Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เคยมีคนบอกว่า การทำหนังจะประกอบด้วยการเล่าเรื่อง 3 ครั้ง ครั้งแรกคือการเขียนบท สร้างสตอรี่ ออกแบบตัวละคร ครั้งที่ 2 คือการออกกองไปถ่ายตามบทที่ได้มา อาจจะมีการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของเนื้อหา ตามแต่มุมมองของผู้กำกับ จนเมื่อได้ออกมาเป็นฟุตเทจกองมหึมา ก็ถึงจะมาเริ่มเข้าสู่กระบวนการเล่าเรื่องครั้งที่ 3 ซึ่งก็คือ “การลำดับภาพ” หรือ “การตัดต่อ”

“หน้าที่ของเราก็คือการเอาไอ้ฟุตเทจพวกนั้นมารวมกัน แล้วค่อยเรียงเป็นเรื่อง เป็นการเล่าเรื่องครั้งสุดท้ายในการทำภาพยนตร์ ซึ่งพอมันมาถึงตรงนี้ มันอาจจะเป็นไปตามบทเดิม หรือมันไม่เป็นไปตามบทก็ได้ แต่การที่พอมันเป็นโอกาสสุดท้าย สำหรับเรา โจทย์มันคือเราจะจบหนังเรื่องนี้ยังไงให้มันสมบูรณ์ที่สุด เราอาจจะมีบทที่ดี มีผู้กำกับที่เก่ง แต่ถ้าสุดท้ายตัดออกมาไม่ดี หนังมันก็อาจจะไม่โอเคก็ได้”

นี่คือคำตอบของ ‘ตูน’ มานุสส วรสิงห์ นักลำดับภาพผู้ฝากผลงานการตัดต่อภาพยนตร์ประดับวงการหนังไทยมาแล้วกว่า 36 เรื่อง หลังจากถูกถามว่า การลำดับภาพมันสำคัญอย่างไรต่อการทำภาพยนตร์สักเรื่อง

เขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Foolhouse Production ซึ่งมีผลงานตัดต่อทั้งภาพยนตร์ และละครชื่อดัง อย่างกาหลมหรทึก, เลือดข้นคนจาง, ซีรีส์เด็กใหม่ (แนนโน๊ะ), Project S The Series, Great Men Academy ฯลฯ ล่าสุดเขาก็กำลังมีผลงานที่เข้าโรงฉายอยู่ตอนนี้ คือ “รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน”

ทุกครั้งที่มีภาพยนตร์สักเรื่องกำลังเข้าฉาย ส่วนใหญ่แล้วทุกคนจะพุ่งเป้าไปมองที่นักแสดงนำ รวมถึงผู้กำกับ เพื่อประเมินความน่าสนใจ โอกาสที่สปอตไลต์จะส่องไปถึงทีมงานมากมายเบื้องหลังภาพยนตร์จึงน้อยแสนน้อย

เมื่อสบโอกาสได้พูดคุยกับมืออาชีพที่ทำงานอยู่เบื้องหลังความบันเทิงมากมาย “ทีมข่าวเวิร์คพอยท์” จึงไม่พลาดที่จะคุยกันแบบเจาะลึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของเนื้องาน ความน่าสนใจของอาชีพนี้ รวมถึงตัวเขาที่ผ่านประสบการณ์การทำงานกับผู้กำกับมาแล้วแทบจะทั้งวงการ

คุณเริ่มสนใจภาพยนตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่

จริงๆ เราชอบดูหนังตั้งแต่เด็กๆ เลยนะ โดยเฉพาะหนังไทย เราได้ดูหนังเยอะเป็นพิเศษ เพราะว่าคุณพ่อชอบเล่นโบว์ลิ่ง แล้วสมัยก่อนลานโบว์ลิ่งกับโรงหนังมันมักจะอยู่ใกล้ๆ กัน ที่จริงสมัยนี้ก็เป็น แต่เมื่อก่อนอาจจะชัดกว่า ทีนี้ แต่ก่อนลานมันจะไม่เหมาะกับเด็กเท่าไหร่ เพราะเขาสูบบุหรี่กันได้ เวลาพ่อเขาไปแข่ง แม่เราก็จับเรายัดเข้าไปในโรงหนัง เราเลยมีโอกาสได้ดูหนังไทยเยอะมาก พวกบุญชู อะไรอย่างนี้ ไม่แน่ใจว่ามันเป็นหนังปีอะไรนะ แต่เราดูแบบนั้นมาตั้งแต่ 7-8 ขวบ แล้วก็ดูมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็เลยตัดสินใจเรียนด้านนี้

 

