SHARE

คัดลอกแล้ว

ในขณะที่โควิด-19 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวลง ส่วนธุรกิจที่ยังเปิดอยู่หลายแห่งก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดโดยการลดจำนวนพนักงานลง เพราะสู้กับสถานการณ์ที่เลวร้ายไม่ไหว ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก

แต่ตัวเลขคนตกงานที่ว่า ยังไม่รวมถึงนักศึกษาจบใหม่หลายคนที่จบมาแล้วไม่มีงานทำ เพราะตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครมีน้อยลง

แม้สถานการณ์ที่หลายคนเห็นจะเป็นข่าวโรงงานปิดตัว พนักงานหลายบริษัทถูกเลิกจ้าง เด็กจบใหม่เดินเตะฝุ่น แต่ประเด็นคือ ทำไมตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยในไตรมาส 1 ปีนี้ กลับอยู่ในระดับต่ำที่ 2% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดมาแค่ 1% และจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นแค่ไม่ถึง 4 แสนคน

นำมาสู่คำถามว่า เป็นไปได้หรือที่จำนวนคนตกงานในช่วงโควิดจะไม่ถึงครึ่งล้าน ทำไมตัวเลขทางสถิติกับสถานการณ์ถึงดูสวนทางกันมากๆ สาเหตุมาจากอะไร? ลองมาค้นหาคำตอบกับ TODAYBizview กัน

[อัตราการว่างงานคืออะไร?]

ก่อนจะไปถึงสู่คำตอบของเรื่องนี้ อาจต้องมาทำความเข้าใจเรื่องอัตราการว่างงานกันก่อน

อัตราการว่างงาน (Unemployment rate) เป็นตัวเลขที่บอกว่า ในจำนวนคนที่สามารถทำงานได้ 100 คน มีคนว่างงานอยู่เท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น อัตราการว่างงาน 2% ของไทยในตอนนี้ หมายความว่า ในคนไทยที่พร้อมทำงาน 100 คน มีคนว่างงานเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น

โดยปกติแล้วอัตราการว่างงานเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว อัตราการว่างงานจะต่ำ และเมื่อเศรษฐกิจหดตัว อัตราการว่างงานจะสูง ทำให้มีการนำอัตราการว่างงานไปเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์เศรษฐกิจในหลายแง่มุม

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก ในปี 2561 แซงหน้าอันดับ 2-5 อย่างประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

ซึ่งดัชนีความทุกข์ยากดังกล่าว มีอัตราการว่างงานเป็นหนึ่งในเกณฑ์หลักในการคำนวณ และในปีนั้นอัตราการว่างงานของไทยก็ต่ำเป็นอันดับ 6 ของโลก จึงช่วยส่งให้ประเทศไทยได้อันดับ 1 มาครอง

แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้อัตราการว่างงานของไทยต่ำตลอด 10 ปี?

ก่อนอื่นอาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ว่าคนที่ออกจากงานประจำทุกคนจะถูกนับเป็นคนว่างงาน เพราะนิยามของคำว่า ‘คนว่างงาน’ ที่ใช้กันทั่วโลก คือ ผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าตกงานแล้วไปทำงานพาร์ทไทม์ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ยังถือว่าเป็นคนมีงานทำอยู่ และไม่เข้าเกณฑ์คนว่างงาน

ซึ่งถึงแม้ว่าไทยจะใช้เกณฑ์การคำนวณที่ใช้กันทั่วโลก แต่ก็ยังมีเรื่องของวิธีการสำรวจข้อมูลของแต่ละประเทศที่อาจแตกต่างกัน เช่น วิธีการสุ่มตัวอย่าง ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง และคำถามที่ใช้ในการสำรวจ เป็นต้น ทำให้อัตราการว่างงานของแต่ละประเทศอาจไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

ในกรณีของประเทศไทย หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อัตราการว่างงานของไทยต่ำ คือคนที่เกษียณอายุก่อนกำหนดที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคนกลุ่มนี้บางส่วนยังอยากทำงานอยู่ แต่พอหางานไม่ได้สักทีจึงเลิกหางาน

คนกลุ่มนี้คือแรงงานที่หมดกำลังใจหางาน (Discouraged Worker) ซึ่งจะไม่ถูกนับเป็นทั้งคนที่พร้อมจะทำงานและคนว่างงาน ทำให้อัตราการว่างงานที่ได้ต่ำกว่ากรณีที่รวมคนกลุ่มนี้เข้าไปด้วย

และภายใต้อัตราการว่างงานที่ต่ำมากของไทยนั้นได้ซ่อนปัญหาที่ร้ายแรงเอาไว้หลายอย่าง ได้แก่

1.แรงงานจำนวนมากมีงานที่ไม่มั่นคง

จากข้อมูลพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จึงเข้าไม่ถึงสวัสดิการหลายอย่างที่ควรจะได้ เช่น การคลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต เป็นต้น

