เพิ่งผ่านวันหยุดยาวกันไปไม่นาน หลายคนต้องปรับเข้าโหมดการทำงานอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราอยู่ในยุคสมัยที่ ‘การทำงานหนัก’ เป็นเครื่องหมายของความสำเร็จและความทุ่มเท ส่วนการลาหยุดพัก เป็นเสมือนความผิดบาป ตรงกันข้ามกับความสำเร็จ
แต่เรื่องที่ว่ามานี้ อาจเป็นเพียงมายาคติ
บทความนี้จะพาไปสำรวจนโยบายของบริษัทยุคใหม่ ที่ถือได้ว่าเป็น Future of work หรืออนาคตของการทำงาน นั่นก็คือนโยบาย “ให้พนักงานลาได้…ไม่จำกัด”
บทความนี้ TODAY Bizview จะฉายให้เห็นภาพว่า ทำไมแนวคิด ‘ลาได้ไม่จำกัด’ ถึงส่งผลดีต่อทั้งองค์กร ต่อการทำงาน และตัวของพนักงานเอง
[กรณีศึกษาจาก Netflix นโยบายลางานได้ไม่จำกัด]
ถ้าพูดถึงนโยบายให้วันลาไม่จำกัด ตัวอย่างของบริษัทที่ทำเรื่องนี้ไว้ดีที่สุดคือ Netflix
หลายคน ถ้าไม่เคยได้ยินเรื่องราวของ Netflix มาก่อน อาจจะคิดว่า นโยบายวันลาไม่จำกัด ต้องทำร้ายองค์กรอย่างแน่นอน
แต่กลับกัน นโยบายนี้ไม่ได้ทำร้ายบริษัทแต่อย่างใด
ปัจจุบัน Netflix มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market cap) สูงถึง 2.6 แสนล้านดอลลาร์ เป็นบริษัทในตลาดที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 36 ของโลก
ที่สำคัญคือ หลากหลายความคิดสร้างสรรค์ที่ดี และมีประโยชน์ทางธุรกิจของ Netflix ก็ได้มาจากการที่บริษัทให้พนักงานได้ลาไปพักผ่อนนี่เอง เช่น รู้หรือไม่ว่า อัลกอริธึ่มของ Netflix ที่แนะนำคอนเทนต์ให้เราดูในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และหลายคนชอบมาก สิ่งนี้ได้มาจากไอเดียของพนักงานที่ขอลาพักร้อนไปนอนในกระท่อมน้ำแข็งอยู่หลายคืน
ในปี 2004 เป็นปีที่ Netflix เริ่มต้นทำนโยบายวันลาไม่จำกัด เปิดโอกาสให้พนักงานลางานได้อย่างอิสระ
แต่ที่มาของเรื่องนี้คือ ครั้งหนึ่ง พนักงานของ Netflix เสนอแนะว่า “ในบริษัทของเรา เราทำงานทางออนไลน์กันด้วยช่วงเวลาที่แตกต่างกันอยู่แล้ว มีหลายคนต้องทำงานวันหยุด ตอบอีเมลนอกเวลางาน ส่วนตอนกลางวัน เราก็มีหยุดพักบ้าง ไปใช้เวลาส่วนตัว … คือที่นี่เราไม่ได้มานั่งจดบันทึกกันอยู่แล้วนี่ว่า พนักงานทำงานไปแล้วกี่ชั่วโมงใน 1 วันหรือใน 1 สัปดาห์ คำถามคือ แล้วทำไมเราจะต้องมานั่งจดบันทึกว่า ปีนี้พนักงานลางานไปแล้วกี่วัน?”