ชอบตัดต่อมาตั้งแต่แรกไหม

ไม่หรอก เราว่าส่วนใหญ่เด็กที่เรียนภาพยนตร์ก็คงอยากจบมาแล้วเป็นผู้กำกับ อยากทำหนังของตัวเองทั้งนั้น ตัวเราเองก็เป็น แต่พอเริ่มได้เรียน ได้ลองออกกอง ลองถ่าย เราว่าไอ้การเป็นผู้กำกับเนี่ย มันยาก แล้วมันก็ต้องใช้เวลา ใช้ประสบการณ์อะไรเยอะ ตอนเราทำหนังสั้นเองไม่กี่นาที เรายังรู้สึกว่า มันต้องคิด ต้องรับผิดชอบอะไรเต็มไปหมด ยิ่งช่วงที่เราจบใหม่ๆ แค่โอกาสที่จะได้เข้าไปอยู่ในกองถ่ายหนังยาวสักเรื่องมันก็ยากแล้ว เราเลยพักความอยากตรงนั้นไว้ก่อน

 

แล้วก้าวเข้ามาสู่อาชีพนี้ได้อย่างไร

เราเริ่มจากการเป็นช่างภาพเบื้องหลังกองก่อน อันนี้ต้องขอบคุณเพื่อนที่มันมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ แล้วเขามีตำแหน่งนี้ว่างอยู่พอดี มันเลยมาชวนไปทำ ตอนนั้นก็ไปเลยครับ ไม่ถามอะไรแล้ว เพราะอยากเข้าไปอยู่ในกองถ่าย มันชื่อเรื่อง ‘นายอโศกกับ น.ส.เพลินจิต’ เคยได้ยินไหม มันเก่ามาก (หัวเราะ) ตอนนั้นมันก็เป็นโอกาสที่เราได้เข้าไปรู้จักพี่ๆ ที่เขาทำงานในกองถ่าย เป็นการเข้าไปอยู่เบื้องหลังจริงๆ ของเราหลังจากเรียนจบ ทีนี้พอเขาทำเรื่องต่อๆ ไป เราก็เลยโดนเรียกไปช่วยตัดด้วย

ทิ้งความอยากเป็นผู้กำกับไปเลยหรือเปล่า

ไม่ครับ ตอนนั้นยังอยากเป็นผู้กำกับอยู่ จริงๆ ระหว่างนั้นเราก็ยังมีทำหนังสั้น ส่งประกวดบ้างนะ ที่เราได้มีโอกาสเข้าไปช่วยตัดก็เพราะพี่ๆ เขาเห็นผลงานเรานี่ล่ะ ตอนแรกเราก็ทำไปโดยไม่ได้คิดว่าชอบหรือไม่ชอบ ทำเพราะทำได้ เพราะเราชินกับงานพวกนี้อยู่แล้ว แต่พอมาคิดๆ ดู ไอ้การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้กำกับเนี่ย มันก็มาจากหลายอย่าง เวลาเราอ่านประวัติผู้กำกับ บางคนเขาก็เริ่มจากการเป็นผู้ช่วย หรือบางคนเขาก็เขียนบทไปส่งค่ายเอง

จุดนั้นเราเลยเริ่มรู้สึกว่า ไอ้การที่เราได้มีโอกาสเห็นฟุตเทจหนัง ที่เขาลงทุนเป็นหลักสิบล้าน ทุกอย่างมันมาอยู่ในคอมพิวเตอร์ตรงหน้าเราแล้ว ได้เห็นทุกอย่างที่มันประกอบขึ้นเป็นฉาก เป็นตอน จนมาเป็นหนัง 2-3 ชั่วโมงได้ เราก็รู้สึกว่า โห เราจะเรียนรู้อะไรได้เยอะมากเลยจากตรงนั้น ก็เลยคิดว่าถ้าเราทำไปเรื่อยๆ มันก็อาจจะเป็นอีกทางที่พาเราไปเป็นผู้กำกับได้

ได้ยินว่าคุณชอบคำว่า ‘ลำดับภาพ’ มากกว่า ‘ตัดต่อ’ เพราะอะไร

คือจริงๆ ก็เหมือนกันนั่นล่ะครับ แต่ที่ส่วนตัวเราชอบคำว่าลำดับภาพมากกว่า เพราะคำว่าลำดับภาพมันเห็นภาพชัด ว่าหน้าที่เราคือการเลือก ว่าอะไรจะมาก่อนมาหลัง อะไรจะสั้นจะยาว จะลำดับความสำคัญมันยังไง จะเรียงมันยังไงให้มันออกมาเป็นหนังที่โอเคที่สุด มันเห็นชัดว่ามันคืองานเกี่ยวกับภาพอย่างเดียว แต่คำว่าตัดต่อในภาษาไทยมันสื่อความหมายหลายอย่าง ตัดต่อภาพเราก็ใช้คำนี้ หรือตัดต่อเสียง มันดูเป็นคำเชิงเทคนิคที่อาจจะทำให้คนเหมารวมว่ามันคือสิ่งเดียวกัน ทั้งที่จริงๆ มันไม่ใช่

