SHARE

คัดลอกแล้ว

ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มีคนรุ่นใหม่ เดินออกจากเส้นทางสาย ‘อาชีพครู’ แล้วสะท้อนว่า ‘ระบบ’ เป็นต้นเหตุสำคัญในการตัดสินใจ

ทว่า ประโยคเด็ดที่ ‘อดีตครูผู้ช่วย’ วัย 26 ปีคนนี้ ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า

“อย่าปล่อยให้งานเปลี่ยนเรา แต่เราควรเป็นคนเปลี่ยนงาน”

ได้กลายเป็นไวรัล เกิดประเด็นที่น่าสนใจสะท้อนความสำคัญของระบบที่เกี่ยวพันกับประสิทธิภาพการทำงาน และการรักษาบุคคลไว้ในองค์กรด้วย

(ภาพจาก FB : Bee Jantarakote)

workpointTODAY ได้พูดคุยกับเจ้าของป้ายที่กลายเป็นไวรัล (Viral) ชั่วข้ามคืน ‘บี’ หรือ สิรมาศ จันทรโคตร อดีตครูผู้ช่วย วัย 26 ปี ได้รับความสนใจในโลกออนไลน์ หลังจากปล่อย โปสเตอร์ประกาศ “ลาออก” ที่มีรูปแบบคล้ายกับป้ายในงานเกษียณอายุราชการของคนวัย 60 ปี เสียมากกว่า

แน่นอนว่าเหตุผลในการลาออกจากการเป็น ‘ครู’ ของ ‘บี’ จะไม่ต่างจากหลายๆ คนที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ แต่มุมมองที่ ‘บี’ ให้กับเราลึกซึ้ง เพราะได้มองเห็นว่า ‘ระบบ’ ที่กำลังพูดถึงนี้ มองเห็นตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียน นักศึกษา และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อก้าวเข้ามาเป็น ‘ครู’ เต็มตัว

(ภาพจาก FB : Bee Jantarakote)

‘บี’ เล่าประวัติโดยสังเขปว่า เรียนจบคณะศึกษาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตรศึกษา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นหลักสูตรเรียน 5 ปี จากนั้นได้บรรจุรับราชการ สังกัด กศน. ที่ จังหวัดศรีสะเกษ ทำงาน 1 เดือนก็ลาออก เพื่อมาบรรจุเข้าสังกัด สพฐ. ที่โรงเรียน ใน จ.ร้อยเอ็ด บ้านเกิดของตัวเอง โดยเป็นครู อยู่ทั้งหมด 1 ปี 5 เดือน

ส่วนเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกจากเส้นทางอาชีพครู ทั้งที่เป็นจุดมุ่งหมายในชีวิต

“ที่ลาออก เพราะตัวเราไม่เหมาะกับระบบที่เป็นอยู่ เมื่อเข้าไปสัมผัสเนื้องาน มันยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงจาก “ล่างขึ้นบน” ไปได้ เพราะว่าเราไม่ได้มีอำนาจที่จะทำให้อะไรเป็นไปตามที่เราหวัง เช่น เราเข้าไปเป็นครูเพื่อสอนหนังสือ พัฒนานักเรียน แต่ในความเป็นจริง เราจะได้รับภาระหน้าที่อื่นๆ เข้ามา ซึ่ง ณ ตรงนี้ เราเข้าใจว่าเป็นกระบวนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กร แต่เรามาดูถึง ค่านิยมองค์กร (Core Value) จริงๆ แล้ว ประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกัน คือ ไม่คุ้มกับการลงแรงของเราที่จะไปเสียกับเรื่องที่ผลลัพธ์ออกมาไม่ได้เป็นประโยชน์กับนักเรียน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของเรา หรือแม้แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับตัวเราเอง ที่จะได้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น เรามองว่าเสียเวลาสำหรับเรา”

