SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังกระแส COP26 ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามในสัปดาห์ก่อน TOMORROW x FINNOMENA ชวนดูว่าอะไรคือความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญ พร้อมวิเคราะห์จุดยืนและท่าทีของนานาประเทศต่างในการประชุม COP26 สำรวจโอกาสที่โลกจะสามารถเดินหน้าเข้าสู่กระแสเศรษฐกิจสีเขียว ‘Green Economy’ และการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก

COP26 คืออะไร

COP ย่อมาจาก Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา (แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 การประชุมในปีที่แล้วจึงถูกเลื่อนไป) และถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยนำปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่ระดับโลก

การประชุม Conference of the Parties ครั้งที่ 26 หรือ COP26 จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 12 พ.ย. โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมดราว 30,000 คน ประกอบด้วย ผู้นำระดับโลก ผู้แทนองค์กร ผู้สังเกตการณ์ และสื่อมวลชน

COP26 มาจากไหน สำคัญยังไง

ในการประชุม COP21 เมื่อปี 2015 ณ กรุงปารีส นานาชาติรวม 197 ประเทศได้ตกลงที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขึ้น ภายใต้ข้อตกลงนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะสร้างการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติ

โดยทุกๆ 5 ปี ประเทศต่างๆ จะต้องกลับมาด้วยแผนการฉบับที่ปรับปรุงใหม่ (NDCs ของปี 2020 ล่าช้าไปหนึ่งปีเนื่องจากการระบาดของโควิด-19)

สำหรับ COP26 ทั้ง 200 ประเทศจะประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับการเลิกใช้ถ่านหิน การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า และคาดว่าจะมีการดำเนินการเพื่อปกป้องธรรมชาติมากขึ้น

ซึ่งฉันทามติเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ปารีสเมื่อปี 2015 ถึงแม้ว่าเป้าหมายจะยิ่งใหญ่เพียงใด แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตามรายงานของ BBC มองว่า เป้าหมายเหล่านี้อาจจะทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

ขณะที่รายงานล่าสุดของ UN ชี้ว่าแผน NDCs ปัจจุบัน รวมส่วนที่เสนอเข้ามาใหม่และแก้ไขปรับปรุงของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรปและอีกกว่า 100 ประเทศ ยังไม่เพียงพอ เพราะมีผลให้การปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น 16% ห่างไกลจากเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซลง 45% อีกมาก

ดังนั้น แผนการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติที่ประเทศต่างๆ เปิดเผยในการประชุม COP26 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ละประเทศถูกกระตุ้นให้ปรับแก้ไข NDCs ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส

โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการปล่อยมลพิษจะต้องลดลง 45% เมื่อเทียบกับระดับปี 2010 ภายในปี 2030 และการปล่อยมลพิษจะเป็นศูนย์ (“net-zero” emissions) ภายในปี 2050 อุณหภูมิของโลกก็มีโอกาสที่จะอยู่ในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส

รู้จัก The Paris Agreement Against Climate Change

ในปี 2015 การประชุม COP21 กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของการดำเนินการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลที่ได้คือ ‘ข้อตกลงปารีส’ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายซึ่งลงนามโดยผู้นำโลกใน 197 ประเทศ

เป้าหมายหลักของข้อตกลง คือ การจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้น ‘ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส’ เมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม และเพื่อพยายามรักษาอุณหภูมิให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศจากทั่วโลกลงนามในข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยกัน

ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) แสดงให้เห็นว่า โลกเรามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และแม้ว่าในปี 2563 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายปี เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง

แต่ข้อมูลคาดการณ์ล่าสุดของปี 2564 พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มกลับมาเกือบเท่ากับระดับของปี 2562 แล้ว ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดี

ทำไมต้อง 1.5 องศาเซลเซียส

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) หน่วยงานชั้นนำของโลกด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ได้ประเมินผลที่มีต่อโลกจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสอย่างละเอียด