 

การตัดต่อมันสำคัญอย่างไรกับหนังเรื่องหนึ่ง

อันนี้พยายามจะพูดแบบไม่เข้าข้างอาชีพตัวเองนะ แต่เราเชื่อว่าต่อให้บทมันไม่ดี ถ่ายมาไม่ค่อยดี นักแสดงเล่นไม่ค่อยดี จากที่เราทำงานมาเยอะ เรากล้าพูดว่าการตัดต่อมันช่วยได้ คือมันอาจจะไม่สามารถกลายเป็นหนังที่ดี เป็นหนังยอดเยี่ยมอะไรขนาดนั้น เพราะเราก็ยังต้องการบทดีๆ และผู้กำกับเก่งๆ อยู่ แต่การตัดต่อมันช่วยทำให้หนังสมเหตุสมผลขึ้นได้ ทำให้นักแสดงดูดีขึ้นได้ และทำให้คนดูหนังเรื่องนั้นอย่างลื่นไหลขึ้นได้

บางครั้งเราจะเหมือนเป็นคนที่ช่วยเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ผู้กำกับ ที่เขาอาจจะอยู่กับบทมาหลายเดือน จนจมไปกับมัน แล้วมองไม่เห็นข้อผิดพลาด หรือความเป็นไปได้อื่นๆ เวลาเขามาอยู่ในห้องตัด หน้าที่ของเราก็เลยเป็นการช่วยสร้างทางเลือกหลายๆ แบบให้เขา ออกแบบวิธีเล่าที่เรามองว่ามันน่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่สุดท้ายคือยังไงมันก็อยู่ใต้การตัดสินใจของผู้กำกับอยู่ดีนะ เราอาจจะแค่ทำในส่วนของเราให้เต็มที่ที่สุด

สำหรับคุณ อะไรคือการตัดต่อที่ดี

ส่วนตัวเรามองว่า ยิ่งตัดดี มันต้องยิ่งมองไม่เห็น เวลาดูหนังเราอาจจะเห็นว่า เออ ซีนนี้แสงมันสวย เฟรมนี้มันใกล้เกิน กว้างเกินนะ นักแสดงเล่นดีไม่ดีอะไรก็ว่าไป แต่การตัดต่อมันเป็นงานซ่อน ไม่ใช่งานโชว์ ดังนั้นถ้ายิ่งตัดได้ดี คนดูจะต้องไม่รู้สึกถึงมัน เขาจะตามเนื้อเรื่องตามตัวละครไปจนจบ โดยไม่ได้สังเกตไปถึงเรื่องอื่น ดังนั้น ถ้าเรื่องไหนเราดูแล้วคิดไปถึงการตัดต่อ มันอาจจะแปลว่าเราไม่สนุกกับมัน เพราะเราไม่ตามเรื่องแล้ว ไม่ดูตัวละครแล้ว ตาเราถึงเลื่อนไปดู ไปสนใจอย่างอื่น

 

ทำไมจึงมาร่วมงานในภาพยนตร์ ‘รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน’ 

เราเคยร่วมงานกับพี่โจ้ วิรัตน์ ผู้กำกับเรื่องนี้มาก่อน ตั้งแต่เขาทำเรื่องยอดมนุษย์เงินเดือน หลังจากนั้นก็ร่วมงานกันมาอีกเรื่อยๆ จนค่อนข้างสนิทกันพอที่เขาจะชวนเราทำอะไรสนุกๆ ที่จริงหนังแนวนี้เป็นอะไรที่เราไม่ค่อยได้ทำบ่อยด้วย เราก็เลยตกลง เพราะพออ่านบทแล้ว ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้มันมีส่วนผสมหลายอย่างที่น่าสนใจอยู่ อาจเพราะบทดั้งเดิมมันเป็นของเกาหลี ที่เอามาปรับโดยทีมไทย โครงสร้างมันก็เลยแปลก แล้วก็น่าสนใจเวลาที่เราหาไอเดียการตัด

 

ทำงานกับทีม ‘รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน’ มีอุปสรรคบ้างไหม

