SHARE

คัดลอกแล้ว

“ประเทศไทยกำลังกลายเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วพอ ๆ กับญี่ปุ่นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เว้นแต่ว่าตอนที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงวัยตอนนั้น เขามีรายได้ต่อหัวมากกว่าไทย 5 เท่า”

โธมัส ดาวิน อดีตผู้แทนยูนิเซฟประเทศไทยที่เพิ่งหมดวาระหมาด ๆ เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาบอกประโยคข้างต้นกับ workpointTODAY ระหว่างสัมภาษณ์

“ถามว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก ถ้าตอบแบบง่าย ๆ  ก็ตอบได้ว่าก็ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆในโลกที่ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กน่ะสิ เมื่อได้ให้สัตยาบรรณแล้วก็ต้องดำเนินการเพื่อให้เด็กมีสิทธิตามที่พวกเขาพึงมี”

โธมัส ดาวิน อดีตผู้แทนยูนิเซฟประเทศไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนหมดวาระเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563

“นอกจากนี้ ก็ตอบอีกว่าได้ว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลงเรื่อย ๆ จากที่เคยมีเด็กเกิด 1.2-1.3 ล้านคนต่อปี ตอนนี้เหลือแค่ 700,000 คน ซึ่งลดลงเร็วมาก ถ้าวันนี้มีผู้ใหญ่ 6 คนดูแลคนแก่ 1 คน ในปี 2050 ก็จะมีผู้ใหญ่ 2 คนดูแลคนแก่ 1 คน ซึ่งแปลว่า ผู้ใหญ่ 2 คนนี้จะต้องแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากหากเราต้องการให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้าและให้ประเทศไทยเขยิบฐานะเป็นประเทศรายได้สูง ดังนั้น ไม่ว่าจะมองมุมสิทธิหรือเศรษฐกิจ เราต้องการและจำเป็นต้องให้เด็ก ๆ ได้รับการพัฒนาสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้” คุณโธมัสตอบ

ในโอกาสที่เขาเพิ่งผ่านประสบการณ์การทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนในประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 5 ปี เราจึงถือโอกาสนี้คุยกับเขาเรื่องเด็กในประเทศนี้ตลอดวาระการดำรงตำแหน่งของเขากัน


“ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งคอนทราสต์” คุณโธมัสเริ่ม โดยชี้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีตัวชี้วัดเรื่องเด็กหลายตัวที่น่าประทับใจ เช่น อัตราการตายของทารกที่ต่ำมาก ต่ำพอ ๆ กับยุโรปตะวันตก อัตราการเข้าเรียนชั้นปฐมวัยที่สูงเกือบ 90% ตลอดจนอัตราการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่สูงเกือบ 100%  ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนนี้ยังห่างไกลจากความสำเร็จเหล่านี้

“คนไทยอาจเห็นว่าเรื่องเหล่านี้ธรรมดามาก  แต่จริง ๆ แล้วนี่เป็นเรื่องน่ายินดีมากนะ ซึ่งมันต้องใช้ความมุ่งมั่นและความพยายามในการผลักดันสูงมากในการทำให้สำเร็จ”

ในภาพรวม แม้อัตรา “การเข้าถึง” บริการขั้นพื้นฐานอาจมีตัวเลขที่น่าพอใจ ในขณะเดียวกัน ปัญหาคลาสสิกที่หลายประเทศต้องเจอ คือ การพัฒนา “คุณภาพ” ของบริการ อีกทั้งการทำอย่างไรเพื่อให้ประชากรทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรืออยู่ไกลแค่ไหน สามารถเข้าถึงบริการของรัฐที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม

“ในประเทศต่างๆ  เส้นทางการพัฒนาในช่วงแรก คือต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาด ไฟฟ้า การศึกษา และสาธารณสุขได้ก่อน รัฐบาลในช่วงแรกก็จะเน้นไปที่การเข้าถึงบริการพวกนี้ นี่คือครรลองปกติในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศ แต่พอประเทศเริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ รัฐควรต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ… พอถึงจุดที่ต้องคิดเรื่องคุณภาพด้วยก็เริ่มกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น หลายประเทศในโลกก็ติดที่จุดนี้เหมือนกัน”

