ไม่ใช่เพียงแค่ในไทยเท่านั้น ที่แอปพลิเคชันติ๊กต๊อก (TikTok) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในยุโรปและอเมริกาเองก็ถูกโซเชี่ยลมีเดียจากจีนเจ้านี้ตีตลาดได้สำเร็จเช่นกัน
ปัจจุบันมีรายงานจากเว็บไซต์เดอะเวิร์จ (The Verge) ว่าผู้คนทั่วโลกได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตัวนี้ไปแล้วกว่า 2 พันล้านครั้ง เฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ก็มีคนกดโหลดถึง 315 ล้านครั้งเข้าไปแล้ว
จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้เอง ทำให้ทางหน่วยงานในเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจยื่นเรื่องไปที่คณะกรรมการด้านการปกป้องข้อมูล ของทางสหภาพยุโรป หรือ อียู เพื่อขอให้เปิดการสอบสวนบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ว่ามีนโยบายในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานที่เป็นเด็กอย่างไร เนื่องจากมีเด็กชาวเนเธอร์แลนด์จำนวนมากที่หันมาเล่นติ๊กต๊อก ที่กลายเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันยอดฮิตในช่วงกักตัวจากเชื้อโควิด-19
ในช่วงที่ผ่านมาทางบริษัทเองก็โดนตั้งคำถามจากผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ เช่นกัน ว่าสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ ซึ่งทางไบต์แดนซ์ก็ได้ยืนยันว่าไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีนแต่อย่างใด
สำหรับทางสหภาพยุโรปนั้นได้ตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติมกรณีของการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท เคลียร์วิวเอไอ (Clearview AI) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดึงรูปภาพนับพันล้านรูปจากสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อส่งให้กับตำรวจในการตามหาผู้ต้องสงสัยที่ไม่มีประวัติอาชญากรบันทึกไว้ พวกเขามองว่า การใช้บริการจากบริษัทประเภทนี้อาจผิดต่อข้อกำหนดการปกป้องข้อมูลทั่วไปของอียู ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนให้แน่ชัดเพิ่มเติม
ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ได้สอบถามไปยังเคลียร์วิวเอไอถึงประเด็นดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ส่วนติ๊กต๊อกได้ออกมาแถลงแล้วว่า พวกเขาจะให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ในการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ และยินดีจะร่วมมือกับทางหน่วยงานของอียู
สำหรับบทลงโทษหากทำผิดต่อกฎหมายข้อมูล อียูซึ่งมีสมาชิกอยู่ 27 ประเทศสามารถลงโทษปรับผู้กระทำผิดเป็นจำนวนเงินเทียบเท่า 4% ของยอดขายทั่วโลกต่อปีได้ในกรณีที่เป็นความผิดขั้นร้ายแรงที่สุด