SHARE

คัดลอกแล้ว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรื่องช็อกโลกอีกครั้ง หลังเพิ่งรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ มาแค่ 2 สัปดาห์เศษ 

ล่าสุด เขาได้ต้อนรับผู้นำต่างประเทศมาเป็นแขกคนแรกในฐานะประธานาธิบดี ซึ่งก็ไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหน คือ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล มิตรสหายคนเดิมที่เป็นพันธมิตรแนบแน่นกันมายาวนาน 

การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของเนทันยาฮูในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อจะมาหารือกับประธานาธิบดีคนใหม่ เกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย และอีกประเด็นที่กำลังถูกจับตามากที่สุด คือ การหารือเรื่องข้อตกลงหยุดยิงเฟส 2 ระหว่างอิสราเอลกับฮามาส 

ประธานาธิบดีทรัมป์และนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู พบกันเมื่อวันอังคาร (4 ก.พ.) ที่ห้องทำงานรูปไข่ ซึ่งเป็นห้องทำงานประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในทำเนียบขาว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้นำทั้งสองคนคุยกันหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสถานการณ์ในฉนวนกาซาตอนนี้ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์พูดย้ำอยู่หลายครั้งว่า “เขาไม่คิดว่าชาวปาเลสไตน์อยากกลับไปที่ฉนวนกาซา” เพราะถ้าพวกเขากลับไป พวกเขาจะต้องกลับไปตายที่นั่น ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นร้อยปีก็จะวนกลับมาซ้ำรอยแบบเดิม ดังนั้น พวกเขาควรจะไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นๆ 

 

ทรัมป์ย้ำจะยึดกาซา ให้ชาวปาเลสไตน์ไปอยู่ที่อื่น

หลังการหารือเสร็จสิ้น ผู้นำทั้งสองคนได้ออกมาแถลงข่าวร่วมกันพร้อมกับคำประกาศที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตกตะลึง 

โดยประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวชัดเจน ขณะยืนอยู่เคียงข้างผู้นำอิสราเอลว่า เขาตั้งใจจะเข้าไปยึดครองฉนวนกาซา และให้ชาวปาเลสไตน์ไปอยู่ที่อื่น เพื่อจะพัฒนาพื้นที่ขึ้นใหม่ ให้เป็น ‘บ้านของคนทั้งโลก’ และสร้าง ‘ริเวียราแห่งตะวันออกกลาง’ ขึ้นมา 

แต่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดของแผนการว่าจะเข้าไปยึดครองฉนวนกาซาอย่างไร เพียงแต่อธิบายเหตุที่ต้องทำแบบนี้ว่าเป็นเพราะ เขาเชื่อว่า การให้ชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ย้ายไปอยู่อาศัยในประเทศอาหรับที่อยู่ใกล้เคียง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับตอนนี้ 

“เหตุผลเดียวที่ชาวปาเลสไตน์อยากกลับไปที่กาซา เพราะพวกเขาไม่มีที่ไป แต่ผมคิดว่าพวกเขาไม่ควรกลับไปที่นั่น ตอนนี้กาซากลายเป็นพื้นที่ที่ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว อาคารบ้านเรือนก็พังทลายไปทั้งหมด” ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุ พร้อมกล่าวต่อว่า แทนที่จะต้องไปอยู่ในพื้นที่อันตรายแบบนั้น ชาวปาเลสไตน์ควรได้อยู่ในบ้านสวยๆ พื้นที่ดีๆ ที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ บอกว่า เรื่องนี้ เขาคิดว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถช่วยเหลือด้านเงินทุนเพื่อเคลื่อนย้ายชาวปาเลสไตน์ไปลงหลักปักฐานในพื้นที่ที่เหมาะสมได้

ส่วนในดินแดนกาซา ประธานาธิบดีทรัมป์บอกว่า สหรัฐฯ จะเข้าไปครอบครองแทนชาวปาเลสไตน์เอง “เราจะเข้าไปเป็นเจ้าของ และรับผิดชอบซากปรักหักพังที่แสนอันตรายเหล่านั้น เราจะไปกำจัดระเบิดและอาวุธอันตรายให้หมดไปจากพื้นที่ และจะทำพื้นที่เศรษฐกิจขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างงานให้คนในพื้นที่อย่างไม่มีขีดจำกัด” 

โดยประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ข้อเสนอว่าจะยึดครองฉนวนกาซา เป็นเรื่องที่เขาศึกษาอย่างจริงจังมาหลายเดือนแล้ว และเขาก็มองเห็นตำแหน่งการเป็นเจ้าของดินแดนดังกล่าวในระยะยาว ซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับบริเวณดังกล่าว และอาจรวมถึงตะวันออกกลางทั้งหมดด้วย 

ประธานาธิบดีทรัมป์ยังอ้างด้วยว่า เรื่องการยึดครองฉนวนกาซา เป็นไม่ใช่การตัดสินใจทำอย่างไม่ตั้งใจ ทุกอย่างผ่านการคิดมาดีแล้ว และก็ได้รับคำชมจากผู้นำคนอื่นๆ ในตะวันออกกลาง แต่ไม่ได้ระบุว่า ผู้นำชาติตะวันออกกลางที่เขาพูดถึงคือใคร 

