Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

กองบรรณาธิการข่าว workpointTODAY ได้ทำการคัดเลือก 7 โมเมนต์ข่าวธุรกิจที่สำคัญของปี 2020 โดยเล่าผ่านช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ และอธิบายถึงความสำคัญ ผลกระทบและโอกาสทางธุรกิจ ที่เราเลือกเหตุการณ์เหล่านี้ ปี 2020 เป็นปีที่เต็มไปด้วยข่าวใหญ่ หลายเหตุการณ์เป็นสิ่งที่คนไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้เห็น แง่มุมการเมือง สังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ

โดยเกือบทั้งปี ประเด็นข่าวทั่วโลกถูกกำหนดด้วยเรื่องโควิด-19 ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกแวดวง นอกเหนือจากสุขภาพ ระบบสาธารณสุข ก็คือ ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และธุรกิจทุกขนาดที่ได้รับผลกระทบต่อชีวิตของคนทั่วโลกและคนไทย

Moment: ‘การบินไทย’ ขาดทุน ล้มละลาย ฟื้นฟูกิจการ

เหตุการณ์: กลางปี 2563 การบินไทยขาดทุนสะสมสูง 3.5 แสนล้าน รัฐบาลตัดสินใจให้ออกจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ แล้วเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการก่อนล้มละลาย

ณ วันที่ 19 พ.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีตัดสินใจให้กระทรวงการคลังหยุดอุ้มการบินไทย และส่งสายการบินแห่งชาติเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาล พร้อมแปรรูปกิจการออกจากรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบินไทยไม่ต้องเดินหน้าเข้าสู่ภาวะล้มละลาย คืนความสามารถในการชำระหนี้ และให้การบินไทยสามารถกลับมาประกอบกิจการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยได้อีกครั้งหนึ่ง

นับเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ชะตาการบินไทย สายการบินแห่งชาติที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การบินมากว่า 60 ปี

ตั้งแต่ปี 2556 ผลการดำเนินงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขาดทุนต่อเนื่องในหลักพันหรือหมื่นล้านต่อปีมาโดยตลอด (ยกเว้นในปี 2559 เท่านั้นที่ทำกำไร 47 ล้านบาท) ทำให้การบินไทยมีภาระหนี้สะสมมหาศาลกว่า 3.5 แสนล้านบาท และเมื่อไม่สามารถทำการบินได้ในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวได้อีกต่อไป จนนำมาสู่การยื่นร้องขอกู้สินเชื่อจากรัฐบาลและได้รับคำสั่งดังกล่าวจากคณะรัฐมนตรี

ก่อนวันที่ 14 ก.ย. 2563 ‘การบินไทย’ จะได้รับคำสั่งศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูตามที่ร้องขอ เนื่องจากศาลฯ เชื่อว่าการบินไทยฯ มีศักยภาพในการสร้างรายได้ มีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ รวมถึงมีทรัพยากรและผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่า โดยเหตุในการประสบปัญหาทางการเงินมิได้เกิดจากพื้นฐานธุรกิจของการบินไทยเอง แต่เกิดจากภาวะการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

ปัจจุบันการบินไทยจึงอยู่ระหว่างดำเนินการทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอต่อศาลฯ รวมถึงเร่งดำเนินการหารายได้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเปิดบินภายในประเทศ การทำภัตตาคาร และการเปิดบินในเที่ยวบินพิเศษต่างๆ (รวมถึงการขายปาท่องโก๋)

ตลอดระยะเวลาประกอบกิจการอันยาวนาน ‘การบินไทย’ เคยเป็นทั้งที่รักและที่ชัง แต่ดูเหมือนจะไม่มียุคไหนที่ทัวร์ลงบ่อยเท่ากับยุคนี้ แม้หลายเสียงจะบอกให้เท ให้สละเรือ หรือให้ขายทอดตลาดการบินไทย เพราะเห็นว่าไร้หนทางจะเยียวยากลับคืน แต่ก็ยังมีผู้ที่ศรัทธาและเชื่อว่า ‘เอื้องหลวง’ ยังคงมีคุณต่อประเทศชาติและจะกลับมาผลิดอกออกผลคืนประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้อีกครั้ง

