไปในปี 1989 ‘อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา’ และภรรยา เริ่มต้นธุรกิจขึ้นด้วยเงิน 2 ล้านบาท เขาบอกว่าตอนนั้นยังไม่รู้ว่าทำธุรกิจอะไรจึงจะประสบความสำเร็จ จึงคิดว่าน่าจะใช้วิธี Copy ธุรกิจอะไรสักอย่างที่ไปได้ดี

ตอนนั้นอดิศักดิ์มองไปเห็นแบรนด์อย่าง ‘ซิงเกอร์’ (Singer) ที่มีโมเดลขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผ่อน ดอกเบี้ย 5% ต่อเดือน (เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีกฎระเบียบของภาครัฐมาควบคุม) ธุรกิจของซิงเกอร์เติบโตมาก ผลตอบแทนดี ในตอนนั้นเขาจึง Copy โมเดลธุรกิจของซิงเกอร์มาใช้กับเจ มาร์ท

นั่นทำให้ธุรกิจแรกของเจ มาร์ท ก็คือร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผ่อนนั่นเอง

ต่อมาในปี 1992 อดิศักดิ์เริ่มขยายอาณาจักรของเจ มาร์ท ด้วยการเริ่มธุรกิจร้านขายโทรศัพท์มือถือ โดยใช้สิ่งที่บริษัทรู้ดีอย่างเรื่อง ‘เงินผ่อน’ เป็นโมเดลธุรกิจ

ความที่อดิศักดิ์เป็นคนมุ่งมั่นสร้างการเติบโต เขาขยายสาขาของเจ มาร์ท จนยอมรับว่า “เงินไม่พอ” มาขับเคลื่อนธุรกิจ เขาเลยอาศัยวิธีกู้เงินทั้งในและนอกระบบ

อดิศักดิ์ยอมรับว่าในช่วงนั้นยังไม่รู้ว่าจะวางเป้าหมายธุรกิจไปอย่างไร รู้แต่เพียงว่าอยากสร้างให้เติบโตไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2002 ก็เริ่มมีเป้าหมายว่าอยากจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้ จึงเริ่มยื่นไฟลิ่งแก่สำนักงาน ก.ล.ต. แต่ปรากฏว่าถูกปฏิเสธ

เขาไม่ลดละความพยายาม ยื่นไฟลิ่งใหม่อีกครั้งในปี 2005 ก็ถูกปฏิเสธ แต่เจ มาร์ท ไม่ถอดใจ จึงยื่นไฟลิ่งครั้งที่ 3 ในปี 2008 และครั้งนี้ ก.ล.ต. อนุมัติ และเข้าเทรดวันแรกในปี 2009 ด้วยมูลค่า 540 ล้านบาท

 

มาจนถึงวันนี้ เฉพาะเจ มาร์ท อย่างเดียว ก็เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 6 หมื่นล้านบาทแล้ว ส่วนตัวร้านขายมือถือนั้นกลายเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์กลุ่มไอทีและอุปกรณ์ดิจิทัลที่หลากหลาย หรือ Gadget Destination โดยมีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 300 สาขา และยอดขายกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

[ JMT ธุรกิจติดตามหนี้สุดรุ่ง ]

ย้อนกลับไปในปี 1994 ที่ตอนนั้นเจ มาร์ท ยังมีธุรกิจผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรากฏว่าช่วงนั้นเริ่มมีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจการเงิน ให้สินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ย 2.5%

สภาพเจ มาร์ท ตอนนั้นที่ไม่มีเงินมากพอที่จะไปสู้กับคู่แข่ง (และอาศัยวิธีไปกู้เงินมาหมุนธุรกิจ) แต่อดิศักดิ์ก็ไม่ยอมแพ้ บริษัทที่ตอนนั้นมีพนักงานอยู่ 11 คน จึงเข้าหาโอเปอเรเตอร์เครือข่ายมือถืออย่าง AIS ไปขอหนี้มา 600,000 บาท และติดตามหนี้ให้

และนั่นก็เป็นที่มาของอีกธุรกิจหนึ่งของเจ มาร์ท อย่าง JMT หรือเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอริวิสเซ็ส หรือธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพและติดตามหนี้นั่นเอง

