Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หากรัฐบาลประกาศนโยบายให้เงิน 3,000 บาทต่อเดือนแก่ประชาชนทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน ไปใช้ทำอะไรก็ได้โดยไม่มีเงื่อนไข คุณจะนำเงินก้อนนี้ไปใช้อย่างไร? คำตอบของคำถามนี้คงแตกต่างไปตามเงื่อนไขชีวิตและความจำเป็นของแต่ละคน 

การแจกเงินให้เปล่าแก่ประชาชนในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ แคนาดา อินเดีย และเคนย่า มีการถกเถียงและทดลองแจกเงินในลักษณะนี้ให้กับกลุ่มคนที่ต้องการทดลองโดยสมัครใจเพื่อเก็บข้อมูลว่านโยบายนี้เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมได้มากน้อยแค่ไหน เงินให้เปล่านี้มีชื่อเรียกว่า  “Universal Basic Income” (UBI) หรือ “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า”

นโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้ากลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งในยุคสมัยที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกไม่สามารถจัดหาสวัสดิการที่เพียงพอมาให้แก่ประชาชนได้ เพราะเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ทำให้รูปแบบการจ้างงานและความต้องการของประชาชนเปลี่ยนไป จนมีการกล่าวว่า สาเหตุที่เกิดกระแสสนับสนุนนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าก็เพราะคนเบื่อหน่ายกับการผลักดันรัฐสวัสดิการแล้ว

Universal Basic Income จะยังช่วยตอบโจทย์ปัญหาการเข้ามาของ AI ด้วย

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า คือเงินให้เปล่า ที่ไม่ใช่สวัสดิการ

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าคือการให้เงินรายเดือนแก่ประชาชนทุกคน (universal) โดยไม่มีเงื่อนไข (unconditional) เงินก้อนนี้มีค่าสูงกว่าเส้นความยากจน (poverty line) หรือระดับรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพในประเทศนั้นๆ เป็นรายได้ที่ทำให้คนๆ หนึ่งสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เงินดังกล่าวไม่มากพอที่จะทำให้รวยโดยไม่ต้องทำงาน 

เงินให้เปล่านี้ต่างจากสวัสดิการตรงที่สวัสดิการจะกำหนดเงื่อนไขของผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์และกำหนดว่าคนประเภทไหนสมควรได้รับการช่วยเหลืออะไรจากรัฐบ้าง ตัวอย่างเช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของไทยกำหนดว่า ผู้มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ 300 บาท หากมีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี เงินช่วยเหลือจะลดลงเหลือ 200 บาท และเงินนี้สามารถซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านธงฟ้าประชารัฐเท่านั้น ไม่สามารถกดเป็นเงินสดเพื่อไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้ หรือนโยบายฟู้ดสแตมป์ (Food Stamp) ในสหรัฐอเมริกาที่ช่วยเหลือประชาชนรายได้น้อยเพื่อซื้ออาหาร โดยกำหนดว่าอาหารประเภทใดบ้างที่อยู่ในโครงการ เช่น ประชาชนสามารถซื้อวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารเองได้ แต่ไม่สามารถซื้ออาหารปรุงสุกได้

ในทางกลับกัน รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าคือการให้เงินแก่ประชาชนไปทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งหรือใช้คืนให้รัฐ นั่นหมายความว่า รัฐให้อิสรภาพแก่ประชาชนในระดับที่เพียงพอให้แต่ละคนแก้ไขปัญหาและใช้ชีวิตตามความฝันของตนเอง แนวคิดเบื้องหลัง UBI คือการมองว่ามนุษย์แต่ละคนต้องเผชิญอุปสรรคในชีวิตและมีวิธีจัดการกับปัญหาที่แตกต่างกัน รวมถึงมีความต้องการที่ไม่เหมือนกันด้วย ฝ่ายที่สนับสนุนนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจึงทำงานอยู่บนความคิดที่ว่า “ผู้กำหนดนโยบายไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วประชาชนต้องการอะไร แต่เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับมัน ถ้าพวกเขามีความสามารถ” ตัวอย่างเช่น ในเยอรมัน 3 ใน 4 ของผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เลือกที่จะรับเงินสดมากกว่าส่งเด็กหรือผู้สูงอายุไปอยู่ในความดูแลของพี่เลี้ยงหรือพยาบาล เพราะคนในครอบครัวสามารถดูแลเองได้ การให้เงินรายเดือนไปจัดการเองทำให้ประชาชนเอาเงินไปซื้ออาหารและของใช้จำเป็นสำหรับคนกลุ่มนี้แทน การแจกเงินจึงมีความยืดหยุ่นและแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า

