SHARE

คัดลอกแล้ว

กระแสคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ยังคงความร้อนแรงต่อเนื่อง สะท้อนจากมาร์เก็ตแคปของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 61 ล้านล้านบาท หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือสูงกว่ามูลค่าของเศรษฐกิจไทยเกือบ 4 เท่า

โดยมาร์เก็ตแคปส่วนใหญ่ประมาณ 41% เป็นมาร์เก็ตแคปที่มาจากการซื้อขายบิตคอยน์ (BTC) รองลงมา คือ อีเธอเรียม (ETH) 19% เทเทอร์ (USDT) 4% USD Coin (USDC) 3.5% และไบแนนซ์คอยน์ (BNB) 2%

แต่รู้หรือไม่ว่าคริปโตฯ ที่เราเห็นว่าเหมือนกัน จริงๆ แล้วมีความแตกต่างกัน ทั้งลักษณะและวิธีการทำงานของเหรียญ โดยมีตั้งแต่เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เหมือนเป็นเงินสกุลหนึ่ง (Currency Token) สามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้จริงๆ ไปจนถึงเหรียญมีม (Meme Token) ที่ถูกสร้างมาเอาฮาเท่านั้น

คริปโต 101 รู้จักเหรียญ 3 กลุ่มหลักในตลาด

หากจัดหมวดหมู่ของคริปโตในแบบกว้างๆ จะสามารถแยกเหรียญออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. โทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นเหรียญที่ให้สิทธิในการเข้าร่วมโครงการลงทุนหรือกิจการต่างๆ โดย Investment Token สามารถแบ่งย่อยได้อีก คือ 1) Security Token Offering (STO) ซึ่งเป็น Investment Token ที่มีทรัพย์สินมารองรับ (Asset-backed) หรือมีหลักทรัพย์/หุ้นมารองรับ (Securities-backed) และ 2) Investment Token ที่มีโปรเจคมารองรับ (Project-based)

ยกตัวอย่างในไทย เช่น สิริฮับ (SiriHub Token) เหรียญลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ออกโดย บริษัท เอสพีวี 77 จำกัด (SPV 77) นักลงทุนจะได้รับเงินปันผลจากรายได้ค่าเช่าของอาคารสำนักงาน “สิริ แคมปัส” ซึ่งมีบริษัทอสังหาฯ แสนสิริ เป็นผู้เช่าระยะยาว 12 ปี

2. โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เป็นเหรียญที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ หรือสิทธิอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจง โดย Utility Token สามารถแบ่งย่อยได้เช่นกัน คือ 1) Utility Token แบบไม่พร้อมใช้ หมายถึง โทเคนที่ออกมาเพื่อระดมทุน และจะนำเงินที่ได้ไปพัฒนาโครงการหรือแพลตฟอร์มต่างๆ และ 2) Utility Token แบบพร้อมใช้ หมายถึง โทเคนที่เสนอขายออกมาแล้วใช้ประโยชน์ได้ทันที

โทเคนประเภทนี้ยังไม่ค่อยเห็นในเมืองไทย เพราะด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายในอดีต แต่ล่าสุด SHARGE ผู้ให้บริการ EV Charging Ecosystem ได้ประกาศว่าอยู่ระหว่างเตรียมการออกโทเคนดิจิทัลพร้อมใช้ หรือ “Ready-to-Use Utility Token” ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565

ส่วน Utility Token แบบไม่พร้อมใช้ คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะเห็น Use Case ในไทย เพราะล่าสุดหน่วยงานกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้คนที่จะออกโทเคนประเภทนี้ต้องมายื่นขออนุญาตละเอียดเหมือนขออนุญาตขายหุ้น IPO เลยทีเดียว

3. สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เป็นเหรียญที่เอาไว้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แบ่งเป็น 1) Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือเหรียญที่ออกโดยธนาคารของประเทศต่างๆ และ 2) Private Digital Currency ซึ่งประกอบด้วย Stablecoin ซึ่งเป็นเหรียญที่มีหลักประกันเป็นเงินปกติ (Fiat Money) เช่น USDT และ BUSD

อีกส่วน คือ Blank Coin เช่น บิตคอยน์ (BTC) และอีเธอเรียม (ETH) กลุ่มนี้จะไม่มีหลักประกัน แต่การเคลื่อนไหวของราคาจะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ในแต่ละช่วงเวลา

บิตคอยน์ถูกนิยามว่าเป็น ‘เพียวคริปโต’

แต่หากจัดประเภทคริปโตฯ ให้ละเอียดขึ้น Goldman Sachs แบ่งเหรียญแต่ละกลุ่มออกเป็น 5 ประเภท คือ