“เราเป็นคนที่ต้องการจะเห็นตัวเองเก่งขึ้นหรือโตขึ้นจากเมื่อวาน แต่พอเราได้มาสะท้อนตัวเอง เราได้เห็นว่าตั้งแต่วันแรกที่เราบรรจุเป็นครู กับปัจจุบันที่เป็นอยู่ เรามองเห็นว่าเราดร็อปลง แทนที่ว่าเราจะเก่งขึ้น ไม่ว่าแพชชั่นในการทำงานก็ลด ความกระตือรือร้นก็ลด หรือแม้แต่ความสามารถในการถ่ายทอดให้นักเรียน ก็ถ่ายทอดได้ไม่เต็มที่ เพราะบางครั้งที่มีงานอื่นมาแทรก แล้วเราเกิดความเครียด มันก็ทำให้เราไม่ได้สามารถทุ่มเทงานที่เป็นงานหลักของเราได้จริงๆ แล้วเราก็เลยมองเห็นว่าระดับบริหาร ไม่ว่าจะบริหารเล็กหรือใหญ่ เขาไม่ได้สนับสนุนจุดมุ่งหมายที่เราต้องการโฟกัสที่เด็ก เห็นไม่ตรงกัน เราอยู่กับระบบ หรือวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่สอดคล้องกับตัวเรา มันไปด้วยกันไม่ได้ เลยขอเอาตัวเองออกมาดีกว่า”

ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. นั้น ‘บี’ บอกว่าเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึง ม.3  ในตอนนั้นครูบีได้รับมอบหมายให้สอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในนักเรียนระดับ ม.1- ม.3 ซึ่งการต้องสอนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยก็เป็นไปตามการตกลง ช่วยแบ่งเบาจากครูท่านอื่นด้วย ทั้งๆ ครูบี เรียนจบเอกคณิตศาสตร์ มาก็ตาม

เปิดความหมาย “อย่าปล่อยให้งานเปลี่ยนเรา แต่เราควรเป็นคนเปลี่ยนงาน”

“บี คิดว่าประโยคนี้ค่อนข้างครอบคลุมพอสมควร “อย่าปล่อยให้งานเปลี่ยนเรา…” ก็คือแรกเริ่มเดิมที ความตั้งใจของเราคือตัวงาน แต่สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กร เราถูกระบบกลืน ซึ่งที่บีอยากสื่อตรงนี้ และบีมีความเชื่ออีกอย่างว่า ถ้าเราสามารถทนกับอะไรแบบนี้กับความไม่ดี กับความแย่ๆ ของระบบได้ สัก 3 ปีเป็นอย่างน้อย เราจะเริ่มมีภูมิคุ้มกัน และเราจะเริ่มทนได้ บีเลยมองว่า บีจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นไม่ได้ จะปล่อยให้ระบบกลืนแบบนั้นไม่ได้ เพราะแค่เราเห็นว่าตัวเราดร็อบลงจากวันแรกที่เราทำงาน แค่ไม่กี่เดือน เราก็รู้สึกแย่แล้ว เราต้องการเซฟตัวเอง และอีกอย่างค่อนข้างมีผลกับความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เวลาที่เราเครียดกับงาน จะทำให้บางครั้งเราเอาความเป็นพิษ (toxic) ไปปล่อยกับคนรอบตัวเรา ซึ่งเรามองว่าเราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น และเราเห็นแล้วว่า เราคนเดียวจะไปเปลี่ยนระบบไม่ได้ ค่อนข้างเชื่อว่า ถ้าจะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนจาก “บนลงล่าง” ไม่ใช่ “ล่างขึ้นบน” ก็เลยเป็นคำที่ว่า “…แต่เราควรเป็นคนเปลี่ยนงาน”

(ภาพจาก FB : Bee Jantarakote)

ออกจาก “ครูในระบบ” มาเป็น “ครูในตัวตน”