เมื่อ Reed Hastings ซีอีโอของ Netflix ได้ยินแบบนี้ เขาก็เริ่มทดลองนโยบายลางานได้ไม่จำกัด โดยให้เหตุผลว่า “ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร สิ่งสำคัญของการทำงานจึงต้องวัดกันที่ผลงาน ไม่ใช่ระยะเวลา ผมไม่สนว่าพนักงานจะทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน เพราะสุดท้ายแล้วเราวัดกันที่ผลงานและประสิทธิภาพในการทำงาน”
“ที่นี่การทำงานหนักไม่ได้สำคัญอะไร เพราะผมไม่สนใจว่าใน 1 ปี พนักงานจะทำงาน 50 สัปดาห์ หรือ 48 สัปดาห์ ตราบเท่าที่งานดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร” ซีอีโอของ Netflix บอก

Reed Hastings ซีอีโอของ Netflix รูปจาก Twitter https://twitter.com/reedhastings
หลักการของนโยบายวันลาไม่จำกัดคือ Netflix เริ่มต้นจากคนระดับหัวหน้า-ผู้นำให้ทดลองทำก่อน เพราะเมื่อคนระดับบังคับบัญชากล้าทำตามนโยบายนี้ พนักงานในระดับปฏิบัติการก็จะกล้าทำตาม
ส่วนวิธีในการลางานได้ไม่จำกัด ถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นกฎที่ไร้กฎ เพราะให้ตกลงกันเองในแต่ละทีม ขอให้งานไม่เสียก็พอ
ข้อมูลจากคนวงในอย่าง ‘ปัณฑารีย์ สุคัมภีรานนท์’ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเน็ตฟลิกซ์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY ไว้ว่า “เรื่องที่ว่าพักร้อนได้กี่วัน ที่ Netflix ไม่มีกำหนดวันลาพักร้อน และพนักงานทุกคนก็สามารถลากี่วันก็ได้ตามต้องการ เพียงแค่ต้องสามารถกำหนดงานรับผิดชอบงานของตัวเองเรียบร้อยแล้วเสร็จ” และที่สำคัญคือ “การลาพักร้อนถือเป็นความรับผิดชอบต่อบริษัทเหมือนกันที่จะพักผ่อน เพื่อกลับมาทำงานอย่างเต็มที่ได้อีกครั้ง”
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อ Netflix ใช้นโยบายลางานไม่จำกัดไปเรื่อยๆ พบว่า มีผลดีมากมาย เพราะนอกจากอิสระที่ได้รับแล้ว หนึ่งในนั้นคือไอเดียดีๆ มักเกิดขึ้นเมื่อพนักงานได้ลางานไปพักสมอง
เพราะการไม่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
[สรุป]
เห็นกรณีศึกษาแบบนี้ เราอาจต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า วันลาไม่จำกัด ไม่ได้หมายความว่า ไม่ทำงาน
วันลาไม่จำกัด = การทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
วันลาไม่จำกัด = พนักงานได้มีเวลาเพิ่มความคิดสร้างสรรค์
วันลาไม่จำกัด = บริษัทไว้ใจพนักงาน เชื่อใจคนในองค์กร นำไปสู่วัฒนธรรมที่ดี
วันลาไม่จำกัด เป็นนโยบายที่มี ‘หัวใจ’ หรือ ‘พื้นฐาน’ ที่สำคัญที่สุดคือ บริษัทจะไม่มานั่งประเมินผลว่า ใน 1 วัน คุณจะใช้เวลาหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละกี่ชั่วโมง
นโยบายการทำงานแบบนี้ บอกเรื่องหนึ่งที่ชัดเจนมาก นั่นก็คือ บริษัทต้องการ “ผลของงาน” มากกว่า “เวลาในการทำงาน” จากพนักงาน
การเข้าสู่โลกของ Future of work บริษัทต้องวัดประสิทธิภาพของพนักงานที่ “ผลลัพธ์” ไม่ใช่นั่งนับจำนวนชั่วโมงในการทำงาน
ตราบใดที่พนักงานยังสามารถส่งต่องานที่ดีได้ ไม่ติดขัด แล้วบริษัทจะอยากรู้ไปทำไมว่าพนักงานลาไปแล้วกี่วันในรอบปี
โลกการทำงานได้เปลี่ยนไปแล้ว จากยุคโรงงาน ที่แรงงานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต โดยวัดผลจากชั่วโมงในการทำงาน
โลกวันนี้และในอนาคต คือยุคแห่งเศรษฐกิจความรู้ (knowledge economy) ซึ่งจุดตัดคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำมาหากิน ไม่ใช่แค่แรงกายอย่างที่เคยเป็นมาอย่างเดียวเท่านั้น
นโยบายลางานได้ไม่จำกัด จะค่อยๆ กลายเป็นอนาคตของการทำงาน หลายองค์กรที่ทำได้ จะเริ่มทำ บางแห่งอาจไปสุดขอบแบบ Netflix บางแห่งอาจหาจุดสมดุลที่เป็นสูตรของตัวเอง ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะตัวของแต่ละองค์กร เพราะในท้ายที่สุดแล้ว นโยบายแบบนี้นอกจากจะดีต่อองค์กร ต่อพนักงาน ยังจะดีต่อการดึงดูดคนเก่งๆ ในร่วมงานด้วยในอนาคต
แต่ก็แน่นอนว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะสามารถออกนโยบายลางานได้ไม่จำกัด ด้วยเหตุและข้อจำกัดอื่นๆ รวมไปถึงหากบริษัทใช้นโยบายนี้จริง ก็ย่อมต้องคาดหวัง Productivity หรือประสิทธิผลจากพนักงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
และที่สำคัญ หากองค์กรคิดจะทำเรื่องนี้ นอกจากด้านนโยบายแล้ว อาจต้องคิดคำนึงถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรร่วมด้วย เป็นต้นว่า ถ้าองค์กรอยู่ในสายงานที่ต้องการความสามารถทางกายภาพ การปรากฏตัวของพนักงานถือเป็นสิ่งจำเป็น การดำเนินนโยบายลางานได้ไม่จำกัด ก็จะเป็นไปได้ยาก…
ใครที่สนใจวัฒนธรรมการทำงานแบบ Netflix ติดตามได้ในคลิป “ไขวัฒนธรรม NO RULES RULES จากคนใน NETFLIX” https://youtu.be/RZdYa_9efZk
ตัวเลขมูลค่าบริษัท Netflix อิงตามราคาตลาด ณ วันที่ 5 ม.ค. 2565
อ้างอิง – INC, Entrepreneur, Yahoo, workpointTODAY 1, 2