โดยพบว่าความเสียหายที่เกิดจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสกับ 2 องศาเซลเซียสนั้นแตกต่างกันมาก และสรุปได้ว่าอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้นมีความปลอดภัยกว่ามาก

แม้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสก็ยังคงส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แนวปะการังฟอกสี และการเพิ่มขึ้นของคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุที่รุนแรง และรูปแบบอื่นๆ ของสภาพอากาศที่รุนแรง แต่จะน้อยกว่าผลของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

ผลการวิจัยเพิ่มเติมจาก IPCC ที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม เน้นย้ำคำเตือนเหล่านี้ และสรุปว่ายังมีโอกาสที่โลกจะอยู่ภายในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส แต่จะต้องมีความพยายามร่วมกัน ที่สำคัญคือ ยังพบว่าทุกๆ ระดับของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมีความสำคัญ

ปัจจุบันอุณหภูมิทั่วโลกอยู่เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.1-1.2 องศาเซลเซียส และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงในช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว แต่เป็นเพียงชั่วคราวและเพิ่มขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยการปล่อยมลพิษทั่วโลกต้องลดลงประมาณ 7% ต่อปีในทศวรรษนี้ เพื่อให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

หากไม่ลดการปลดปล่อยคาร์บอน วงจรวิกฤตนี้ก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยสาเหตุ 4 ประการที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather)

1) ยิ่งร้อน ยิ่งเกิดคลื่นความร้อนนานกว่าเดิม

หากอยากจะเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ให้ลองนึกถึงกราฟเส้นโค้งที่มีสภาวะร้อนและเย็นสุดขั้วอยู่ 2 ฝั่ง ส่วนตรงกลางเป็นระดับอุณหภูมิโดยเฉลี่ย การเปลี่ยนแปลงของส่วนกึ่งกลางเพียงเล็กน้อยทำให้เส้นโค้งนั้นไปแตะบริเวณที่เป็นสุดขั้วมากขึ้น ดังนั้น คลื่นความร้อนที่บางประเทศเจอจึงได้เกิดขึ้นบ่อยและนานขึ้น

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักรให้ข้อมูลว่า สหราชอาณาจักรเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ยาวนานขึ้นถึง 2 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่ฝั่งตะวันตกของแคนาดาและสหรัฐฯ ต้องเจอกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์เพราะโดมความร้อน (heat dome) หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน

ในบริเวณที่มีความกดอากาศสูง มวลอากาศร้อนถูกกดลงและกักไว้อยู่กับที่ ส่งผลให้อุณหภูมิทั้งทวีปพุ่งสูงขึ้น ที่เมืองลิตตัน ทางฝั่งตะวันตกของแคนาดา อุณหภูมิสูงถึง 49.6 องศาเซลเซียส มากกว่าสถิติเดิมเกือบ 5 องศาเซลเซียส

กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ หรือ World Weather Attribution บอกว่าคลื่นความร้อนรุนแรงแบบนี้แทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากไม่ใช่เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

2) ภาวะแล้งที่หนักกว่าเดิม

พอมีคลื่นความร้อนที่หนักและนานกว่าเดิม ภาวะแล้งก็อาจรุนแรงกว่าเดิม เมื่อฝนตกระหว่างมีคลื่นความร้อนน้อยลง ความชื้นบนพื้นดินและแหล่งน้ำก็แห้งเหือดเร็วขึ้น พอเป็นเช่นนี้ พื้นดินก็ร้อนเร็วขึ้น ทำให้อากาศร้อนหนักขึ้นไปอีก สาเหตุเหล่านี้นำไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญในดำรงชีวิตและการเกษตร

