Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

แม้ประเทศไทยจะฟังเสียงแรงงานน้อยเพียงใด แต่แรงงานในระบบสัญชาติไทยก็ยังสามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพเพื่อส่งเสียงปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของตนเองได้

แต่ในหมู่ผู้ใช้แรงงาน ยังมีกลุ่ม “ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ” เป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีสิทธิแม้กระทั่งรวมกลุ่มต่อรองนายจ้าง จนหลายครั้งสภาวะดังกล่าวทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิของลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด และนำมาสู่ปัญหาแรงงานบังคับ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการกลายเป็นทาสรูปแบบใหม่ในโลกศตวรรษที่ 21

ปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน : รู้ว่ามีอยู่ต่อเมื่อมีคนเจ็บ – ตายเท่านั้น

“บางครั้งเจ้านายเขาคิดว่าเราใช้ได้ทุกอย่างเนอะ” มาลี สอบเหล็ก ประธานกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยบอกกับเวิร์คพอยท์ระหว่างการประชุมกลุ่มในเดือนตุลาคม 2561 “ส่วนใหญ่ลูกจ้างทำงานบ้านไม่กล้าปฏิเสธ กลัวเจ้านาย เราขึ้นโดยตรงกับอารมณ์ของเจ้านาย เราไม่สามารถที่จะบอกว่า เจ้านายขาหนูทำไม่ได้หรอก หนูขอไม่ทำ มันแทบเป็นไปไม่ได้ค่ะ”

กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านของมาลีเป็นกลุ่มที่รวบรวม “ลูกจ้างทำงานบ้าน” ทั้งที่มีสัญชาติไทยและแรงงานข้ามชาติมาพบปะกัน โดยเริ่มจากการสร้างกลุ่มเล็กแบบปากต่อปากเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างลูกจ้างทำงานบ้านในชุมชน ก่อนขยายมาเป็นกลุ่มใหญ่หลังได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand)

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation : ILO) จัดให้กลุ่มแรงงานทำงานบ้านเป็นหนึ่งในการที่งานที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดมากที่สุด เมื่ออาศัยอยู่ใต้ชายคาของนายจ้างก็ทำให้ต้องทำงานแทบจะ 24 ชั่วโมง หากถูกทำร้ายหรือคุกคามก็ยากที่จะส่งเสียงออกไปขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้ ทั้งสภาวะที่ยากจนและไม่มีตัวเลือกมากนักก็ทำให้พวกเธอกลัวว่าจะถูกเลิกจ้างงาน หลายครั้งจึงเลือกที่จะไม่ขัดใจนายจ้างเมื่อถูกใช้ให้ทำงานที่อันตรายและเกินกว่าเหตุ

ยิ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย สภาพบังคับจะยิ่งหนักหนาเป็นพิเศษ เพราะเรียกได้ว่าชะตาชีวิตของพวกเธอแขวนอยู่กับนายจ้างล้วน ๆ ความหวาดกลัวว่าจะถูกตำรวจจับส่งกลับประเทศประกอบกับสถานะที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มกันของรัฐ ทำให้พวกเธอถูกบังคับใช้แรงงานแบบไม่สามารถปฏิเสธได้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบทเรียนจากสภาวะการบังคับใช้แรงงานที่นำมาสู่คดีฆาตกรรมหลายต่อหลายครั้ง ทั้งกรณีเมื่อปี 2555 “หมอสุพัฒน์” ที่รับเอาแรงงานข้ามชาติชาติจากการค้ามนุษย์ซึ่งต่อมากลายศาลตัดสินว่าเป็นคดีฆาตกรรมอำพราง และปี 2560 ก็มีกรณีของ อดีตนางงาม นายจ้างที่กักขังหน่วยเหนี่ยวเด็กสาวอายุ 16 ปี ทำร้ายทุบตี จนฆ่าฝังดินในที่สุด

“นายจ้างพี่ดีมาก จ้างพี่ให้ค่าแรงพี่ ให้วันหยุดเกินกว่ากฎหมายกำหนดด้วยซ้ำไป แต่ว่าก็มีคนที่ลำบาก ไม่มีวันหยุดเลย เริ่มทำงานกับนายจ้างคนนึงมาตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ไม่ได้แต่งงาน” มาลีกล่าวต่อว่าเรื่องแบบนี้ทำให้เธอสนใจในสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน “ทำไมเราต้องอาศัยโชคตลอด ทำไมเราต้องรอให้ดวงดีมีเจ้านายดี”

