Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ศึกชิงมรดกครอบครัวอาจเป็นพล็อตละครที่เราเคยได้ยินมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ในโลกของความเป็นจริงก็ใช่ว่าเรื่องทำนองนี้จะไม่เคยเกิดขึ้น

หนึ่งในนั้นคือมหากาพย์ชิงมรดกระหว่างพี่น้องต่างแม่ ทายาทเจ้าของ EVA  Air และบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่อย่าง Evergreen ที่แสนจะฟาดฟัน เชือดเฉือน ซึ่งประเด็นมาจากพินัยกรรมเจ้าปัญหาเพียงฉบับเดียวของผู้เป็นพ่อ Chang Yung-fa

เรื่องนี้เป็นไปเป็นนมาอย่างไร TODAY  Bizview สรุปให้ฟัง

[ รู้จัก Chang Yung-fa ]

เส้นทางของ Chang Yung-fa เรียกได้ว่ามีดวงชะตาผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่เกิด เขาเกิดและเติบโตในเมืองท่าหลักของไต้หวัน ครอบครัวยากจนของเขาทำอาชีพตกปลาและทำงานบนเรือพาณิชย์

ช่วงวัยเด็กของ Chang Yung-fa ไม่ได้เกิดมาสบาย แน่นอนว่าเขาไม่ได้มีความสุขกับสภาพความเป็นอยู่ และพยายามดิ้นรนสร้างเนื้อสร้างตัว

หลังเรียนจบชั้นมัธยม เขาทำงานเป็นเสมียนในบริษัทเดินเรือของญี่ปุ่น ก่อนจะหาหนทางสร้างความก้าวหน้า จึงย้ายมาทำงานบนเรือโดยเริ่มที่อาชีพพนักงานตรวจนับสินค้า แล้วก็กลายมาเป็นลูกเรือ อาศัยเวลาเลิกงานในการอ่านหนังสือ

ความพยายามพาเขามาสู่การก้าวขึ้นเป็นนักธุรกิจ โดยลงขันกับเพื่อนเปิดบริษัทขนส่ง 2 แห่ง และไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอ ก่อนจะแตกคอกันเนื่องจากผู้ถือหุ้นมองว่าวิสัยทัศน์ของเขาคร่ำครึเกินไป

จนกระทั่งในปี 1968 เขาได้ก่อตั้ง Evergreen Marine ขึ้นด้วยเรือขนส่งเก่าๆ อายุราว 15 ปีเพียงลำเดียว

เครดิจภาพจาก
CommonWealth Magazine

ภายในเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ ธุรกิจของเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนในปี 1985 บริษัท Evergreen กลายเป็นบริษัทเรือขนส่งรายสำคัญของโลก และปัจจุบันอยู่ในอันดับ 4 ของโลก

และนอกจากท้องทะเล Chang Yung-fa ยังขยายกิจการไปสู่แผ่นดินและอากาศ ด้วยการก่อตั้งธุรกิจสายการบินอย่าง EVA Airways ขึ้นในปี 1989 ซึ่งเป็นสายการบินเอกชนรายแรกของไต้หวัน รวมถึงก่อตั้งธุรกิจโรงแรมอย่าง Evergreen Hotels ในปี 1993 ด้วย

นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจไปออีกหลายแขนง ทั้งคลังสินค้า, ประกันภัย, รถบัส, สำนักพิมพ์ รวมถึงเหล็ก เป็นต้น

ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในปี 2015 สายการบิน EVA Air กลายเป็นสายการบินรายใหญ่อันดับ 2 ของไต้หวัน มีฝูงบิน 70 ลำ และให้บริการไปกว่า 195 ประเทศทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้น ในปีนั้น Forbes ยังจัดให้ Chang Yung-fa อยู่ในอันดับที่ 17 ของมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในไต้หวันด้วยทรัพย์สินกว่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วย

[ ลูก 5 ภรรยา 2 ]

ในมุมครอบครัว Chang Yung-fa มีภรรยา 2 คน โดยเขามีลูกกับภรรยาแรก 4 คน คือ ลูกสาว Chang Shu-hua (เสียชีวิตในปี 2015) และลูกชายอีก 3 คน คือ Chang Kuo-hua (K.H.), ChanG Kuo-ming (K.M.) และ Chang Kuo-cheng (K.C.)

ส่วนกับภรรยาคนที่ 2 เขามีลูกชายด้วย 1 คน คือ Chang Kuo-wei (K.W.)