เจ มาร์ท เริ่มขอหนี้มาเพื่อติดตามหนี้เพิ่ม ก่อนจะขยายลูกค้าไปสู่กลุ่มธนาคาร และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเจ มาร์ท ยังนำเงินจากตอนที่ IPO มาลงทุนใน JMT

กิจการของ JMT เติบโตจนสามารถเข้าตลาดฯ ในปี 2012 ด้วยมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท และจนถึงตอนนี้ JMT มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาทแล้ว

[ บริหารพื้นที่เช่า สู่พัฒนาศูนย์การค้า ]

เส้นทางการเติบโตของเจ มาร์ท ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะในปี 1999 บริษัทได้พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี จึงนำมาทำเป็นพื้นที่ให้เช่าเปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือ โดยมีชื่อเรียกว่า IT Junction

แต่กิจการนี้ไม่ได้ง่ายนัก ช่วงแรกไม่มีคนเช่า เนื่องจากตอนนั้นตลาดยังใหม่มาก จนกระทั่งไม่กี่ปีต่อมา เริ่มมี AIS มาเปิดร้านอยู่ใกล้ๆ ทำให้คนเริ่มสนใจมากขึ้น

กิจการให้เช่าพื้นที่เริ่มขยายมากขึ้น และต่อยอดไปสู่ธุรกิจพัฒนาศูนย์การค้าในกลุ่ม ‘แจส’ กระทั่งปี 2015 บริษัทก็เข้าจดทะเบียนในตลาดในชื่อของ บริษัท เจเอเอส แอสเสท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเจ มาร์ท กรุ๊ปถือหุ้น 65.5%

โดยปัจจุบันศูนย์การค้าในเครือแจสมีพื้นที่รวมมากกว่า 75,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ เจเอเอส แอสเสท ยังตอบรับเทรนด์ผู้สูงอายุด้วยการพัฒนาโครงการ Senera Senior Wellness ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน บนพื้นที่อยู่ติดกับ JAS Green Village ที่ถนนคู้บอน และ JAS Green Village ลาดปลาดุก ในอนาคต

[ เข้าซื้อซิงเกอร์ ]

ในปี 2015 อดิศักดิ์บอกว่าเขาได้รับข้อเสนอจากผู้ถือหุ้นเดิมของซิงเกอร์ ว่าอยากขายหุ้นให้ อดิศักดิ์เองที่รักและชอบซิงเกอร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสนใจดีลนี้ทันที

ตอนนั้นบริษัทไม่ได้มีเงินมากพอจะซื้อหุ้นซิงเกอร์ ตอนนั้นที่ JMT มีมูลค่ากิจการราวหมื่นล้านบาทแล้ว เขาจึงตัดสินใจขายหุ้น JMT ออกส่วนหนึ่ง และกู้เงินธนาคารมาอีกส่วนเพื่อไปซื้อหุ้นซิงเกอร์

เจ มาร์ท ไม่ได้เข้ามาถือหุ้นซิงเกอร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเข้ามาพยายามแก้ปัญหาทุกอย่างให้กับซิงเกอร์ด้วย ทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ตัดทุกสิ่งที่ทำให้ไม่ส่งเสริมการขายออก และเปลี่ยนซิงเกอร์ จากองค์กรแบบอนาล็อก มาเป็นองค์กรดิจิทัลแบบสมบูรณ์ 100% ได้

และก็ทำให้ซิงเกอร์กลับมาเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้ และปีที่แล้วสามารถทำกำไรได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทที่ 700 ล้านบาท โดยปัจจุบันซิงเกอร์มีสาขารวมกว่า 6,000 แห่ง ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ มีทีมขายแข็งแกร่งมากกว่า 10,000 คน และปีนี้อดิศักดิ์คาดว่าจะแตะถึง 1,000 ล้านบาท

[ ขยายธุรกิจ ผนึกพันธมิตร ]

เจ มาร์ท กรุ๊ป ยังขยายธุรกิจไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล โดยก่อตั้ง บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ขึ้นในปี 2017 มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี เช่น บล็อกเชน มาขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้เครือ