เขายกตัวอย่างว่าในเมืองใหญ่ที่คนหนาแน่น  เช่น กรุงเทพมหานคร ประชากรเข้าถึงบริการมากกว่า และบริการต่าง ๆ มักมีคุณภาพดีกว่า มีโรงเรียนคุณภาพดี มีระบบบริการสุขภาพที่ดีพร้อม ฯลฯ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่า แต่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล การเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพเหล่านี้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

“เราจะเห็นผลกระทบหลากหลายเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกล เช่น การมีบุตรในวัยรุ่นเกิดขึ้นในภาคเหนือมากที่สุด หรือเรามักเจอปัญหาเรื่องผลการเรียนตกต่ำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และแม่ฮ่องสอน”

ยกตัวอย่าง โรงเรียนในชนบทบางแห่งมีครูน้อยมาก เด็ก ๆ ในแต่ละชั้นต้องเรียนรวมกัน ครูต้องสอนผลัดกัน ซึ่งเป็นความท้าทายของครู แน่นอน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและผลการเรียนของเด็ก

“ตลอด 5 ปี เรื่องความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นสำคัญ โอกาสในชีวิตของเด็กในครอบครัวที่ยากจนมาก กับครอบครัวร่ำรวยแตกต่างกันลิบลับ ”

โรงเรียนที่ห่างไกลมีปริมาณครูน้อย ทำให้ครูบางคนต้องสอนเด็กหลายชั้นปีในห้องเรียนเดียวกัน ส่งผลกระทบถึงคุณภาพการศึกษาของนักเรียน

ขณะที่อีกปัญหาสำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำ ประชากรบางกลุ่มที่ยังคงตกหล่นและเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ เช่น กลุ่มยากจน อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตามชายแดน ภาคเหนือ ภาคอีสาน และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ตลอด 5 ปี เรื่องความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นสำคัญ โอกาสในชีวิตของเด็กในครอบครัวที่ยากจนมาก กับครอบครัวร่ำรวยแตกต่างกันลิบลับ การมีหนังสือเด็ก ของเล่น หรือของจำเป็นสำหรับเด็ก ๆ ในครอบครัวยากจนเป็นเรื่องยากลำบาก ในขณะที่การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพก็แตกต่างกันมาก  เรื่องหนึ่งที่ยูนิเซฟพยายามเน้นมาตลอด คือ ความเท่าเทียม ทำอย่างไรให้เด็กทุกคนมีโอกาสในชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน”


แน่นอนว่าปัญหาเชิงโครงสร้างต้องการเวลาในการแก้ไข เราจึงถามเขาว่า 5 ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ยูนิเซฟดำเนินการอยู่เป็นอย่างไร

โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

โครงการนี้เป็นสิ่งที่ยูนิเซฟร่วมผลักดันกับรัฐบาลมาตลอดหลายปี จนในที่สุด รัฐบาลอนุมัตินโยบายนี้ในปี 2558

“โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดมาจากแนวคิดว่า เด็กในครอบครัวยากจนจะมีชีวิตที่ยากลำบากกว่าเด็กคนอื่น ๆ รัฐบาลไทยก็เลยตัดสินใจให้เงินอุดหนุนครอบครัวที่มีเด็ก ตอนแรกเริ่มจากจำนวนเงินเพียง 400 บาท/เดือน ให้เด็กทุกคนที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบในครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 3,000 บาท/เดือน

จากนั้นยูนิเซฟได้สนับสนุนรัฐบาลไทยทำการประเมินผลโครงการนี้ พบว่า แม้เงิน 400 บาทที่อาจฟังดูไม่มากนัก แต่มันมีค่ามากสำหรับหลายครอบครัว บางทีมันอาจจะช่วยชีวิตเด็กเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นเส้นแบ่งว่าเด็กคนหนึ่งจะได้กินอาหารที่มีประโยชน์หรือเปล่า

