รายงานฉบับใหม่ของสหประชาชาติชี้ว่า คนทั่วไปเกือบร้อยละ 90 มีอคติต่อผู้หญิง แม้จะมีความพยายามจากหลายฝ่ายที่ต้องการลดช่องว่างของความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่กลับพบว่า ผู้ชาย ร้อยละ 91 และผู้หญิง ร้อยละ 86 เคยมีความรู้สึกอคติอย่างน้อย 1 ครั้งต่อผู้หญิง ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ความรุนแรง หรือแม้แต่ด้านสิทธิในการเจริญพันธุ์
รายงาน “บรรทัดฐานทางสังคมของความเป็นหญิงและชาย” ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจาก 75 ประเทศ ที่มีประชากรคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรโลก และพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าผู้ชายเป็นผู้นำทางการเมืองที่เหนือกว่าผู้หญิง และมากกว่าร้อยละ 40 เชื่อว่าผู้ชายเหมาะที่จะเป็นผู้บริหารขององค์กรด้านธุรกิจมากกว่า ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 ของทั้งผู้ชายและผู้หญิง เชื่อว่าการทุบตีภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
ส่วนในประเทศไทย พบว่า สัดส่วนผู้ที่เคยมีความรู้สึกอคติอย่างน้อย 1 ครั้งต่อผู้หญิง อยู่ที่ร้อยละ 95.47 สัดส่วนผู้ที่เคยมีความรู้สึกอคติอย่างน้อย 2 ครั้ง อยู่ที่ร้อยละ 74.50 และผู้ที่ไม่เคยมีอคติอยู่ที่ร้อยละ 4.53 รายงานยังระบุว่า “ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง”
UNDP ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของชาติต่างๆ ออกนโยบายและมาตรการทางกฎหมาย เพื่อรับมือกับความมีอคติเหล่านี้ นายเปโดร คอนซีโก ผู้อำนวยการสำนักงานรายงานการพัฒนามนุษย์ UNDP กล่าวว่า รายงานนี้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของอคติแบบเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จะมีความคืบหน้าอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ช่องว่างระหว่างเพศยังคงปรากฏอย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยในปัจจุบันนี้ การต่อสู้เกี่ยวกับช่องว่างทางเพศ คือการต่อสู้กับความมีอคติและความลำเอียง
ตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงจากข้อมูล 2 ชุด ที่เก็บรวมรวมได้จากเกือบ 100 ประเทศ ผ่านรายงานการสำรวจค่านิยมโลก (World Values Survey) ที่ตรวจสอบค่านิยมที่กำลังเปลี่ยนไป และผลกระทบของมันที่มีต่อชีวิตในทางสังคมและการเมือง ตัวเลขดังกล่าวครอบคลุมระหว่างช่วงปี 2005-2009 และ 2010-2014
จากประเทศที่ทำการศึกษา 75 ประเทศ มีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีอคติต่อผู้หญิง ขณะที่มากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรในประเทศอันดอร์รา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ไม่มีความคิดด้านอคติทางเพศ
โดยสวีเดน เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่รวมถึงแอฟริกาใต้ อินเดีย รวันดา และบราซิล พบว่าสัดส่วนของผู้ที่เคยมีความรู้สึกอคติต่อผู้หญิงอย่างน้อย 1 ครั้ง เพิ่มขึ้นในช่วง 9 ปีของการรวบรวมข้อมูล ขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เคยมีความรู้สึกอคติต่อผู้หญิงอย่างน้อย 1 ครั้ง
ในประเทศซิมบับเว พบว่ามีสัดส่วนผู้ที่มีอคติต่อผู้หญิงสูงที่สุดในโลก โดยมีประชากรเพียงร้อยละ 0.27 ที่พบว่าไม่มีความรู้สึกอคติต่อผู้หญิงเลยแม้แต่ครั้งเดียว ขณะที่อันดอร์รา พบว่าผู้ที่ไม่มีอคติต่อผู้หญิง มีสัดส่วนที่ร้อยละ 72 ซึ่งนับว่าสูงที่สุด และร้อยละ 28 ของผู้คนทั่วโลกคิดว่าการที่ผู้ชายทุบตีภรรยาของตนเป็นเรื่องที่เหมาะสมดีแล้ว
โดยในซิมบับเว ประชาชนร้อยละ 96 กล่าวว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นสิ่งที่รับได้ และด้วยตัวเลขเดียวกันนี้กล่าวว่า พวกเขาไม่สนับสนุนสิทธิในการเจริญพันธุ์ ส่วนในฟิลิปปินส์ สัดส่วนของผู้ที่ไม่สนับสนุนสิทธิในการเจริญพันธุ์ อยู่ที่ร้อยละ 91
ส่วนในประเด็นเรื่องการเป็นผู้นำทางการเมืองนั้น พบว่า ร้อยละ 55 ของประชาชนในจีน คิดว่าผู้ชายเหมาะที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองมากกว่า ส่วนร้อยละ 39 ของชาวอเมริกัน คิดว่าผู้ชายเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนในนิวซีแลนด์ ซึ่งปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง พบว่าร้อยละ 27 คิดว่าผู้ชายเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ
ขณะที่ในปัจจุบัน จำนวนผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ลดลงมากกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน โดยมีเพียงผู้นำประเทศที่เป็นผู้หญิงเพียง 10 คน จาก 193 ประเทศ ลดลงจาก 15 คน เมื่อปี 2014 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้หญิงที่นั่งในสภา พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในประเทศกลุ่มละตินอเมริกาและแคริบเบียน พบว่ามีสัดส่วนผู้หญิงที่นั่งในสภาสูงที่สุดถึง ร้อยละ 30 เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ร้อยละ 20.3 ส่วนประเทศในแถบเอเชียใต้ มีสัดส่วนต่ำสุดที่ร้อยละ 17
รายงานฉบับนี้ยังฉายภาพให้เห็นถึงสาเหตุที่ช่องว่างทางอำนาจขนาดใหญ่ ยังคงดำรงอยู่ในระบบเศรษฐกิจและการเมืองของโลก แม้จะมีความพยายามในการปิดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา และสาธารณสุข และการขจัดอุปสรรคทางกฎหมายและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่างเช่น ในตลาดแรงงานนั้น พบว่าผู้หญิงยังคงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาย และมีโอกาสที่จะได้ดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสน้อยกว่าชาย โดยพบว่า ร้อยละ 40 คิดว่าผู้ชายเป็นผู้บริหารได้ดีกว่าผู้หญิง และนั่นทำให้ผู้ชายมีสิทธิที่จะได้งานมากกว่าผู้หญิงในกรณีที่ตำแหน่งงานมีความขาดแคลน
นอกจากนั้น ในดัชนีตลาดหุ้นที่วัดประสิทธิภาพของหุ้นของ บริษัท ขนาดใหญ่ 500 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นในสหรัฐฯ หรือ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 พบว่า มีบริษัทที่มีซีอีโอเป็นผู้หญิงต่ำกว่าร้อยละ 6 ขณะที่ผู้หญิงทำงานคิดเป็นชั่วโมงมากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มว่าเป็นงานที่อาจไม่ได้รับค่าจ้าง