รัสเซียถูกขับออกจาก UNHRC หลังชาติสมาชิกลงมติเห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ขณะที่ไทยงดออกเสียง
วันที่ 7 เม.ย. 2565 สมัชชาสหประชาชาติตัดสินใจลงมติขับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) จากกรณีที่มีรายงานว่ากองทัพรัสเซียได้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการบุกรุกยูเครน
หลังจากที่ประชุมได้เปิดให้ชาติสมาชิกลงมติออกเสียง ผลปรากฎว่ามี 93 ชาติที่เห็นชอบ 24 ชาติคัดค้าน และอีก 58 ชาติงดออกเสียง
มติดังกล่าวต้องการเสียงสนับสนุนเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของชาติสมาชิกที่ลงคะแนน ‘เห็นชอบ’ และ ‘ไม่เห็นชอบ’ ทั้งหมด โดยไม่นับชาติที่ไม่ลงคะแนนและงดออกเสียง ซึ่งในกรณีนี้คือ 117 ชาติ เท่ากับว่าต้องการคะแนนอย่างน้อย 78 เสียงในการผ่านมติ
ฉะนั้น เมื่อมีชาติที่ออกเสียงเห็นชอบ 93 ชาติ ส่งผลให้ที่ประชุมมีการรับรองมติในการระงับความเป็นสมาชิกของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
โดยในการลงมติครั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 58 ชาติที่ตัดสินใจงดออกเสียง ร่วมกับชาติอาเซียนอื่นๆ อย่างกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์
ภายหลังจากการลงมติ เกนนาดี คุซมิน รองเอกอัครราชทูตผู้แทนรัสเซียประจำสหประชาชาติ เปิดเผยว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและได้รับแรงบันดาลใจจากทางการเมือง และประกาศว่ารัสเซียตัดสินใจลาออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
เซอร์เก คิสลิตสยา เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรยูเครนประจำสหประชาชาติระบุว่า “คุณยื่นใบลาออกหลังโดนไล่ออกไปแล้วไม่ได้”
ขณะที่ ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐประจำสหประชาติ ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอลงมติในครั้งนี้ กล่าวถึงผลที่ออกมาว่า เป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนว่า ความเจ็บปวดของเหยื่อและผู้รอดชีวิตจะไม่ถูกเพิกเฉย