‘ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (TISCO) เปิดเผยว่า สำหรับปี 2566 กลุ่มทิสโก้จะเน้นสร้างการเติบโตของกลุ่ม หรือเริ่มลงทุนเพื่อเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนขยายสาขา ‘สมหวัง เงินสั่งได้’ ที่คาดว่าจะเติบโตปีละ 200 สาขาในอีก 3 ปีต่อจากนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนลงทุนในเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อนำมาช่วยในการบริหารจัดการ การบริหารหนี้ และการหาพื้นที่ในการเปิดสาขาตามแทรฟฟิก ตามข้อมูลที่มี ฯลฯ โดยมีทั้งการซื้อเข้ามา และการเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทเทคฯ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มทิสโก้ไม่ได้มีตัวเลขงบลงทุนที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับโมเดลการลงทุน ซึ่งปัจจุบันยังไม่นิ่ง
กลยุทธ์ของกลุ่มทิสโก้ในปี 2566
1. เร่งขยายการเติบโตธุรกิจสินเชื่อในเชิงรุก จากที่ความต้องการสินเชื่อในตลาดยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Loan) ที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น และการเตรียมความพร้อมรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้น
ในปีนี้ กลุ่มทิสโก้จะยังเน้น Corporate Loan ในกลุ่มธุรกิจที่ตัวเองถนัด ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และคาดว่าสินเชื่อรายใหญ่จะตามมาด้วยรายได้วาณิชธนกิจ (Investment Banking: IB) ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนสินเชื่อ SMEs บริษัทฯ ก็ยังคงโฟกัสในกลุ่มธุรกิจที่ตัวเองถนัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อธุรกิจโลจิสติกส์ และสินเชื่อรถยนต์ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงที่สุดในพอร์ตสินเชื่อที่ราว 70%
นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ยังมีแผนขยายธุรกิจสินเชื่อผลตอบแทนสูง (High Yield Business) เช่น สินเชื่อรถเก่า หรือสินเชื่อรถบรรทุก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 24% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด
ทั้งนี้ คาดว่ายอดสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2566 จะเติบโตประมาณ 5-10% จากปีก่อนที่ 7.9% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าแนวโน้มอาจเพิ่มขึ้นจากกลุ่ม High Yield แต่ตั้งเป้าไม่เกิน 3% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2566
2. สร้างการเติบโตจากรายได้ค่าธรรมเนียม ทั้งในกลุ่มธุรกิจนายหน้าประกันภัย ธุรกิจธนบดีและตลาดทุน รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑืที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น โดยคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมในปี 2566 จะสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงกับปีก่อน
3. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ยกระดับการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงดูแลต้นทุนการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการขยายตัวค่อนข้างมาก เช่น ธุรกิจเช่าซื้อ หรือธุรกิจบริหารกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ จะต้องมีการรีวิวกระบวนการทำงานเพื่อให้ต้นทุนในการบริการลูกค้าอยู่ในสัดส่วนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
4. ขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืน นำเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment Social and Governance: ESG) ให้เข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงาน รวมถึงบริการที่นำเสนอให้ลูกค้า ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending)
นอกจาก 4 ข้อที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว กลุ่มทิสโก้ยังเดินหน้าขยายธุรกิจร่วมกับพาร์ทเนอร์ เช่น ธุรกิจประกันรถยนต์ ซึ่งในปีก่อนมีการออกประกันรถยนต์ร่วมกับบริษัทประกันและแบรนด์รถยนต์ต่างๆ เช่น ฟอร์ด (Ford) มาสด้า (Mazda) นิสสัน (Nissan) และเกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor)
เมื่อถามถึงการจ่ายเงินปันผลของ TISCO ซีอีโอของทิสโก้ระบุว่า จะมีการพิจารณาในเดือน ก.พ. ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือน เม.ย. 2566 ซึ่งปีก่อนบริษัทฯ จ่ายในอัตรา 7.15 บาทต่อหุ้น หรือ 84% ของกำไรสุทธิ โดยมีกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 8.47 บาท ส่วนในปี 2565 อยู่ที่ 9.02 บาทต่อหุ้น
ซีอีโอทิสโก้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยกลุ่มทิสโก้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ระดับ 3-4% โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกที่อาจหดตัวลงตามการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐและยุโรป
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทะยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ มาอยู่ที่ระดับ 2% ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
ในปี 2566 นี้ กลุ่มทิสโก้จึงปรับกลยุทธ์เข้าสู่โหมดของ ‘การเติบโต’ โดยนำความเชี่ยวชาญในทุกแขนงมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ภายใต้การดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน
สรุปผลประกอบการสำหรับงวดปี 2565
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 7,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2564 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อที่สามารถเติบโตได้ถึง 7.9% ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อนหน้า
พร้อมด้วยค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยขยายตัวถึง 24.0% สอดคล้องกับปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น 13.4%
นอกจากนี้ ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) ปรับตัวลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นไปตามการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพและภาวะความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนชะลอตัวลงจากปี 2564 ทั้งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หดตัว 19.2% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนอ่อนตัวลง 33.2% จากยอดขายที่ลดลงของกองทุนที่ออกใหม่
ประกอบกับบริษัทไม่ได้รับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องมาจากสภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงผลกำไรจากเงินลงทุนลดลงเมื่อเทียบกับผลกำไรในปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับปี 2565 อยู่ที่ 17.2%
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีจำนวน 219,004 ล้านบาท เติบโต 7.9% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการขยายตัวของสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อ SMEs
โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านช่องทาง ‘สมหวัง เงินสั่งได้’ สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 26.0% จากสิ้นปีก่อนหน้า ตามการเปิดเครือข่ายสาขาที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี
ในส่วนของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ลดลงจากสิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ 2.1% ของสินเชื่อรวม เป็นไปตามนโยบายการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพและการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ตรงจุด
ทั้งนี้ ระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ณ สิ้นปี 2565 อยู่ในระดับสูงถึง 258.8% ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 23.4% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.6% และ 3.7% ตามลำดับ