‘ชัชชาติ’ แจง ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 59 บาท ไม่ใช่ตลอดสาย แต่เป็นส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่นั่งฟรี แต่วิ่งไม่ฟรี
กรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาท ทั้งที่ตอนหาเสียงระบุว่าจะค่าโดยสารจะเป็นไปได้ที่ 25-30 บาท นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ชี้แจงในวันนี้ว่า มันคนละเรื่องกัน ปัญหาคือตอนนี้ส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ไม่ได้เก็บเงิน แต่ไม่วิ่งฟรี ดังนั้นวันที่ไปพบกับทาง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก็ได้บอกว่าควรเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 59 บาท ซึ่งไม่ใช่ค่าโดยสารตลอดสายของรถไฟฟ้า แต่เป็นช่วงสั้นที่จะเก็บเงินมากประทังค่าเดินรถก่อน ซึ่งตอนนี้กำลังให้สรุปว่าจะต้องเก็บที่กี่บาท ขณะเดียวกัน ไม่ต้องการให้เกินค่าโดยสารที่เคยมีอยู่เพราะประชาชนเดือนร้อน
“ที่พูด 59 บาท ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับที่พูดไว้ตอนโน่น นี่คือระยะช่วงสั้นเพื่อแก้ปัญหา ส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ที่ไม่เคยเก็บเงินมาหลายปีแล้ว แต่ต้องจ้างเดินรถ นั่งฟรี แต่ไม่ใช่วิ่งฟรี เพราะต้องจ่ายเงินเดินรถตลอด หลานพันล้านบาทต่อปี เพราะฉะนั้น 59 บาท ไม่ได้เกี่ยวกับระยะยาวนะครับ อันนั้นระยะยาวต้องดูสัมปทาน หลังปี 72 อีกเรื่องหนึ่ง อันนี้คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่วิ่งฟรี ปรากฏว่าส่วนขยาย 2 เนี่ย มีคนนั่ง 27% ของทั้งเส้น หมายความว่าคนนั่งฟรีตอนนี้เยอะมาก วิ่งไปวิ่งกลับ จากคูคตมาถึงก่อนจตุจักร… ไม่เสียตังค์ ถามว่าผลคืออะไร ทุกคนต้องไปช่วยจ่ายตรงนี้ ภาษีเราทุกคนเอาไปช่วยจ่ายค่าเดินรถ กลายเป็นว่าพวกเราทุกคนถึงแม้ไม่ได้นั่งส่วนต่อขยาย 2 เราก็ช่วยจ่ายค่าเดินรถอยู่ ปัญหาที่บอก 59 บาทคือจะเก็บเงินส่วนนี้อย่างไร ขณะเดียวกันถ้าเราไปดูใต้ถนนพหลโยธินมอเตอร์ไซค์รับจ้างแถวนี้ก็เจ๊งหมด เพราะว่ารถไฟฟ้าวิ่งฟรียาวเลยใช่ไหม คนที่ประกอบรถสาธารณะข้างล่างก็ทำมาหากินไม่ได้ มันเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมไง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ อธิบายเพิ่มเติมถึงราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เคยพูดไว้ช่วงหาเสียง 25-30 บาท ว่า ไม่ใช่ราคาตลอดสาย แต่หมายถึงราคาค่าโดยสารเฉลี่ยที่คนนั่ง ซึ่งแต่ก่อนคือ 8 สถานี เมื่อใช้สูตรคำนวณ คือ 30 บาท ตอนนี้เราโดนค้ำคอด้วยสัญญากลาง 44 บาทที่อยู่ในไข่แดง ซึ่งอยู่ถึงปี 72 ดังนั้นเวลาพูดราคาค่าโดยสารอย่าพูดจากหัวถึงท้าย เพราะไม่มีใครนั่งจากคูคตไปปากน้ำหรอก ยกเว้นคนว่างงานที่นั่งเล่น เพราะฉะนั้นราคาสูงสุดไม่มีประโยชน์ แต่ก่อนที่คนเฉลี่ยทั่วไปนั่ง คือ 8 สถานี ตอนนี้ 11 สถานีแล้วคือคนนั่งยาว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ผู้ว่าฯ กทม.คาด 1 เดือนได้ข้อสรุปร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว