อนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า เงินจะไม่เท่ากับกระดาษ แต่เป็น Computer Program นั้นคือไฟแนนซ์ 3.0 หนึ่งในไฮไลท์บทสัมภาษณ์จากรายการ TOMORROW โดยคุณท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
กรณีศึกษาเอลซัลวาดอร์อนุมัติ ‘บิตคอยน์’ เป็นเงินถูกกฎหมาย
ท็อป จิรายุส : เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศเล็กๆ จำนวนประชากรเทียบเท่ากับกรุงเทพฯของเราเอง ซึ่งการที่เขาเปลี่ยนให้ ‘บิตคอยน์’ เป็นเงินถูกกฎหมาย ลองคิดดูง่ายๆว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกคือ 2 Trillion Dollars รวม GDP ไทยยังแค่ 500 Billion Dollars แปลว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีใหญ่กว่า GDP ไทย 4 เท่า ซึ่งแน่นอนว่าเอลซัลวาดอร์ GDP ต้องน้อยกว่าประเทศไทยอยู่แล้ว แต่การที่เขาเปิดให้รับบิตคอยน์ใช้เป็นเงินถูกกฎหมาย ต้องเรียกว่าเขาสามารถทำให้คนที่เป็นเศรษฐีใหม่จากการเติบโตของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมาจับจ่ายใช้สอย มาท่องเที่ยวในบ้านเขาได้มากขึ้น หรือแม้กระทั้งนักลงทุน ลองคิดดูว่าคนที่มีคริปโทเคอร์เรนซีเขาก็อยากเข้ามาใช้เพื่อสิ่งนี้ อีกมุมนึงก็คือประธานาธิบดีของเขามองในระยะยาวเมื่ออินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ทุกซอกมุม คนทำงานออนไลน์กันได้หมดก็จะเกิดการจ้างงานมากขึ้น ท่องเที่ยวง่ายขึ้น เพราะ ‘บิตคอยน์’ ให้อิสระในการแลกเปลี่ยนมูลค่า
สถานะประเทศไทย กับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเมื่อเทียบกับบริบทโลก
ท็อป จิรายุส : เราอยู่ตรงกลาง ไม่เหมือนจีนที่มีข่าวเรื่องแบนบิตคอยน์ หรือเอลซัลวาดอร์ที่เปิดให้ใช้บิตคอยน์ถูกกฎหมาย บิตคอยน์สำหรับบ้านเราไม่ได้เทียบว่าคือเงิน แต่คือสินทรัพย์ ก็จะเห็นตัวอย่างการซื้อคอนโด ซื้อรถด้วยบิตคอยน์ ในฐานะการแลกเปลี่ยนระหว่างคน 2 คน และประเทศไทยก็กำลังจะมีการออกเงินบาทดิจิทัลที่น่าจะได้เห็นในปีหน้า
บทบาทบิตคอยน์ และ CBDC จะเป็นอย่างไร เป็นขั่วตรงข้ามกันหรือไม่
ท็อป จิรายุส : ส่วนตัวมองว่าบิตคอยน์ และ CBDC จะอยู่ร่วมกันได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือวงการการสื่อสารที่แต่ก่อนเรามี โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ประมาณนี้ ในการรับสารรับข้อมูลต่างๆ แต่พออินเทอร์เน็ตเข้ามาเรามีอิสรภาพมากขึ้น เรามีเฟสบุ๊ค มีไลน์ มีสไกป์ แล้วถามว่าสื่อเก่ากับสื่อใหม่อยู่ร่วมกันได้มั่ยก็อยู่ร่วมกันได้ แล้วแต่ใครจะต้องการใช้อะไร ถนัดช่องทางไหนมากกว่า ผมจึงมองว่ามันเป็นแค่ช่องทางที่มากขึ้น บิตคอยน์ และ CBDC คืออิสรภาพของช่องทางแลกเปลี่ยนมูลค่า
การปรับตัวของผู้เล่นในวงการการเงินหลังจากนี้
ท็อป จิรายุส : ไฟแนนซ์ 1.0 เหมือนยุคที่เรามีเทป ซีดี เงินก็คือกระดาษ แปลว่าผู้เล่นทั้งหมดต้องมีเครื่องนับเงิน มีสาขา มีตู้ ATM ขยับมาที่ไฟแนนซ์ 2.0 ก็คล้ายๆกับเรามีเครื่องเล่น MP3 เราก็จะเห็นตลอดช่วง 10 ปี ว่าแบงค์ต่างๆขับเคลื่อนเรื่องเทคโนโลยีมากๆ อย่าง Promptpay, Mobile Banking แต่ในอนาคตอีก 5-10 ปี ข้างหน้าเงินจะไม่เท่ากับ IOU System แล้ว ไม่ใช่กระดาษ ไม่ต้องมีครื่องนับเงิน แต่จะเป็น Computer Program นั้นคือ ไฟแนนซ์ 3.0 ซึ่งเราจะได้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นจากการที่แบงก์ชาติออกบาทดิจิทัล เพราะฉะนั้นแปลว่าถ้าเงินจะเป็นดิจิทัลแล้ว ผู้เล่นก็จะต้องเป็นดิจิทัลแบงก์มากขึ้นนั้นก็คือ Financial Platform จะโอนเงินข้ามประเทศก็ได้ จะซื้อขายหุ้นหรือที่ดินก็ได้ จะปล่อยกู้ก็ได้ มันคือรวมทุกช่องทางไว้ในที่เดียว ซึ่งเราก็เริ่มเห็นการปรับตัวของแบงก์ให้เหมาะกับธุรกิจของโลกอนาคตแล้ว
สำหรับคนทั่วไปต้องปรับตัวอย่างไรต่อจากนี้เพื่อตามให้ทันถึงความสำคัญของการต้องเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล
ท็อป จิรายุส : เงินเป็นกระดูกสันหลังของทุกวงการ การสื่อสารก็เช่นกัน ขอยกตัวอย่างแบบนี้ว่าถ้าทุกวันนี้ใครยังใช้ไลน์ไม่เป็น ใช้สไกป์ไม่เป็น จะติดต่อคนจากต่างประเทศรู้แค่วิธีการโทรข้ามประเทศเสียเงินเป็นนาทีๆ ถามว่าได้มั่ยก็ได้ แต่มันมีทางเลือกอื่นที่เร็ว ฟรี ซึ่งเป็นประโยชน์จากโลกที่มันเปลี่ยนไป และสิ่งที่มีเหมือนกันในทุกวงการคือการแลกเปลี่ยนมูลค่า เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจแล้วว่าเงินมันกำลังจะเป็นดิจิทัลเหมือนกับการสื่อสาร เราก็จะได้ประโยชน์จากมันก่อนหรือมากกว่าด้วย ในอนาคตไฟแนนซ์ 3.0 มาแน่นอน