Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ข่าวใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงานโลกในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีการปรับเปลี่ยนเก้าอี้ในบอร์ดบริหารของบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในสหรัฐฯ อย่าง ‘Exxon’ (เอ็กซอน)

ที่ในการโหวตคณะกรรมการบริหารบริษัทครั้งล่าสุด ไม่เพียงแต่มีซีอีโอบริษัท Merck และอดีตซีอีโอ Caterpillar เท่านั้นที่ได้เป็นกรรมการ แต่ยังมีสมาชิกใหม่อีก 3 ราย ที่มาจากบริษัทกองทุนเฮดจ์ฟันด์เล็กๆ อย่าง ‘Engine No.1’ ด้วย

สิ่งที่สร้างความตกตะลึงให้กับข่าวนี้ก็คือ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ดังกล่าวไม่เพียงแต่ถือหุ้นใน Exxon ด้วยสัดส่วนเพียง 0.02% แต่ยังเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาไม่นาน และมีจุดประสงค์คือต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อนของเอ็กซอน

แล้วถามว่า Engine No.1 ทำอย่างนั้นได้อย่างไร? ลองไปดูกัน

ก่อนจะไปถึงว่ากองทุนเฮดจ์ฟันด์นี้สร้างความตกตะลึงครั้งนี้ได้อย่างไร อาจต้องทำความรู้จัก Engine No.1 กันก่อน

Engine No.1 เป็นบริษัทกองทุนเฮดจ์ฟันด์ หรือกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุกและมีความเสี่ยงสูง ที่ก่อตั้งขึ้นในเดือน พ.ย. 2563 โดยนักลงทุนอย่าง ‘คริส เจมส์’

โดย Engine No.1 ได้ชื่อว่าเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มุ่งเน้นเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แม้ว่าเจมส์จะไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

เพราะในช่วงกลางทศวรรษที่ 2000 เจมส์ยังเคยร่วมลงทุนเปิดเหมืองถ่านหินในมิดเวสเทิร์น เพื่อให้เกิดการจ้างงานในบ้านเกิดของตนเอง

แต่ความล้มเหลงจากการเปิดเหมืองดังกล่าวได้เพียง 18 เดือน ได้กลายมาเป็นประสบการณ์เรื่องการลงทุนให้กับเขา และช่วยให้เจมส์ได้เข้าใจถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐศาสตร์ของธุรกิจพลังงาน และการที่บริษัทต่างๆ ปรับการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

นั่นทำให้เจมส์ปรับมุมมองต่อการลงทุนในธุรกิจพลังงาน และวางโพสิชั่นของ Engine No.1 ว่า ‘สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าระยะยาว’ และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของบริษัท ก็มาจากการลงทุนในสิ่งที่เกี่ยวกับแรงงาน, สังคม และสิ่งแวดล้อม

ราชสีห์เอ็กซอนที่ไม่ยอมขยับตามโลก

แต่ในขณะที่ทั่วโลกรวมไปถึงสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ระบุแบบชัดเจนว่า นี่เป็นเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่การพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซใหม่ๆ

แต่บริษัทพลังงานสัญชาติอเมริกันที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 อย่างเอ็กซอนกลับไม่ได้แคร์เทรนด์โลกเท่าไหร่นัก แถมยังลงทุนมหาศาลไปกับการผลิตเชื้อเพลิงใหม่ๆ และวางแผนในด้านการเปลี่ยนแปลงพลังงานช้ากว่าบริษัทอื่นๆ

ซึ่งถ้าหากมองไปดูบริษัทพลังงานอื่นๆ อย่าง เชลล์, โททาล, อีควินอร์ หรือบริษัทพลังงานรายอื่นๆ ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่กำลังเพิ่มงบประมาณให้กับพลังงานหมุนเวียน, สถานีชาร์จไฟฟ้า, ที่เก็บแบตเตอรี่ และพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่มาแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล

ขณะที่ผลประกอบการของเอ็กซอนก็ไม่สู้ดีนักถ้าเทียบกับคู่แข่ง คือ

-ปี 2561 รายได้ 2.9 แสนล้านเหรียญ (+18.76%)

-ปี 2562 รายได้ 2.6 แสนล้านเหรียญ (-8.71%)

-ปี 2563 รายได้ 1.8 แสนล้านเหรียญ (-31.49%)

การมุ่งเป้าไปที่การเติบโตในระยะสั้น และไม่สนใจว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปทางไหน ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า นี่ถึงเวลาที่เอ็กซอนจะต้องเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของตัวเองแล้วหรือไม่?

ถึงเวลาเปลี่ยน

Engine No.1 มองเห็นโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเอ็กซอน และด้วยความที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว ทำให้บริษัทสามารถเสนอชื่อสมาชิกคณะกรรมการใหม่ของเอ็กซอนได้

โดยวางเป้าไว้ว่า กรรมการใหม่จะต้องเป็นคนที่เข้าใจว่าบริษัทจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งหากสามารถโน้มน้าวให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ลงคะแนนให้กับคนที่ Engine No.1 เสนอได้ กรรมการใหม่เหล่านั้นก็จะช่วยเริ่มสร้างทิศทางการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้กับเอ็กซอนได้

และแน่นอนว่า Engine No.1 ก็ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะเป็นเพียงกองทุนเฮดจ์ฟันด์จิ๋วที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่นาน และมีหุ้นในเอ็กซอนราว 50 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.02% เท่านั้น