UBI คือการใช้เงินสู้กับความไม่มั่นคงภายใต้การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (gig economy)

ปัจจุบันการจ้างงานมีลักษณะยืดหยุ่นในชั่วโมงการทำงานมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์สังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนต้องการอิสระและเลือกชั่วโมงการทำงานได้เองเพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อน จัดการธุระส่วนตัว ดูแลครอบครัว หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากงานหลัก นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ได้ รวมทั้งความต้องการลดรายจ่ายของบริษัท และการจ้างงานในลักษณะนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะบริษัทสามารถกำหนดขนาดของงานต่อการจ้าง 1 ครั้งได้ ทำให้จำนวนฟรีแลนซ์ (Freelance) เพิ่มสูงขึ้น และเกิดงานรับจ้างจบเป็นครั้ง หรือที่เรียกว่า “เศรษฐกิจแบบกิ๊ก” ซึ่งเป็นระบบการทำงานที่ทำจากที่ใดก็ได้ที่มีแพลตฟอร์มเป็นสื่อกลางระหว่างผู้เสนองานและผู้รับทำงาน เช่น Upwork และ PeoplePerHour ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจ้างฟรีแลนซ์ออนไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นบริการส่งอาหารอย่าง Lineman และบริการจ้างพนักงานทำความสะอาดอย่าง BeNeat

ลูกจ้างในลักษณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก โดยในสหรัฐอเมริกามีผลสำรวจจากสหภาพลูกจ้างอิสระ (Freelancers Union) และบริษัทอัพเวิร์ค (Upwork) พบว่า ในปี 2018 สหรัฐอเมริกามีฟรีแลนซ์ถึง 56.7 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.7 ล้านคนใน 5 ปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่า 50.9% ของแรงงานสหรัฐฯ จะกลายเป็นฟรีแลนซ์ภายในปี 2027 ส่วนประเทศไทยก็มีจำนวนฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ในปี 2018 ไทยมีจำนวนฟรีแลนซ์ประมาณ 1.9 ล้านคน  และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 3.9% ต่อปี

การจ้างงานเช่นนี้แม้จะให้อิสระแก่ลูกจ้างและเกิดการบริหารจัดการเวลาได้เองจนเกิดประโยชน์สูงสุด แต่งานวิจัยหลายแห่งกลับพบว่างานเหล่านี้ส่งผลเสียต่อลูกจ้างเอง เพราะลูกจ้างต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เอง ขาดความมั่นคงในอาชีพ ขาดสวัสดิการ ขาดการคุ้มครองทางกฎหมาย และขาดโอกาสในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพเพื่อต่อรองกับนายจ้าง นอกจากนี้ การคำนวณค่าจ้างยังไม่ครอบคลุมค่าพัฒนาทักษะและการให้เวลาว่างเพื่อพัฒนาตัวเอง ดังนั้น แม้งานเหล่านี้จะมีความยืดหยุ่นในชั่วโมงการทำงานสูง ยิ่งทำมากก็ยิ่งได้เงินมาก แต่ลูกจ้างกลุ่มนี้กลับไม่มีสิทธิที่จะทำงาน (the right to work) อย่างแท้จริง เพราะสิทธิที่จะทำงานคือการมีงานทำพร้อมๆ กับมีเวลาว่างเพื่อพักผ่อนและพัฒนาศักยภาพของตนเองโดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ การทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ได้ชั่วโมงการทำงานเยอะๆ แลกกับค่าตอบแทนที่เพียงพอจะดำรงชีวิตได้ จึงไม่ใช่ชีวิตการทำงานที่ดี และไม่ใช่การจ้างงานที่ยั่งยืน

Guy Standing นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ และผู้ก่อตั้งเครือข่ายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือ “Basic Income Earth Network” (BIEN) เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “The Precariat” หรือชนชั้นที่ขาดความมั่นคงในชีวิต เป็นกลุ่มที่ไม่อยู่ภายใต้การดูแลตามกฎหมาย และไม่ได้รับสวัสดิการจากทั้งรัฐและบริษัทเนื่องจากเป็นลูกจ้างนอกระบบ ไม่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง บอกไม่ได้ว่าตนเป็นใคร ทำอาชีพอะไร และมีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่