Moment: 2563 ปีทอง ‘ฟู้ดเดลิเวอรี’ เส้นทางฝ่าโควิดแข่งเดือด แต่ยังขาดทุน

เหตุการณ์: มาตรการล็อกดาวน์ และนโยบายการ Work from Home ตลอดจนร้านอาหารจำเป็นต้องยุติการให้บริการนั่งทานภายในร้าน จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรก 2563 ทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก

เรียกว่าหันไปทางไหนบนท้องถนน ก็เห็นแต่ไรเดอร์เสื้อสีต่างๆ จำนวนมาก กลายเป็น ‘พระเอก’ ที่คอยรับ-ส่งอาหารถึงประตูบ้านในยามที่ออกไปไหนลำบาก ทำให้ผู้บริโภคหันมาพึ่งพาทางเลือกของบริการการสั่งอาหารมากขึ้น ในคราวเดียวกันก็ทำหน้าที่ช่วยต่อลมหายใจให้ร้านอาหารต่างๆ ที่ยัง “กัดฟันสู้” แม้ต้องปิดหน้าร้านและผันมาเปิดหน้าร้านออนไลน์บริการเดลิเวอรีได้มีช่องทางประคองธุรกิจไปได้บ้าง

แน่นอนว่าเมื่อความต้องการใช้บริการของผู้บริโภคมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทยจึงเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเชิงจำนวนผู้ใช้บริการ, ร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นมาในระบบ, จำนวนไรเดอร์ (คนขับ) หรือแม้แต่ค่า GP ที่ถูกปรับอัตราขึ้น โดยเฉพาะการประเมินตัวเลขอัตราการเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทยปี 2563 ว่าน่าจะขยับขึ้นไปเป็นทวีคูณ อยู่ที่ประมาณ 100-200% ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยให้สนามนี้มีการแข่งขันที่ดุเดือดมาก ทั้งการปรับกลยุทธ์ของผู้เล่นรายเก่า และผู้เล่นหน้าใหม่ที่ลงสนามแสวงหาโอกาสในแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ด้วย ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการเงิน ที่ส่งบริษัทลูก บริษัทหลาน มาสร้างแพลตฟอร์มสั่งอาหารด้วยเช่นกัน อย่างค่ายสีม่วง เปิดตัว ‘Robinhood’ โดย บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ชูจุดเด่นไม่เก็บค่าจีพี, ร้านค้าได้รับเงินทันทีภายใน 1 ชั่วโมง, ไรเดอร์ไม่ต้องสำรองเงิน โดยวางโมเดลเป็นงาน CSR ที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร

ส่วนกสิกรไทยเปิดตัว ก็ได้เปิดตัว ‘Eatable’ ในนามบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) โซลูชันแพลตฟอร์มสั่งอาหารรูปแบบใหม่ที่ KBTG พัฒนามาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร แบบ 3D รองรับรูปแบบการรับประทานอาหารที่หลากหลาย ตั้งแต่นั่งรับประทานในร้าน หรือรับกลับไปรับประทานที่บ้าน และบริการส่งอาหารถึงบ้าน
เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไป ระมัดระวังการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หันมาใช้บริการเดลิเวอรีในการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านหรือที่ทำงานแทนมากขึ้น นอกจากธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวสู่มาตรฐานใหม่แล้ว ฟู้ดเดลิเวอรีที่เป็น “ผู้เล่นรายเก่า” ก็ต้องปรับตัวอย่างหนักตั้งรับคู่แข่งเดิมและหน้าใหม่ หลังจากในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมายังไม่มีค่ายไหนกำไร