3) ไฟป่ารุนแรง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความร้อนอย่างยาวนานและเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นวงจร เป็นผลให้พื้นดินและต้นไม้ไร้ความชุ่มชื้น ความแห้งแล้งนี้เองเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไฟป่าซึ่งลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างที่มีให้เห็น คือ ภูมิภาคตะวันตกของแคนาดาในหน้าร้อนนี้ ไฟป่าลุกลามรวดเร็วและรุนแรงจนสร้างระบบสภาพอากาศเฉพาะขึ้นมาพร้อมกับการก่อตัวของเมฆไพโรคิวมูโลนิมบัส เมฆยักษ์เหล่านี้ทำให้เกิดฟ้าผ่า และฟ้าผ่าก็ไปทำให้ไฟลุกไหม้เพิ่มขึ้นมาอีก เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในไซบีเรียเช่นกัน

ในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีการเกิดไฟป่าขนาดใหญ่บ่อยขึ้นมาก Climate Central องค์กรอิสระซึ่งเป็นการรวมตัวของนักวิทยาศาสตร์และผู้สื่อข่าวบอกว่า ไฟป่าขนาด 40 ตร.กม. ที่เผาผลาญฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เกิดขึ้นบ่อยกว่าในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 7 เท่า

4) ฝนตกหนักกว่าเดิม

ในปีนี้ เกิดน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ที่จีน เยอรมนี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ปีเตอร์ เกลค ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ บอกว่า เมื่อมีพื้นที่ที่แห้งแล้งมากขึ้นอย่างในไซบีเรียหรือภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ฝนก็ไปตกที่อื่นแทน ในพื้นที่ที่เล็กกว่า เกิดเป็นน้ำท่วมที่รุนแรงกว่า อย่างในเยอรมนีและเบลเยียม

สภาพอากาศทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ สุดขั้วมากขึ้น

โดยนักวิเคราะห์ของ Bank of America Corp. คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะหายไปกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญภายในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสภาพอากาศ

เป้าหมายของ COP26

เว็บไซต์ทางการของ COP26 ได้วางเป้าหมายที่ COP26 ต้องบรรลุไว้ 4 เป้าหมาย ดังนี้

1) ทำให้การปล่อยมลพิษสุทธิทั่วโลกเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษ และรักษาระดับอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ประเทศต่างๆ จะถูกขอให้นำเสนอแผนการที่จะช่วยยกเลิกการใช้ถ่านหิน การเร่งให้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น และการควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า

2) ปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและธรรมชาติ รวมถึงการปกป้องระบบนิเวศ ฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหาย และป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟไหม้

3) ระดมทุน ในปี 2020 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะมอบเงินจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจน ซึ่งประเทศเหล่านั้นจะต้องทำตามคำมั่นสัญญานี้ เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ตาม 2 เป้าหมายข้างต้น กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะต้องรักษาสัญญาของตนเอง โดยสถาบันการเงินทั่วโลกต้องทำหน้าที่ของตนเองเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์

4) ทำงานร่วมกัน การที่จะเร่งการดำเนินการได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของภาครัฐบาล ธุรกิจ และประชาสังคม

ข้อตกลงลดการตัดไม้

ผู้นำกว่า 100 ชาติลงนามในคำประกาศให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่าไม้ภายในปี 2030 ถือเป็นข้อตกลงใหญ่ข้อแรกที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26)

‘บราซิล’ ซึ่งครอบครองผืนป่าแอมะซอนที่กำลังถูกทำลายเป็นวงกว้างได้ร่วมลงนามในข้อตกลงที่มีขึ้นในวันที่ 2 พ.ย. ด้วย โดยข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. ระบุว่า จะมีประเทศต่าง ๆ ร่วมลงนามทั้งสิ้น 105 ประเทศ อาทิ แคนาดา จีน อินโดนีเซีย รัสเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และเวียดนาม เป็นต้น แต่ไม่ปรากฏไทย กัมพูชา เมียนมา และลาว รวมอยู่ในรายชื่อนี้ ขณะที่ จีน รัสเซีย และอินเดีย ยังไม่ได้ลงนามให้สัญญาในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