ปี 2552 เธอจึงเริ่มรวบรวมสมาชิกเพื่อนร่วมอาชีพกว่า 300 ชีวิต เรียกร้องให้กระทรวงมีมาตรการคุ้มครองผู้ประกอบอาชีพในบ้านอย่างเธอ จนได้กฎกระทรวงฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555)มาคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน กฎกระทรวงดังกล่าวครอบคลุมทั้งเรื่องสิทธิวันหยุด การได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และให้มีการนับวันจ่ายค่าจ้างเหมือนกันแรงงานประเภทอื่น ๆ
แม้จะเรียกร้องอย่างยากลำบากกว่าจะได้กฎหมายคุ้มครองตนมา แต่มาลีบอกว่ากฎกระทรวงดังกล่าวก็ยังคุ้มครองได้แค่บางส่วน เพราะงานที่ทำใบ้านมีลักษณะพิเศษที่ทำให้นายจ้างบังคับให้แม่บ้านส่วนใหญ่ได้แต่ทำตาม ไม่สามารถต่อรองได้หากนายจ้างจงใจไม่ปฏิบัติตาม เธอจึงต้องอาศัยขยายเครือข่ายสมาชิกกลุ่มในการเป็นหูเป็นตาดูแลสารทุกข์สุขดิบของเพื่อร่วมอาชีพเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกเอาเปรียบ

ลูกจ้างทำงานบ้านรวมกลุ่มจนผลักดันกฎหมายได้ แต่ไม่มีใครรับรองว่าจะไม่โดนเลิกจ้าง

วิธีการของมาลีไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 2009 สหพันธ์สหภาพแรงงานนานาชาติ (The International Trade Union Confederation-ITUC) สนับสนุนให้สหภาพแรงงานมีบทบาทหลักในการต่อสู้กับการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ โดยในคู่มือการต่อสู้กับการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์สำหรับสหภาพ (How to Combat Forced Labour and Trafficking) ระบุว่าสหภาพแรงงานสามารถมีบทบาทในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ได้ผ่านการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ครอบคลุมปัญหา ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย ผลักดันนโยบายป้องกัน มีส่วนร่วมในการวางยุทธศาสตร์ชาติเพื่อต่อสู้กับการบังคับใช้แรงงานและผลักดันให้รัฐบาลตอบสนองต่อปัญหานี้

อย่างไรก็ดี สถานะของกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยนั้นไม่ได้มีความแข็งแกร่งอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างที่สหภาพได้รับ เนื่องจากสถานะของลูกจ้างทำงานบ้านคือ “แรงงานนอกระบบ”

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเป็นกรรมการสหภาพแรงงานต้องมีสถานะเป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานและต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น หมายความว่าหากนายจ้างไม่เห็นด้วยกับการที่ลูกจ้างทำงานบ้านทั้งไทยและต่างชาติรวมตัวกันตั้งสหภาพเพื่อต่อรองในประเด็นต่าง ๆ ก็เสี่ยงต่อการถูกนายจ้างเลิกจ้างได้เสมอ ขัดกับมาตรฐานสากลตามอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ที่แม้นานาชาติจะให้สัตยาบันแล้วกว่า 155 ประเทศและ 167 ประเทศตามลำดับ แต่รัฐไทยก็เมินเฉยมาตลอด

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 101 กำหนดให้กรรมการสหภาพต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดเท่านั้น

มาลีกล่าวว่าการไร้ความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ ส่งผลให้หลายครั้งลูกจ้างทำงานบ้านก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเครือข่ายเพราะกลัวถูกเลิกจ้าง เมื่อขยายเครือข่ายไม่ได้ อำนาจต่อรองในการผลักดันประเด็นต่าง ๆ ก็ลดลง ตลอดจนโอกาสในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมอาชีพก็ลดลงไปด้วย

นอกจากกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านแล้ว ในภาคส่วนอื่น ๆ ของไทยเองก็มีการรับแนวคิดนี้เข้ามาอีก นายชัยรัตน์ ราชปักษี อดีตลูกเรือที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์บริเวณเกาะเบนจินา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ ตั้งแต่ปี 2015 ทำงานเป็นผู้รณรงค์หลักในการเรียกร้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานบนเรือประมง ในขณะเดียวกันก็อาศัยเครือข่ายในกลุ่มแรงงานประมงด้วยกันส่งต่อข้อมูลผ่านการถามไถ่ จนเป็นผลให้ปัจจุบันช่วยเหลือลูกเรือไทยจากการบังคับใช้แรงงานมาได้มากกว่า 400 คน

แน่นอนว่าการตั้งสหภาพครั้งนี้ ไม่มีการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฯ เนื่องจากตัวบทกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแรงงานข้ามชาติมีบทบาทใดนอกจากเป็นสมาชิก ส่งผลให้บทบาทการเรียกร้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติไม่เคยถูกพูดถึงเป็นการเฉพาะ