Chang Yung-fa เครดิตภาพจาก CommonWealth Magazine

แม้ว่าในทางธุรกิจ Chang Yung-fa จะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ในชีวิตครอบครัวนั้นเรียกได้ว่าเหมือนเจอกับมรสุม เขาเป็นเจ้าสัวอารมณ์ร้อนที่มีเรื่องทะเลาะบาดหมางกับลูกชายทั้ง 4 คน ไปจนถึงลูกเขย จนทุกคนลาออกจากธุรกิจครอบครัวหลายครั้งหลายคราว

[ พินัยกรรมเจ้าปัญหา ]

ความปั่นป่วนภายในครอบครัวเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้เป็นพ่อเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2016 ด้วยอายุ 88 ปี

หลังจากนั้นเพียง 1 เดือน ลูกชายคนสุดท้องของครอบครัว K.W. ได้เอาพินัยกรรมที่ผู้เป็นพ่อเขียนขึ้นด้วยลายมือมาเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รับทราบ

ซึ่งพินัยกรรมระบุว่าผู้เป็นพ่อนั้นแต่งตั้งให้ K.W. (ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานบริษัท EVA Airways) เป็นผู้สืบทอดและผู้รับมรดกของเขาแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งรวมไปถึงหุ้นทั้งหมดที่เขาถืออยู่ และแต่งตั้งขึ้นเป็น ประธานกลุ่ม Evergreen Group ด้วย (จากเดิมที่เป็นรองประธาน)

โดยพินัยกรรมดังกล่าวเขียนขึ้นในปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้เป็นพ่อยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ และคณะกรรมการของกลุ่มบริษัทก็ลงความเห็นว่าพินัยกรรมนี้เป็นลายมือของ Chang Yung-fa จริง

แต่ถึงอย่างนั้น คำสั่งในพินัยกรรมก็ใช่ว่าจะมีผล เมื่อพี่ชายต่างมารดาทั้ง 3 คนไม่พอใจเพราะมองว่าเรื่องพินัยกรรมควรจะคุยกันในครอบครัวก่อน และออกมาโต้แย้งว่าการแต่งตั้งประธานบริษัทจะต้องอาศัยการโหวตจากผู้ถือหุ้นเท่านั้น จะใช้วิธีแต่งตั้งจากพินัยกรรมไม่ได้

ซึ่งถ้ามาดูโครงสร้างของผู้ถือหุ้นตามเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ ก็จะพบว่า K.W. นั้นมีสิทธิ์มีเสียงน้อยกว่าพี่ชายทั้ง 3 คนรวมกันอยู่มาก

กล่าวคือ ในโครงสร้างของบริษัท EVA Airways พี่ชายทั้ง 3 คนถือหุ้นรวมกันอยู่ราว 33% ส่วนใน Evergreen Marine ก็ถือหุ้นอยู่เกือบ 40% ขณะที่ K.W. ถือหุ้นในทั้งสองบริษัทอยู่ที่ 11.45% และ 4.24% ตามลำดับเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น พี่ชายทั้ง 3 คนยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทโฮลดิ้งอย่าง Evergreen International อีกด้วย

เท่ากับว่าในเรื่องของสิทธิ์เสียงการโหวตในฐานะผู้ถือหุ้น พี่ชายทั้ง 3 คนถือไพ่เหนือกว่าอยู่มากพอสมควรเลยทีเดียว

[ ลูกชายคนเดียวจากภรรยาที่รัก ]

ถามว่าทำไมผู้เป็นพ่อถึงเขียนพินัยกรรมให้ลูกชายคนเล็กจากภรรยาคนที่สองเป็นทายาทสืบทอดมรดกแต่เพียงผู้เดียว?

K.W. นั้นแม้เป็นลูกกนอกสมรส แต่เขาก็เกิดมาจากผู้หญิงที่ผู้เป็นพ่อตกหลุมรักมานาน (ซึ่งทั้งคู่ก็แต่งงานกันในภายหลัง)

Chang Yung-fa รักและห่วงลูกชายคนนี้มาก เห็นได้จากการที่ไม่อนุญาตให้ K.W. ทำตามความฝันที่อยากเป็นนักบิน เพราะอยากให้ลูกสืบทอดธุรกิจ

แต่ความหลงใหลในการบินทำให้ K.W. ขอลาออกในปี 2006 แม้จะทำงานใน EVA Air มาแล้วนับสิบปีก็ตาม