ที่จริงพอเราเจอหนังเรื่องใหม่ ไม่ว่าจะตัดหนังมานานแค่ไหนมันก็ยังยากอยู่ บริบทเปลี่ยน ตัวละครเปลี่ยน เราก็เหมือนเจอโจทย์ใหม่ทุกวัน อย่างเรื่องนี้ดราฟต์แรกมันยาวมาก เกือบ 3 ชั่วโมง เราจะทำยังไง จะตัดอะไรออกล่ะ ให้มันเหลือประมาณ 2 ชั่วโมง ตรงนี้เราก็ต้องรู้ก่อนว่าอะไรมันสำคัญไม่สำคัญกับหนัง แล้วก็ตัดสิ่งที่มันไม่จำเป็นออกไป ทำให้หนังมันมีแต่ของที่จำเป็นจริงๆ ทั้งในแง่เนื้อหา อารมณ์ตัวละคร ความต้องการของผู้กำกับ ความต้องการที่แท้จริงของบท เราต้องพยายามหาจุดที่ทุกอย่างมันลงตัวให้ได้

ยังอยากเป็นผู้กำกับอยู่ไหม

คือก่อนหน้านี้เราเคยกำกับหนังมาแล้วเหมือนกัน ชื่อเรื่องตายโหง ช่วงประมาณปี 2010 ตอนทำเสร็จเราก็พอใจกับงานที่ทำนะ แต่พอมาย้อนดู มันกลับรู้สึกว่าถ้าเรามีประสบการณ์มากกว่านั้น เราอาจจะทำอะไรได้มากกว่านี้ พอมาถึงตอนนี้ที่เราตัดงานมาแทบทุกอย่าง ทั้งหนังยาว หนังสั้น หนังโฆษณา งานซีรี่ส์ งานละคร ตอนนี้มันก็ทำให้เราสนุกกับการตัดมากขึ้น จนไม่ค่อยมีโอกาสได้คิดเรื่องทำหนังเองอีก แต่ถ้าในอนาคตมันมีบทที่เราสนใจ ไม่ว่าเราจะคิดได้เอง หรือมีคนส่งมาให้เราอ่าน ถ้าเราอยากทำมันมากจริงๆ ถึงตอนนั้นเราก็อยากกลับมาทำหน้าที่ผู้กำกับดู

ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อยากทำงานได้แบบคุณ

ทุกวันนี้เวลาเรามีโอกาสได้ไปเป็นอาจารย์ หรือไปสอนตัดต่อ เวลาเราเปิดโอกาสให้ถามมันมักจะมาแบบ พี่ใช้โปรแกรมอะไร พี่แก้สีมันด้วยโปรแกรมไหน ความสนใจของเด็กมันจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีมากกว่า ซึ่งเราเข้าใจนะ ตอนเด็กๆ เราก็มองว่าการตัดต่อมันเป็นเรื่องของเทคนิคเหมือนกัน แต่พอเราได้รู้ว่าแต่ละที่เขาใช้โปรแกรมตัดต่อต่างกัน โฆษณามันก็ใช้อย่างนึง ฮอลลีวูดก็ใช้อย่างนึง เราว่าเรื่องของโปรแกรมมันไม่ใช่อะไรที่สำคัญแล้ว มันเรียนรู้ได้ ยิ่งเด็กยุคนี้เด็กเขาชินกับการใช้เทคโนโลยี ความยากของมันก็เลยย้อนกลับมาที่เรื่องวิธีคิด และการออกแบบงานแทน

คุณก็ต้องดูหนังให้เยอะ ฟังเพลงให้เยอะ อันนี้เป็นเรื่องเบสิก แต่ที่มากไปกว่านั้นคือพยายามหาโอกาสได้เข้าไปทำงานกับมืออาชีพ ทำยังไงให้เขาเห็นเราล่ะ สำหรับเราตอนนั้นคือเราทำหนังสั้นประกวดมาเรื่อยๆ ที่จริงก็ทำเพราะสนใจ เพราะชอบมากกว่า แต่นั่นก็เป็นจุดที่ทำให้คนเห็นงานเรา

เดี๋ยวนี้มันมีช่องทางออนไลน์อะไรเยอะมาก มันง่ายกว่าเดิมแน่ๆ แต่ด้วยความที่ทุกปีมันมีเด็กจบมาด้านนี้เป็นร้อยเป็นพันคน คุณจะทำยังไงให้ตัวเองพร้อมที่สุดล่ะ ถ้าคุณไม่ได้เก่งแบบ โห เด่นมาก งานน่าสนใจจนมีคนมาชวนไปทำหนังด้วย คุณก็ต้องทำมันทุกอย่างนั่นล่ะ

ภาพ:  ณัฐสัญญ์ นัดสถาพร

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า