ปิดกั้นกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปิดกั้นหนึ่งหนทางแก้ปัญหาค้ามนุษย์

กลางเดือนมีนาคม 2561 กระทรวงแรงงานได้ชงร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาเปิดช่องให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิตั้งสหภาพแรงงานได้ แต่ไม่นานหลังจากที่ร่างพ.ร.บ.เผยแพร่ออกไปก็ได้รับกระแสต้านอย่างหนัก สภาองค์การนายจ้าง ที่แสดงความกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติและอาจเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ สุดท้ายร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านค.ร.ม.ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยตัดเนื้อหาเรื่องการตั้งสหภาพของแรงงานข้ามชาติออกไป ก่อนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะหายสาบสูญไปจากหน้าสื่อ และแท้งไปพร้อมกับการยุติการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

การปิดกั้นโอกาสรวมตัวกันของแรงงานข้ามชาติ ทั้งส่วนของแรงงานทำงานบ้านและแรงงานประมง ไม่ใช่เพียงการปิดกั้นโอกาสในการดูแลความปลอดภัยระหว่างแรงงานด้วยกันเท่านั้น แต่ยังลดโอกาสในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย เนื่องจาก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฉบับแก้ไข ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 เม.ย. บัญญัติให้การ “บังคับใช้แรงงานหรือบริการ” เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วย

ตั้งแต่ปี 2557 ประเทศไทยประกาศให้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติมาแล้ว 2 ครั้ง และมอบหมายให้เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีการออกแบบโครงสร้างเพื่อประสานบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างรัดกุม แต่เจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่าการระบุว่าเหตุการณ์ใดเข้าลักษณะการค้ามนุษย์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

“เราไม่สามารถปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ง่าย ๆ ถ้าเปรียบเสมือนไข่ มัน(การค้ามนุษย์)ก็เหมือนไข่แดง มันไม่ให้เราเห็นง่าย ๆ” พ.ต.อ.ชูศักดิ์ อภัยภักดิ์ รองผู้กำกับการ(สอบสวน)กลุ่มงาน สอบสวนกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ กล่าวระหว่างการบรรยายแก่สื่อเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562

ข้อมูลจากดัชนีทาสโลกปี 2561 (the Global Slavery index) โดยมูลนิธิวอล์กฟรี (Walk Free Foundation) ระบุว่าในประชากรไทย 1,000 คน จะมี 8.9 คนที่ตกเป็นแรงงานทาส คิดเป็นจำนวนทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 610,000 คน ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยตกต่ำกว่าการประเมินครั้งก่อนโดยองค์กรเดียวกันในปี 2559 ที่มีจำนวนแรงงานทาสอยู่ที่ 425,500 คน

ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่ามาตรการการปราบปรามด้านเดียวอาจไม่ส่งผลให้จำนวนแรงงานทาสในไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่รัฐเองก็กระทำการย้อนแย้งโดยสกัดกั้นกลไกที่ช่วยสอดส่องเหตุค้ามนุษย์อย่างเครือข่ายแรงงาน เห็นได้จากการที่ไทยให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 (ฉบับที่ 29) มาตั้งแต่ปี 2560 แต่กลับละเลยเมินเฉยต่ออนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ที่จะช่วยสร้างประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาได้อย่างยิ่งยวด

แน่นอนว่าเรื่องค้ามนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ท่ามกลางกระแสโลกที่เอาจริงเอาจังกับสิทธิแรงงานมากขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยถูกขึ้นใบเหลืองกรณีการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (IUU Fishing – illegal-unreported-unregulated Fishing) จากสหภาพยุโรปในปี 2558 เป็นผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงไปยังยุโรปในช่วงปี 2556-2560 ติดลบถึง 45%

แม้ปัจจุบันจะมีการปลดใบเหลืองอย่างเป็นทางการแต่ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนก็ได้เตือนว่ารัฐบาลและผู้ประกอบการจำเป็นต้องส่งเสริมสิทธิแรงงานขึ้นมาใหม่ มิเช่นนั้นอาจกลับไปติดใบเหลืองอีกเมื่อใดก็ได้

ขณะที่สหรัฐอเมริกา นอกจากจะมีการทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยเป็นประจำทุกปี ยังมีการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิแรงงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized System of Preferences-GSP) ประเทศไทยได้รับการร้องเรียนจากสหพันธ์แรงงานและสภาองค์กรอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations: AFL-CIO) มาตั้งแต่ปี 2558 ก่อนจะตัดสิทธิพิเศษอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ตุลาคม 2562