เขาย้ายไปสหรัฐอเมริกาเพื่อไปฝึกเรียนขับเครื่องบินโบอิ้ง 777 จนเรียนจบหลักสูตร ก่อนจะกลับมาคืนดีกับพ่อและขึ้นรับตำแหน่งประธานบริษัท EVA Airways ในปี  2013 จากนั้นก็ได้นั่งตำแหน่งรองประธาน Evergreen Group ในปี 2014 ด้วย

[ ฝีมือการบริหารของ K.W. ]

หลังรับตำแหน่ง K.W. ก็สร้างผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพยายามทำการตลาดเชิงรุกด้วยการร่วมมือกับ Sanrio ของญี่ปุ่น เพื่อสร้างสีสันให้ฝูงบิน EVA Air ด้วยลาย Hello Kitty

K.W. ยังหนุนให้บริษัทเปลี่ยนเครื่องบินจากโบอิ้ง 747s เป็น 777 ซึ่งเป็นรุ่นที่ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น ซึ่งการซื้อเครื่องบินใหม่ 26 ลำ รวมมูลค่ากว่า 2.9 แสนล้านบาทในครั้งนั้น ถือเป็นคำสั่งซื้อที่ใหญ่ที่สุดในธุรกิจการบินพาณิชย์ของไต้หวันก็ว่าได้

โดยมีรายงานว่าพี่ชายคนโตของเขาไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแคมเปญการตลาดราคาสูงลิบ หรือการขยายฝูงบินอย่างรวดเร็วแบบนั้น

แต่ผลลัพธ์ก็บ่งชี้ว่ากลยุทธ์ของ K.W. ได้ผล ในปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่สามที่เขาดำรงตำแหน่งประธานบริษัท EVA Airways มีรายได้ 1.55 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลประกอบการที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นในปี 1999

[ ศึกสายเลือดเริ่มปะทุ ]

คำสั่งเสียในพินัยกรรมสร้าง แน่นอนว่าสร้างความไม่พอใจให้พี่ชายทั้งสาม หลังเปิดพินัยกรรม รายละเอียดของการสืบทอดตำแหน่งยังคงอยู่ในระหว่างหารือ

จนเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2016 พี่ชายคนโตได้นำทีมน้องอีกสองคน เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท Evergreen Group แบบกะทันหัน

แต่หลายคนเชื่อว่าการประชุมนี้ถูกเตรียมมาเป็นอย่างดี เพราะใช้เวลาเพียง 30 นาที คณะกรรมการ 7 ใน 9 ก็ลงมติให้ปลด K.W. ลงจากตำแหน่งประธานบริษัท EVA Airways และตั้งคนอื่นขึ้นมาแทน ขณะที่พนักงานที่จงรักภักดีกับ K.W. ก็ยังถูกยังไล่ออกหรือย้ายไปทำงานในตำแหน่งใหม่

ไม่เพียงเท่านั้น พี่ชายต่างมารดาทั้งสามคนยังปลด K.W. ออกจากคณะกรรมการของ Evergreen International Storage & Transport และ Evergreen Marine ในไม่กี่วันด้วย

แต่ในขณะที่มีการประชุมเพื่อโหวตถอด K.W. ลงจากตำแหน่ง เป็นช่วงที่ K.W. กำลังขับเครื่องบินเพื่อพาเที่ยวบินแรกของสายการบิน EVA Air BR225 จากสนามบินเถาหยวนไปยังสิงคโปร์

K.W. เหมือนถูกปลดกลางอากาศ เมื่อเครื่องลงจอดที่สนามบินชางงี เขาไม่ใช่ประธานบริษัทแล้ว และบินกลับด้วยสถานะผู้โดยสาร ไม่ใช่นักบิน

และนับตั้งแต่นั้นมา สี่พี่น้องก็ไม่มาเจอหน้ากันแบบพร้อมหน้าอีก อาศัยการมอบฉันทะให้ทนายไปเข้าประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับพินัยกรรมของผู้เป็นพ่อ

เมื่อถูกปลดจากตำแหน่งบริหาร  ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น K.W. ก็ประกาศว่าจะตั้งสายการบินใหม่ของตัวเอง ซึ่งนั่นก็คือสายการบินน้องใหม่อย่าง StarLux Airlines กระทั่งในเดือนมกราคม 2020 เที่ยวบินแรกของ StarLux ก็เริ่มโบยบินสู่ท้องฟ้า

[ พี่น้องย่อมตัดกันไม่ขาด? ]

แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้น พี่ชายสามคนก็ดูเหมือนจะเริ่มแตกคอกันเองจากความเห็นที่ไม่ลงตัวในเรื่องการบริหารธุรกิจ พี่ชายคนโตหรือ K.H. ได้กลับมาสานสัมพันธ์กับน้องคนเล็กต่างแม่อย่าง K.W.