โกเจ็ก (Gojek) แพลตฟอร์มสั่งอาหารเดลิเวอรี่สัญชาติอินโดนีเซีย ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อรีแบรนด์ตัวเอง จากเก็ท (GET) ก่อนที่จะประกาศเปลี่ยนชื่อแอปฯ ให้สอดคล้องกับชื่อบริษัทแม่ที่อินโดฯ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า โกเจ็กจดทะเบียนทำธุรกิจในประเทศไทยในชื่อ บริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด โดยตลอดช่วง 2 ปีตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำธุรกิจส่งอาหารในประเทศไทย โกเจ็กขาดทุนไปแล้วรวม 1,243.5 ล้านบาท โดยปีที่แล้วขาดทุนกว่า 1,137.3 ล้านบาท

ขณะที่แกร็บ (Grab) ค่ายสีเขียวเข้ม แม้ว่าในแอปจะสามารถเรียกรถ และสั่งอาหารเดลิเวอรีได้ แต่ก็พบว่าในช่วง 3 ปีหลังสุด บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) เจ้าของแอป Grab ขาดทุนรวมไปทั้งสิ้นกว่า 3,347 ล้านบาท โดยปีที่แล้วขาดทุนมากที่สุด 1650.1 ล้านบาท

ส่วนฟู้ดแพนด้า (foodpanda) แอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรีสัญชาติเยอรมนี ในช่วง 3 ปีหลังสุด บริษัท เดลิเวรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด ขาดทุนรวมกันทั้งสิ้น 1,442.8 ล้านบาท โดยปีที่แล้วขาดทุนมากที่สุดถึง 1,264.5 ล้านบาท

ด้านไลน์แมน (LINE MAN) แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าใหญ่ในไทย ผลประกอบการปีที่แล้ว ขาดทุนไป 157.2 ล้านบาท ต้องติดตามต่อไปว่าหลังจากไลน์แมนได้รวมกิจการกับแอปฯ ริวิวอาหารอย่างวงใน (Wongnai) แล้วจะสามารถพลิกมาทำกำไรได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาแม้ธุรกิจส่วนใหญ่จะชอกช้ำจากโควิด แต่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีก็เป็นที่พึ่งพิงและรองรับคนจำนวนไม่น้อยได้มีงานทำ มีรายได้เสริมเลี้ยงปากท้อง ซึ่งต้องจับตาดูว่าการกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงสิ้นปี 2563 จะทำให้สมรภูมิ ‘ฟู้ดเดลิเวอรี’ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

Moment: ‘ไอ้ไข่’ ปลุกชีวิตท่องเที่ยวเมืองคอน

เหตุการณ์: ปี 2563 ปรากฎการณ์แห่งศรัทธาพา ‘ไอ้ไข่’ กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองคอน สายการบินดาหน้าเพิ่มความถี่สูงสุดในรอบ 22 ปี

“มากกว่า 60 เที่ยวบินต่อวัน” คือจำนวนที่เที่ยวบินเข้าสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากปรากฎการณ์แห่งศรัทธาของ ‘ไอ้ไข่’ กุมารเทพแห่งวัดเจดีย์ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อกันว่า “ขอได้ไหว้รับ” โดยเฉพาะด้านให้โชคลาภการค้า จนทำให้ไอ้ไข่มีชื่อเสียงโด่งดังเลื่องลือทั่วประเทศด้วยการสื่อสารแบบปากต่อปาก

ณ วันที่ไอ้ไข่โด่งดังผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่วัดเจดีย์กว่า 8,000-10,000 คนต่อวันทุกคนย่อมทราบถึงพลังแห่งศรัทธา แต่ใครจะคิดว่าพลังของไอ้ไข่ไม่ได้แค่มอบโชคลาภให้เพียงกับผู้ร้องขอ แต่ยังสร้างปรากฎการณ์ทางด้านการท่องเที่ยว เปิดลู่ทางทางธุรกิจให้กลุ่มผู้ประกอบการสายการบินเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินกรุงเทพ-นครศรีธรรมราช รวมถึงเปิดเส้นทางข้ามภูมิภาคจากพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยตรงสู่เมืองคอนตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดันจำนวนเที่ยวบินสู่นครศรีธรรมราชให้เพิ่มขึ้นกว่า 50 เที่ยวบินต่อวันหรือพุ่งสูงที่สุดในรอบ 22 ปี!