รายงานการติดตามสภาพป่าทั่วโลกของดับเบิลยูอาร์ไอระบุว่า ในปี 2020 โลกสูญเสียพื้นที่ป่าไปถึง 258,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าอาณาเขตของสหราชอาณาจักร ขณะที่มูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อม ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟประเมินว่า ทุกๆ นาทีมีการทำลายป่ากว้างขวางพอๆ กับพื้นที่สนามฟุตบอล 27 สนาม

โดยทั้ง 105 ประเทศที่ร่วมลงนาม เป็นเจ้าของผืนป่าที่ครอบคลุมเนื้อที่ราว 85% ของป่าไม้ทั่วโลกซึ่งได้ให้คำมั่นจะสมทบเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเกือบ 19,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 644,000 ล้านบาท ) เพื่อใช้แก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังเสนออัดฉีดเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในเอเชีย

โดยเงินส่วนหนึ่งจะมอบให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูผืนป่าที่ถูกทำลาย แก้ปัญหาไฟป่า และสนับสนุนชุมชนพื้นเมืองที่ต้องพึ่งพาป่าฝนในการดำรงชีพ ในจำนวนนี้ราว 1,100 ล้านปอนด์ จะใช้ในการปกป้องป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่อันดับสองของโลกบริเวณลุ่มน้ำคองโก ในแถบแอฟริกากลาง

ข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันอังคารที่ 2 พ.ย. 2021 ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ ‘เออร์ซูลา วอน แดร์ เลเยน’ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศเปิดตัว ‘ปฏิญญามีเทนโลก’ (Global Methane Pledge) อย่างเป็นทางการแล้วหลังจากนำเสนอเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน

ปฏิญญาดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อนให้ได้ 30% ของระดับการปล่อยในปี 2020 ภายในปี 2030 โดยตอนนี้มีประเทศต่างๆ ตกลงเข้าร่วมมากกว่า 100 ประเทศ ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนรวมกันราว 50% ของปริมาณทั้งหมด และคิดเป็น 70% ของจีดีพีโลก โดยมุ่งเน้นที่ภาคน้ำมันและก๊าซ

ทั้งนี้ ความพยายามในการลดภาวะโลกร้อนในช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เช่นการผลิตพลังงานและการตัดไม้ทำลายป่า แต่ตอนนี้โลกเริ่มหันมาให้ความสนใจก๊าซมีเทนมากขึ้น เพื่อซื้อเวลาในการแก้วิกฤติสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติม

เพราะถึงแม้ว่าในบรรยากาศจะมี CO2 มากกว่า แต่ว่าแต่ละโมเลกุลของมีเทนมีผลทำให้บรรยากาศร้อนขึ้นมากกว่า และแม้คงอยู่ในชั้นบรรยากาศสั้นกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก๊าซมีเทนมีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า

และยังมีการประเมินว่า ก๊าซชนิดนี้ที่เกิดจากระบบย่อยอาหารของวัว ขยะจากการฝังกลบ และการผลิตน้ำมันและก๊าซ เป็นตัวการทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 30% นับจากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซชนิดนี้จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม จีนและรัสเซียที่เป็นสองประเทศที่ปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุดในโลก มิได้ร่วมลงนามในคำสัญญาฉบับดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิผลที่แท้จริงของการประชุม COP26 ครั้งนี้ว่าจะช่วยนำไปสู่การควบคุมภาวะโลกร้อนได้จริงหรือไม่

ความคืบหน้าของกลุ่มประเทศเอเชียยังน่าผิดหวัง

ทุกประเทศในเอเชีย รวมทั้งเกาหลีเหนือ ได้ลงนามในข้อตกลงปารีส และเมื่อพิจารณาจากเอเชียคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของการปล่อยมลพิษทั้งหมดของโลก ประเทศในเอเชียจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง

NDCs เป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสและจะได้รับการตรวจสอบที่ COP26 ผู้ลงนามจำเป็นต้องอัปเดต NDC ของตนภายในสิ้นปี 2020 เนื่องจากนี่เป็นด่านแรก จึงเป็นมาตรวัดว่าประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นของพวกเขามากเพียงใด