โดยในเดือนเมษายน 2022 เขาแต่งตั้งให้ K.W. ดำรงตำแหน่งประธานคนใหม่ของสายการบิน Uni Airways ซึ่งผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของ Uni Airways ก็คือ Evergreen International Corp ที่ K.H. บริหารอยู่

K.W. ให้สัมภาษณ์กับสื่อด้วยว่า เขายังไม่ได้มีแผนจะกลับไป EVA Airways และนั่นก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริษัทจะเป็นคนตัดสิน นอกจากนี้ เขาไม่ได้มีความคิดที่จะไปบริหารธุรกิจอื่นของบริษัทเพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัด

เขายังเห็นด้วยกับพี่ชาย K.H. ที่บอกว่าธุรกิจของตระกูลควรบริหารโดยครอบครัว ไม่ใช่ให้คนนอกเข้ามาแทรกแซงหรือบงการ รวมถึงมุมมองที่ว่า ‘การทำงานเป็นทีม’ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้การบริหารกลุ่มบริษัทประสบความสำเร็จ

[ การส่งไม้ต่อ เรื่องท้าทายของธุรกิจครอบครัว ]

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรื่องพินัยกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดเสียทีเดียว โดยในปี 2020 ศาลไต้หวันตัดสินให้ K.W. ได้รับมรดกและรับตำแหน่งประธานบริษัท Evergreen Group ตามคำสั่งของพ่อในพินัยกรรม แต่คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

ซึ่งแม้ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดเรื่องจะจบลงแบบไหน แต่ที่แน่ ๆ อย่างหนึ่งก็คือ การส่งต่อมรดกครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับบริษัท โดยมูลค่าบริษัทตามราคาในตลาดนั้นร่วงลงทันทีที่มีข่าวความขัดแย้งออกมา เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังในประเด็นบาดหมางของเรื่องในครอบครัว

Joseph Fan นักวิชาการจาก Chinese University of Hong Kong ซึ่งติดตาม Evergreen Group มายาวนาน กล่าวว่า ทุกครั้งที่สมาชิกตระกูล Chang ลาออกจากหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่ครอบครัวบริหารอยู่ มาร์เก็ตแคปของบริษัทจะลดลงเฉลี่ยประมาณ 10%

Fan ยังบอกอีกว่า การสืบทอดตำแหน่งเป็นจุดอ่อนของธุรกิจครอบครัวเกือบทุกประเภท จากงานวิจัยของเขาที่สำรวจธุรกิจที่บริหารโดยครอบครัว 217 แห่งในฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน พบว่า บริษัทเหล่านี้สูญเสียมูลค่าตลาดไปประมาณ 60% ในระหว่างที่มีข้อพิพาทเรื่องสืบทอดตำแหน่ง และแทบจะกู้คืนความเสียหายเหล่านั้นไม่ได้

เขายังกล่าวอีกว่า “ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ก่อตั้งมีคู่สมรสมากกว่าหนึ่งคน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ครอบครัวจะคงความสามัคคีไว้ได้”

“และ Evergreen ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสนจะชัดเจนว่า สิ่งที่เลวร้ายจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่มีการวางแผนการสืบทอดตำแหน่งแบบที่ควรจะเป็น”

อ้างอิง:

https://english.cw.com.tw/article/article.action?id=2916

https://www.evergreen-group.com/puf1/jsp/PUF1_EvergreenGroup_en.jsp

https://asia.nikkei.com/Business/The-succession-battle-at-Evergreen-Group-bodes-ill-for-the-Taiwanese-giant

https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2016/02/23/2003640006

https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2016/02/20/2003639770

https://www.taipeitimes.com/News/biz/archives/2022/04/15/2003776610

https://www.tradewindsnews.com/containerships/evergreen-board-wins-the-day-in-battle-with-rebel-shareholders/2-1-1227931

https://splash247.com/chang-kuo-wei-wins-evergreen-succession-war/

https://edition.cnn.com/travel/article/starlux-airlines-taiwan/index.html

บทความน่าสนใจ:

KBank Private Banking ถอดรหัสซีรีส์ดัง เผย 4 เทคนิค ยุติศึกชิงธุรกิจครอบครัว

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า