SHARE

คัดลอกแล้ว

ความเคลื่อนไหวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่สื่อหลายสำนักฟันธงว่า เขาจะไม่ได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่สอง ถูกจับตาอย่างมาก เพราะนอกจากเขาจะแสดงท่าทีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งอย่างชัดเจนแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ยังใช้อำนาจปลดรัฐมนตรีกลาโหม และมีการแต่งตั้งบุคคลที่ภักดีกับเขาเข้าไปทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมหลายคน

ความเคลื่อนไหวในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ตกลงแล้วในช่วง 10 สัปดาห์สุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง ก่อนส่งไม้ต่อให้ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังคิดจะทำอะไร

วันนี้ workpointTODAY รวบรวมความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น รวมทั้งการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนในสหรัฐฯ ที่มีบางคนมองว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณอันตราย

1️⃣

ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มถูกจับตาเมื่อวันที่ 10 พ.ย. เมื่อเขาทวีตข้อความปลดนายมาร์ค เอสเปอร์ จากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ พร้อมแต่งตั้งนายคริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ ซึ่งเดิมดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีกลาโหมแทน โดยมีผลทันที

แม้จะไม่มีการระบุสาเหตุการปลดที่แน่ชัด แต่กระแสข่าวปลดรัฐมนตรีกลาโหมเกิดขึ้นมาหลายสัปดาห์แล้ว ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่า สาเหตุการปลดน่าจะมาจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างประธานาธิบดีและรัฐมนตรีกลาโหมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

การปลดรัฐมนตรีกลาโหมและแต่งตั้งคนใหม่รักษาการ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมจำนวนหนึ่งตัดสินใจลาออก ขณะเดียวกันประธานาธิบดีทรัมป์ก็แต่งตั้งบุคคลที่มีประวัติสนับสนุนเขาขึ้นไปดำรงตำแหน่งแทนหลายตำแหน่ง เช่น

🔴 นายพลจัตวา แอนโทนี ทาทา เป็น รักษาการปลัดกระทรวงด้านนโยบาย
🔴 เอซรา โคเฮน-วัตนิค เป็น รักษาการปลัดกระทรวงฝ่ายความมั่นคงและข่าวกรอง
🔴 คาส พาเทล เป็น หัวหน้าคณะทำงานรักษาการรัฐมนตรีกลาโหม
🔴 ดักลาส แมคเกรเกอร์ เป็น ที่ปรึกษาอาวุโสของรักษาการรัฐมนตรีกลาโหม

2️⃣

รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รัฐบาลทรัมป์เพิ่งแต่งตั้ง ถูกตั้งคำถามอย่างมากถึงความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาจากคุณสมบัติ ประวัติการทำงานและทัศนคติ

เช่นนายคริสโตเฟอร์ มิลเลอร์ รักษาการรัฐมนตรีกลาโหม ถูกมองว่าไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญตั้งแต่ถูกแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแล้ว ขณะที่นายโคเฮน-วัตนิค เคยมีประวัติถูกกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลข่าวกรองไปมอบให้ผู้อื่นเมื่อ 3 ปีก่อน

ส่วนนายดักลาส แมคเกรเกอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสของรักษาการรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ เคยมีรายงานว่า เขาเป็นผู้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้มาตรการที่รุนแรงถึงชีวิต ต่อผู้อพยพผิดกฎหมายที่ข้ามพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก

แต่คนที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคือแอนโทนี ทาทา นายพลจัตวาที่เคยทวีตข้อความเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โจมตีนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้นำการก่อการร้าย เป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ เนื่องจากมีนโยบายช่วยเหลือชาติมุสลิมมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคนในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน

นายพลจัตวาทาทาเป็นบุคคลที่ทำเนียบขาวให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านความพยายามแต่งตั้งเขาไปดำรงตำแหน่งต่างๆ แม้ในหลายๆ ครั้ง จะมีแรงเสียดทานจากในพรรครีพับลิกันเองที่ไม่ต้องการให้นายพลจัตวาทาทามีบทบาทมากนัก

3️⃣

หากมองในมุมหนึ่ง การแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เข้าไปมีตำแหน่งในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อาจเป็นเพียงการตอบแทนที่คนกลุ่มนี้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์มาโดยตลอด และอาจทำให้การส่งต่อหน้าที่จากรัฐบาลทรัมป์เป็นรัฐบาลไบเดน ประสบความยากลำบากขึ้น เพราะผู้ที่รับหน้าที่ในปัจจุบันสนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์