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเป็นหนึ่งในความหวังของครอบครัวรายได้น้อยช่วงโควิด-19 ที่แม้ครอบครัวจะขาดงานแต่ก็ได้ส่วนนี้มาซื้ออาหารที่มีโภชนาการ ไม่ให้เด็กเล็กมีพัฒนาการสะดุดในช่วงสำคัญของชีวิต

พอเป็นอย่างนี้ รัฐบาลเล็งเห็นว่า เงินอุดหนุนนี้สำคัญและส่งผลกระทบต่อครอบครัวยากจนได้จริง ๆ  จึงได้ขยายจำนวนเงินจาก 400 เป็น 600 บาท แล้วขยายฐานจากเด็กอายุ 0-1 ปี เป็นเด็กอายุ 0-3 ปีให้มีสิทธิได้รับ

ยูนิเซฟก็รีบประเมินนโยบายนี้อีกรอบ และแสดงให้รัฐบาลเห็นว่านโยบายนี้ช่วยครอบครัวได้มากจริง ๆ  รัฐบาลก็ขยายอีกให้ครอบคลุมเด็กมากขึ้นไปอีก จนตอนนี้ครอบคลุมครอบครัวเด็กอายุ 0-6 ปีที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี”

คุณโธมัสเล่าว่าโครงการนี้เกิดขึ้นและขยายอย่างรวดเร็วมากและกลายเป็นตัวอย่างในระดับโลกให้กับประเทศต่าง ๆ

“นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วของประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ครอบคลุมเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี กว่า 1.8 ล้านคนแล้ว ตอนนี้ สิ่งที่ยูนิเซฟต้องการผลักดันต่อ คือ ให้เด็กทุกคนที่อายุ 0-6 ปีได้รับเงินอุดหนุนอย่างถ้วนหน้า เพื่อไม่ให้มีใครต้องตกหล่น และนี่จะเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจสำหรับคนไทยและยูนิเซฟมาก ๆ ที่มีส่วนร่วมสร้างให้สิ่งนี้สำเร็จขึ้นมาได้””

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

อีกหนึ่งความสำเร็จของไทยคือการลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

เมื่อ 5 ปีที่ผ่านตอนที่ผมมาถึงประเทศไทยใหม่ ๆ ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก  ทุก ๆ ปีวัยรุ่นกว่าแสนคนคลอดบุตรและมักต้องออกจากระบบการศึกษา และเผชิญกับความยากลำบากต่าง ๆ ในชีวิต การกลับไปเรียนต่อก็ยาก แม่วัยรุ่นมักไม่ได้เข้าถึงงานดี ๆ และใช้ชีวิตที่แขวนบนเส้นด้าย จริง ๆ แล้วคนที่รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก หลาย ๆ คนก็เป็นแม่วัยรุ่นนี่แหละ เงินอุดหนุนก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่เราก็พยายามช่วยให้แม่วัยรุ่นได้มีโอกาสเข้าถึงการฝึกการอบรมเพื่อให้มีทักษะต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อให้เขาจะได้มีงานที่ดีขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น”

“รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง มีการออกพ.ร.บ. การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จนปัจจุบันไทยสามารถทำให้ตัวเลขแม่วัยรุ่นที่คลอดบุตรจากที่เคยสูงสุดที่ 53 คน ต่อ 1,000 คน เหลือเพียง 31 คนต่อ 1,000 คนได้ ลดลงเกือบจะครึ่งหนึ่งเลยในเวลาเพียง 5 ปี”

แม้ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ต่อไป แต่นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ หากรัฐบาลมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างจริงจังและทำให้เกิดการร่วมมือของทั้งสังคม


แม้จะมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนในหลายประเด็น แต่ยังมีงานระยะยาวอีกหลายเรื่องที่ยูนิเซฟกำลังผลักดันและดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่และครอบครัวแหว่งกลาง

ผลสำรวจของยูนิเซฟร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ระบุว่ามีเด็กอายุ 0-17 ปี ถึง 1 ใน 4 คนในประเทศไทย ที่ต้องเติบโตขึ้นโดยไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ต้องจากบ้านไปทำงานต่างถิ่น ส่วนใหญ่มักอยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายาย ซึ่งพบมากในภาคอีสาน ปัญหาคือการเติบโตกับผู้เฒ่าผู้แก่ไม่สามารถชดเชยการขาดพ่อและแม่ในภาวะที่เด็กต้องการการเรียนรู้ได้