เอกสารที่เผยแพร่จากรัฐบาลสหรัฐกล่าว อย่างชัดเจนว่า “ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงไม่ดำเนินการมากพอที่จะทำให้สิทธิแรงงานหลายประเด็นให้อยู่ในระดับที่เป็นยอมรับของสากล ตามที่ระบุไว้ในจดหมายร้องเรียนตั้งแต่ปี 2015 โดย AFL-CIO เช่น การปกป้องเสรีภาพของแรงงานในการรวมกลุ่มกันพื่อต่อรอง” ข้อความนี้้ย้ำอย่างชัดเจนว่าการออกนโยบายปราบปรามเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาสิทธิแรงงานได้ และที่สำคัญเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้สหภาพแรงงานกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป

อนาคตโอกาสของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

แม้จะมีการเสนอว่าการตั้งสหภาพแรงงานเป็นหนึ่งในกลไกของการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่รัฐไทยแสดงท่าทีกระตือรือร้นอย่างมาก และยังเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาการถูกยกเลิกสิทธิ์ทางการค้า แต่การตั้งสหภาพแรงงานก็ยังดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกท้าย ๆ ในการแก้ปัญหาอยู่ดี

หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ประเทศไทยมีส.ส.ที่เสนอตัวว่าเป็นตัวแทนจากภาคแรงงานครั้งแรกในรอบหลายปี หลังไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้รัฐบาลจริงจังกับสภาพความเป็นอยู่ของคนงานมากกว่านี้

“แรงงานข้ามชาติ แรงงานสัญญาจ้างชั่วคราว ก็เป็นคนเท่าเทียมกับเรา เขาทำงานให้เรา ทำงานแบบเดียวกับเรา งานก่อสร้าง งานประมง งานที่คนไทยไม่ทำ พวกเขาก็มาเติมเต็มให้เศรษฐกิจเราเดินไปข้างหน้า แต่ทำไมถึงไม่มีสิทธิ์เท่ากับเรา?​ “นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงานโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “อย่าว่าแต่แรงงานข้ามชาติเลย แรงงานไทยก็ไม่มีสิทธิ์รวมตัว ข้อยกเว้นเยอะมาก ทั้งๆที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง ให้รัฐบาลไทยรับอนุสัญญา ILO 87, 98 มานานมาก ถูกกลั่นแกล้งต่างๆนาๆจากทั้งนายจ้างและภาครัฐ “

อย่างไรก็ดี ทีท่าจากฝั่งรัฐบาลหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งสหภาพอย่างชัดเจน

วันที่ 27 ตุลาคม 2562 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกประชุมด่วนหลังประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) กับไทย 571 รายการ

แต่ในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์แก่สื่อ ไทยรัฐรายงานว่า ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่าหากอนุญาตให้เแรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการตั้งสหภาพแรงงานแบบรวมอุตสาหกรรมนับเป็นการทำให้ “คนต่างด้าวที่อยู่เมืองไทยจะได้สิทธิมากกว่าคนไทยคงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม” ทั้งที่จริงสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิพื้นฐานที่แรงงานในระบบอุตสาหกรรมไทยมีอยู่แล้ว

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม ยืนยันกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ว่ารัฐบาลคงเลือกทางอื่นในการเจรจาแก้ไขสถานการณ์กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานทำได้ยาก อาจเลยกรอบเวลา   6 เดือนที่สหรัฐอเมริกากำหนดไว้ “เขายกเรื่องแรงงานเป็นเรื่องแรก แต่การเจรจาเราอาจยกเรื่องอื่นขึ้นมาเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนกันได้”

แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีอื่นอาจทำให้สินค้าไทยได้รับสิทธิ GSP คืนมา อย่างที่การมุ่งหน้าปราบปรามด้านการค้ามนุษย์อย่างหนักเคยทำให้สินค้าประมงไทยกลับไปส่งออกในสหภาพยุโรปได้ แต่สิ่งที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอนคือสวัสดิภาพในชีวิตการทำงานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในแรงงานนอกระบบ แรงงานประมง และภาคส่วนอื่น ๆ แต่เราอาจจะหลงลืมไปว่าเมื่อแรงงานอ่อนแอ ปัญหาเหล่านี้ก็พร้อมที่จะวกกลับมาให้รัฐไทยแก้ไขเฉพาะหน้าอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่มีทางหายไปจนกว่าปัญหาที่แท้จริงจะได้รับการเหลียวแลจากรัฐในที่สุด

————————————————–
 
บทความโดย : วศินี พบูประภาพ

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า