ชาติต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกล้มเหลวในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ NDC และผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างอินเดียและจีน ละเลยที่จะปรับปรุงคำมั่นสัญญาด้านสภาพอากาศอย่างเป็นทางการเลย

ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ส่ง NDC ตรงเวลา แต่ไม่ได้อัปเดต เป้าหมายของญี่ปุ่นคือลดการปล่อยมลพิษให้เหลือ 26% ต่ำกว่าระดับ 2013 ภายในปี 2030 เกาหลีใต้หวังที่จะนำการปล่อยมลพิษ 37% ต่ำกว่าระดับธุรกิจตามปกติ Climate Action Tracker ให้คะแนนเป้าหมายเหล่านี้ว่า ไม่เพียงพออย่างมาก

จุดยืนนานาประเทศบน COP26

ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าประเทศใดๆ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อสหรัฐฯกลับมาร่วมข้อตกลงปารีส ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้คำมั่นว่าสหรัฐจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-52% จากระดับปี 2005 ภายในปี 2030

ทางด้านจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวไว้เมื่อปีก่อนว่า จีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดก่อนปี 2030 และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเหลือ 0 ภายในปี 2060 หรือ 10 ปีจากเป้าหมายที่นักวิทยาศาสตร์เห็นชอบ

นอกจากนี้ จีนยังให้คำมั่นระงับให้งบประมาณโครงการถ่านหินในต่างประเทศ และเริ่มลดการใช้ถ่านหินของตนในปี 2026 ส่วนการประชุม ประธานาธิบดีสีไม่ได้มาเข้าร่วม ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ถ้าไม่มีประธานาธิบดีสี โอกาสที่จีนจะประกาศมาตรการเข้มข้นคงมีน้อย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ วิจารณ์ผู้นำจีนและรัสเซียที่ไม่มาร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในขณะที่ผู้นำทั่วโลกกำลังหาทางรับมือและแก้ปัญหาโลกร้อนกันอย่างพร้อมหน้า

ในการแถลงเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 ไบเดนกล่าวว่าสภาพภูมิอากาศเป็น ‘ปัญหาใหญ่’ และจีนได้เดินจากไป เช่นเดียวกับรัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน โดยก่อนหน้านี้ทั้งปูตินและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงตัดสินใจที่จะไม่เดินทางไปร่วมประชุม แต่ส่งคณะผู้แทนไปร่วมวงพูดคุยแทน ขณะที่ผู้นำกว่า 120 ประเทศเดินทางไปร่วมประชุมด้วยตนเอง

การแสดงความเห็นของไบเดนมีขึ้นหลังผู้นำสหรัฐฯ ถูกถามถึงบทบาทของจีน รัสเซีย และซาอุดีอาระเบียในการประชุมรอบนี้ ซึ่งเขาตอบว่า “ความจริงที่ว่าจีนกำลังพยายามก้าวเข้ามามีบทบาทใหม่ในโลกในฐานะมหาอำนาจโลก แต่กลับไม่ปรากฏตัว” พร้อมระบุด้วยว่า การที่สีจิ้นผิงไม่มานั้น ถือเป็น ‘ความผิดพลาดครั้งใหญ่’

ก่อนที่ไบเดนออกมาวิจารณ์จีนและรัสเซีย ปูตินได้ร่วมการประชุมทางไกลในหัวข้อการบริหารจัดการป่าไม้บนเวที COP26 ในวันอังคาร (2 พ.ย.) ซึ่งเขาระบุว่า รัสเซียได้ดำเนินมาตรการที่เข้มแข็งและเข้มงวดที่สุดในการอนุรักษ์ป่าไม้

นอกจากนี้ ปูตินยังเคยประกาศในที่ประชุมพลังงานระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ว่า รัสเซียจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Net Zero ไม่เกินปี 2060 ซึ่งหมายถึงการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมในชั้นบรรยากาศอีกต่อไป