พวกเขาทำได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ทำให้แน่ใจว่าสามารถชนะได้จริง

ชัยชนะของ Engine No.1 ไม่เพียงมาจากการร่างถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในเอ็กซอน, การชี้แจงให้เห็นถึงสิ่งที่ทำแล้วไม่ได้ผล และการเฟ้นหากรรมการใหม่ที่น่าจะดึงดูดใจผู้ถือหุ้นเท่านั้น

แต่ยังมาจากปัจจัยสำคัญอย่าง ‘คอนเน็กชั่น’

โดย ‘ชาลี เพนเนอร์’ ผู้นำของ Engine No.1 เคยเป็นหุ้นส่วนที่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ Jana Partners เคยประสบความสำเร็จในการทำแคมเปญเพิ่มประสิทธิภาพ Parent Controls ของแอปเปิล

ทั้งยังเคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองทุนเกษียณอายุของครูแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (CalPERS) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนบำเหน็จบำนาญที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงมีความสัมพันธ์กับนักลงทุนคนอื่นๆ ในเอ็กซอนอีกด้วย

เพนเนอร์ใช้วิธีการเข้าหานักลงทุนรายสำคัญๆ ของเอ็กซอนอย่างเช่น CalPERS ที่ถือครองสินทรัพย์อยู่ราว 4.44 แสนล้านเหรียญ รวมไปถึงผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่เขาคิดว่าพอจะโน้มน้าวได้ เป็นบันไดในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ

“สิ่งแรกที่คุณทำคือต้องแน่ใจว่าคุณสามารถชนะได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทนี้มีฐานนักลงทุนรายย่อยที่ใหญ่มาก คุณต้องลดจำนวนรายที่ไม่สำคัญลง จากนั้นก็ใช้วิธีเดียวกันกับนักลงทุนสถาบัน และแม้ว่าคุณทำได้ไม่ดีอย่างที่คาดหวังไว้กับนักลงทุนรายย่อย ยังคงมีหนทางสู่ชัยชนะ” เพนเนอร์กล่าว

ประเด็นก็คือ แนวคิดและวิธีการโน้มน้าวผู้ถือหุ้นของ Engine No.1 ค่อนข้างโดนใจผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ อยู่พอสมควร เนื่องจากผู้ถือหุ้นหลายคนก็ไม่พอใจทิศทางการทำงานของเอ็กซอนเป็นเดิมทุนอยู่แล้ว จากผลตอบแทนที่ไม่ดี ยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เอ็กซอนมีผลงานต่ำกว่าคู่แข่งถึง 57.2%

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังกล่าวอีกว่า พวกเขาต้องการเห็นบริษัทตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ที่ผ่านมาไม่มีคณะกรรมการคนไหนที่มีพื้นฐานในด้านพลังงาน

สำหรับรายชื่อกรรมการ 3 คนจาก Engine No.1 ที่คว้าเก้าอี้ในบอร์ดบริหารมาได้ ได้แก่

-ไคซา ไฮทาลา จากบริษัท Neste ผู้ผลิตดีเซลหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในโลก

-อเล็กซานเดอร์ คาร์สเนอร์ จากโครงการ X ซึ่งเป็นหน่วยงานนวัตกรรมของอัลฟาเบท

-เกรกอรี่ โกฟฟ์ ผู้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมน้ำมันมาหลายสิบปี

กรรมการใหม่ 3 คน จะทำอะไรได้บ้าง

แม้ว่าจะเป็นชัยชนะของ Engine No.1 ที่สามารถคว้าตำแหน่งกรรมการมาได้ถึง 3 คน (จากที่ส่งรายชื่อไป 4 คน) แต่ถึงอย่างนั้น ในบอร์ดบริหารของเอ็กซอนก็ยังมีสมาชิกอีก 9 คน

นั่นจึงไม่ชัดเจนว่า กรรมการหน้าใหม่ 3 คนนี้ จะมีพลังและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหน

โดยนักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศบางรายยังตั้งสงสัยว่า กรรมการใหม่ 3 คนนี้จะสามารถปฏิรูปเอ็กซอนได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการสกัดน้ำมันและก๊าซยังเป็นแนวทางการดำเนินงานหลักๆ ของเอ็กซอน ซึ่งน่าจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก

“วิธีที่เราจะรู้ว่าคณะกรรมการชุดใหม่นั้นจริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การมาสัญญาว่าจะปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2593 แต่เป็นการประกาศแผนในการลดการผลิตน้ำมันและก๊าซอย่างจริงจัง ทั้งนี้ จนกว่าเอ็กซอนจะหยุดขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลออกมาจากพื้นดิน พวกเขาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา” นักเคลื่อนไหวรายหนึ่งระบุ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางรายก็ยังมองโลกในแง่ดีว่านี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขโชคชะตาของบริษัท แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ก็ตาม

ทั้งนี้ เอ็กซอนเองก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน รวมถึงบริษัทก็มีประสบการณ์ทำงานในมหาสมุทรสามารถ ซึ่งน่าจะนำมาใช้ในเรื่องการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งได้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนหลายคนมีความหวัง แม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ช้ากว่าบริษัทอื่นๆ ก็ตาม

ท้ายที่สุดแล้ว ทิศทางของเอ็กซอนจะเป็นอย่างไรต่อไป และการก้าวเข้ามามีบทบาทในบอร์ดบริหารของกรรมการสายสิ่งแวดล้อม จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบายและเม็ดเงินให้กับเอ็กซอนได้หรือไม่ คงต้องติดตาม!

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า