แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผ่าน 4 เกมส์แรกของฤดูกาล ด้วยผลงานชนะ 1 เสมอ 2 แพ้ 1 เก็บได้ 5 คะแนน
ถ้าตัดสินจาก 4 เกมส์แรกเราอาจจะพอมองได้ว่า
1) ปรัชญาการสร้างทีมกลับไปยุคเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
ถึงวันที่ 1 กันยายน 2562 ปิดตลาดซื้อขายนักเตะทีมปล่อยตัว
- โรเมลู ลูกากู
- อเล็กซิส ซานเชส
- คริส สมอลลิ่ง
- อันโตนิโอ วาเลนเซีย
- อันเดร์ เอร์เรร่า
สามนักเตะที่ได้มาใหม่
- แฮรี่ แมคไกวร์
- แดเนียล เจมส์
- แอรอน วาน-บิสซาก้า
ทั้งสามคนถือเป็นดาวรุ่งในเกาะอังกฤษทั้งหมด (อังกฤษ 2, เวลส์ 1)
การตัดสินใจแบบนี้เป็นอันชัดเจนว่าทิศทางของทีมต้องการสร้างทีมจาก นักเตะเยาวชน นักเตะอังกฤษ และนักเตะที่ต้องการเล่นให้กับทีม ซึ่งแน่นอนทีมก็จะไม่ปฏิเสธการซื้อนักเตะดัง ซูเปอร์สตาร์ แต่จะเฝ้ารอเมื่อเจอนักเตะที่เหมาะสมเท่านั้น อย่างเช่นในอดีตการที่ทีมได้ รุด ฟาน นิสเตลรอย หรือ ฆวน เซบาสเตียน เวรอน มาร่วมทีม (รายหลังแม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ถือเป็นซูเปอร์สตาร์ ณ เวลานั้น)
ทีมต้องการให้นักเตะในเกาะอังกฤษ และเด็กปั้นสโมสรเป็นแกนหลักของทีม เจสซี่ ลินการ์ด มาร์คัส แรชฟอร์ด แดเนียล เจมส์ สก็อตต์ แมคโทมิเนย์ อารอน วาน-บิสซาก้า และ แฮรี่ แมคไกวร์ นักเตะชุดนี้น่าจะเป็นกำลังหลักของทีม โดยจะหาตัวจากต่างแดนมาเสริมในตำแหน่งที่ขาดหาย
ปรัชญาการสร้างทีมแบบนี้จะคล้ายกับยุคสมัยของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่มีแกนหลักคือ ไรอัน กิ๊กส์ พอล สโคลส์ ฟิลและแกรี่ เนวิลล์ นิกกี้ บัตต์ ดาร์เร็น เฟลทเชอร์ เป็นแกนของทีม ก่อนจะเสริมด้วยนักเตะดังระดับโลก เช่น คริสเตียโน่ โรนัลโด้ นิสเตลรอย หรือ โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ย์

พอล ป็อกบา ผู้เล่นที่ควรจะเป็นกำลังสำคัญ แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเขาจะอยู่กับทีมไปอีกนานแค่ไหน
2) คุณภาพของนักเตะ-ผู้จัดการทีม ยังไม่ดีพอ
วิธีการสร้างทีมเหมือนยุคเซอร์อเล็กซ์ แต่ในทางกลับกัน คำถามคือคุณภาพของนักเตะแต่ละคนเท่ากันหรือไม่ ในเกมส์รุก แรชฟอร์ด กับ เจมส์ จะเก่งเท่ากิ๊กส์ไหม กองกลาง แมคโทมิเนย์ เก่งเท่าบัตต์ไหม อันนี้มองข้ามสโคลส์ไปก่อนเลยนะ ส่วนกองหลัง แมคไกวร์ และ วาน-บิสซาก้า อาจจะพอฝากความหวังเอาไว้ได้บ้าง