ด้าน นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย แถลงในที่ประชุมผู้นำว่าอินเดียจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2070 ช้ากว่าที่จีนสัญญาไว้ถึง 10 ปี และ ช้ากว่าเป้าที่ประชุมสุดยอดตั้งไว้ถึง 20 ปี

ขณะเดียวกัน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นหนึ่งในผู้นำจากกว่า 120 ประเทศที่เดินทางมาร่วมการประชุมนี้ เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยไทยตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะทำให้ได้ภายในปี 2065

เศรษฐกิจสีเขียว Green Economy ใครได้-ใครเสีย

BofA ประมาณการว่า 1 ใน 3 ของเงินทุนทั่วโลกกำลังไหลเข้าไปยังกองทุนที่มีเกี่ยวข้องกับความยั่งยืน สะท้อนจากบริษัท Tech Startup ที่เกี่ยวข้องกับ Climate & Clean Technology และยังอยู่ในช่วงของการระดมทุน (Early Stage) มีเงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คนได้ประโยชน์ – Renewable Utilities and Energy – Storage Makers

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้ประมาณการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตกังหันลม แผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน อิเล็กโทรไลเซอร์ และเซลล์เชื้อเพลิงอาจมีมูลค่าถึง 27 ล้านล้านดอลลาร์ หากโลกสามารถปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นยังเป็นตัวช่วยหนุนกลุ่มอุตสาหกรรม Storage Makers ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

ด้านนักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs Group Inc. คาดว่า COP26 สามารถเป็นตัวช่วยเร่งการฟื้นตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยความคาดหวังของตลาดยังอยู่ในระดับสูง หากพิจารณาจากการรีบาวด์ล่าสุดในดัชนีพลังงานหมุนเวียนของยุโรป ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 14% นับตั้งแต่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนเมื่อวันที่ 8 ต.ค.

ขณะที่ Wai-Shin Chan หัวหน้าศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ HSBC Holdings Plc กล่าวว่าการประชุม COP26 ที่ประสบความสำเร็จ “จะเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระยะกลางถึงระยะยาว”

คนเสียประโยชน์ – Chemical Makers and Transport Sectors

ข้อมูลของ Morgan Stanley กล่าวว่ากฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษสูง เช่น สายการบินและการขนส่ง ขณะที่การขยายนโยบายการกำหนดราคาคาร์บอนจะเพิ่มแรงกดดันด้านต้นทุนสำหรับผู้ผลิตสารเคมี

นักกลยุทธ์ยุทธของ Societe Generale SA แนะนำให้ลดสัดส่วนการลงทุนในน้ำมันและหุ้นที่เกี่ยวข้อง โดยอุตสากรรมที่ก่อมลพิษสูงมีแนวโน้มที่จะแย่ลงในตลาดตราสารทุนและตลาดสินเชื่อ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทต่างๆ มากขึ้น

แนวโน้มเศรษฐกิจสีเขียวแห่งโลกอนาคต

หลังจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจในบริษัทเหล่านี้มากขึ้น สะท้อนจากเงินทุนที่ไหลเข้าใน US&EU ESG Equity ETFs ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่ความยั่งยืนอาจมาพร้อมกับต้นทุนและภาษีด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางยุโรปได้ขอให้ผู้ให้กู้ประเมินความเสี่ยงที่พวกเขาอาจเผชิญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการดำเนินการให้กู้ยืมในการทดสอบ Stress Test ปีหน้า

ด้านนักยุทธศาสตร์ที่ UBS Global Wealth ยังให้ความเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อทรัพย์สิน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่รุนแรง

นอกจากนี้ Roland Kaloyan หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนในยุโรปของ SocGen กล่าวว่า หากราคาของการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงขึ้น ทั้งสูงเกินไปหรือเร็วเกินไป อันเป็นผลมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากการประชุม COP26 อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทั่วโลกในระยะข้างหน้า

บทความโดย ชยนนท์ รักกาญจนันท์ Co-Founder FINNOMENA

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า