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ผู้นำชาติตะวันออกกลางที่เขาพูดถึง ก็คือ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ที่ยืนอยู่เคียงข้างประธานาธิบดีทรัมป์ในระหว่างแถลงข่าวนั่นเอง

เพราะหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดถึงข้อเสนอที่จะยึดครองฉนวนกาซาจบ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ก็ได้กล่าวชมเชยแนวคิดนี้ของผู้นำสหรัฐฯ ว่า เป็นการคิดนอกกรอบด้วยแนวคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาก 

นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูยังพูดถึงประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดที่อิสราเอลเคยมีมาในทำเนียบขาว” พร้อมกับบอกว่าความร่วมมือระหว่างอิสราเอลและสหรัฐฯ ทำให้ภารกิจในฉนวนกาซาสำเร็จลุล่วงลงได้ โดยอิสราเอลจะ “ยุติสงครามด้วยการชนะสงคราม” 

 

ชาติอาหรับยืนกรานปฏิเสธข้อเสนอ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงความต้องการที่เข้าไปยึดครองฉนวนกาซา ก่อนหน้านี้เขาก็เคยพูดเรื่องนี้ออกมาแล้ว และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดาชาติอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อียิปต์และจอร์แดน ซึ่งเป็นประเทศที่เขาเรียกร้องให้รับชาวปาเลสไตน์จากฉนวนกาซาเข้าไปตั้งถิ่นฐาน 

โดยบรรดาชาติอาหรับ ต่างก็ประณามแนวคิดดังกล่าวว่า เป็นภัยต่อเสถียรภาพของภูมิภาค พร้อมกับยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงความพยายามใดๆ ที่จะละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งถิ่นฐาน การขับไล่ การผนวกดินแดน หรือการบังคับให้ประชาชนออกจากถิ่นฐานของพวกเขา ไม่ว่าจะในรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม

และหลังจากประธานาธิบดีแถลงยืนยันจะยึดครองฉนวนกาซา ซามี อาบู ซูรีห์ แกนนำฮามาส ได้ออกมาแถลงตอบโต้ สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูด เป็นเรื่องเหลวไหล และไร้สาระ  

ซ้ำร้ายว่านั้น นี่ยังเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพของตะวันออกกลาง และก็อาจจะจุดชนวนความขัดแย้งในภูมิภาคให้รุนแรงขึ้นมาอีก 

แกนนำฮามาสยังระบุด้วยว่า “ประชาชนของเราในฉนวนกาซาจะไม่ยอมให้แผนนี้เกิดขึ้น สิ่งที่จำเป็นคือการยุติการยึดครองและการรุกรานประชาชนของเรา ไม่ใช่การขับไล่พวกเขาออกจากดินแดนของเรา” 

 

ทรัมป์จะยึดครองฉนวนกาซาได้จริงหรือไม่

คำถามที่น่าสนใจคือ ความต้องการจะยึดครองฉนวนกาซาของประธานาธิบดีทรัมป์ มีความเป็นไปได้หรือไม่ 

ทิม เบอร์เชตต์ วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซี  แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้กับเว็บไซต์ข่าว NewsNation ว่า เขาคิดว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะไม่ได้ต้องการเข้าไปยึดครองแบบที่จะทำให้ฉนวนกาซามาเป็นดินแดนของสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์อยากได้น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ 

โดยความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ มุมมองของ แมกซีน วอเตอร์ส สส.พรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่อธิบายในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประธานาธิบดีจะอยากได้ฉนวนกาซา เพราะเมื่อไม่นานมานี้ จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของประธานาธิบดี เพิ่งจะออกมาพูดถึงมูลค่าสินทรัพย์ริมชายฝั่งทะเลในฉนวนกาซา” 

แต่ความต้องการของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ โดยคนหนึ่งที่ให้คำอธิบายเรื่องนี้ คือ พลเอกเวสลีย์ คลาร์ก อดีตผู้บัญชาการทหารของกลุ่มพันธมิตรนาโต ให้เหตุผลว่า แม้สหรัฐฯ จะใช้เหตุผลที่จะเข้าไปฟื้นฟูฉนวนกาซา มาบอกให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกจากพื้นที่ 

แต่คำถามสำคัญคือ แล้วใครจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและดูแลชาวปาเลสไตน์เหล่านั้น หรือหากพวกเขายังคงยืนว่าจะไม่อพยพไปไหน สหรัฐฯ จะทำอย่างไร 

พลเอกคลาร์กเสริมว่า ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และมีโอกาสที่จะดึงสหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางโดยตรง ซึ่งหากเป็นแบบนั้น ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่ควรเป็นข้อกังวลในระดับประเทศ 

อดีตผู้บัญชาการนาโตระบุว่า “มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายถึงขนาดที่จะเข้าไปโบกมือแล้วบอกว่า เราจะมาควบคุมที่นี่เอง” ก่อนที่เขาจะอธิบายต่อว่า หากสหรัฐฯ จะเข้าไปยึดครองฉนวนกาซา พวกเขาจะต้องได้รับความยินยอมทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ ทรัพยากร และการสนับสนุนทั้งหมด ไม่ใช่แค่จากการแถลงข่าว” 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า