แต่ก็มีหลายฝ่ายตั้งคำถามมากไปกว่านั้นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการอะไรกันแน่ ถึงปลดรัฐมนตรีและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าไปในกระทรวงกลาโหมในช่วงท้ายวาระ ก่อนที่จะต้องส่งต่อให้กับรัฐบาลไบเดน โดยเฉพาะท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ชัดเจนว่า ไม่ยอมรับผลเลือกตั้งในครั้งนี้

4️⃣

เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาวหลายคนที่ตั้งคำถามถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ว่า จะมีผลต่อทิศทางของกระทรวงกลาโหมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนรัฐบาลทรัมป์จะจะหมดวาระหรือไม่

โดยเฉพาะเหตุผลในการปลดนายมาร์ค เอสเปอร์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ที่หลายคนเชื่อว่า เป็นเพราะนายเอสเปอร์มีความเห็นขัดแย้งกับประธานาธิบดีทรัมป์หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการที่นายเอสเปอร์ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังพลจัดการกับผู้ประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมต่อคนผิวสีในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ความไม่ลงรอยกันในกรณีนี้ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า หากมีการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีทรัมป์ ที่อาจเกิดขึ้นได้หากเขายังยืนยันไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีทรัมป์และผู้สนับสนุนที่เข้าไปมีบทบาทในกระทรวงกลาโหม จะวางแนวทางปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างไร

5️⃣

ผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนอเมริกันยังจับตาถึงบทบาททางการทหารของรัฐบาลสหรัฐฯ ในต่างประเทศ โดยเว็บไซต์ฟ็อกซ์ นิวส์ สื่อสหรัฐฯ อีกแห่งวิเคราะห์จากจุดยืนของนายดักลาส แมคเกรเกอร์ ที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับรักษาการรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ ที่มีแนวทางชัดเจนว่า ต้องการให้รัฐบาลสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ซึ่งมีแนวโน้มว่า รัฐบาลทรัมป์อาจถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในช่วงคริสต์มาสนี้

ขณะเดียวกันรัฐบาลทรัมป์อาจทิ้งทวนด้วยการมีมาตรการตอบโต้อิหร่าน เพราะบุคคลที่ถูกแต่งตั้งเข้าไปในกระทรวงกลาโหมชุดใหม่เกือบทั้งหมดสนับสนุนแนวคิดให้สหรัฐฯ จัดการกับอิหร่านอย่างเด็ดขาด

6️⃣

นอกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำกระทรวงกลาโหมแล้ว ยังมีรายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวคิดปลดเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอีกหลายคน เช่น นายคริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) รวมไปถึงนางจีนา แฮสเปล ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA)

โดยเฉพาะจีนา แฮสเปล ผู้อำนวยการซีไอเอที่มีรายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เตรียมปลดออกตั้งแต่วันอังคาร (10 พ.ย.) และให้ริชาร์ด เกรเนลล์ ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทดูแลด้านคดีความที่ฝ่ายประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหาว่า มีการโกงการเลือกตั้ง เข้าไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการซีไอเอแทน แต่คำสั่งนี้ถูกนายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งเป็นของพรรครีพับลิกันด้วยกันระงับไปก่อน

7️⃣

ความเคลื่อนไหวในช่วงเปลี่ยนผ่านของประธานาธิบดีทรัมป์ถูกมองว่า เป็นสัญญาณอันตราย โดยอดัม สมิธ ประธานกรรมาธิการกิจการทหาร ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งสังกัดพรรคเดโมแครต ระบุว่า มีความจำเป็นที่ต้องส่งสัญญาณเตือนชาวอเมริกันทุกคนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับเดวิด ลาแพน อดีตโฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนกังวล เพราะเป็นการแต่งตั้งที่ไม่มีเหตุผลใดๆ มารองรับ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ต้องดำรงอยู่ด้วยความน่าเชื่อถือเป็นหลัก

ขณะที่ยูจีน โกลซ์ อดีตที่ปรึกษาอาวุโสประจำกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักรัฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยนอเทรอดาม เชื่อว่า ไม่ว่าสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น นายทหารอเมริกันในทุกระดับชั้นน่าจะยึดมั่นกับแนวคิดที่ว่า กองทัพต้องไม่ถูกใช้ในทางการเมือง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า