ที่สำคัญคือแรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้รับเงินว่างงานในกรณีที่ตกงาน รวมถึงไม่ได้รับเงินเยียวยาสำหรับผู้ประกันตนของประกันสังคมในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอีกด้วย

โดยแรงงานกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่า 22 ล้านคน และครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานภาคเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย โดยจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า เกษตรกรมีรายได้จากภาคเกษตรเฉลี่ยเพียง 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

ดังนั้นแรงงานในภาคเกษตรจำนวนมากต้องไปหางานอื่นทำนอกภาคเกษตร เช่น งานรับจ้างทั่วไป งานก่อสร้าง ทำให้ 60% ของครัวเรือนเกษตรกรพึ่งพิงรายได้จากการรับจ้างนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่เข้าไม่ถึงชลประทาน และครัวเรือนที่ขาดทุนจากการทำเกษตร

ส่วนแรงงานอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมคือแรงงานในร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าปลีก แผงลอย โชห่วย และแผงขายของหน้าร้าน ซึ่งมีการแข่งขันสูงและรายได้ไม่แน่นอน

2.การว่างงานแฝง (underemployment)

การว่างงานแฝง คือการใช้แรงงานแบบที่ได้ประสิทธิภาพต่ำกว่าที่สามารถทำได้จริง ทั้งในเรื่องของเวลาทำงาน และความสามารถ

อย่างแรกคือด้านเวลา แรงงานในภาคเกษตรประมาณ 40% ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีเวลาการทำงานเฉลี่ยต่ำกว่าเวลาทำงานในภาคอื่น

และถึงแม้ว่าแรงงานส่วนนี้จะอยากทำงานเยอะขึ้นให้เต็มกำลังเพื่อหาเงินเพิ่ม แต่ลักษณะงานก็ไม่เอื้อให้ทำแบบนั้น และยากที่จะไปหางานอย่างอื่นทำ

ต่อมาคือด้านความสามารถ คือการทำงานได้ไม่เต็มความสามารถที่ตนเองมี โดย 10% ของแรงงานนอกภาคเกษตรได้รับค่าจ้างต่ำกว่าวุฒิการศึกษาเพราะทำงานไม่ตรงความสามารถ

ปัญหานี้เกิดขึ้นเยอะกับนักศึกษาปริญญาตรีจบใหม่ เพราะนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากมีวุฒิไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และมีทักษะในการทำงานต่ำกว่าความคาดหวังของนายจ้าง จึงทำให้ส่วนหนึ่งต้องยอมทำงานต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น

ซึ่งเห็นได้ชัดจากการศึกษาของอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าประมาณ 20% ของผู้จบปริญญาตรีอายุ 25 ปี มีรายได้ต่ำกว่าเงินเดือนระดับกลางของผู้จบการศึกษาระดับต่ำกว่า อย่างปวส. หรืออนุปริญญา

จากที่เล่ามาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถสะท้อนสภาพที่แท้จริงของตลาดแรงงานและปัญหาในระบบแรงงานไทยได้

โดยนอกจากอัตราการว่างงานแล้ว ยังมีตัวชี้วัดทางเลือกที่เราสามารถนำมาใช้ร่วมกันกับอัตราการว่างงานได้

ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่ตัวชี้วัดทางเลือก 5 ตัวชี้วัด พร้อมกับการเผยแพร่อัตราการว่างงาน หนึ่งในนั้นเป็นตัวชี้วัดที่นำแรงงานที่หมดกำลังใจหางาน (Discouraged Worker) มารวมคำนวณด้วย โดยในปัจจุบันแบบสำรวจของไทยยังไม่สามารถระบุจำนวนคนกลุ่มนี้ได้

อีกตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การนำคนทำงานพาร์ทไทม์ที่มีเวลาการทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และอยากเปลี่ยนมาทำงานประจำ มารวมกับคนว่างงานตามนิยามปกติและคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของคนที่พร้อมคนทำงานทั้งหมด เป็นการสะท้อนการว่างงานแฝงในกลุ่มคนที่ยังทำงานได้ไม่เต็มเวลา

นี่อาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้เราสามารถมองเห็นปัญหาที่มีอยู่ได้ชัดเจนขึ้นและนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาในอนาคต

บทความโดย ไอริส

ที่มา:

https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=638&language=th

https://data.worldbank.org/indicator/SL.UEM.TOTL.ZS?most_recent_value_desc=true

https://workpointtoday.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A-1-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2566170

https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=635&language=th

https://www.bot.or.th/English/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/MPR/BOX_MRP/BOXMPR_EN_March2019_01.pdf

https://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_615590/lang–en/index.htm

https://www.prachachat.net/politics/news-718462

https://www.bls.gov/charts/employment-situation/alternative-measures-of-labor-underutilization.htm

https://www.pier.or.th/?abridged=%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647599

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า