กึ๋นของผู้จัดการทีม โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ถูกวิจารณ์ในนัดเสมอวูล์ฟว่าเปลี่ยนตัวช้าไป นัดแพ้พาเลซว่าผิดพลาดในการส่ง เจสซี่ ลินการ์ด ลงมาเป็นตัวจริงและทำอะไรไม่เป็นท่า นัดเสมอเซาธ์แฮมป์ตันว่าเปลี่ยนพลาด 3 นัดนี้ อาจมองได้ว่าเป็นความผิดพลาดในฐานะกุนซือที่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์สูงเท่าเซอร์อเล็กซ์
แต่กระนั้นก็เถิด แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุครุ่งเรือง มีเซอร์อเล็กซ์เป็นมันสมองที่สำคัญ นักเตะต่อให้เปลี่ยนผ่านไปกี่ชุด มีผู้เล่นบาดเจ็บ ติดโทษแบนอย่างไร กุนซือคนนี้ก็ยังมีกึ๋นที่อัจฉริยะแก้เกมส์ให้กับทีมได้เสมอ
โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ประสบความสำเร็จสูงสุดแค่แชมป์ลีกนอร์เวย์ แถมยังเคยพาคาร์ดิฟฟ์ตกชั้นอย่างไม่เป็นท่าอีกด้วย แฟนๆ ปีศาจแดงแม้จะรักโซลชา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอดทนกับเขาได้อีกนานแค่ไหน ถ้าทีมยังไม่มีความสำเร็จ หรือพัฒนาการที่เป็นชิ้นเป็นอัน

ยาป สตัม หนึ่งในกองหลังระดับโลกที่ทีมซื้อมาเสริมนักเตะแกนหลัก
3) ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปีศาจแดงไม่ใช่มหาอำนาจอีกต่อไปแล้ว
ในพรีเมียร์ลีกตอนนี้ ดูเหมือนจะมีแมนเชสเตอร์ ซิตี้เพียงทีมเดียวที่ทุ่มเงินซื้อนักเตะได้อย่างเด็ดขาดชัดเจน นอกจากนั้นทุกทีมต่างต้องบริหารเงินทุนของตนเองทั้งนั้น ลิเวอร์พูลที่สร้างทีมมาเบียดซิตี้ได้ก็ใช้นักเตะเยาวชนและซื้อตัวมาจากทีมกลางๆ หลายคน
ในอดีตปีศาจแดงสามารถทุ่มซื้อนักเตะที่ดีที่สุดในลีก ขอแค่ไม่ได้เป็นทีมระดับเดียวกันก็พอ เช่น การซื้อ ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ ศูนย์หน้าที่ดีที่สุดของสเปอร์สในเวลานั้น ซึ่งถ้าเป็นตอนนี้ ปีศาจแดงอยากซื้อ แฮรี่ เคน ผู้เล่นสถานะเดียวกัน มันก็จะเป็นไปได้ยากมาก
เอาแค่การซื้อกองหลังจากทีมอย่างเลสเตอร์ หรือคริสตัล พาเลซ ซึ่งในอดีตน่าจะเป็นเรื่องหมู ไม่ยากอะไร แต่ครั้งนี้ทีมต้องทุ่มเงินรวมกันกว่า 130 ล้านปอนด์กว่าจะได้แมคไกวร์ และวาน-บิสซาก้ามา
โดยรวมแล้ว นี่ถือเป็นรุ่งอรุณใหม่ของทีม กับทิศทางการวางแผนทีม ที่เปลี่ยนจากการซื้อนักเตะดังแต่ล้มเหลว ทั้ง ราดาเมล ฟัลเกา อังเคล ดิ มาเรีย หรือ อเล็กซิส ซานเชส มาเป็นการปั้นเยาวชน และใช้ผู้เล่นจากเกาะอังกฤษ รูปแบบการเล่นก็ใช้การโต้กลับ ที่พยายามจะดุดัน เหมือนในอดีต ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของโซลชา แต่คำถามยังคงมีอยู่ว่าเขาจะมีเวลาในการสร้างทีมมากแค่ไหน โอกาสที่แฟนบอลและบอร์ดจะให้เขานั้นมีเยอะพอหรือไม่
บทความโดยทีมข่าวกีฬาเวิร์คพอยท์