1. เพียวคริปโต (Pure Cryptocurrencies) ซึ่งในที่นี้คือ “บิตคอยน์” โดยถือว่าบิตคอยน์เป็นคริปโตฯ ที่แท้จริงที่สุด หรือ “Pure” เพียงตัวเดียวของโลก สะท้อนจากปัจจุบันที่บิตคอยน์ทำหน้าที่คล้ายกับการเป็นสกุลเงินสกุลหนึ่งไปแล้ว แต่ก็มีความแตกต่างจากสกุลเงินรูปแบบเดิมตรงที่บิตคอยน์มีการกระจายศูนย์ (Decentralized) หรือไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีแต่ Demand กับ Supply ที่ส่งผ่านกันบนระบบบล็อกเชนเป็นตัวขับเคลื่อนราคา

หลังถูกสร้างขึ้นมาได้ราว 13 ปีจากกลุ่มบุคคลนิรนาม บิตคอยน์กลายเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก เพราะสามารถกักเก็บมูลค่า (Store of Value) รวมถึงเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ส่งผลให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบและให้การยอมรับ โดยเชื่อว่าบิตคอยน์จะเข้ามาทดแทนเงินในโลกอนาคต และกลายเป็น Digital Asset ที่สมบูรณ์ในที่สุด

ส่วนเหรียญที่เหลือที่ออกมาหลังบิตคอยน์ หรือตั้งแต่อีเธอร์เป็นต้นมา จะเรียกว่าเป็น Utility Token ทั้งสิ้น ถึงหลายคนจะเชื่อว่าเหรียญเหล่านี้จะสามารถกักเก็บมูลค่าหรือนำมาทดแทนเงินตราได้ในอนาคต แต่ในความเป็นจริง หรือในทางเทคนิคแล้วไม่สามารถทำได้ เพราะสามารถใช้งานได้บางอย่างเท่านั้นตามสิทธิประโยชน์ที่ผู้ออกเหรียญ (Issuer) สร้างกลไกเอาไว้

2. Utility Tokens เหรียญกลุ่มนี้ เช่น อีเธอร์ ไบแนนซ์ (BNB) ไฟล์คอยน์ (FIL) ฯลฯ เป็นกลุ่มที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยในการให้บริการต่างๆ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มสมาร์ทคอนแทรค การลดต้นทุนในการซื้อขายแลกเปลี่ยน การยืนยันตัวตน การกักเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ฯลฯ โดยเหรียญประเภท 1. และ 2. รวมกันก็ครอบคลุมกว่า 90-95% ของจำนวนเหรียญทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบแล้ว

3. เหรียญที่มีมูลค่าคงที่ (Stablecoins) เป็นเหรียญที่มีสินทรัพย์บางอย่างรองรับ ส่งผลให้มีมูลค่าที่แท้จริงในตัวเอง และมูลค่านั้นก็ค่อนข้างคงที่ เช่น Binance USD (BUSD), USDC, ได (DAI), Pax Dollar (USDP), USDT, เซโล่ (CELO) และ Gemini Dollar (GUSD) ซึ่งเหรียญเหล่านี้เป็นเหรียญที่ผูกอยู่กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ อีกข้อสังเกตสำคัญของ Stablecoin คือ เป็นเหรียญที่มีการตั้งหลักประกัน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบเงินตราหรือคริปโตฯ ก็ได้ สิ่งที่ทำให้ Stablecoin ต่างจากดอลลาร์สหรัฐปกติ คือ ช่วยอำนวยความสะดวกการชำระเงินระหว่างประเทศ และช่วยลดต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน การแลกเปลี่ยน และการชำระราคา

4. Non-Fungible Token (NFTs) หรือแปลตรงตัวว่าโทเคนที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ โดยเหรียญกลุ่มนี้มีความเฉพาะตัวมากๆ เพราะการซื้อขายเปลี่ยนมือในแต่ละครั้งจะทำให้เกิดความเป็นเจ้าของในสินค้าหรือบริการที่ถูกระบุอยู่บนเหรียญ โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นตัวช่วยพิสูจน์ความเป็นเจ้าของของเหรียญแต่ละเหรียญ

ในกลุ่ม NFTs ส่วนใหญ่ที่คุ้นชื่อจะเป็นบริษัทเกมแนว Play to Earn หรือเล่นแล้วมีโอกาสได้รับรางวัลตอบแทนต่างๆ เช่น Animoca Brands และ Axie Infinity รวมถึงโลกเมตาเวิร์ส เช่น Decentraland เป็นต้น

5. โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure) การแยกกลุ่มนี้ออกมาเพื่อให้เห็นภาพผู้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการมาให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศูนย์ซื้อขาย (Exchange) ต่างๆ เช่น Coinbase และ Cryto.com

ข้อแตกต่างระหว่าง Coin กับ Token

ในช่วงต้นของบทความจะเห็นคำว่าเหรียญและโทเคนถูกใช้ปะปนกันไป แม้การเรียกคริปโตฯ รวมๆ ว่าเหรียญในภาษาไทยจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร แต่แท้จริงแล้ว ระหว่างคำว่า Coin กับ Token มีข้อแตกต่างกันอยู่ 

สำหรับ Coin คือสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้น พร้อมกับมีเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง มักจะทำหน้าที่เหมือนเงิน เพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล แต่สำหรับ Token คือสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาบนเครือข่ายบล็อกเชนของคนอื่น ไม่มีเครือข่ายเป็นของตัวเอง