แม้ความคึกคักในนครศรีธรรมราชจะเป็นแค่เพียงน้ำน้อยที่ไม่อาจดับไฟใหญ่อย่างโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบิน แต่ก็อาจเป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ขายรายเล็กรายย่อยในเมืองคอนได้ลืมตาอ้าปาก

ในห้วงแห่งวิกฤต บางครั้งความศรัทธาก็มีความหมายมากกว่าแค่เลข 6 ตัวบนกระดาษล็อตเตอรี่ แต่หมายถึงโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในพื้นที่ด้วย

Moment: LINE MAN x Wongnai (LMWN) ควบรวมธุรกิจ เขย่าสมรภูมิฟู้ดเดลิเวอรี่

เหตุการณ์ : LINE MAN x Wongnai (LMWN) ตัดสินใจควบรวมธุรกิจ ยกระดับมาตรฐานฟู๊ดเดลิเวอรี่ขึ้นไปอีกขั้น ยกระดับสมรภูมิการแข่งขันให้ดุเดือด

ในปี 2020 ที่โลกธุรกิจต้องซบเซา จากเหตุโควิด แต่ในวงการฟู้ดเดลิเวอรี่ไทย มีเรื่องฮือฮา เมื่อไลน์แมน (Line Man) ได้ประกาศควบรวม กับ วงใน ( Wongnai) สตาร์ทอัพ มีเดียเบอร์ 1 เรื่องรีวิวร้านอาหาร กลายเป็นบริษัทใหม่ที่เมิร์จกัน ในชื่อ Line Man x Wongnai (LMWN)

ไลน์แมนมีจุดแข็งเพราะเป็นฟู้ดเดลิเวอรี่ เจ้าแรกที่เข้ามาในตลาดไทย นอกจากนั้นยังสามารถดึงผู้ใช้มาจากแอพพลิเคชั่นไลน์ ที่คนไทยนิยมใช้กันอยู่แล้ว ขณะที่วงใน ถือว่าเป็นมีเดียที่รู้จักร้านอาหารมากที่สุดในประเทศ มีรีวิวดีๆ มากมาย คือใครคิดถึงการรีวิวร้านอาหาร ก็ต้องคิดถึง วงในก่อนเป็นที่แรก

การควบรวมกิจการครั้งนี้ ผู้ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็น CEO เพื่อบริหารงานของสององค์กร คือ “ยอด ชินสุภัคกุล” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวงในนั่นเอง นี่ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก จากบริษัทที่มีจุดเริ่มต้นในด้านมีเดีย แต่มันยกระดับกลายเป็น ธุรกิจที่ผสมผสานระหว่าง online และ offline และสเกลก็ขายใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

ไลน์แมน กับวงใน เป็นพาร์ทเนอร์กันมายาวนาน โดยวงในจะทำหน้าที่ป้อนข้อมูล ของร้านอาหารต่างๆ ให้กับไลน์แมน ซึ่งด้วยความสัมพันธ์จุดนี้ ทำให้ทั้งสององค์กร มีความผูกพันกัน และในที่สุด บริษัทเงินทุน BRV จากสิงคโปร์ ก็ตัดสินใจ ให้ทุนมหาศาล 2,200 ล้านบาท เพื่อผลักดัน Line Man x Wongnai ให้ก้าวไปไกลที่สุด และในอนาคต นี่อาจเป็นยูนิคอร์นแรก ของสตาร์ทอัพในประเทศไทย

การร่วมมือครั้งนี้ ทำให้อาณาจักร LMWN เป็นแพลตฟอร์มที่ “ครบวงจร” ที่สุด ในธุรกิจอาหาร และให้บริการผู้บริโภคตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไปจนถึงปลายทาง

ลองนึกภาพ เพื่อน 2 คนคุยกันในไลน์ A ส่งรีวิวอาหารที่เจอในเว็บวงในให้ B พอ B เห็นแล้วอยากกินบ้าง ก็กดไปหน้า Home ในไลน์ แล้วกดต่อไปที่ Food Delivery เมื่อกดปั๊บก็จะเข้าสู่แอพไลน์แมน จากนั้นก็สั่งอาหารให้มาส่งถึงบ้าน

วงในมีข้อมูลร้านอาหารในไทยมากที่สุดถึง 4 แสนร้าน และช่องทางของไลน์แมน ที่กว้างขวางจากไลน์ ทำให้การรวมตัวกันครั้งนี้ เติบโตอย่างรวดเร็วมาก

และในจังหวะของธุรกิจ ที่เข้าสู่วิกฤติโควิด-19 ทำให้ฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นสิ่งสำคัญ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนไปแล้ว สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ LMWN เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนมาก และแม้โควิดจะบรรเทาลงไปแล้ว แต่เมื่อผู้คนรู้จักการเดลิเวอรี่กันแล้ว ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ความท้าทายของ ยอด ชินสุภัคกุล ในปีหน้าคือ ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ จะมีเพลย์เยอร์เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ คู่แข่งอย่าง ฟู้ดแพนด้า และ แกร็บ ก็ยังคงแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับ โรบินฮู้ด ที่สร้างความนิยมได้อย่างเกินคาด ดังนั้น LMWN จะทำอย่างไร ที่จะยืนหยัดเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจต่อไปได้

สำหรับ ยอด ชินสุภัคกุล CEO ของ LMWN มีความตั้งใจว่า อยากสร้างธุรกิจให้ไปถึงระดับยูนิคอร์นให้ได้

คำว่ายูนิคอร์น คือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเส้นทางของ LMWN “มีความเป็นไปได้” ที่จะเป็นบริษัทแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่จะไปถึงจุดนั้น แต่พวกเขาต้องพิสูจน์ตัวเองอีกเช่นกัน ว่าจะทำให้บริษัทเติบโตได้มากกว่านี้ และ ขยับเข้าไปท้าทายในระดับ Regional และ Global ได้เร็วแค่ไหน

กับการควบรวมครั้งสำคัญ ที่เขย่าธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสตาร์ทอัพไทย นี่คือหนึ่งในเรื่องราวธุรกิจที่สมควรถูกพูดถึงแห่งปี 2020 อย่างแท้จริง

Moment: ‘Penguin Eat Shabu’ ขายชาบูแถมหม้อสู้โควิด

เหตุการณ์: ต้นปี 2563 ไทยประกาศล็อกดาวน์ ‘Penguin Eat Shabu’ ตัดสินใจกัดฟันสู้ สร้างปรากฎการณ์ขายชาบูแถมหม้อ-กระทะ

เมื่อรายได้จากวันละหลายแสนบาทเหลือแค่ศูนย์ สั่งของสดมาสต๊อกหลักล้านบาท รวมถึงมีลูกน้องกว่า 200 และครอบครัวของพวกเขากว่า 1,000 ชีวิตให้รับผิดชอบ ทำให้ ‘Penguin Eat Shabu’ ตัดสินใจเสี่ยงเลือกทางที่อาจจะเจ็บ สู้ด้วยลมหายใจสุดท้ายอย่าง ‘เดลิเวอร์ลี่’ ขณะที่ภัยโควิด-19 ทุบร้านอาหารแบบนั่งทานในร้านไม่เหลือซากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

แม้จะเริ่มจากขายข้าวหน้าต่างๆ ก่อน แต่เพราะจุดแข็งคือชาบู แต่ชาบูจะเดลิเวอร์ลี่ได้อย่างไร ทำยังไงผู้บริโภคถึงจะสามารถนั่งทานชาบูที่บ้านได้โดยไม่ต้องมาใช้หม้อที่ร้าน ไอเดีย ‘ขายชาบูแถมหม้อ’ จึงเกิดขึ้นในที่สุด!