การแจกเงินให้เปล่าจึงช่วยให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจในการตัดสินใจที่เป็นอิสระมากขึ้น กล่าวคือ หากประชาชนรู้ว่าจะมีเงินจำนวนหนึ่งเข้ามาในบัญชีทุกเดือน โดยที่พวกเขาไม่ต้องใช้เงินคืน การตัดสินใจของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ตัดสินใจลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อนและพัฒนาตัวเองมากขึ้น หรือตัดสินใจปฏิเสธการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม หากเดือนไหนรับได้งานน้อยลง เพราะมีแต่ข้อเสนอแย่ๆ เข้ามา หรือต้องการหยุดทำงานสักพัก พวกเขาก็ยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้แล้ว รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอาจเป็นเงินทุนให้คนตัวเล็กตัวน้อยสร้างธุรกิจของตัวเอง

Universal Basic Income เป็นการสร้างความอุ่นใจในชีวิต ไม่ต้องถูกต้อนให้จนมุมจนต้องทำงานทุกอย่าง แม้ไม่อยากทำ

ปัญหาคือรัฐต้องให้รายได้พื้นฐานต่อเดือนแก่ประชาชนเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ

อย่างไรก็ดี การยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวไม่เคยเกิดขึ้นจริง การแจกรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าและปล่อยให้เงินทำหน้าที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชนอาจเป็นเพียงแค่ยูโทเปียเท่านั้น UBI ยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน โดยเฉพาะรายงานจากทีมวิจัยของ New Economics Foundation (NEF) ในอังกฤษ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินให้เปล่าตั้งข้อโต้แย้งที่น่าสนใจว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอาจจะแก้ปัญหาได้จริง แต่ “เงินรายเดือนที่รัฐสามารถจ่ายให้ประชาชนได้อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และรัฐก็ไม่สามารถจ่ายเงินรายเดือนที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้ประชาชนได้” ทั้งนี้ รัฐต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาจัดการด้านการรักษาพยาบาลและการศึกษาให้มีความเท่าเทียม อันเป็นหน้าที่ที่ไม่อาจละเลยได้ หากมีเงินให้เปล่าอย่างเดียว แต่การรักษาพยาบาลและการศึกษาที่ดียังคงมีราคาแพงและเข้าถึงยาก สังคมก็อาจมีความเหลื่อมล้ำอยู่

นอกจากนี้ การใช้เส้นแบ่งความยากจนเป็นเกณฑ์ก็ดูเหมือนจะมีปัญหา เพราะตัวชี้วัดนี้ถูกวิจารณ์ว่าการมีรายได้เหนือเส้นความยากจนไม่ได้การันตีว่าคนๆ นั้นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอไป ตัวอย่างเช่น เส้นแบ่งความยากจนเฉลี่ยทั้งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 2710 บาท หากใช้นโยบายนี้ คนไทยอาจได้เงินช่วยเหลือจากรัฐเดือนละ 3,000 – 3,100 บาทเท่านั้น

ทีมวิจัยของ NEF จึงเสนอให้ใช้ “Universal Basic Services” (UBS) หรือสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งก็คือการจ่ายเงินในรูปของสินค้าและบริการ เช่น รถโดยสารสาธารณะฟรี ค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตฟรี เงินช่วยเหลือค่าบ้าน ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำได้จริงมากกว่า และนำเงินส่วนอื่นไปพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้คนเหล่านี้เป็นแรงงานที่มีทักษะ และมีความมั่นคงด้านรายได้  

ผู้สนับสนุนแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจึงจำเป็นต้องทำการทดลองเพิ่มขึ้นเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ เพราะนอกจากจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อแจกจ่ายให้ผู้คนแล้ว ยังต้องเผชิญกับความท้าทายว่าพวกเขาจะสามารถใช้จ่ายเงินเหล่านั้นได้อย่างคุ้มค่าจริงไหม และการให้รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจะดีกว่าสวัสดิการถ้วนหน้าที่รัฐเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่า่งไร  สุดท้ายจึงต้องย้อนกลับมาตอบคำถามที่ถามไปตอนต้นว่า หากรัฐแจกเงินแก่ทุกคนเดือนละ 3,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข จะมั่นใจได้อย่างไรว่าประชาชนจะเอาเงินก้อนนั้นไปเป็นทุนเรียนหนังสือ เลือกรับงานจากบริษัทที่มีการจ้างงานอย่างเป็นธรรม หรือแม้แต่เลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์? หรือถ้าหากคนกลุ่มหนึ่งนำเงินก้อนนั้นไปซื้อรถยนต์ส่วนตัวเพื่อพาสมาชิกในครอบครัวไปพักผ่อนในวันหยุด คุณคิดว่านโยบายนี้ประสบความสำเร็จไหม?

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า