รู้จัก USDC เหรียญ Stablecoin มาแรง

สำหรับ Stablecoin แม้จะไม่เป็นที่นิยมในไทยเท่าคริปโตฯ อาจเพราะความร้อนแรงของราคาที่ยากจะ “To The Moon” แต่ Stablecoin อันดับต้นๆ ที่นักลงทุนน่าจะคุ้นหูกันบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็น Stablecoin ที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักประกัน โดยตัวที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ USDT ของ Tether ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงสุด 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 ล้านล้านบาท

แต่ยังมีอีกหนึ่งเหรียญที่มาแรงไม่แพ้กัน คือ USDC ที่แม้จะเปิดตัวหลัง USDT ราว 4 ปี แต่ปัจจุบันมีมูลค่ารองลงเป็นอันดับ 2 เท่านั้นที่ 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท โดยการทำงานของทั้ง USDT และ USDC นั้น 1 เหรียญ จะมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐเสมอ

เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2565 “เจเรมี อัลแลร์” ซีอีโอของ Circle ผู้ก่อตั้งเหรียญ USDC ให้สัมภาษณ์กับ Forbes โดยอธิบายว่า เหรียญแต่ละเหรียญนั้นมีความแตกต่างกัน และ USDC เองก็มีความแตกต่างกับสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ อย่างมาก 

ทั้งในแง่ที่ถูกกำกับดูแลจากภาครัฐเช่นเดียวกับผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น PayPal, Square Cash, Apple Pay, Venmo ฯลฯ สำหรับหลักประกันของ USDC มีทั้งเงินสดและพันธบัตรเพื่อป้องกันความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม การสร้าง USDC ขึ้นมาไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อขายโทเคนออกมาให้คนเก็งกำไร แต่เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ธุรกิจต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายดึงผู้พัฒนาเข้ามาเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดการใช้งานในระบบ

สำหรับความแตกต่างของ USDC เมื่อเทียบกับ Stablecoin อันดับหนึ่ง USDT นั้น USDC มีข้อดีในแง่ความมั่นคงปลอดภัย เพราะมีการตรวจสอบสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นประจำทุกเดือน ขณะที่ผู้ใช้งานจะต้องยืนยันตัวตนเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยน ซึ่งจุดนี้อาจเป็นข้อเสียสำหรับนักลงทุนที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

โอกาสของ Stablecoin ในประเทศไทย

หากจะกล่าวถึง Stablecoin ในประเทศไทยให้มากขึ้นกว่านี้ ในช่วงต้นปี 2564 มี Stablecoin สัญชาติไทยที่ใช้ชื่อว่า THT เปิดให้ซื้อขายในต่างประเทศบน Terra Platform โดยระบุให้ 1 THT มีค่าเท่ากับ 1 บาทเสมอ

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาประกาศว่าการนำ Stablecoin ดังกล่าวมาใช้ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะทำให้เกิดการแบ่งแยกระบบเงินตราของประเทศ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน นอกจากนี้ ธปท.ยังเตือนให้ประชาชนระมัดระวังและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี 2565 ธปท.เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ Stablecoin เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า Stablecoin แบบใดบ้างที่จะสามารถนำมาเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพราะหากมีความชัดเจนแล้วจะได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศมาขออนุญาตต่อไป

ระหว่างนั้นมีคำถามเกี่ยวกับเหรียญที่มีเงินบาทหนุนหลังว่า ธปท.จะกำกับอย่างไร ซึ่ง ธปท.ชี้แจงว่า ผู้ประกอบการต้องเข้ามาหารือในรายละเอียดเพื่อกำหนดแนวทางดูแลที่เหมาะสม เพราะอย่าง Stablecoin ที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-backed Stablecoin) ถ้าเข้าข่ายเป็นบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ก็มี พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 รองรับอยู่แล้ว ธปท.ก็สามารถกำกับดูแลเหมือน e-Money ได้เลย

ส่วนตัวหลักเกณฑ์ที่จะออกมากำกับดูแล Stablecoin ฉบับเต็ม ธปท.จะออก Consultative Paper เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียก่อน แต่คาดว่าหลักเกณฑ์นี้จะสามารถออกมาบังคับใช้ได้ทันภายในปี 2565

โดย ธปท.ระบุว่า แม้จะกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของระบบเงินตราของประเทศ เพราะเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ ธปท.ก็คำนึงถึงประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งในส่วนของ Stablecoin เองก็มีความแตกต่างจาก e-Money ในแง่ที่สามารถใส่ Smart Contract เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางนวัตกรรมทางการเงินได้

และนี่คือเหรียญประเภทต่างๆ ที่ควรรู้ไว้ก่อนเริ่มลงทุนในคริปโตฯ เหรียญแบบไหนเหมาะกับเรา ความเสี่ยงแบบไหนที่เรารับได้ เอาไว้ตัดสินใจก่อนเริ่มลงทุน

 

ที่มา:

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า