และนอกจากจะช่วยให้ ‘Penguin Eat Shabu’ มียอดขายและกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้น ยังช่วยให้ร้านเข้าไปอยู่ในกระแสและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงยังเป็นแรงบันดาลใจให้ร้านอาหารหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านสุกี้ ร้านชาบู หรือร้านปิ้งย่าง ออกแคมเปญในลักษณะเดียวกันเพื่อความอยู่รอดในยุคโควิด จนสามารถกลับมาเปิดร้านได้อีกครั้ง เมื่อการคลายล็อกดาวน์มาถึง

ที่สุดไม่ใช่แค่เพียง ‘Penguin Eat Shabu’ ที่ควรได้รับความนับถือเพราะหัวใจนักสู้ แต่ทุกธุรกิจ SME ในไทยที่นำพาพนักงานลูกจ้าง รวมถึงองค์กรผ่านความยากลำบากในช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดเท่าที่ในชั่วชีวิตคนธุรกิจจะประสบมาได้สมควรได้รับความเคารพและยกย่องให้เป็นหนึ่งใน Moment of the year ของปี 2020 นี้

Moment: ปิดดีลประวัติศาสตร์ “รับลูกกลับบ้าน” สะเทือนวงการค้าปลีก

วันที่: 2 พฤศจิกายน 2563
เหตุการณ์: เครือซีพีซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในไทยและมาเลเซีย คืนจากกลุ่มเทสโก้ ประเทศอังกฤษ

ทุ่มเงินกว่า 3 แสนล้าน ซื้อลูกคืนสู่อ้อมอก !

นี่คือปรากฏการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งวงการธุรกิจค้าปลีกของไทย เมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี ประกาศซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในไทยและมาเลเซีย คืนจากเทสโก้ ประเทศอังกฤษ (TESCO UK) ผ่านบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท

ทำไมจึงสะเทือนไปทั้งวงการการค้าปลีก ?

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น กลุ่มซีพี ต้องการขยายรูปแบบร้านค้าปลีก จึงเปิดห้างสรรพสินค้า โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (Lotus Supercenter) ขึ้นในปี พ.ศ.2537 ต่อมาเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนกลายเป็นวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ในปี พ.ศ. 2541 กลุ่มซีพีตัดสินใจขายหุ้นส่วนใหญ่ของ โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ให้กับเทสโก้ จากประเทศอังกฤษ(TESCO UK) และได้เปลี่ยนแปลงชื่อเป็น เทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) มานับแต่นั้น โดยจดทะเบียนในชื่อ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด

ทั้งนี้ TESCO UK เป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกรายใหญ่ของอังกฤษ และเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีกิจการค้าปลีกภายใต้ชื่อ TESCO กระจายอยู่ทั่วโลก ทว่า TESCO ประสบวิกฤติเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จึงตัดสินใจขายกิจการในหลายประเทศ รวมถึงประเทศมาเลเซียและเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย แต่ในครั้งแรก กลุ่มเทสโก้ ปฏิเสธการขายกิจการในไทยและมาเลเซีย เนื่องจากเป็นฐานรายได้หลักนอกประเทศอังกฤษของกลุ่มเทสโก้

แต่เมื่อสู้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไม่ไหว เทสโก้ จึงประกาศขายเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งศึกการดีลครั้งนี้ใช่ว่าจะมีเพียงเครือซีพีเจ้าเดียวที่หมายตา หากแต่ยังมี ทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และเซ็นทรัล กรุ๊ป ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญที่สนใจดีลนี้เช่นกัน

ทว่าในที่สุด เครือซีพีก็ชนะการประมูล ปิดดีลประวัติศาสตร์ที่ยืดเยื้อยาวนานได้สำเร็จ โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ก็ได้ออกมา หลังจากรอการอนุมัติกว่า 90 วัน ซึ่งได้พิจารณาการรวมธุรกิจของกลุ่มซีพีกับเทสโก้ โลตัส ประเทศไทย และเทสโก้ โลตัส มาเลเซีย มูลค่าประมาณ 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจาก 1. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วน 40% 2. CPALL สัดส่วน 40% และ 3. CPF สัดส่วน 20%