งานหลังจากลาออกจากอาชีพครู ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 ‘บี’ มีโปรเจกต์ ทำหนังสือเสริมความรู้การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ อีกวิชาสุดหินของเด็กๆ หลายๆ คน ‘บี’ ตั้งใจเปิดเพจเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อว่า “คณิตนอกคอก” และไม่จำเป็นต้องเรียกว่าเป็นครูก็ได้ แต่งานของเราต่อจากนี้ยังเอาวิชาคณิตศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาถ่ายทอดสู่เด็กๆ ตามความตั้งใจตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนักศึกษา

“เราเห็นความไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลของระบบการศึกษาตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว มีหลายๆ เรื่องที่เรารู้สึกว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ พอเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ได้เรียนที่เป็นนวัตกรรมจากประเทศญี่ปุ่น ที่เขาพัฒนาแล้ว เราเห็นว่า ที่ๆ เขาพัฒนาแล้วทำกันอย่างไร เราเริ่มมีความหวังกับสิ่งที่เราเลือกเรียนว่า ที่เราเลือกมาเรียนครูมันยังมีหวังนะ แต่พอมาทำหน้าที่ครูจริงๆ เมื่อเปลี่ยนจากบทบาทการเป็นนักเรียน นักศึกษา มาเป็น ครู ยิ่งทำให้เราเห็นชัดขึ้นกว่าเดิมว่า ปัญหา มันฝังราก”

“คิดว่ามันเกิดจากแนวคิดของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยยอมรับปัญหาว่าเป็นปัญหา แค่ประเด็นนี้ก็ไปต่อยากแล้ว คือเราจะชอบเอาปัญหาซุกไว้ใต้พรม มันจะมีวัฒนธรรม เช่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น และสิ่งที่เป็นมาไม่ใช่จะถูกต้องเสมอไป เพราะสิ่งที่เราไปเรียนรู้มาจากคนที่เขาพัฒนากว่าเรา ทำให้มองเห็นว่า สาเหตุนี้คือทำให้เราไม่พัฒนาเหมือนเขา เลยคิดว่าไม่เกี่ยวกันว่าเราจะอยู่ในงานนั้นมากน้อยแค่ไหน แต่มองว่าเราเห็นปัญหามากกว่าว่าปัญหาที่มีไม่โดนแก้และไม่โดนเอาไปเป็นปัญหา” เจ้าของป้ายลาออกไวรัล ตอบคำถามที่บางความเห็น อาจมองได้ว่า การตัดสินของบีดูเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะเพิ่งเข้ามาเป็นครูได้เพียงปีกว่าๆ เท่านั้น

(ภาพจาก FB : Bee Jantarakote)

นอกจากนี้ อดีตครูผู้ช่วย ยังทิ้งท้ายว่า “เห็นเหมือนกันที่ว่าเป็นเพราะคนอย่าไปโทษระบบเลย… แต่สำหรับบี บีคิดว่าไม่ได้จะไม่โทษระบบไม่ได้ เพราะว่าการที่เรามีระบบเพื่อให้คนทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่หรือ ด้วยค่านิยมองค์กร ระบบอะไรก็ตาม การมีระบบเพื่อให้มีความเป็นระเบียบ และแนวทางที่เอื้อให้คนทำงานปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ได้อย่างมืออาชีพ (Professional)”

“ดังนั้นในวิชาชีพครู ต้องอาศัยความมืออาชีพ ตรงนี้ในการทำงาน ไม่ใช่อาศัยความเสียสละ ความดี เราจะมาอ้างคำพวกนั้นมันไม่ใช่ เพราะต่อจะให้มีหรือไม่คำพวกนั้น แต่จะต้องมีความเป็นมืออาชีพในการทำตามระบบ เพราะเราจะไปคาดหวังความดีจากครูทุกคนได้อย่างไร”

นี่เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ ที่หันหลังให้กับ “อาชีพครู” อาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ปลูกฝัง สัมผัส ใกล้ชิด …กับคนในวัยที่สังคมฝากความหวังไว้ว่าเป็น “อนาคตของชาติ” 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า