เด็กจำนวนมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย เนื่องจากพ่อและแม่มักต้องอพยพเข้าเมืองด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ การขาดสาธารณูปโภคในเมืองใหญ่ เช่น สถานเลี้ยงเด็กอ่อน ทำให้พวกเขาไม่สามารถอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาได้

“ปู่ย่าตายายอาจมีความพร้อมน้อยกว่าพ่อแม่ในการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ๆ ซึ่งส่งผลอย่างมหาศาลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เมื่อเติบโตขึ้นมา”

โธมัสกล่าวว่าความท้าทายสำคัญเกิดในช่วงที่เขาเรียกมันว่า “3×3”

3 ตัวแรก หมายถึง 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กฎหมายที่ให้แม่ลาคลอดได้ และ 3 ตัวหลังคือ 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมักเข้าศูนย์เด็กเล็ก ทำให้ช่วงเวลาระหว่าง 3 เดือนกับ 3 ขวบ กลายเป็นช่วงสุญญากาศไม่มีบริการใด ๆ ของรัฐมารองรับเพื่อดูแลเด็กในช่วงนี้ เรื่องนี้ทำให้ผู้ปกครองต้องตัดสินใจ ว่าจะเลิกทำงานเพื่อดูแลลูก หรือจะทิ้งลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายดูแล ผู้ปกครองหลายคนไม่มีทางเลือกเพราะต้องมีรายได้ ส่วนใหญ่ก็เลยต้องจากลูกไป

ทางแก้เรื่องนี้ คือ การสร้างระบบบริการดูแลเด็กของรัฐที่รองรับเด็กในช่วงอายุนี้ พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาหลักสูตรให้แม่ที่มีลูกเล็กได้เข้าอบรมเรียนรู้ทักษะการดูแลเด็ก พร้อมมีการรับรองผู้ผ่านหลักสูตร   เพื่อที่นอกจากจะดูแลลูกของตนแล้วก็จะสามารถรับดูแลลูกของแม่คนอื่น ๆ ที่ต้องทำงานด้วย ขณะเดียวกันผู้รับดูแลก็ได้รายได้จุนเจือตนไปด้วย นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ ตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กหรือ Day-care Centre ในที่ทำงานเพื่อช่วยพนักงานที่มีลูกเล็กอีกด้วย

“ขั้นแรกก็อาจเริ่มจากโรงงานต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น คุณมีพนักงาน 2,000 คน ต้องการตั้งศูนย์เลี้ยงเด็ก 3-4 แห่ง เพื่อให้พนักงานที่เอาลูกมาด้วยได้เอาลูกไปฝากไว้ อย่างนี้พนักงานก็ไปหาลูกได้บ่อย ๆ รู้ว่าลูกปลอดภัย สุขภาพดี ได้เล่น เขาก็จะมีความสุขมากขึ้น ทำงานได้โดยไม่พะวักพะวน และอย่างนี้เขาก็จะอยู่กับองค์การนานขึ้น องค์กรก็ได้ประโยชน์ด้วย”

ปฏิรูปการศึกษา

โธมัสเผยว่าห้าปีที่ผ่านมาเขาพบว่ารัฐบาลไทยกระตือรือร้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาหลังพบว่าคะแนนการสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติหรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ต่ำลงในช่วงที่ผ่านมานี้

“นี่เหมือนเป็นสัญญาณให้เราตื่นตัวว่าเราต้องปรับหลักสูตรกันใหม่แล้ว ต้องมีหลักสูตรให้เด็กเรียนได้แตกต่างกว่านี้ ให้เด็กได้มีทักษะการวิเคราะห์ วิพากษ์ เสริมสร้างความมั่นใจ การทำงานเป็นทีม การร่วมมือกัน รวมถึงสร้างทักษะต่าง ๆ ที่เรามองว่าเป็นทักษะแห่งชีวิต”