ที่สะเทือนวงการ เพราะเป็นธุรกิจรายใหญ่ อาจเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งคณะกรรมการ สขค. ได้เสนอเงื่อนไขทางธุรกิจหลายประการกับเครือซีพี หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องยกระดับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มากถึงปีละ 10% ในเวลา 5 ปี

ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่สังคมสงสัยกันมากว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะถือว่าเป็นการผูกขาดหรือไม่ ? ผลสรุปโดยกรรมการเสียงข้างมากจาก สขค. มีความเห็นว่า “จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ลูกโลตัสอยู่ในความครอบครองของคนอื่น เจ้าสัวธนินทร์ แห่งเครือซีพี ก็ได้ขยายอาณาจักรธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ รวมทั้ง “แม็คโคร” ลูกอีกรายที่เครือซีพีซื้อคืนมา ก็ถือเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดค้าส่ง

ทั้งนี้ อาณาจักรของซีพีภายหลังการปิดดีลสะเทือนวงการค้าปลีกในครั้งนี้ ทำให้ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของค้าปลีกกลุ่มซีพี ในประเทศไทย หลังชนะการประมูลซื้อ เทสโก้ โลตัส คืนสำเร็จ รวมอยู่ที่ 14,000 สาขา แบ่งออกเป็นร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 11,900 สาขา เทสโก้โลตัส 2,000 สาขา และแม็คโคร 133 สาขา ครอบคลุมค้าปลีกครบทั้ง 3 กลุ่มคือ เซเว่น อีเลฟเว่น ในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ, แมคโคร ในกลุ่มค้าส่ง Cash & Carry และ เทสโก้ โลตัส ในกลุ่ม Hypermarket

ก่อนหน้านี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ (เจ้าสัวธนินท์) ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD ไว้ว่า “ความจริงเทสโก้ โลตัส เป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ในครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ”

การควบรวมกิจการครั้งนี้ ส่งให้เครือซีพีขึ้นแท่นเบอร์ 1 ค้าปลีก ที่มีกิจการครอบคลุมครบทุกเซ็กเมนต์ เป็นการ “รับลูกกลับบ้าน” ที่แม้จะมีการออกมายืนยันจาก สขค. ว่าไม่เป็นการผูกขาด ทว่าหลายคนในวงการค้าปลีกก็อดหวั่นใจไม่ได้อยู่ดี

Moment: ‘อีเรียมซิ่ง’ ทะลุหลักร้อยล้านเรื่องแรกของปี ปลุกชีวิตวงการภาพยนตร์ไทย

เหตุการณ์: 19 พ.ย.2563 หนังไทย ‘อีเรียมซิ่ง’ เริ่มเข้าฉายวันแรก และหลังจากนั้น 7 วัน สามารถปักธงกวาดรายได้ร้อยล้านบาท ถือเป็นหนังไทยเรื่องแรกของปีที่ทำรายได้ทะลุหลักร้อยล้าน และปลุกชีวิตวงการหนังอีกครั้ง

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดอย่างหนัก ต้องปิดโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ ทำให้รายได้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ช่วง 4-5 เดือนแรก ลดลงไปกว่า 80-90% ประกอบกับพฤติกรรมคอหนังก็เริ่มเปลี่ยนไป นอนดูหนังอยู่บ้านลดความเสี่ยง หันไปเสพทางสตรีมมิ่งกันมากขึ้น

