SHARE

คัดลอกแล้ว

เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย เยี่ยมชมโรงเรียนใน จ.เชียงใหม่ ที่เปิดรับเด็กข้ามชาติเข้ามาศึกษา ชี้ กฎหมายไทยเปิดโอกาสให้เด็กข้ามชาติเข้ามาศึกษาได้ทำให้สถานการณ์เด็กกลุ่มนี้ดีขึ้น แต่เชื่อว่ายังมีเด็กข้ามชาติอีกกว่าครึ่งที่ไม่มีโอกาสได้เรียน หรือต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะความจำเป็นด้านอาชีพของพ่อแม่

วันที่ 22 ส.ค. 62 องค์การยูนิเซฟ และเอกอัครราชทูต สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ลงพื้นที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเยี่ยมโรงเรียน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านบวกครกน้อย ใน อ.เมือง และโรงเรียนบ้านป่าบง อ.เชียงดาว

โดยได้มีการมอบยานพาหนะ สำหรับใช้รับส่งนักเรียนให้กับ โรงเรียนบ้านบวกครกน้อย ที่มีเด็กเดินทางจากศูนย์การเรียนรู้เคลื่อนที่วัดป่าเป้า ซึ่งจุดเด่นของโรงเรียนนี้ คือเด็กกว่าร้อยละ 70 เป็นเด็กข้ามชาติ ที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

ดำรง มาตี๋ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบวกครกน้อย

คะแนน O-NET เฉลี่ยโรงเรียนสูงกว่าระดับประเทศ หลังเด็กข้ามชาตเข้าเรียน

นายดำรง มาตี๋ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบวกครกน้อย และศูนย์การเรียนรู้เคลื่อนที่วัดป่าเป้า กล่าวว่า ทั้งโรงเรียนทั้ง 2 แห่งนี้ บริหารจัดการร่วมกัน วัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กๆ ร่วมกัน โดยพบว่าหลังจากที่โรงเรียนรับเด็กข้ามชาติเข้ามาศึกษา ตั้งแต่ปี 2552 ผลการเรียนเด็กๆ ก็ดีขึ้น โดยเฉพาะปีการศึกษาล่าสุดพบว่าผลการสอบ O-NET ของโรงเรียนสูงขึ้น โดยพบว่าเด็กบางคนคะแนนเต็ม 100 บางคนเกือบเต็ม และค่าเฉลี่ยผลสอบสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าเด็กข้ามชาติ มีความขยันและตั้งใจที่จะเรียนหนังสือ ด้วยปัจจัยทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ ที่อยากให้ตัวเองและครอบครัวหลุดพ้นจากความยากลำบาก

โดยผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า เด็กข้ามชาติส่วนใหญ่ที่มาเรียน โรงเรียนจะไม่ได้แบ่งระดับชั้นตามช่วงอายุ แต่จะให้เริ่มเรียนทักษะพื้นฐานที่สำคัญๆ ก่อน เช่น เด็กบางคนไม่เคยเรียนหนักสือมาก่อน แต่อายุ 13 ปีแล้ว ก็จำเป็นจะต้องให้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ห้องพิเศษ ที่ครูจะต้องสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และค่อยสอบประเมินเพื่อข้ามชั้นเรียนต่อไป โดยพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีผลการเรียนในระดับที่ดีถึงดีมาก

ซึ่งในช่วงแรกที่เริ่มรับเด็กข้ามชาติเข้ามาเรียน อาจทำให้ผู้ปกครองเด็กไทยหลายคนกังวลว่าจะกระทบการเรียนต่อบุตรหลาน แต่จากผลการเรียนเฉลี่ยของโรงเรียนที่ดีแบบนี้ ก็ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยองค์กรยูนิเซฟ เข้ามาให้ความช่วยเหลือโรงเรียนโดยการให้เงินสำหรับจ้างครูสอนภาษาจีน อังกฤษ ทำให้เด็กๆ มีทักษะความสามารถได้เทียบเท่ากับเด็กไทย

โรงเรียนบ้านป่าบง กู้วิกฤติ เพื่อสร้างโอกาส

ส่วนโรงเรียนที่ 2 คือโรงเรียนบ้านป่าบง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่นี่เคยเกือบจะถูกปิด เพราะมีนักเรียนไม่ถึง 20 คน หลังเด็กๆ พื้นที่ที่เป็นเด็กไทย โตขึ้นและครอบครัวย้ายไปเรียนในเมือง ทางโรงเรียนจึงต้องกู้วิกฤต โดยการสร้างโอกาสให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ ที่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติ เริ่มจากการสำรวจ และพาเด็กๆ เหล่านี้เข้ามาเรียน ทำให้ปัจจุบันมีเด็กในโรงเรียนเกือบ 100 คน และโรงเรียนก็ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เหมือนที่อื่นแล้ว

นางสุดาภรณ์ วิทยา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าบง และนักเรียน

นางสุดาภรณ์ วิทยา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าบง เล่าว่า การพาเด็กๆ ที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติเข้ามาเรียนที่นี่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่า เด็กจะได้เรียนฟรี มีรถไฟรับส่งถึงที่พัก และต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างให้มีการสนับสนุนด้วย และเมื่อรับเด็กๆ เหล่านี้มาพบว่าเด็กมีความสนใจที่จะเรียนรู้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาษาไทย ที่ช่วยให้เขาสื่อสารกับคนอื่นได้รู้เรื่อง

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า เด็กทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน การศึกษา ซึ่งระบบการศึกษาไทยก็มีการจัดการศึกษาให้เด็กข้ามชาติ โดยให้เด็กๆ เข้ามาเรียนทุกปี โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. มีนักเรียนข้ามชาติกว่า 150,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของเด็กในระบบการศึกษาทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเด็กในศูนย์การเรียนขององค์กรไม่แสวงหากำไรตามชายแดนอีกกว่า 10,000 คน และยังมีเด็กข้ามชาติที่อยู่นอกระบบอีกราว 200,000 คน บางคนเคยได้เรียน แต่ก็ต้องออกกลางคัน เพราะต้องย้ายไปตามพ่อแม่ที่ส่วนใหญ่จะมีอาชีพกรรมกรก่อสร้าง ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

นายโธมัส กล่าวเพิ่มเติมว่า และจากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานทั้ง 2 โรงเรียน จะเห็นว่าเด็กข้ามชาติมีทักษะความสามารถทัดเทียมเด็กไทยได้ และการเรียนก็ทำให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้นจริง ยูนิเซฟ จะนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการทำงานร่วมกันด้านการศึกษาต่อไป และที่น่าชื่นชมคือ เราได้เห็นเด็กไทยและเด็กข้ามชาติสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต สหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย

ด้าน นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต สหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นไปเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น และแน่นอนว่าเด็กๆ ที่ต้องย้ายถิ่นฐานตามครอบครัว ก็ได้รับผลกระทบ บางครั้งเด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านต่างๆ ได้เลย ดังนั้นจึงขอชื่นชมในการช่วยเหลือเด็กๆ ด้านการศึกษา รวมทั้งการสนับสนุนเรื่องภาษา ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานสำคัญที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต สิ่งหนึ่งที่น่ากังวล คือเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าเรียน ที่เห็นตัวเลข 200,000 คน เชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงอาจจะมากกว่านั้น

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า