เขายืนยันว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องเร่งเสริมสร้างทักษะแห่งอนาคตให้เด็กเพื่อให้พวกเขาเก่งที่สุดและให้มีผลิตภาพมากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขึ้นอยู่กับความสามารถและความสำเร็จของพวกเขา

“เรารู้ว่าเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) หมายความว่า เราจะมีเครื่องจักรมากขึ้นไปอีกที่จะมาทำงานแทนคน ประเภทของงานที่เยาวชนจะทำก็กำลังเปลี่ยนไป คนรุ่นผมอาจจะเปลี่ยนงานโดยเฉลี่ยก็ 5 งานในชีวิต แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ มีประมาณการว่า อาจจะเปลี่ยนงานถึง 30-50 งานในช่วงชีวิต  ดังนั้น เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีทักษะสำหรับอนาคต ต้องรู้จักประยุกต์และสามารถกระโจนจากงานหนึ่งไปสู่อีกงานหนึ่งได้ ดังนั้น การมีทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัว การวิเคราะห์วิพากษ์ การทำงานเป็นทีม จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็กรุ่นใหม่“

ปัญหาสุขภาพจิต

เทคโนโลยีนำความรู้และการเรียนการสอนแบบใหม่มาสู่เด็ก แต่ก็นำความทุกข์ร้อนแบบใหม่มาด้วยเช่นเดียวกัน

“คนหนุ่มสาวสมัยนี้กำลังก้าวผ่านห้วงเวลาที่ยากลำบาก ไปพร้อมๆ กับการเป็นตัวแทนของความหวังของบ้านเมือง … พวกเขาควรรู้สึกว่ามีพวกเราคอยสนับสนุนอยู่ รู้สึกปลอดภัย เชื่อใจ และพร้อมจะร่วมทางกับพวกเขาในเส้นทางชีวิตในอนาคตต่อไป”

“เด็กและเยาวชนทุกวันนี้อยู่ในโลกที่แตกต่างจากเรามาก พวกเขาอยู่ในโลกที่แบ่งแยกกันมากขึ้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วถึงมาก พวกเขาใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่กับอินเทอร์เน็ต มีความเสี่ยงที่จะถูกบูลลี่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หลายคนเผชิญกับความเครียดและความวิตกกังวล นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเป็นปัญหาที่มีนัยสำคัญสำหรับวัยรุ่นในประเทศไทย”

ผลสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนขององค์การอนามัยโลกและกรมอนามัยในปี 2558 พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจำนวน 1 ใน 10 คนในประเทศไทยเคยพยายามฆ่าตัวตาย

“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักก่อนว่า คนหนุ่มสาวสมัยนี้กำลังก้าวผ่านห้วงเวลาที่ยากลำบาก ไปพร้อมๆ กับการเป็นตัวแทนของความหวังของบ้านเมือง ดังนั้น เราต้องร่วมมือกัน เหมือนอย่างที่เราเคยแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คราวนี้มาร่วมมือกันว่าจะติดทักษะให้เยาวชนได้อย่างไรให้ดีที่สุดเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต และเราจะสนับสนุนพวกเขาอย่างไรให้ดีที่สุด พวกเขาควรรู้สึกว่ามีพวกเราคอยสนับสนุนอยู่ รู้สึกปลอดภัย เชื่อใจ และพร้อมจะร่วมทางกับพวกเขาในเส้นทางชีวิตในอนาคตต่อไป”

ความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัวและชุมชน

ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด พ.ศ. 2562 พบว่า เด็กเกินครึ่งเคยถูกทำโทษด้วยวิธีรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งความรุนแรงส่งผลเสียมากมายมหาศาลต่อเด็กในระยะยาว

“แต่เด็กที่ถูกใช้ความรุนแรงเหล่านี้กลับหลุดออกจากระบบบริการ  มีเด็กจำนวนน้อยมากที่เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือหรือเข้าถึงการดูแลจากเจ้าหน้าที่ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ หนึ่งในสาเหตุตรงนี้คือวัฒนธรรม เพราะเราอยู่ในสังคมที่ผู้คนจะลังเลใจมาก ๆ ที่จะแจ้งเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านของตัวเองหรือบ้านข้าง ๆ สิ่งนี้สำคัญมากเพราะความเงียบแบบนี้ ทำให้เด็กต้องทนทุกข์ทุกวัน และเป็นอีกปัญหาใหญ่ของสังคม”