‘อีเรียมซิ่ง’ หนังตลกย้อนยุค เข้าฉายในจังหวะที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้นเรียกว่า “มาถูกจังหวะ” ยามที่ผู้คนคิดถึงโรงหนัง และโหยหาเสียงหัวเราะคลายความตึงเครียดจากหลายๆ เรื่องที่ถาโถมเข้ามาในปีนี้ ทำให้ ‘อีเรียมซิ่ง’ ภาพยนตร์แอดเวนเจอร์คอมเมดี้เรื่องล่าสุดของ เอ็ม พิคเจอร์, เวิร์คพอยท์ และ จากผลงานของผู้กำกับพฤกษ์ เอมะรุจิ จากไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก ทั้ง 2 ภาค (2561-2562) และผู้อำนวยการสร้างอย่างยอร์ช-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ จากรฤก โปรดักชั่น ที่เคยฝากผลงานกำกับไว้อย่างแสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า (2549) ออกตัวแรงตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉาย เพราะแต่ละโรงภาพยนตร์เกือบเต็มแทบทุกรอบทุกโรง เพิ่มรอบเป็นว่าเล่น ทำให้วงการภาพยนตร์ไทยช่วงปลายปีกลับมาคึกคักกันอีกครั้ง หลังจากที่เงียบเหงามานานหลายเดือน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำรายได้แตะ 100 ล้านบาท เรื่องแรกในรอบปีภายใน 7 วัน และขยับรายได้ทั่วประเทศไปถึง 200 ล้านบาทแล้ว (13 ธ.ค.63) ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ทั่วประเทศสูงสุดของปีนี้เลยก็ว่าได้ พร้อมกับฉายในโรงหนังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว และ เวียดนาม ด้วย

ทำเอา ‘อีเรียม’ ที่รับบทโดยนางเอกสาว ‘เบลล่า ราณี แคมเปน’ ขึ้นแท่นนางเอกร้อยล้านเป็นที่เรียบร้อย ด้วยพลอตเรื่องที่สนุก สุดฮา เจ้าแม่ตัวอิจฉาประจำหมู่บ้านบางน้ำกร่อย เธออิจฉาพี่สาว แรม (แพท ณปภา) ผู้ที่ทั้งสวย อ่อนหวาน แถมยังทำขนมอร่อยเป็นเลิศ ขณะที่เรียมเอาแต่เที่ยวเล่นกับเพื่อน และฝึกวิชาการต่อสู้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อกลุ่มโจรโฉดนาม ว่า ‘แก๊งโจรฟันแดง’ ที่มีคาถาอาคมอันร้ายกาจมาจับตัวของแรมและแม่ไป การผจญภัยของเรียมจึงเกิดขึ้น
ร่วมขบวนความฮาโดย ‘ค่อม ชวนชื่น’, ‘บอล เชิญยิ้ม’, ‘โอ๊ต-ปราโมทย์’ และ ‘ภัทรภณ กสิกรรม’ รวมถึงยังเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของดาวตลกผู้ล่วงลับไปในปีนี้อย่าง “โรเบิร์ต สายควัน” ที่ฝากผลงานไว้ให้แฟนคลับได้ชมกัน

ปรากฎการณ์ ‘อีเรียมซิ่ง’ ไม่เพียงแค่เป็นหนังที่เข้ามาสร้างสีสันให้วงการแผ่นฟิล์มเท่านั้น แต่ยังมาปลุกชีวิตตลาดภาพยนตร์ไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีให้คึกคัก รายได้ในไตรมาส 4 ก็โตขึ้นมาจากไตรมาส 3 กลับไปใกล้เคียงกับตัวเลขที่ควรจะเป็นในสถานการณ์ปกติแล้ว ภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่ต่อแถวเข้าฉายในโรงหลังจากนั้น ก็ล้วนกวาดรายได้ไปไม่น้อยเช่นกัน จึงสะท้อนได้ว่าตลาดหนังไทยที่คนบอกว่ามันตายไปแล้ว มันไม่มีคนดู คนไม่เข้าโรงหนัง ไปดูสตรีมมิ่งกันหมดนั้น ยังไม่สามารถดิสรัปวงการนี้ได้ทั้งหมด ด้วยเสน่ห์ บรรยากาศ และคอนเทนต์ ซึ่งเป็นหัวใจของภาพยนตร์ ยังเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้ “โรงหนังไม่มีวันตาย”

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า