ในปี 2018 JVC ก็เข้าสู่วงการคริปโตฯ ด้วยทำการเสนอขาย Initial Coin Offering (ICO) ในชื่อ JFIN ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ดิจิทัลโทเคนแรกของไทย และล่าสุดพัฒนา JFIN Chain เป็นบล็อกเชนของตนเอง และใช้ JFIN เป็น Native Token ด้วย

นอกจากนี้ ในเครือเจ มาร์ท ก็ยังมีธุรกิจอาหารอีกด้วย โดยมีบริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด (BB) ที่ทำร้านกาแฟแบรนด์ ‘คาซ่า ลาแปง’ (Casa Lapin) และ White Café ซึ่งปัจจุบันมี 34 สาขา ทั่วประเทศ

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา

การเติบโตของเจ มาร์ท ทำให้บริษัทเป็นที่สนใจจากภายนอก และนั่นทำให้เจ มาร์ท ได้มีโอกาสเป็นพันธมิตรใหญ่ๆ มากหน้าหลายตา ทั้งในไทยและต่างประเทศ

ตั้งแต่การผนึกร่วมกับ BTS Group ที่ BTS ส่งบริษัทในเครืออย่าง U City เข้าลงทุนในซิงเกอร์ และให้ U City และ VGI ลงทุนใน JMART รวมมูลค่าการลงทุนทั้งหมดสูงถึง 1.75 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้เจ มาร์ท ยังได้ร่วมลงทุนกับ KB Kookmin Card บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ในเกาหลีใต้ ตั้งบริษัท เคบี เจ แคปิตอล จำกัด (KB J) เพื่อให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตร่วมกัน และตั้งเป้าที่จะก้าวเป็นบริษัท Non Bank 1 ใน 5 ของตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทย

รวมถึงยังเป็นพันธมิตรกับทั้ง บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาการขายผลิตภัณฑ์โซลาร์ รูฟท็อป ให้กับลูกค้า และการเข้าไปลงทุนในกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ขยาย Ecosystem เข้าไปในจังหวัดบุรีรัมย์

[ ก้าวต่อไป เน้นลงทุน สลัดภาพร้านขายมือถือ ]

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจในเครือของเจ มาร์ท ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 20 บริษัท มีมูลค่ารวมกันราว 2 แสนล้านบาท และอันที่จริงก็เป็นมากกว่าร้านขายมือถือแบบในภาพจำของหลายคนแล้ว

นั่นทำให้บริษัทออกแคมเปญการสื่อสารใหม่ที่ขอ Re-position ตัวเอง และต้องการบอกว่าเจ มาร์ท จะใช้ ‘ใจ’ เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ และสร้างการเติบโตด้วยการขยายพันธมิตร ที่ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้เจ มาร์ท ก้าวมาได้ไกล

อดิศักดิ์ บอกว่า ภาพต่อไปที่อยากให้คนมองเจมาร์ท คือเป็น Technology Investment Holding Company โดย ‘การลงทุน’ จะเป็นคีย์หลักให้กับกลุ่มบริษัทต่อจากนี้ไป

ดังนั้น ภาพต่อไปที่จะเห็นมากขึ้น คือภาพที่เจ มาร์ท กรุ๊ป จะเข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ ทั้งอาหาร อีคอมเมิร์ซ เพย์เมนต์ ซึ่งอดิศักดิ์บอกว่าจะโฟกัสไปที่บริษัทมีกำไรและมีความแมส โดยตั้งเป้างบลงทุนรวมไว้เบื้องต้นราว 3 หมื่นล้านบาท

เอกชัย สุขุมวิทยา

ด้าน ‘เอกชัย สุขุมวิทยา’ ลูกชายคนโตของอดิศักดิ์ ที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มเจ มาร์ท บอกว่า ก้าวต่อไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของบริษัท จะเป็นแบบ J Curve ซึ่งต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพทางธุรกิจ และผนึกกำลังกับพันธมิตรอย่างเปิดกว้างเพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ

เพื่อสร้างโมเดลการเติบโตแบบทวีคูณ (Exponential Business Model) ร่วมกัน โดยตั้งเป้าภาพรวมกำไรเติบโตไม่น้อยกว่า 50% ต่อปี พร้อมวางเป้าหมายมูลค่ากิจการรวมทั้งกลุ่มในปี 2567 อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า