สาเหตุที่สอง คือเรามีนักสังคมสงเคราะห์ไม่พอในประเทศไทย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนนักสังคมสงเคราะน้อยมาก มีแค่ประมาณ 4-6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนเท่านั้นเอง หมายความว่า แม้ว่าคุณจะแจ้งเหตุก็มีผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงพอที่พร้อมจะให้บริการในการคุ้มครองเด็ก

“เราน่าจะลงทุนในเรื่องนี้อีกมาก เพราะเด็ก  ๆ จำนวนมากกำลังต้องทนทุกข์จากความเงียบ ตกอยู่ในความมืดที่รู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเขาได้ ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นี่คือสิ่งที่เราต้องลุกขึ้นมาดูแลให้จริงจังกว่านี้”


แลอนาคต : เราจะพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในไทยให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร?

คุณโธมัสมองว่ามันต้องเริ่มจากการกำหนดให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชาติ ซึ่งต้องทำอย่างเป็นระบบและทำอย่างต่อเนื่องและร่วมมือกันทั้งองคาพยพ นอกจากนี้ ยังต้องทำให้แน่ใจว่า นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมามีการนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริงและเข้าถึงเด็กทุกคนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเด็กที่กลุ่มเปราะบางและขาดโอกาสที่สุดในสังคม

“ทุกอย่างที่พูดมาเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลไทย บทบาทหนึ่งของยูนิเซฟคือพยายามที่จะกระทุ้ง แนะนำ ช่วยบอกแนวคิดว่าอะไรที่น่าจะมีประโยชน์ ผมคิดว่าเราต้องตระหนักก่อนว่า การพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าได้ในอนาคต มันต้องเริ่มต้นที่เด็กและเยาวชน มันเริ่มที่เด็กเล็ก เริ่มที่บ้าน ที่โรงเรียน มันคือการช่วยให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมที่จะเติบโตในโลกอนาคตที่มีความท้าทายอย่างมาก สำหรับรัฐบาล มันคือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนมาเป็นลำดับแรก

“เวลาที่เรามองประเทศอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือฟินแลนด์ที่มีโมเดลการศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาก เราก็จะเห็นว่า มันมักเริ่มมาจากการตัดสินใจของรัฐบาลนั้น ๆ ที่ปักธงไปเลยว่าเราต้องการที่จะมีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เราจะทำมันอย่างเป็นระบบ และมักจะหมกมุ่นว่าจะทำอย่างไรเราถึงจะดีขึ้นเรื่อยๆ  จทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนถึงจะมีศักยภาพมากขึ้น โดยไม่คำนึงว่าใครจะเป็นรัฐมนตรี รัฐบาลไหนจะผลัดเปลี่ยนมา หรือพรรคการเมืองไหนเข้ามา เพราะไม่ว่าจะเป็นใครเข้ามาก็ตาม เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กำหนดอนาคตของชาติ และจะต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของประเทศต่อไปเรื่อยๆ ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า”

“อีกเรื่องคือ การเข้าถึงประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤต เช่นโควิด-19 จะเห็นว่า แรงงานในประเทศไทยกว่าครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ แปลว่า ครอบครัวเกินครึ่งประเทศไม่มีสวัสดิการสังคมรองรับ มักมีหนี้สิน และเมื่อตกงานก็ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดเมื่อเกิดวิกฤต สิ่งจำเป็นคือ ความช่วยเหลือต้องเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างแท้จริง จะกำหนดเกณฑ์อย่างไร และจะเข้าถึงพวกเขาอย่างไร   จุดแข็งของประเทศไทย คือความต้องการและความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ แต่จุดอ่อนก็คือ การมีหลากหลายโครงการ มีเกณฑ์แตกต่างกันไป และไม่เชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่ เราจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ และใช้กฎเกณฑ์เดียวกัน ไม่ใช่ว่ากระทรวงหนึ่งนิยามเด็กยากจนแตกต่างจากอีกกระทรวงหนึ่ง”

แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเรื่องเด็กไร้สัญชาติที่ดีจนเปิดทางให้เข้าถึงการศึกษาได้ 100% แต่ในทางปฏิบัติยังมีการตกหล่นอยู่มาก เป็นความท้าทายที่ต้องบังคับใช้นโยบายให้ได้ประสิทธิผล

“จะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนถึงจะมีศักยภาพมากขึ้น โดยไม่คำนึงว่าใครจะเป็นรัฐมนตรี รัฐบาลไหนจะผลัดเปลี่ยนมา หรือพรรคการเมืองไหนเข้ามา เพราะไม่ว่าจะเป็นใครเข้ามาก็ตาม เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กำหนดอนาคตของชาติ และจะต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของประเทศต่อไปเรื่อยๆ ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า”

เรื่องสุดท้าย คือ การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้จริง ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายไทยอนุญาตให้เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีสัญชาติใดๆ เข้าเรียนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ก้าวหน้ามากในการให้โอกาสเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่เรื่องนี้ยังมีช่องว่างอยู่เมื่อถึงการปฏิบัติจริงในพื้นที่ หลายพื้นที่ยังมีข้อจำกัดและทำไม่ได้ เราต้องผลักดันต่อเพื่อลดช่องว่างนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคน รวมถึงเด็กข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่มา หรือเด็กไร้สัญชาติ จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน


สุดท้ายเราทราบว่าผู้อ่านก็คงจะสงสัย ว่ายูนิเซฟมีมุมมองอย่างไรต่อสถานการณ์การชุมนุมของเด็กและเยาวชนไทยที่เกิดขึ้นตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราเอ่ยปากถามเขาอย่างไม่อ้อมค้อมในฐานะอดีตผู้แทนยูนิเซฟประเทศไทยที่เพิ่งพ้นวาระ

“ผมขอแบ่งเรื่องนี้ออกเป็นสองประเด็น ประเด็นแรกก็คือการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา  ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ หรือคนที่อยู่ในระบบการศึกษา หรือใครก็ตามที่อยู่ในประเทศไทยมาแล้วสักพัก แต่ด้วยความที่เด็ก ๆ มีความต้องการแรงกล้า เอาจริงเอาจัง และกล้ามุ่งไปยังประเด็นต่าง ๆ ที่ยากและอาจทำให้หลายคนลำบากใจ แต่มันเป็นเรื่องจริงนะ นั่นก็คือ ระบบการศึกษาที่มีอยู่ตอนนี้ไม่สามารถช่วยให้นักเรียนมีประสิทธิผลการศึกษาได้อย่างที่มันควรจะเป็น หรือไม่ได้ช่วยให้นักเรียนมีทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่ออนาคตของพวกเขา มันชัดเจนมากและเป็นเรื่องเราปฏิเสธไม่ได้

ผมรู้ว่ากระทรวงศึกษาธิการก็กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่  แต่ความขุ่นข้อง (ของเด็กๆ) ก็คือ ความก้าวหน้าเรื่องนี้มันไม่เร็วทันใจพวกเขา ผมเข้าใจอารมณ์นี้ เพราะสำหรับเยาวชน คำว่าอนาคตของพวกเขามันไม่ใช่อีกสิบปีข้างหน้า มันคือพรุ่งนี้ สำหรับพวกเขา การขาดทักษะที่จำเป็นในวันนี้ ทำให้อนาคตตกอยู่ในความเสี่ยง พวกเขาเลยอยากเปลี่ยนทุกอย่างตอนนี้ไม่ใช่อีกห้าปีข้างหน้า  แต่ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาก็ใช้เวลาหลายปีในการปฏิรูป ผมเข้าใจได้ว่าทำไมถึงเกิดความคับข้องใจ

อีกแง่หนึ่งคือ แม้ว่ากระทรวงศึกษาจะมีแนวทางออกมาว่าให้มีพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา เพื่อให้เด็กสามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่ตนเองอยากเปลี่ยนแปลงได้ในโรงเรียน แต่เด็กนักเรียนจำนวนมากรวมถึงหน่วยงานภาคประชาสังคมต่างก็บอกว่า ในความเป็นจริงมันยังมีช่องว่างอยู่ มันมีความแตกต่างระหว่างแนวทางที่มีและที่สื่อสารกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน เด็กๆ หลายคนรู้สึกว่าเขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ในโรงเรียน หรือถ้าพูดก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากครูและผู้บริหาร บ่อยครั้งหลายคนอาจรู้สึกผลักไสออกมา

สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับประเด็นที่สองที่ผมจะพูดถึง นั่นคือ  เรื่องการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของเด็กในทุกที่ (ไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียน)  ในมุมมองของยูนิเซฟ การแสดงความคิดเห็นของตัวเองในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการเมือง ระบุอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่บอกไว้ในมาตรา 12 ซึ่งระบุว่า เด็กทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ โดยปลอดภัยและปราศจากการถูกข่มขู่คุกคามหรือความรุนแรงไม่ว่าในทางใด

ผมคิดว่าในสังคมใดก็ตาม เราควรจะอยากให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดเห็น และควรจะสนับสนุนพวกเขาให้ทำได้ด้วยซ้ำ เพราะนั่นคือวิธีพัฒนาทักษะการพูดคุยอภิปรายและการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ๆ  เพราะอีกไม่นานอนาคตของชาติก็จะอยู่ในมือพวกเขาแล้ว เขาควรจะรู้สึกว่าเขามีอำนาจที่จะคิดเรื่องต่างๆ และสามารถเอาเรื่องเหล่านั้นมาสะท้อนพูดคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเรื่องนี้ก็ควรจะเกิดขึ้นได้ในครอบครัวด้วยเหมือนกัน

โธมัส ดาวิน อดีตผู้แทนยูนิเซฟประเทศไทย

ผมรู้เพราะผมเองก็มีลูก ผมรู้ถึงพลังงานของเด็กและวัยรุ่น วิธีการของพวกเขามักจะเร่งเร้ากดดันเรา แต่เด็ก ๆ ทุกที่ในโลกก็เป็นแบบนี้เหมือนกันหมด เพราะนี่คือวิธีการสร้างตัวตนและเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาก็ต้องผลักดันและสะท้อนสังคมที่พวกเขาอยู่ว่าเป็นยังไง และนี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จึงระบุว่า เราควรส่งเสริมให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็น และมันควรเป็นไปอย่างปลอดภัย ไม่ว่าความคิดเห็นของเขาคืออะไร แต่สิ่งสำคัญคือเขาควรมีโอกาสและมีพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น

แต่การมีพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เด็ก ๆ พูดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือเด็ก ๆ จะได้สิ่งที่เขาเรียกร้องนะ ยูนิเซฟไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น สิ่งที่เราพยายามบอกก็คือ ยูนิเซฟไม่มีความคิดเห็นในข้อเรียกร้องของเด็กและเยาวชน  นั่นไม่ใช่สิ่งที่ยูนิเซฟจะเป็นผู้ตัดสินใจ ความเห็นของเราคือ มันควรมีพื้นที่ปลอดภัยและโอกาสในการแลกเปลี่ยน มันควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นคุณค่าและควรได้รับการปกป้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน การมีส่วนร่วมและการแสดงออกอย่างสันติโดยแท้จริง

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เราพยายามจะบอกกับเด็ก ๆ และเยาวชนด้วย ก็คือ หลักการนี้ใช้กับทุกคนนะ คนหนุ่มสาวมักมีความเห็นที่แรงกล้ามาก ซึ่งคนหนุ่มสาวบนโลกก็ล้วนเต็มไปด้วยความเร่าร้อนเอาจริงเอาจังทั้งนั้น เราพยายามบอกพวกเขาว่า ในขณะที่พวกเขาต้องการให้คนอื่นเคารพความคิดเห็นและการแสดงออกของพวกเขา พวกเขาเองก็ต้องเคารพความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้อื่นด้วยเช่นกัน หลักการเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและการเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นต้องใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า